หนุ่มเมืองจันท์ : (การเป็น) พิธีกร

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน “โจ้” วิรัตน์ เฮงกองดี โปรดิวเซอร์ระดับต้นๆ ของประเทศเขียนในเฟซบุ๊กเรื่อง “พิธีกรที่เก่ง เขาเป็นกันอย่างไร”

ดีมาก

เป็น “ความรู้” จาก “ประสบการณ์” ที่สั่งสมมายาวนานในฐานะ “โปรดิวเซอร์”

ทั้งการสอนจากรุ่นพี่และการสังเกตของตัวเอง

นอกจากคุณสมบัติพื้นฐาน เช่น บุคลิกดี ตรงเวลา ทำการบ้าน พูดชัดถ้อยคำ รู้กาลเทศะ ฯลฯ แล้ว

“โจ้” สรุปไว้ 20 ข้อ

ผมขออนุญาตสรุปจากสรุปอีกครั้ง เพื่อไม่ให้เกินพื้นที่คอลัมน์

1. “พิธีกร” ทำหน้าที่ดำเนินรายการ

จำไว้เลยว่าจะเติมเสริมแต่งอะไรก็ได้

แต่หน้าที่หลักคือ “ดำเนินรายการ”

2. เป็นตัวของตัวเอง

อย่าพยายามเหมือนคนอื่น

เขาเลือกคุณเพราะคุณเป็นคุณ

3. เชื่อม “สิ่งที่เกิดขึ้น” กับผู้ชม

ระลึกเสมอว่า เราเป็นคนเดียวที่ได้รับมอบหมายให้คุยกับผู้ชม ไม่ว่าจะทางบ้าน หรือตรงหน้า

บางทีมีแขก คุยแต่กับแขกเพลิน

จนแขกต้องพูดกับผู้ชมเอง

4. ทำความรู้จักกับพื้นที่-เวที

พิธีกรเก่งๆ พอมาถึงจะถามก่อนเลยว่ากล้องอยู่ตรงไหนบ้าง ตัวไหนกว้าง ตัวไหนแคบ

คุยกับผู้ชมดูกล้องไหน เดินไปตรงไหนไม่ตกไฟ

5. เข้าใจ Script ให้ถ่องแท้

ไม่เข้าใจให้ถามทีมงาน เพราะถ้าคุณไม่เข้าใจ จะทำให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างไร

6. หาหัวใจสำคัญของ Script ให้เจอว่า “สาร” ที่ต้องการสื่อคืออะไร

อะไรต้องเป๊ะห้ามผิด อะไรต้องเน้น อะไรผ่านได้

ทวนและจำเป็น Sequence + keyword

จนเล่าได้เป็นฉากๆ ต้นกลางจบ เหมือนเล่าพล็อตหนัง

ไม่ต้องเป๊ะทุกคำ ถ้ามันไม่เข้าปาก ให้ปรับเป็นคำของเรา (เว้นแต่เจ้าของงานไม่ยอม)

7. หาอารมณ์ของงานให้เจอว่างานนั้น ต้องการอารมณ์ไหน และอะไรจะทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิด

ที่สำคัญคุณก็ต้องรู้สึกก่อน ถึงจะชี้นำผู้คนได้

8. อย่าพูดเยอะกว่าแขก

โดยเฉพาะรายการทอล์ก เรามีหน้าที่ทำให้แขกพูดออกมา ผู้ชมไม่ได้อยากฟังความเห็นเรา

9. ฟังอย่างเอาเป็นเอาตาย

นอกจากการบ้านที่ทำมาก่อน การฟังคนตรงหน้า จะทำให้การพูดคุยลื่นไหล และลึกซึ้ง

สิ่งที่เกิดตรงหน้า คำพูด รีแอ๊กชั่น สำคัญกว่า Script

เพราะบางครั้ง Script ไปไม่ถึง ไม่สามารถล่วงรู้ก่อนได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

