“มหาลัยวัวชน” : ประวัติศาสตร์ บทเพลง และคนแพ้ที่เพิ่งสร้าง

คนมองหนัง

ยิ้มเยาะเล่นหวัวเต้นยั่วเหมือนฝัน

คนมองหนัง


“มหาลัยวัวชน” : ประวัติศาสตร์ บทเพลง และคนแพ้ที่เพิ่งสร้าง

หลายปีก่อน ขณะไปนั่งฟังการประชุมประจำปีของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในหัวข้อ “ผู้คน ดนตรี ชีวิต”

มีนักวิชาการต่างชาติคนหนึ่งที่มาบรรยายในการประชุมครั้งนั้น เป็นนักมานุษยวิทยาดนตรีเชื้อสายไอริช

และวรรคทองหนึ่งซึ่งเขาพูดขึ้นมา แล้วสร้างความฮือฮา-ซาบซึ้งให้แก่ผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ

“ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์ ส่วนผู้แพ้ก็แต่งเพลงกันไป”

เมื่อมาดูหนังเรื่อง “มหาลัยวัวชน” ผลงานล่าสุดของ “บุญส่ง นาคภู่” ผมก็ย้อนนึกไปถึงวรรคทองของนักมานุษยวิทยาไอริชคนนั้นอีกครั้ง

เพราะผมรู้สึกในแวบแรกๆ ระหว่างดู “มหาลัยวัวชน” ว่า หนังพยายามจะพูดถึงประเด็นหลักๆ อยู่สองเรื่อง

 

 

 

เรื่องแรก คือ การต่อสู้ยืนหยัดในโลกร่วมสมัยหรือการแสวงหาตำแหน่งแห่งที่ในฐานะปัจเจกบุคคลตัวเล็กๆ ของตัวละครนำผู้มีบุคลิกเป็น “คนแพ้” อย่าง “พงศ์” “พี่โอ” และผองเพื่อน

เรื่องต่อมา คือ การดำรงอยู่อย่างรางเลือนของ “ประวัติศาสตร์” (ทั้งในระดับ “ท้องถิ่น” และ “ชาติ”)

เอาเข้าจริง ผมไม่ค่อยจะอินกับเรื่องราว/ประสบการณ์/การตัดสินใจของตัวละครหลักใน “มหาลัยวัวชน” มากนัก

แต่ก็ยังพอตระหนักและสัมผัสได้ถึง “ความพ่ายแพ้” ที่พวกเขาต้องเผชิญหน้าและแบกรับ

ไอ้หนุ่มอย่าง “พงศ์” วิ่งไล่ตามความฝันทางด้านดนตรี แต่ก็ไปไม่ค่อยถึงไหน (จนกระทั่งช่วงท้ายของหนัง)

เขาพลาดหวังเรื่องความรัก และเมินเฉยไม่เหลียวแลหญิงใกล้ตัวที่หลงรักตนเอง

ทางด้าน “พี่โอ” แม้จะเป็นเหมือน “พี่ใหญ่” แต่การงานและความใฝ่ฝันของเขาก็ยังไม่สามารถลงหลักปักฐานได้อย่างมั่นคง

เขาต้องแบมือขอเงินพ่อแม่มาสร้าง “โลกในอุดมคติ” ของตนเองและน้องๆ นักดนตรี

ส่วนแฟนสาวที่สอบบรรจุเป็นข้าราชการครูได้ ก็เริ่มเอือมระอาเขา

ขนาดชวนน้องๆ ไปพนันวัวชน พี่โอยังพาน้องๆ ไปเจ๊งเลย

แน่นอน “ภาวะแพ้พ่าย” ของเหล่าตัวละครหลัก ถูกเชื่อมโยงเข้าหากันด้วย “เสียงเพลงแห่งความหวัง” (ตลอดจน “ตัวละครชายลึกลับ” ที่แวะเวียนมาบรรเลงดนตรีประกอบภาพยนตร์ ด้วยกลิ่นอาย “สัจนิยมมหัศจรรย์” อย่างสม่ำเสมอ)

“ประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม” ซึ่งหนังกล่าวอ้างอิงถึง ก็คือ กรณี “ถังแดง” และการเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ของชาวบ้านในจังหวัดพัทลุง ที่เป็นทั้งภาพแทนของการถูกกระทำโดยรัฐ และการลุกขึ้นต่อสู้ทวงคืนความยุติธรรมของคนท้องถิ่น

แต่เมื่อตัวละครหลักของ “มหาลัยวัวชน” คือ คนร้อง คนเล่น คนแต่ง “เพลง”

“ประวัติศาสตร์” จึงกลายเป็นเพียงฉากหลังหรือบริบทรางๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้เท่านั้น

“พงศ์” อาจเอะใจหรือแสดงความใคร่รู้ เมื่อแรกได้พบคำว่า “ถังแดง” แต่หลังจากเขาอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หน้าดังกล่าวอยู่พักเดียว เจ้าหนุ่มพัทลุงก็กลับไปอกหักรักคุด และอยากเป็น “พี่ตูน” ต่อไป

หรือแม้ “คุณลุงลึกลับอดีตแนวร่วมคอมมิวนิสต์” จะพร่ำบอกเนื้อเพลงเกี่ยวกับคนพื้นเมืองดั้งเดิมบนเทือกเขาบรรทัดให้ “พงศ์” ได้จดจำเอาไว้ (โดยมี “พี่โอ” ได้ยินได้ฟังอยู่ห่างๆ)

แต่พอ “พี่โอ” และวงดนตรีคณะพาราฮัท ถ่ายทอดบทเพลง (หรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ถูกหลงลืม) ซึ่งเพิ่งถูกบันทึกเอาไว้จากคำบอกเล่าของคุณลุง ออกมาในบรรยากาศรอบกองไฟ กลับมี “ชาวมันนิ” บนเทือกเขาบรรทัดหลายๆ คน ที่นั่งฟังเพลงดังกล่าวด้วยแววตาเหม่อลอย

ไม่รู้ว่าเพราะเศร้า โหยหา หรือไม่อินกันแน่?

จนถึงส่วนสุดท้ายของหนัง “มหาลัยวัวชน” ก็ยังมุ่งเน้นย้ำอย่างชัดเจนถึง “โลกใบเล็กๆ” ของหนุ่มสาวชาวปักษ์ใต้กลุ่มหนึ่ง และ “บทเพลงคนแพ้” ของพวกเขา

“เพลงคนแพ้” ที่เป็นเพลงเฉพาะกลุ่ม มีคนมาชมการแสดงสดเพียงหลักสิบ เพลงที่แม้แต่พ่อแม่ของนักร้องนักดนตรีซึ่งมานั่งฟังอยู่ด้วย ก็ยังแสดงแววตาเหม่อลอย คล้ายไร้ความรู้สึกเชื่อมโยงใดๆ

ส่วนพี่ๆ (อาจารย์) วง “มาลีฮวนน่า” ก็เพียงแวะลงจากรถตู้มาทักทายให้กำลังใจพวกเขาราวๆ 1-2 นาที แล้วรีบจรจากไป

บทเพลงของ “พี่โอ” “พงศ์” และเพื่อนๆ จึงเป็นดังเสียงดนตรีแห่งเสรีชนทวนกระแส ผู้หยิ่งทะนงในศักดิ์ศรี และพอใจใน “ชุมชนขนาดย่อม” ของตนเอง

พวกเขาปฏิเสธไม่ยอมเข้าค่ายเพลงเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ (แต่เอาเข้าจริง การอยู่รอดในธุรกิจดนตรียุคปัจจุบัน ก็แทบไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมี/ไม่มีค่ายต้นสังกัดอีกต่อไป) ไม่เข้าระบบการศึกษาแบบทางการ (แต่สร้างโรงเรียนทางเลือก) ไม่ได้แนบสนิทกับรัฐราชการ (ไม่ว่าจะเป็นตำรวจที่คอยมาสอดส่องกระท่อมดนตรี “พาราฮัท” หรือครูสาวผู้เบื่อหน่ายแฟนหนุ่มนักแต่งเพลง)

มองในมุมหนึ่ง “มหาลัยวัวชน” จึงเป็นหนังที่เล่าเรื่องของ “คนแพ้-นักแต่งเพลง” ซึ่งไม่มีอำนาจในการเขียน/กำหนด “ประวัติศาสตร์” (ขณะเดียวกัน “ประวัติศาสตร์” ก็มิใช่สิ่งสำคัญสูงสุดที่บรรดาตัวละครนำให้ความใส่ใจ)

“ประวัติศาสตร์” อาจเป็นผลผลิตของรัฐ/อำนาจส่วนกลางที่อยู่ไกลออกไป ซึ่งคนหนุ่มสาวในหนังไม่ค่อยอยาก/ไม่อาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย (“พี่โอ” ไม่ยอมไปสอบเป็นข้าราชการตามคำขอของครอบครัว เขาเหินห่างกับแฟนสาวที่เพิ่งสอบบรรจุรับราชการได้ ส่วน “พงศ์” ก็ถูกแฟนทิ้งไปเรียนหนังสือต่อที่กรุงเทพฯ)

แต่ต้องไม่ลืมเป็นอันขาดว่า ถ้า “ประวัติศาสตร์” และ “บทเพลง” มีสถานะเป็น “เรื่องเล่า” ต่างประเภทกัน

“บทภาพยนตร์” ก็อาจมีสถานะเป็น “เรื่องเล่า” อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีคุณลักษณะ/เป้าประสงค์ผิดแผกออกไป

ผมเห็นว่าถึงแม้ “บทภาพยนตร์” ของ “มหาลัยวัวชน” จะกล่าวถึงการปะทะหรือการดำรงอยู่เคียงคู่กันของ “ประวัติศาสตร์” และ “บทเพลง” (“เรื่องเล่า” สองประเภทแรก) ตรงฉากหน้า

แต่แนวคิดเบื้องหลังที่ส่งอิทธิพลต่อ “บทภาพยนตร์” ดังกล่าวจริงๆ กลับคล้ายจะเป็น “เรื่องเล่าอีกประเภท” ซึ่งมิได้มุ่งบันทึก “ประวัติศาสตร์” ที่ถูกหลงลืมหรือซุกซ่อนเอาไว้ ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้มุ่งถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก/ดนตรีแห่งความเจ็บปวดรวดร้าวของ “คนแพ้”

หาก “เรื่องเล่าอีกประเภท” หรือ “เรื่องเล่าหลัก” ใน “มหาลัยวัวชน” กลับกลายเป็นการมุ่งมั่นสร้างเรื่องราวว่าด้วยชีวิต-โลกอุดมคติอันงดงามเปี่ยมมิตรภาพและความหวังของ “คนแพ้” ขึ้นมาใน “ภาพแทน” อย่าง “จอภาพยนตร์”

สามารถกล่าวได้ว่า นี่เป็นเรื่องราว/เรื่องเล่า/นิทาน/นิยาย/ตำนานของ “คนแพ้ที่เพิ่งสร้าง” ซึ่งถูกก่อร่างสร้างประดิษฐ์ขึ้น เพื่อขับเน้น “เส้นเรื่อง/ความขัดแย้งหลัก” ของภาพยนตร์

นี่คือเรื่องของ “คนแพ้ที่เพิ่งสร้าง” ซึ่งไม่ใช่ทั้งประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของผู้ชนะ หรือบทเพลงที่คร่ำครวญถึงความพ่ายแพ้อันเป็นสัจนิรันดร์

และในความเป็นจริง/ชีวิตจริง “พี่โอ” “พงศ์” รวมถึงเพื่อนๆ ก็ไม่ได้ “พ่ายแพ้” อีกต่อไป (เหมือนในหนัง)

หากพิจารณาที่ยอดคลิกเข้าฟังเพลงของพวกเขาในเว็บไซต์ยูทูบ

ซึ่งทะลุหลักร้อยล้านวิวไปแล้ว