เมืองมังกร “หลงเฉิง” เมืองศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่าซยงหนู ที่เพิ่งค้นพบใหม่ ในมองโกเลีย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีข่าวสำคัญในวงการโบราณคดีจีนและมองโกเลียที่เผยแพร่ออกไปทั่วโลก

นั่นก็คือการขุดค้นพบเมืองศักดิ์สิทธิ์ในตำนานของพวกซยงหนู (Xiongnu) ชนเผ่านักรบ ที่เป็นอริสำคัญของชาวจีน ในยุคเริ่มต้นประวัติศาสตร์ ที่ประเทศมองโกเลีย

เรื่องของเรื่องนั้นมีอยู่ว่า ทีมวิจัยทางโบราณคดีของมหาวิทยาลัยแห่งเมืองอูลันบาตอร์ (Unlanbaatar State University) ประเทศมองโกเลีย ได้เข้าไปทำการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีแห่งหนึ่ง ในจังหวัดอาร์ฮังไก (Arkhangai) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ

โดยโครงการขุดค้นดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 แล้วนะครับ เพียงแต่ที่ผ่านมาเผยแพร่กันเฉพาะในสื่อท้องถิ่นเท่านั้น

เพิ่งจะมาปีนี้นี่แหละ ที่ทางทีมขุดค้นได้เปิดเผยถึงหลักฐานชิ้นสำคัญที่ถูกขุดพบ จนทำให้มีสื่อรายงานผลการขุดค้นไปทั่วโลก

แต่นอกเหนือจากหลักฐานชิ้นสำคัญที่ว่าแล้ว ทีมขุดค้นของมหาวิทยาลัยแห่งเมืองอูลันบาตอร์ได้เปิดเผยว่า เมืองโบราณแห่งนี้มีกำแพงล้อมรอบสองชั้น และมีบ่อน้ำรูปทรงสี่เหลี่ยมขนาดมหึมา ที่ขุดขึ้นโดยแรงงานมนุษย์ เพื่อใช้ในการจัดการหรือกักเก็บน้ำ

และยังได้มีการค้นพบซากของอาคาร ที่มีกระเบื้องมุงหลังคา ที่สร้างตามเทคนิคและรูปแบบของพวกจีน ในดินแดนจงหยวน โดยเป็นไปได้ว่าเป็นงานฝีมือช่างชาวจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นเองเลยก็ได้

ทั้งนี้ ในพื้นที่บริเวณปริมณฑลโดยรอบ ของเมืองโบราณแห่งนี้ ยังมีการขุดพบสุสานขนาดใหญ่ของเชื้อพระวงศ์ และชนชั้นสูงของชาวซยงหนูอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนั้นก็ทำให้ภาพความเป็นชนป่าเถื่อน ใช้ชีวิตอยู่บนหลังม้า ไม่ก็ในกระโจมของชนเผ่าที่ชาวจีนโบราณตราหน้าว่าเป็น “พวกป่าเถื่อน” ดูจะกลายเป็นเรื่องที่ต้องนำมาทบทวนใหม่กันเลยทีเดียว

 

แต่เอาเข้าจริงแล้ว แม้แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ข้างจีนเอง ก็ดูจะไม่แน่ใจนักว่าพวกซยงหนูนั้นเป็นคนกลุ่มไหนแน่? เช่นเดียวกับที่ถกเถียงกันในโลกวิชาการของตะวันตก ตั้งแต่ช่วงยุคอาณานิมเป็นอย่างน้อย

เพราะกลุ่มชนที่กระจายอยู่ในพื้นบริเวณที่เป็นเขตอิทธิพลทางการเมืองและสังคมวัฒนธรรมของซยงหนู ซึ่งก็คือแถบทุ่งหญ้าสเต็ปป์ ทางยูเรเซียตะวันออก (หมายถึงพื้นที่บริเวณไซบีเรีย, มองโกเลียใน และมณฑลซินเกียง กับมณฑลกานซู่ของประเทศจีนปัจจุบัน) ในช่วงระหว่าง พ.ศ.200-600 นั้น ประกอบไปด้วยทั้งพวกตาร์ตาร์, ฮั่น (Huns, ไม่ใช่จีน ที่เรียกตัวเป็นชาวฮั่น ตามชื่อราชวงศ์ในช่วงเวลาดังกล่าว), เติร์ก หรือแม้กระทั่งบรรพชนของพวกมองโกล ฯลฯ

