หนุ่มเมืองจันท์ | ฉันจึงมาหาความหมาย

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อนติดตามดู “ม็อบ” ของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทางเพจต่างๆ ที่มีการ live กันแบบสดๆ

ถ้าจำไม่ผิด เขาเพิ่งประชาสัมพันธ์กันวันพฤหัสบดี

อยู่ดีๆ ก็นัดชุมนุม

ถ้าคิดแบบผู้นำมวลชนสมัยก่อน เขาต้องบอกว่าพลาดมาก

เพราะมีเวลาประชาสัมพันธ์น้อยมาก

แบบนี้เรียกคนไม่ได้เยอะ

และเลือกพื้นที่ใหญ่มาก คืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ตามปกติถ้าคนน้อย เขาจะเลือกพื้นที่แคบๆ จะได้ดูแน่นๆ หน่อย

ผมนึกว่าจะมีคนเข้าร่วมสัก 200-300 คน เหมือนการชุมนุมในช่วงที่ผ่านมา

ใครจะไปนึกว่ามีคนมาร่วมชุมนุมหลักพัน

น่าจะไม่ต่ำกว่า 3,000 คน

“ม็อบ” วันนั้นไม่เหมือนกับม็อบพันธมิตรฯ-ม็อบเสื้อแดง หรือม็อบ กปปส. ที่เราคุ้นชิน

แต่เป็น “ม็อบ” มิติใหม่

แตกต่างจาก “ม็อบ” ในอดีตอย่างสิ้นเชิง

เป็นมุมที่นักเคลื่อนไหวรุ่นเก่ายากจะเข้าใจ

คงคล้ายๆ นักธุรกิจรุ่นเก่าจะไม่เข้าใจวิธีคิดของกลุ่ม “สตาร์ตอัพ” ที่แตกต่างจากในอดีต

ถ้าใช้แว่นตาแบบเดิมมอง

จะตาลาย

และงงๆ

ผมเริ่มเปลี่ยนกรอบการมอง “ม็อบ” ของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ตอนที่เกิด “แฟลชม็อบ” ตามมหาวิทยาลัย

ตั้งแต่วิธีคิด วิธีการชุมนุม และการสื่อสาร

ต้องระวังตัวเองไม่ให้ใช้ “ความเคยชิน” เดิม

เพราะกระบวนการเคลื่อนไหวของเยาวชนรุ่นใหม่เขาใช้ “โซเชียลมีเดีย” เป็นหลัก

ทั้งการสื่อสารระหว่างกัน

และใช้พลัง “โซเชียลมีเดีย” กดดันรัฐบาล

ถ้าใช้มุมมองเก่าก็จะรู้สึกว่าพวกนี้เป็นแค่ “นักเลงคีย์บอร์ด”

เขาลืมไปว่า “โซเชียลมีเดีย” นั้นมี “พลัง”

โดยเฉพาะพลังในการทำงานความคิด

“โดนัลด์ ทรัมป์” ไม่เคยสนใจรูปแบบวิธีการสื่อสารเก่าๆ

เขาเลือกใช้ “ทวิตเตอร์” คุยกับประชาชนโดยตรง

บายพาส “สื่อ” ไปเลย

ถ้าไม่มีพลัง “ทรัมป์” คงไม่ใช้

วันนั้น คนไปชุมนุมหลักพัน

แต่คนติดตามผ่านการ live ของเพจต่างๆ เยอะมาก

ก่อน 6 โมงเย็น ผมลองรวบรวมตัวเลขคนดูสดๆ บนจอของเพจ “ข่าวสด-เวิร์คพอยท์-วอยซ์-ประชาไท-รีพอร์ทเตอร์-เยาวชนปลดแอก”

รวมกันประมาณ 1.5 แสนคน

ยิ่งดึกยิ่งเยอะขึ้น

ตอนประมาณ 3 ทุ่ม เพจ “ข่าวสด” มีคนดูสดๆ 1.3 แสนคน

หลังสิ้นสุดการชุมนุม “วอยซ์ทีวี” รวบรวมยอดคนดูทุกเพจทั้งสดๆ และย้อนหลัง

เชื่อไหมครับว่า มีคนติดตามดูสูงถึง 8.8 ล้านคน

ไม่นับทวิตเตอร์เกี่ยวกับการชุมนุมครั้งนี้ที่ติดอันดับโลก

#เยาวชนปลดแอก รีทวีตเป็นอันดับ 3 ของโลกในวันนั้น

ในทางการเมืองยุคใหม่ นี่คือสัญญาณอันตรายของรัฐบาล

เพราะถ้าการรับรู้เรื่องนี้กระจายอย่างกว้างขวาง

ไม่รู้ว่าวันไหน คนกลุ่มนี้จะเดินออกจากหน้าจอ

แล้วเข้าร่วมชุมนุม

ภาพของการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยค่อนข้างชัดว่ากลุ่มเยาวชนปลดแอกใหม่มาก