10. อยากรู้อยากเห็นไปหมด

บางทีพิธีกรที่เก๋า รู้เยอะ หรือเรื่องที่จะคุยรู้อยู่แล้ว เลยขี้เกียจถามแขก

พอแขกก็ไม่ได้พูด ผู้ชมเลยไม่ได้รู้ไปด้วย ทุกอย่างก็จืด

11. ต้องเดาให้ออกว่าผู้ชมอยากรู้อะไร

บางที Script ไม่ได้เขียนมาให้ถาม

ต้องแทนตัวเองเป็นผู้ชมว่าต้องสงสัยเรื่องนี้แน่ๆ

12. ขยายสิ่งที่แขกพูด

หน้าที่ของเราคือทำให้ผู้ชมรู้เรื่องก่อน

ให้คิดว่าคนที่โง่ที่สุด ก็ยังฟังรู้เรื่อง

13. หาทางลงให้กับผู้ร่วมรายการ

พิธีกรเก่งๆ จะหาทางลงให้กับแขกด้วยการไม่บี้ให้เขาถึงตาย หรือถามเปิดทางให้อธิบายไปทางอื่นบ้าง เหลือที่ยืนให้เขาบ้าง

ไม่มีใครมาเพื่อให้เราหยามเกียรติและศักดิ์ศรี

14. ไม่จำเป็นต้องตลก (เว้นแต่โปรดิวเซอร์ชี้ว่ามันคือหน้าที่ของคุณ และมีคนอื่นดำเนินรายการแล้ว)

แค่ถามหรือนำ ให้แขกพูดหรือทำสิ่งที่สนุกสนาน จะดีกว่าเล่นมุขด้วยตัวเอง

ถ้าทำมากเกินไป

ภาษาในวงการเขาเรียกว่า…เล่นมุขเอาเข้าตัวเองหมด

15. ไม่จำเป็นต้องมีท่าทางที่สอดคล้องกับชื่อของรายการ หรือวลีจำ

เว้นแต่โปรดิวเซอร์เขาอยากได้จริงๆ

16. เลี่ยงคำติดปาก หรือสร้อยคำที่ไม่มีประโยชน์

เช่น ในส่วนของ, มันเป็นอะไรที่แบบว่า, เรามาคุยกับคนนี้ดีกว่า, เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ฯลฯ

17. ไม่ต้องเรียกชื่อตัวเองตลอดเวลา

เพราะทำให้รู้สึกว่า อยากพรีเซนต์ตัวเอง

18. ไม่จำเป็นต้องพูดตลอดเวลา

บางจังหวะปล่อยให้องค์ประกอบอื่นทำงานบ้าง

ความเงียบ หรือดนตรี หรือภาพที่เกิดตรงหน้า ก็ทำหน้าที่เล่าเรื่องหรือสร้างอารมณ์อยู่แล้ว

เช่น ในงานแต่งงาน บ่าว-สาวกำลังจะตัดเค้ก หรือสวมแหวน

เขาเลือกเพลงมาเปิดในจังหวะนั้น

…ไม่ต้องพูด

ยังเหลืออีก 2 ข้อครับ

แต่บอกก่อนว่า “โจ้” เขียนละเอียดกว่านี้

ถ้าใครสนใจเข้าไปอ่านในเฟซบุ๊กของ “โจ้” หรือที่เพจของผมก็ได้ เพราะแชร์เรื่องนี้ไว้แล้ว

ที่ขยัก 2 ข้อสุดท้ายไว้ เพราะอยากเล่าประสบการณ์เสริม

ข้อที่ 19 หาพวกก่อนเริ่มงาน

“โจ้” ยกตัวอย่างการถ่ายทำรายการโทรทัศน์

ทุกคนอยู่ในสตูฯพร้อม แต่ยังไม่ถ่าย รอนั่นนี่

“พิธีกรเก่งๆ จะเดินไปคุยกับคนดู ถามไถ่ว่ามาจากจังหวัดไหนยังไง แซวตากล้อง อำแม่บ้าน แกล้งทีมงาน

พอเริ่มทำงานทุกคนจะตอบรับเขาทันที แบบคนที่รู้จักกัน”

