สาเหตุที่มา…ที่ไป หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ… อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (1)

มุกดา สุวรรณชาติ

85 ปีที่ผ่านมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการต่อสู้ทั้งการเมือง การทหาร เพื่อชิงอำนาจระหว่างความคิดใหม่กับความคิดเก่า ซึ่งใช้ทุกวิถีทาง ทั้งสองฝ่ายใช้ทุกรูปแบบในการต่อสู้ ทั้งกฎหมาย ทั้งปืน ตาต่อตา ฟันต่อฟัน

การต่อสู้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นานได้ก่อให้เกิดสถานที่บันทึกความทรงจำทางประวัติศาสตร์ 2 แห่ง คือ หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญและ อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ…

ทุกแห่งเกี่ยวพันกับรัฐธรรมนูญ เพราะหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มิได้มีการยกย่องบุคคลขึ้นมาเป็นผู้นำ แต่ได้นำรัฐธรรมนูญขึ้นมาชูเป็นธง ว่าจะนำประเทศให้เจริญก้าวหน้า ปวงประชาจะเป็นสุข ตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร คือ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา

แม้วันที่ 24 มิถุนายน 2475 จะผ่านไปได้ แต่การต่อสู้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงมิได้ใช้เวลาเพียง 1วัน หรือ 1 ปี แต่ยาวนานเช่นเดียวกับการสร้างประเทศ

24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรปฏิวัติสำเร็จ ประกาศใช้ พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475

28 มิถุนายน 2475 เปิดประชุมสภาแต่งตั้ง (คล้าย สนช.) มี 70 คน เป็นพลเรือนที่ไม่มียศ 15 คน มียศทางทหาร 17 ตำรวจ 2 …อีก 36 คน มีตั้งแต่ มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี มหาอำมาตย์โท พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ไล่ลงมามีรองอำมาตย์เอก จนถึงอำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ฯลฯ

10 ธันวาคม 2475 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (รธน.) ถาวรฉบับแรก

1 เมษายน 2476 นายกฯ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา สั่งปิดสภา ตั้ง ครม.ใหม่ ปรีดี พนมยงค์ ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ต้องหลบไปต่างประเทศ

20 มิถุนายน 2476 คณะราษฎรยึดอำนาจกลับ เปิดใหม่ พระยาพหลฯ เป็นนายกฯ

11 ตุลาคม 2476 เกิดกบฏบวรเดช

15 พฤศจิกายน 2476 มีการเลือกตั้งครั้งแรก เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ได้ ส.ส. 78 คน พระยาพหลฯ เป็นนายกฯ

2 มีนาคม 2477 รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ ขณะที่ประทับอยู่ต่างประเทศ

7 พฤศจิกายน 2480 สภาครบวาระ เลือกตั้งใหม่ โดยประชาชนเลือกตรงครั้งแรก มี ส.ส. 91 คน พระยาพหลฯ เป็นนายกฯ อีกครั้ง ไม่ถึงปีก็ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ 2481 พันเอก หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป.) เป็นนายกฯ (ช่วงแรก 2481-2487 ช่วงหลัง 2491-2500)

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (ปราบกบฏ) ก่อสร้างและเปิดใช้ 15 ตุลาคม 2479

หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ พิธีเปิด 10 ธันวาคม 2479

ความสำคัญของหมุดและอนุสาวรีย์ คืออนุสรณ์การต่อสู้ทางการเมือง และการต่อสู้ทางการทหาร ในเชิงอำนาจก็คือการแสดงตัวตนของกลุ่มอำนาจใหม่ หรือชนชั้นที่สามารถลุกขึ้นยืนตรงได้

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

การต่อสู้ทางการเมืองครั้งแรก…

นายกฯ คนนอก (คณะราษฎร)

หลังยึดอำนาจการปกครอง มิถุนายน 2475 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว คณะราษฎร…ได้เสนอขอให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร เทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เดิมชื่อ ก้อน หุตะสิงห์ จบจากโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม พ.ศ.2456 ได้เข้ารับราชการกระทรวงยุติธรรม ต่อมาได้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ กลับมารับราชการเป็นผู้พิพากษา และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นสภากรรมการองคมนตรีตั้งแต่ พ.ศ.2470

เพราะพระยามโนฯ มีความรู้ในทางกฎหมาย เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลัง มหาสมบัติของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และมีภริยาเป็นนางสนองพระโอษฐ์รับใช้ใกล้ชิดพระบรมราชินี จึงน่าจะเป็นผู้ที่เหมาะในฐานะคนกลางระหว่างสถาบันกษัตริย์ กับคณะราษฎร แต่เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

กล่าวคือ คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีความประสงค์ที่จะจัดการปกครองให้ก้าวหน้าไปโดยเร็วที่สุด ส่วนพระยามโนฯ นั้นมีความประสงค์ที่จะบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปอย่างเดิม

พระยามโนฯ ได้ตีสนิทกับพระยาทรงสุรเดช ซึ่งในเวลานั้นเป็นผู้มีอำนาจในทางการทหาร พระยาทรงฯ ได้เรียกผู้ก่อการชั้นผู้น้อยไปประชุมเพื่อให้สนับสนุนพระยามโนฯ แต่ที่ประชุมเห็นว่าไม่ถูกจึงไม่ยอมปฏิบัติตาม

แต่นั้นมามีความรู้สึกกันทั่วไปว่า พระยาทรงฯ กับผู้ก่อการชั้นผู้น้อยไม่ลงรอยกัน

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)

ปรีดี…โดนข้อหาคอมมิวนิสต์…

ตั้งแต่ยังไม่มีกฎหมาย

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้มอบหมายให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้ร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ในการที่จะยกร่าง พระยามโนฯ พระยาราชวังสัน พระยาศรีวิสารวาจา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้ปรึกษาหารือกันหลายครั้งหลายหน

ต่อมาพระยามโนฯ ได้เร่งเร้าให้หลวงประดิษฐ์ฯ เขียน เมื่อร่างเสร็จแล้วก็ได้จัดพิมพ์แจกจ่ายกันในหมู่ผู้ก่อการและคณะกรรมการราษฎร เพื่อให้โอกาสได้อ่านเสียก่อน ถ้าไม่เห็นชอบด้วยและมีเหตุผลดีกว่าก็ยอมตามความเห็นส่วนมากและขอแก้ไขได้

เมื่อแจกไปแล้วพระยามโนฯ ไม่เห็นด้วย อ้างว่าได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มาแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไม่เห็นด้วย หลวงประดิษฐ์ฯ ไม่เชื่อ จึงขอให้มีการประชุมทำนองกึ่งราชการเสียก่อน เพื่อจะอธิบายให้ที่ประชุมทราบ

ผลของที่ประชุมมีความเห็นไม่ตรงกัน แยกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจ อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วย ซึ่งมีพระยาทรงสุรเดช พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และพระยาศรีวิสารวาจา

และเรื่องนี้พระยาทรงสุรเดชได้ไปประชุมนายทหารบอกว่าหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นคอมมิวนิสต์ จะทำไปตามเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นไม่ได้

หลวงประดิษฐ์ฯ จึงมิได้คิดที่จะดำเนินการตามเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นต่อไป และได้พูดในที่ประชุมว่า เมื่อไม่เห็นด้วย ก็จะขอลาออก

 

ปิดสภา…อำนาจไปอยู่ที่นายกรัฐมนตรี

ความขัดแย้งของพระยามโนฯ กับผู้ก่อการ 2475 ทั้งเรื่องงบประมาณแผ่นดินกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ทำให้มีการสั่งปิดสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 พร้อมกับประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ยุบคณะรัฐมนตรี และตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ โดยอ้างว่า

“…ในคณะรัฐมนตรี ณ บัดนี้เกิดการแตกแยกเป็น 2 พวก มีความเห็นแตกต่างกัน ความเห็นข้างน้อยนั้นปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ความเห็นข้างมากนั้นเห็นตรงกันข้ามว่านโยบายเช่นนั้นจักนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร และเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ…”

การที่พระยามโนฯ ปิดสภาผู้แทนราษฎรได้ ก็เพราะพระยาทรงสุรเดชกับพวกซึ่งควบคุมกำลังทหารสนับสนุน จึงกระทำการสำเร็จ

ก่อนที่จะปิดสภา ม.จ.วิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ ราชเลขานุการประจำพระองค์ได้มีหนังสือถึงพระยามโนฯ หลายฉบับ มีข้อความสำคัญว่า สภาผู้แทนฯ จะดำรงต่อไปไม่ได้ ควรเลิกล้มเสีย

ส่วนหลวงพิบูลสงครามและหลวงสินธ์สงครามชัย ได้คัดค้านไม่เห็นด้วยในการที่ปิดสภา

 

นายปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยครั้งแรก

ก่อนปิดสภาเล็กน้อย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาฤทธิ์อัคเนย์กับพวก เป็นผู้คิดให้หลวงประดิษฐ์ฯ ไปต่างประเทศเพื่อจะล้มล้างรัฐธรรมนูญเสีย โดยบอกให้ไปต่างประเทศเพื่อความปลอดภัย (มีคณะนายทหารที่สนับสนุนพระยามโนปกรณ์ฯ ยกพวกไปล้อมบ้านพักของนายปรีดี) พระยาพหลฯ หลวงพิบูลสงคราม และหลวงอดุลเดชจรัสได้สั่งนายปรีดีว่าให้รับปากพระยาราชวังสันเสีย ส่วนทางนี้เพื่อนฝูงจะคิดแก้ไขให้กลับมาภายหลัง

ในวันที่นายปรีดีออกเดินทางจากประเทศไทย พระยามโนฯ ยังได้ประกาศใช้กฎหมายคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นฉบับแรกของไทย เป็นการกันไม่ให้นายปรีดีกลับมาเพราะข้อหาคอมมิวนิสต์

ผลของกฎหมายทำให้มีการกวาดล้างจับกุมชาวเวียดนามที่สงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกัน คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์สยามก็ถูกจับและถูกจำคุก

หลวงประดิษฐ์ฯ ได้กล่าวถึงพระยามโนฯ ว่า “ข้าพเจ้ายอมรับว่า ข้าพเจ้าผู้เดียวที่ทำผิดในการเสนอคณะราษฎรให้เชิญพระยามโนปกรณ์ฯ เป็นหัวหน้ารัฐบาล… ข้าพเจ้ามีความผิด ที่ไม่ได้วิจารณ์ให้ลึกซึ้งว่า พระยามโนปกรณ์ฯ เป็นบุคคลที่มีความคิดแห่งระบบเก่าเหลืออยู่ แต่ข้าพเจ้าขอให้ความเป็นธรรมแก่พระยามโนปกรณ์ฯ ว่า ถ้าลำพังท่านผู้เดียวก็ไม่สามารถที่จะกระทำการโต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยได้ หากท่านได้รับการสนับสนุนจากบางส่วนของคณะราษฎรเอง ที่มีทัศนะอันเป็นซากตกค้างมาจากระบบเก่า และบุคคลอื่นๆ ที่เป็นขุนนาง ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาล…”

ขณะที่นายปรีดีลี้ภัยไปประเทศฝรั่งเศส คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้จัดการเข้าควบคุมอำนาจทั้งในการบริหารและนิติบัญญัติไว้เบ็ดเสร็จ

ส่วนรัฐบาลพระยามโนฯ ได้ออกกฎหมายขึ้นบังคับใช้โดยรัฐบาลเองหลายฉบับ เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายว่าด้วยการตั้งสมาคมการเมือง การตราพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดิน พ.ศ.2476 การฟื้นศาลาว่าการพระราชวัง การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อเตรียมการฟื้นระบบเดิม

 

อำนาจเก่ารุกต่อ ชิงกุมอำนาจทางทหาร

หลังการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา 1 เมษยน 2476 ให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา อำนาจเก่าก็รุกต่อโดยมีการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

รัฐบาลดูเหมือนจะควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นได้แล้ว แต่ด้านการทหารยังมีพระยาพหลฯ ขวางอยู่อีกคน เพราะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

ภาพ “สี่ทหารเสือ” (จากซ้าย) พ.อ.พระยาทรงสุรเดช, พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ์, พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา, พ.อ.พระยาฤทธิอาคเนย์

พระยาทรงฯ จึงชวนให้ทั้งหมดลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี และทางการทหาร พระยาพหลฯ ก็ยอมลาออกตาม “สี่ทหารเสือ” ของคณะราษฎร คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ได้ยื่นหนังสือลาออก ด้วยข้ออ้างเรื่องสุขภาพ

โดยระบุวันลาออกจากราชการไว้ล่วงหน้า คือวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2476

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยอมรับให้ลาออกโดยไม่มีการทักท้วงแต่อย่างใด 18 ตุลาคม รัฐบาลก็ได้มีประกาศแต่งตั้งให้พระยาพิชัยสงครามเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแทนพระยาพหลพลฯ ให้พระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นผู้รักษาการเจ้ากรมยุทธการทหารบกแทนพระยาทรงสุรเดช และให้หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นรองผู้บังคับการทหารปืนใหญ่อยู่ในขณะนั้นเลื่อนขึ้นเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการแทนพระยาทรงสุรเดช ซึ่งควบอยู่สองตำแหน่ง

การเปลี่ยนแปลงทางการทหาร มีผลต่อความปลอดภัยและอนาคตของนายทหารผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ช่วงนั้นก็มีการโยกย้ายคนของพระยาพหลฯ ออกจากหน่วยคุมกำลังทั้งหมด และจะให้พวกผู้ก่อการที่คัดค้านพระยามโนฯ นั้นไปศึกษาวิชาในต่างประเทศ

ส่วนหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ถูกสั่งให้เตรียมตัวเข้าศึกษาวิชาทหารเรือ ณ ประเทศฝรั่งเศส

คณะราษฎรจึงเห็นว่า พระยามโนฯ เตรียมเปลี่ยนการปกครองกลับเป็นระบบเก่า

ถ้าสู้ไม่เป็น…แพ้ โทษถึงตาย ที่ฝังคงไม่ใช่หมุดคณะราษฎร แต่เป็นชีวิตของผู้แพ้ (ต่อฉบับหน้า)