สุรชาติ บำรุงสุข | 88 ปีระบอบทหารไทย จาก 2493-2500

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

88 ปีระบอบทหารไทย ep.3 จาก 2493-2500

“ความท้าทายของโซเวียตเป็นสิ่งที่ดี เพราะความท้าทายนี้จะทำให้ประชาธิปไตยต้องเข้าถึงความเข้มแข็งพื้นฐานของตัวเอง [ให้ได้]”

David Runciman

The Confidence Trap (2018)

การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 นำไปสู่การจัดระเบียบโลกใหม่…

ระเบียบโลกชุดเก่าถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงด้วยการพ่ายแพ้สงครามของฝ่ายอักษะ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่นไม่ใช่ภัยคุกคามอีกต่อไป

อีกทั้งการยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังแสดงให้เห็นถึง “อำนาจการทำลายล้างขนาดใหญ่” (mass destruction) อย่างที่โลกไม่เคยเห็นในการสงครามครั้งใดมาก่อน

ได้แก่ การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐต่อเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิในวันที่ 6 สิงหาคม และ 9 สิงหาคม 2488 สงครามโลกในเอเชียจบลงด้วยการยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขของญี่ปุ่นในวันที่ 14 สิงหาคม

พร้อมกันนี้ก็เห็นการปรากฏตัวของผู้ท้าทายที่เป็นรัฐมหาอำนาจใหม่จากค่ายคอมมิวนิสต์คือสหภาพโซเวียต

การสิ้นสุดของสงครามโลกก็นำมาซึ่งการจัด “ระเบียบโลกแบบสงครามเย็น” และระเบียบนี้มีการเผชิญหน้าระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่ในเวทีโลกเป็นแกนสำคัญ

ซึ่งสำหรับเอเชียแล้ว ระเบียบนี้มีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์สำคัญ 2 ประการคือ

การเปลี่ยนแปลงการปกครองในจีนในเดือนตุลาคม 2492

และกำเนิดสงครามบนคาบสมุทรเกาหลีในเดือนมิถุนายน 2493 นับจากนี้เอเชียได้ก้าวเข้าสู่สงครามเย็น

จอมพล ป.พิบูลสงคราม

สงครามเย็นกับรัฐบาลทหารไทย

การก่อตัวของสงครามเย็นในเอเชียเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อผู้นำทหารไทยที่ก้าวเข้ามามีอำนาจในการเมืองไทยอีกครั้งด้วยการรัฐประหารในปลายปี 2490

แม้พวกเขาจะเคยมีความใกล้ชิดในฐานะพันธมิตรช่วงสงครามกับกองทัพญี่ปุ่น แต่ในสถานการณ์ชุดใหม่ของโลกเช่นนี้ ผู้นำโลกตะวันตกพร้อมจะยอมรับการหวนคืนของ “พันธมิตรของอักษะ” ที่กรุงเทพฯ แม้จะมีความหวาดระแวงอยู่บ้าง หากฝ่ายตะวันตกก็ตัดสินใจที่จะให้การยอมรับต่อผู้นำใหม่ในยุคหลัง 2490 ที่ยังคงเป็นจอมพล ป.

แทบไม่น่าเชื่อว่า เขาคือจอมพล ป.คนเดิมที่เคยประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในต้นปี 2485

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในระดับภูมิภาค การสิ้นสุดของสงครามปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์และการจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2492 และตามมาด้วยสงครามเกาหลีในปี 2493 เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของสงครามเย็นในเอเชีย

แต่หากดูจากสถานการณ์การจับอาวุธลุกขึ้นสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว อาจจะต้องถือว่าสงครามคอมมิวนิสต์ในมลายา หรือที่เรียกกันว่า “ภาวะฉุกเฉินในมลายา” (The Malayan Emergency) เกิดในเดือนมิถุนายน 2491 น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เห็นของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธครั้งแรกของพรรคคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะมีการต่อต้านญี่ปุ่นด้วยกองกำลังติดอาวุธในช่วงสงครามโลกมาบ้างแล้วก็ตาม

การโจมตีของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเป็นสัญญาณที่ชัดเจนของการขยายอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้าสู่ภูมิภาคนี้

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการเคลื่อนไหวของพลพรรคคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้มีมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในภูมิภาค แม้อาจจะเป็นความประหลาดใจอยู่บ้างที่จุดแรกของการจับอาวุธสู้เกิดที่มลายา อาจจะเพราะส่วนหนึ่งนั้น กองกำลังติดอาวุธที่เคยปฏิบัติการร่วมกับอังกฤษในช่วงสงครามมีมากถึง 5,000 คน และเมื่อสงครามสงบ พวกเขาก็เปลี่ยนเป็นพวกต่อต้านอังกฤษ

การลุกขึ้นสู้ครั้งนี้ยังมีนัยถึงการเรียกร้องเอกราชของมลายาด้วย

ไม่แตกต่างจากในเวียดนาม นักชาตินิยมอย่างโฮจิมินห์เปิดการเคลื่อนไหวตั้งแต่ก่อนสงครามแล้ว และเมื่อสงครามสงบลง การเรียกร้องเอกราชก็เริ่มขึ้น

เมื่อสงครามคอมมิวนิสต์ผนวกเข้ากับสงครามเรียกร้องเอกราชแล้ว การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธก็กลายเป็น “พลังใหม่” ในสงครามต่อต้านจักรวรรดิ…

ความพ่ายแพ้ของเยอรมนีและญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้บรรดานักชาตินิยมท้องถิ่นกลายเป็นพลังการเมืองใหม่ที่สำคัญเข้าแทนที่ฝ่ายอักษะ ตั้งแต่ยูโกสลาเวียจนถึงพม่า หรือจากกรีกจนถึงเวียดนาม

และพวกเขาพร้อมแล้วที่จะ “ปลดแอก” ออกจากการปกครองของ “เจ้านายฝรั่ง” ที่พ่ายแพ้ญี่ปุ่นไปตอนสงคราม

ขณะเดียวกันอาวุธที่สัมพันธมิตรส่งให้พวกเขาในการต่อต้านญี่ปุ่นก็กลายเป็นเครื่องมือที่พร้อมจะใช้งานในการต่อต้านเจ้าอาณานิคมในยุคหลังสงคราม เพราะความหวังว่าเมื่อสงครามโลกสงบแล้ว สัมพันธมิตรจะยอมให้เอกราชนั้น กลายเป็นเรื่องที่ไม่เป็นจริง

การจับอาวุธในสงครามเรียกร้องเอกราชจึงเป็นผลลัพธ์ของการสิ้นสุดของสงคราม

ซึ่งท่าทีของผู้นำไทยระหว่างสายทหารและสายพลเรือนของคณะราษฎรมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง…

สายทหารสนับสนุนการกลับมาของรัฐบาลเจ้าอาณานิคม ส่วนสายพลเรือนกลับสนับสนุนขบวนการชาตินิยม

ผู้นำไทยในคณะราษฎรสายพลเรือนอย่างอาจารย์ปรีดี อาจจะมีท่าทีที่เห็นใจการต่อสู้เพื่อเอกราชของพี่น้องในประเทศเพื่อนบ้าน

แต่นโยบายของรัฐบาลไทยหลังรัฐประหาร 2490 เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง แม้แต่ตัวผู้นำอย่างจอมพล ป. ก็เห็นได้ชัดเจนถึงการเปลี่ยนบุคลิกทางการเมืองจาก “นักชาตินิยม” ในยุค 2475 กลายไปเป็น “นักต่อต้านคอมมิวนิสต์” ในยุคหลัง 2490

ผลจากความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ยังเห็นได้จากทิศทางนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงไทยไปในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ หรืออาจกล่าวได้ในทางยุทธศาสตร์ว่า ไทยหันไปเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับฝ่ายตะวันตก

การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่เพียงเป็นผลจากการเปลี่ยนของระเบียบโลกในยุคหลังสงคราม ที่สหรัฐก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของโลกตะวันตกอย่างชัดเจน และทำหน้าที่เป็น “หัวขบวนของการต่อต้านคอมมิวนิสต์”

ดังนั้น การหันเข้าหาตะวันตกจึงเป็นดัง “การเกาะขบวนเกวียน” (bandwagon) ของบรรดารัฐเล็กที่ต้องการความมั่นคงในการร่วมเดินทางไปกับขบวนของรัฐมหาอำนาจในยุคสงครามเย็น

และทิศทางการเปลี่ยนแปลงของการเมืองภายในก็มีความเป็นอนุรักษนิยมมากขึ้นหลังปี 2490 แล้ว

นโยบายไทยไม่มีทางที่จะเลือกเป็นฝ่ายสังคมนิยมที่นำโดยสหภาพโซเวียตได้เลย

การค้ำประกันจากภายนอก

ผลที่เห็นชัดในช่วงต้นของสงครามเย็นก็คือ รัฐบาลไทยเริ่มตัดขาดกับขบวนการชาตินิยมในประเทศเพื่อนบ้าน และหันมาสนับสนุนรัฐบาลเจ้าอาณานิคม ดังเช่นการสนับสนุนรัฐบาลฝรั่งเศสในการกลับคืนสู่การปกครองอินโดจีน

หรือการสนับสนุนรัฐบาลอังกฤษในสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในมลายา

ซึ่งการกระทำเช่นนี้ย่อมส่งผลให้จอมพล ป.ได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลตะวันตก และหมุดหมายที่สำคัญของนโยบายนี้คือ การที่รัฐบาลไทยตัดสินใจส่งกำลังรบเข้าร่วมกับสหรัฐในสงครามเกาหลีในปี 2493

และยังเกิดการลงนามความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐต่อไทยในปีเดียวกัน เพื่อพัฒนากองทัพไทยในยุคหลังสงครามให้มีความทันสมัย

การดำเนินนโยบายที่ใกล้ชิดกับสหรัฐเช่นนี้มีส่วนในการสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐบาลจอมพล ป.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกันรัฐบาลเองได้ดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ภายในประเทศคู่ขนานกันไป

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ตัวจอมพล ป.จะเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายตะวันตกอย่างมาก พร้อมกันนั้นสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเอเชียก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้นมากขึ้นด้วย

เพราะหลังจากสงครามเกาหลีในปี 2493 แล้ว จุดแตกหักใหญ่ในภูมิภาคคือ สงครามระหว่างเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสกับขบวนการชาตินิยมเวียดนามที่หมู่บ้านเดียนเบียนฟูที่ตั้งอยู่ใจกลางหุบเขาต่อชายแดนลาว

สงครามเดียนเบียนฟูจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของจักรวรรดิฝรั่งเศสในเดือนพฤษภาคม 2497 และตามมาด้วยการประชุมสันติภาพที่เจนีวาในเดือนถัดมา ที่เกิดการแบ่งเวียดนามออกเป็นสองส่วนด้วยเส้นขนานที่ 17 (ไม่ต่างกับกรณีเกาหลีที่แบ่งด้วยเส้นขนานที่ 38…) ที่ฝ่ายหนึ่งเป็นคอมมิวนิสต์และอีกฝ่ายเป็นทุนนิยม

ฉะนั้น การพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสส่งผลอย่างมากในทางจิตวิทยา เพราะความใกล้เคียงของพื้นที่ในทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้รัฐบาลจอมพล ป.เดินนโยบายเข้าหาตะวันตกมากขึ้น โดยเฉพาะการพาประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรทางทหารกับสหรัฐคือ องค์กรสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) ในเดือนกันยายนของปีดังกล่าว