ดังนั้น คำถามที่ถูกต้องจึงควรจะเป็นว่า คนพวกไหนที่เป็นประชากรกลุ่มหลักของพวกซยงหนูเสียมากกว่า

เพราะภาพของอะไรที่เรียกว่า “ซยงหนู” นั้น มีลักษณะเป็นสหพันธรัฐของชนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นทั้งหมด แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะตอบคำถามดังกล่าวนี้ได้อยู่ดีนั่นเอง

ในท้ายที่สุดอำนาจของกลุ่มชนเผ่าต่างๆ เหล่านี้ ดูจะถูกรวบเข้ามาอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองเดียวกัน (นักประวัติศาสตร์บางท่าน เรียกบ้านเมืองภายใต้การปกครองของพวกซยงหนูในครั้งว่าเป็นจักรวรรดิเลยทีเดียว) โดยตามข้อมูลในหนังสือสื่อจี้ (บันทึกประวัติศาสตร์) ของซือหม่าเชียน ซึ่งถือว่าเป็นนักประวัติศาสตร์คนสำคัญที่สุดของจีน ที่เกิดในช่วงต้นราชวงศ์ฮั่นนั้น (มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.399-448) ได้อ้างว่า พวกซยงหนูได้มีการสถาปนาตำแหน่งผู้นำสูงสุดเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.334 โดยมี “โม่ตู๋ฉานอวี๋” เป็นปฐมจักรพรรดิ

คำว่า “โม่ตู๋” นั้นเป็นชื่อบุคคล ส่วน “ฉานอวี๋” นั้นเป็นชื่อตำแหน่งใกล้เคียงกับคำว่า “ข่าน” ในยุคหลัง

หนังสือฮั่นซู คือพงศาวดารราชวงศ์ฮั่นของจีน ซึ่งถูกเขียนต่อเนื่องกันเกือบจะตลอดช่วงเวลาที่ราชวงศ์ที่ว่านี้เรืองอำนาจ ได้อธิบายคำว่า “เชิงหลีกูถูฉานอวี๋” สร้อยนามจักรพรรดิของพวกซยงหนู (ซึ่งก็มีช่วงเวลาที่เจริญควบคู่อยู่กับสมัยราชวงศ์ฮั่นของจีน) เอาไว้ว่า คำว่า “เชิงหลี” แปลว่า “สวรรค์” ในขณะที่คำ “กูถู” แปลว่า “โอรส” (ดังนั้น สองคำนี้ประกบกันจึงมีความหมายว่า “โอรสสวรรค์” ซึ่งก็คือตำแหน่งของจักรพรรดิ หรือฮ่องเต้ของจีน) ส่วนคำว่า “ฉานอวี๋” หมายถึง “ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามและยิ่งใหญ่”

และก็เป็นคำว่า “ฉานอวี๋” นี่แหละครับ ที่พบเป็นจารึกอยู่บนแผ่นกระเบื้อง ที่เมืองโบราณ ในจังหวัดอาร์ฮังไก ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญจากเมืองโบราณของพวกซยงหนูที่พบใหม่แห่งนี้ เพราะแต่เดิมนั้นข้อมูลเกี่ยวกับการเมืองการปกครองทั้งหมดของซยงหนูนั้น มาจากหลักฐานฝั่งจีนอยู่แทบจะฝ่ายเดียว

 

แต่คำว่า “ฉานอวี๋” ที่พบจารึกอยู่บนแผ่นกระเบื้องนี้ ไม่ได้ปรากฏอยู่โดดๆ นะครับ ในกระเบื้องแผ่นเดียวกันนี้ พบจารึกอักษรทั้งหมด 4 คำคือ “เทียนจื่อฉานอวี๋” โดยคำว่า “เทียนจื่อ” นั้นเป็นคำจีน แปลว่า “โอรสสวรรค์” ดังนั้น จึงชวนให้นึกถึงสร้อยพระนามภาษาพื้นถิ่น “เชิงหลีกูถูฉานอวี๋” ของจักรพรรดิชยงหนู ที่บันทึกอยู่ในพงศาวดารฮั่นซู ที่มีความหมายเหมือนกันไปจนหมดทั้งกระเบียด

จารึกบนกระเบื้องแผ่นนี้ยังพบร่วมอยู่กับแผ่นอื่นอีก 2 ชิ้น ชิ้นแรกปรากฏข้อความว่า “อวี่เทียนอู๋จี้” แปลว่า “ผู้เป็นอมตะซึ่งมาจากสวรรค์”

ส่วนจารึกอีกแผ่นข้อความชำรุดเล็กน้อย แต่พออ่านได้ว่า “เชียน (ชิว) ว่านซุ่ย” คือ “พัน (สารท) หมื่นพรรษา”

เมื่อรวมข้อความจารึกบนกระเบื้องทั้ง 3 แผ่นที่พบใหม่จากเมืองโบราณแห่งนี้เข้าด้วยกัน ก็จะเป็นข้อความสรรเสริญพระเกียรติจักรพรรดิของพวกซยงหนูว่า “โอรสสวรรค์ฉานอวี๋ ผู้เป็นอมตะและมาจากสวรรค์ มีอายุยืนยาวนับพันนับหมื่นปี”

(ขอบคุณคำถอดความจารึกจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ The Pitt และเฟซบุ๊กแฟนเพจโบราณคดีจีน)

 

การค้นพบจารึกที่ระบุถึงพระจักรพรรดิในเมืองโบราณของพวกซยงหนู แสดงให้เห็นถึงการเมืองการปกครองที่เจริญก้าวหน้าและเป็นระบบระเบียบ โดยเฉพาะเมื่อพบในเมืองขนาดใหญ่ ที่สามารถสร้างแหล่งน้ำขนาดมหึมาเอาไว้ในเขตทุ่งหญ้าแห้งแล้ง และล้อมรอบไปด้วยทะเลทราย

จนไม่ชวนให้น่าประหลาดใจนักที่พวกซยงหนูจะมีอำนาจ และอิทธิพลทางการเมืองและการทหาร ในระดับที่สามารถต่อกรกับจักรวรรดิของราชวงศ์ฮั่น (และก็เป็นพวกที่ถูกเรียกรวมๆ ว่าซยงหนูนี่แหละ ที่ทำให้ชาวจีนในยุคก่อนหน้าราชวงศ์ฮั่นต้องสร้างกำแพงเมืองจีนเอาไว้ป้องกัน)

แต่นั่นก็ยังไม่อาจปฏิเสธความจริงที่ว่า กลุ่มชนที่เรียกรวมๆ กันว่าซยงหนูนั้นก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในกระโจมแบบชนเผ่าเร่ร่อนหมุนเวียน ที่ยังชีพด้วยการทำปศุสัตว์มากกว่าที่จะไปอาศัยอยู่ในตึกรามบ้านช่องเหมือนอย่างชาวจีนในยุคร่วมสมัยกัน

ในหนังสือสื่อจี้ของซือหม่าเชียน มีข้อความระบุว่า “เดือนห้าของทุกปี ฉานอวี๋ต้องมาทำพิธีบัดพลีบูชาบรรพชน ฟ้า (สวรรค์) ดิน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ที่เมืองหลงเฉิง)” ซึ่งก็ทำให้มีการค้นหากันอยู่นานนับร้อยปีเลยทีเดียวนะครับว่า เมืองหลงเฉิง คือเมืองมังกรของพวกซยงหนูตั้งอยู่ที่ไหน?

แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็มักจะลงความเห็นไว้ใกล้เคียงกันว่า น่าจะอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองอูลันบาตอร์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศมองโกเลียในปัจจุบัน และควรจะเป็นเมืองขนาดใหญ่ เพราะถูกใช้ในพิธีเซ่นไหว้บรรพชน จึงควรจะต้องเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของพวกซยงหนู

เมืองโบราณของพวกซยงหนูที่พบใหม่ในจังหวัดอาร์ฮังไกนี้ก็ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอูลันบาตอร์ (ถึงจะไม่ค่อนไปทางใต้นัก) แถมยังพบจารึกที่มีข้อความสรรเสริญจักรพรรดิของซยงหนู และมีอายุร่วมสมัยกับราชวงศ์ฮั่นที่บันทึกเรื่องราวของเมืองหลงเฉิง

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ตอนนี้ใครต่อใครก็พากันเชื่อว่า เมืองโบราณแห่งนี้คือเมืองมังกรศักดิ์สิทธิ์ของพวกซยงหนูนั่นเอง