พออ่านที่ “โจ้” เขียน ผมจะนึกถึง “ดู๋” สัญญา คุณากร

ตอนอัดรายการ “เจาะใจ” เขาจะคุยกับแขกรับเชิญอย่างเป็นกันเอง

ใช้เวลาแป๊บเดียวเหมือนรู้จักกันมานาน

ทำให้แขกรับเชิญรู้สึกว่า “ดู๋” เป็นเพื่อน

มีอะไรพลั้งพลาดบนเวทีเขาช่วยได้แน่นอน

เดินเข้าไปในสตูฯ ก็เริ่มอำช่างกล้อง

ทักทายคนดูในสตูฯ ถามโน่น ถามนี่ ยิงมุขให้คนได้หัวเราะผ่อนคลายก่อนเริ่มอัดรายการ

บรรยากาศการทำงานจึงดูสบายๆ

ข้อสุดท้าย หาคลังเรื่องที่จะพูดด้วยตัวเอง

“โจ้” ยกตัวอย่างรายการ “กิ๊ก-ดู๋ สงครามเพลง”

“พอผู้ร่วมรายการมาถึง พี่กิ๊กนี่แทบจะสำรวจหัวจรดเท้า หาเรื่องอำ เรื่องแซว”

และเรื่องนี้พบบ่อยกับงาน Event ที่บางครั้ง ต้องหาเรื่องพูดถ่วงเวลา จากคิวผิดพลาดไป

“คนที่เก่งจะเดินทั่วห้างก่อนว่าที่นี่มีอะไร

บันไดเลื่อนหายาก ห้องน้ำแอร์เย็น ร้านนั้นกำลังดัง

หรือแม้แต่ไปคุยกับเจ้าของงาน ถามชื่อเจ้าของบริษัท ถามประวัตินั่นนี่

เพื่อเอามาคุยคั่นเวลา หรือสร้างความประทับใจได้มากขึ้น”

เรื่องนี้ผมนึกถึง “พี่ดำ” อภิชาติ ดำดี

ตอนที่ผมเป็นนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์

“พี่ดำ-พี่แป๊ะ-พี่เหลี่ยม” จะรับหน้าที่เป็นพิธีกรงานรับเพื่อนใหม่ในหอประชุมใหญ่ที่ท่าพระจันทร์

แม้พี่ 3 คนจบไปแล้ว น้องๆ อมธ.ก็ไม่ยอม

เพราะรู้ว่าถ้า 3 คนนี้ยืนหน้าเวทีเมื่อไร ยังไงก็สนุก

งานรับเพื่อนใหม่ของนักศึกษา ทุกอย่างเต็มไปด้วย “ความไม่แน่นอน”

“พิธีกร” ต้องเก่งมาก เพราะต้องพูดถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ จนกว่าโชว์ชุดต่อไปจะพร้อม

ครั้งหนึ่ง “พี่ดำ” ต้องพูดถ่วงเวลาเกือบครึ่งชั่วโมง

มีเรื่องหนึ่งที่ผมยังจำได้จนถึงทุกวันนี้

“พี่ดำ” เล่าเรื่องการซักผ้าม่านในหอประชุมใหญ่

คือ ไม่รู้จะพูดอะไรแล้ว ก็เริ่มหาของมาเล่น

มองเห็น “ผ้าม่าน” ก็เอา “ผ้าม่าน” มาเล่น

“ผ้าม่าน” ที่หอประชุมใหญ่ผืนใหญ่และยาวมาก

เขาถามน้องๆ ว่ารู้ไหม เราซักผ้าม่านกันอย่างไร

จากนั้น นิทานการซักผ้าม่านก็เป็นตุเป็นตะ

ตั้งแต่การขนผ้าม่านไปลงทะเล ใช้ปลาวาฬลาก บิดผ้าม่าน

บลา…บลา…บลา

สนุกมาก ขำมาก

ขำจนไม่อยากดูการแสดงชุดต่อไป

เหมือน “พี่ดำ” จะสอนบทเรียนแรกให้กับ “เพื่อนใหม่” ทุกคน

…”จินตนาการ” สำคัญกว่า “ความรู้”