ผลอีกประการคือ ฝ่ายทหารมีความกลัวคอมมิวนิสต์มากขึ้น และความกลัวนี้ถูกสร้างให้เป็นความชอบธรรมแก่ระบอบทหาร ด้วยความเชื่อว่าทหารต้องปกครองเพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากการคุกคามของคอมมิวนิสต์

ผู้นำไทยเชื่อว่าลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามที่สำคัญ และสหรัฐจะเข้ามาเป็น “ผู้ปกป้อง” ให้ไทยพ้นจากการคุกคามนี้ และแน่นอนว่าการปกป้องของรัฐมหาอำนาจภายนอกเช่นนี้ก็จะส่งผลให้รัฐบาลภายในของไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้นด้วย ซึ่งทำให้เกิดภาพเปรียบเทียบของผู้นำทหารได้ว่า รัฐมหาอำนาจอย่างญี่ปุ่นมีส่วนต่อการค้ำประกันสถานะของ “ระบอบพิบูลฯ 1” เช่นเดียวกับที่รัฐมหาอำนาจอย่างสหรัฐก็มีส่วนต่อการค้ำประกัน “ระบอบพิบูลฯ 2” แทบไม่ต่างกัน

ในช่วงเวลาเช่นนี้กองทัพจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลไทย

ด้านหนึ่งกองทัพเป็นเครื่องมือของนโยบายความมั่นคงระหว่างประเทศที่รัฐบาลไทยใช้ในการดำเนินนโยบายเข้าร่วมกับสหรัฐในสงครามเกาหลี

อีกด้านหนึ่งกองทัพคือเครื่องมือของการควบคุมสถานการณ์ความมั่นคงของรัฐบาล เช่น การใช้กำลังทหารในการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม

ตัวอย่างสำคัญเช่น การปราบปราม “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492” (คำเรียกของอาจารย์ปรีดี) ซึ่งในมุมมองของฝ่ายทหารคือ “กบฏวังหลวง”

การปราบ “คณะกู้ชาติ 2494” หรือที่ฝ่ายทหารเรียกว่า “กบฏแมนฮัตตัน” (การจับตัวจอมพล ป.ลงเรือแมนฮัตตันที่ได้รับมอบจากสหรัฐ)

หรือการใช้กำลังสนับสนุนการควบคุมสถานการณ์การกวาดล้าง “ขบวนการสันติภาพ” ในปี 2495

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

การเลือกตั้งสกปรก

ความขัดแย้งไม่เคยมีจุดจบในวงจรแห่งอำนาจของผู้นำทหาร ฉะนั้น แม้พวกเขาจะขึ้นสู่อำนาจด้วยการก่อการรัฐประหารร่วมกันในปลายปี 2490 และสร้างระบอบทหารให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นหลังการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม แต่เมื่อระยะเวลาผ่านมามากขึ้น รอยร้าวในหมู่ผู้นำก็เริ่มมีมากขึ้น อาการสองขั้วทางการเมืองหวนกลับมาอีกครั้ง

และเมื่อจอมพล ป.ตัดสินใจฟื้นระบอบประชาธิปไตยหลังจากกลับจากต่างประเทศในปี 2494 แล้ว การต่อสู้ทางการเมืองจึงรวมศูนย์อยู่กับการเลือกตั้ง โดยฝ่ายรัฐบาลได้จัดตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาขึ้น และมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะต้องชนะเลือกตั้งเท่านั้น และชนะด้วยวิธีการอย่างไรก็ได้… ไม่ต้อง “อาย”!

การเลือกตั้งในปี 2500 มีสภาพเป็น “การเลือกตั้งสกปรก” เมื่อผู้นำรัฐบาลเชื่ออย่างเดียวว่าพรรครัฐบาลสามารถ “โกง” ได้ การทุจริตการเลือกตั้งเกิดอย่างครึกโครม

จนเป็นข่าวใหญ่อย่างที่รัฐบาลไม่ต้องกังวลในเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองเลย