ยานยนต์ สุดสัปดาห์/ สันติ จิรพรพนิต/ส่องอนาคตตลาดยานยนต์ไทย ครึ่งแรกหัวปัก-ครึ่งหลัง (น่าจะ) ดีขึ้น

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต [email protected]

ส่องอนาคตตลาดยานยนต์ไทย

ครึ่งแรกหัวปัก-ครึ่งหลัง (น่าจะ) ดีขึ้น

 

ผ่านพ้นครึ่งปีมาได้ไม่กี่มากน้อย แทบทุกธุรกิจโดนพิษ “โควิด-19” ทุบอย่างน่วมไปตามๆ กัน

ตลาดรถยนต์ไทยก็โดนกระหน่ำซัมเมอร์เซล จนเอียงไปเอียงมา

จะว่าไปแล้วตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2562 เริ่มเห็นสัญญาณไม่ดีแล้วจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยหนัก ยิ่งประเทศไทยถือว่าสาหัสลำดับต้นๆ ของอาเซียน

แต่ปิดปีถือว่าพอกล้อมแกล้มและมีกำลังใจขึ้นมาจากยอดขายรวม 1,007,552 คัน ลดลง 3% เมื่อเทียบกับปี 2561

ทลายกำแพง 1 ล้านคันได้สำเร็จอีกครา หลังจากไม่ได้เห็นมานาน

ทว่ามีสิ่งให้ต้องกังวลเนื่องจากเมื่อแยกเซ็กเมนต์ พบว่าตลาดลดลงทั้งหมด

รถยนต์นั่ง ยอดขาย 398,386 คัน ติดลบ 0.3%

รถเพื่อการพาณิชย์ ยอดขาย 609,166 คัน ติดลบ 5.1%

รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) ยอดขาย 492,129 คัน ติดลบ 3.8%

และรถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 431,677 คัน ติดลบ 3.4%

บรรดาค่ายรถยนต์และกูรูด้านเศรษฐกิจ ถือว่าค่อนข้างกังวลเล็กๆ เนื่องจากแรงซื้อช่วง 4 เดือนสุดท้ายหดตัวอย่างเห็นได้ชัด และเกรงว่าจะลามมาถึงปี 2563

ซึ่งเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะช่วง 3 เดือนแรกตลาดรถยนต์ไทยหดตัวเมื่อเทียบกับปี 2562

และยิ่ง “โก-โซ-บิ๊ก” หรือไปกันใหญ่ เมื่อเจอ “โควิด-19” เข้ามาถล่ม

 

ลําพังการบริโภคในประเทศค่อนข้างตึงมาตั้งแต่กลางปี 2562 อยู่แล้ว แต่ไทยยังเดินหน้าได้จากภาคส่งออก และที่สำคัญคือการท่องเที่ยว ที่เป็น 2 เสาหลักหล่อเลี้ยงประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แต่ “โควิด-19” ที่ลุกลามไปทั่วโลกสร้างความปั่นป่วนไม่เพียงวงการสาธาiณสุข แต่ภาคเศรษฐกิจโดนเข้าไปเต็มๆ

และต้องถือว่าเป็นครั้งแรกๆ ที่ภาคเศรษฐกิจทั่วโลกโดนกระทบพร้อมๆ กัน

เนื่องจากในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ปัญหาเศรษฐกิจมักเกิดขึ้นเฉพาะ.oภูมิภาค

ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สมัยปี ค.ศ.1929-1930 ที่ได้รับผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ในเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ นอกจากยุโรปไม่กระทบมากนัก

หรือใกล้ๆ หน่อย เช่น วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤตซับไพรม์ ที่บรรดาสถาบันการเงิน บริษัทใหญ่ต่างๆ ในสหรัฐต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง

วิกฤตในกลุ่มประเทศยุโรป ที่เป็นหนี้เป็นสินกันแทบล่มจมในหลายประเทศ

ทว่าในเอเชียได้รับผลกระทบไม่มากนัก

ในทางกลับกัน สมัย “ต้มยำกุ้ง” ที่ไทยเป็นประเทศแรกก่อนแพร่เชื้อลามไปทั่วเอเชีย ทั้งยุโรป-สหรัฐ ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร แถมยังชอบใจด้วยซ้ำ เพราะมีโอกาสช้อปของถูกจากค่าเงินที่ลดลงทั่วทั้งภูมิภาค

ด้วยความที่เศรษฐกิจไม่ได้กระทบพร้อมกันทั่วโลก ทำให้ยังพอประคองกันได้บ้าง

เช่น สมัยต้มยำกุ้ง แม้ไทยจะย่ำแย่ค่าเงินลดลงกว่า 100% จาก 25 บาท/1 ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนตัวเกิน 50 บาท/1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ได้ภาคส่งออกและการท่องเที่ยวมาช่วยพยุง จนพลิกฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็ว

 

ช่วงต้นปีที่ผ่านมาบรรดาค่ายรถประเมินไว้ล่วงหน้าว่ายอดขายรถปี 2563 จะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2562 แต่ลงไม่มากราวๆ 7% หรือมียอดขายประมาณ 9.4 แสนคัน

ผ่านพ้นไตรมาสแรก ยอดขายถือว่าพอทน ลดลงมากกว่าที่คาดนิดหน่อย

ทว่าเมื่อโควิด-19 เริ่มแพร่จากจีนลามไปทั่วโลก สิ่งที่ตามมาคือการล็อกดาวน์ หรือปิดประเทศ และระงับธุรกรรมหลายๆ อย่าง

เศรษฐกิจไทยที่ส่งสัญญาณสาละวันเตี้ยลงอยู่แล้ว จึงกระอักเลือดมากขึ้น

ผู้บริโภคไม่มั่นใจในการเงิน เรื่องรายได้ เพราะบริษัทปิดกิจการกันโครมๆ หรือปรับลดเงินเดือน

ภาคส่งออกก็ติดลบ ท่องเที่ยวไม่ต้องพูดถึง เมื่อปิดประเทศก็หายวับไปทันที แถมนักท่องเที่ยวทั่วโลกก็ไม่อยากไปไหนด้วย

ทำให้ไตรมาสที่ 2 กลายเป็นฝันร้ายที่สุดทั้งของไทยและทั่วโลก

นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ค่ายรถที่เป็นขาใหญ่ในไทยและระดับโลก บอกเลยว่าปีนี้น่าจะสาหัสสุดปีหนึ่ง

ยิ่งเมื่อเห็นตัวเลขยอดขายรถยนต์ไทยช่วงครึ่งปีแรก ทุกค่ายพากันกุมขมับ

โดยยอดขายรวมอยู่ที่ 328,604 คัน ลดลง 37.3%

รถยนต์นั่ง ยอดขาย 119,716 คัน ลดลง 42.0%

รถเพื่อการพาณิชย์ ยอดขาย 208,888 คัน ลดลง 34.2%

รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) ยอดขาย 166,409 คัน ลดลง 35.6%

และรถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) ยอดขาย 149,432 คัน ลดลง 33.7%

 

แม้ทุกภาคส่วนประเมินว่าไตรมาส 2 คือความย่ำแย่ที่สุดแล้ว เนื่องจากตอนนี้ประเทศไทยเริ่มคลายล็อก ทำให้ 2 ไตรมาสที่เหลือดีขึ้นแน่นอน

กระนั้นก็ตาม โตโยต้าประเมินว่าปีนี้ยอดขายรถภาพรวมน่าจะจบที่ 6.6 แสนคัน ลดลง 35% เมื่อเทียบกับปี 2562

ดูจากสถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลาย คนไทยเริ่มจับจ่ายมากขึ้น แนวโน้มของตลาดรถยนต์ไทยน่าจะไปในทิศทางที่ดี และสถานการณ์จะไม่แย่เท่ากับที่เคยคาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ งาน “บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์” หรือ “มอเตอร์โชว์” ครั้งที่ 41 ที่ปิดฉากไปเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แม้จะอยู่ในช่วงรักษาระยะห่าง แต่มีคนเข้าชมกว่า 1 ล้านคน พร้อมกวาดยอดจองในงานไปถึง 22,791 คัน

แบ่งเป็นรถยนต์+ปิกอัพ 18,381 คัน และจักรยานยนต์ 4,410 คัน

แถมในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้มีอีกคาร์โชว์ใหญ่คือ “Bangkok International Grand Motor Sale” หรือ “Big Motor Sale 2020” จัดระหว่างวันที่ 21-30 สิงหาคมนี้ ที่ไบเทค บางนา น่าจะกวาดยอดจองได้อีกพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาสถานการณ์เศรษฐกิจแบบใกล้ชิด เนื่องจากกระทรวงการคลังออกมาประเมินภาพรวมว่าปีนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี อาจติดลบถึง 8.5% สาหัสยิ่งกว่าสมัยต้มยำกุ้ง ที่ติดลบ 7.6%

ส่งออกหดตัว 11%

นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพียง 6.8 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยวเหลือแค่ 3.4 แสนล้านบาท

จากปีที่แล้วไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 1.93 ล้านล้านบาท จากการมาท่องเที่ยวเกือบๆ 40 ล้านคน

ไม่นับคนไทยเที่ยวในประเทศน้อยลง โดยปีที่แล้วคนไทยใช้จ่ายท่องเที่ยวในประเทศกว่า 1 ล้านล้านบาท

กระนั้นกระทรวงการคลังคาดเช่นเดียวกับทุกภาคส่วนว่าไทยติดลบสาหัสไปแล้วในช่วงไตรมาส 2 เวลาที่เหลือของปีนี้เริ่มเชิดหัวขึ้นบ้างแล้ว

จึงพอมีแสงสว่างปลายอุโมงค์ให้อุ่นใจขึ้นบ้าง