จน “ผู้พันเจี๊ยบ” เรียกว่า “ม็อบมุ้งมิ้ง”

เพราะถ้าใช้ภาพเก่าของการชุมนุมใหญ่ในอดีตมาเทียบเคียง

ม็อบนี้เด็กมากก…

ไม่มีเวทีขนาดใหญ่ มีแต่โต๊ะเล็กๆ ตัวเดียวกับเครื่องเสียงเล็กๆ

ระบบการตัดสินใจคล้าย “สตาร์ตอัพ”

ลองผิดลองถูก

พอเห็นมวลชนเยอะ ก็ตัดสินใจว่าจะค้างคืน

โดยไม่มีการเตรียมการล่วงหน้า

แต่เมื่อประเมินสถานการณ์แล้วไม่สู้ดี ก็ยกเลิกการค้างคืน

โชคดีที่มวลชนรับได้

เป็นการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์จริง ไม่ใช่คำบอกเล่าจากคนอื่น

ในสายตาของคนที่สนับสนุนรัฐบาลและผ่านการชุมนุมมาเยอะจะมองว่าเด็กกลุ่มนี้ “ไร้เดียงสา” มาก

แต่ยิ่ง “ไร้เดียงสา” มากเท่าไร

ยิ่งแสดงว่าม็อบของเยาวชน “บริสุทธิ์”

ไม่ใช่ “ม็อบ” ที่มีนักการเมืองนำเหมือนในอดีต

แต่สิ่งหนึ่งที่เด็กกลุ่มนี้ไม่ “ไร้เดียงสา” เลยคือ “จุดยืน” ในการชุมนุมครั้งนี้

ถ้าใครอ่านแถลงการณ์ของเขาแล้วจะขนลุก

เขาเริ่มต้นแถลงการณ์ด้วยคำว่า “เราทุกคนไม่ควรมาอยู่ตรงนี้ด้วยซ้ำ”

“เราควรได้ใช้เวลาในการทําสิ่งที่ตนเองรักและร่วมพัฒนาประเทศไปด้วยกัน แต่ในประเทศห้ามพัฒนาเช่นนี้ แม้แต่สิ่งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดอย่างการเรียกร้องความยุติธรรมเป็นสิ่งที่เกิดได้ยากยิ่ง

สิ่งที่พวกเราร้องขอในวันนี้ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าขออนาคตที่ดีให้พวกเราเยาวชน

ขอรัฐบาลที่ฟังเสียงของประชาชนมาจากประชาชน

ขอรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ขอประเทศที่เป็นของประชาชน”

แต่ประโยคที่ทรงพลังที่สุดคือประโยคนี้ครับ

“เราต้องทําเรื่องนี้ให้จบในรุ่นของเรา”

เขาไม่ว่า “คนรุ่นเก่า”

แต่ผมฟังแล้วหน้าชา

“ภาษา” ที่ใช้ในการชุมนุมก็เช่นกัน

ผมรู้สึกว่าเขาสื่อสารกับคนรุ่นเดียวกัน

เหมือนกับที่เห็นใน “แฟลชม็อบ” ตามมหาวิทยาลัย

“ภาษา” ในแต่ละยุคแต่ละสมัยจะแตกต่างกัน

เหมือนกับภาษาในหนังสือ หรือเพลง

“ม็อบ” ยุคก่อนใช้เพลงเพื่อชีวิต

ยุคนี้เป็นเพลงแร็พ “ประเทศกูมี”

ตอนที่จะค้างคืนมีคนเสนอว่าครั้งหน้าให้เอาเกม ROV ขึ้นจอ

แล้วมาเล่นเกมกันจริงๆ

ให้คนในม็อบเชียร์

เพราะในเกมมีการ “ตีป้อม”

มีนัยยะทางการเมืองด้วย

ผมนึกจินตนาการตาม คงเป็น “ม็อบ” ที่แปลกใหม่มากๆ

จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เริ่มลามไปเชียงใหม่-อุบลราชธานี

และมีอีกหลายจังหวัดที่เริ่มนัดชุมนุม

ไม่มีระบบการจัดตั้งเหมือนในอดีต

ใครอยากทำอะไรก็ทำ

สร้างสรรค์ได้เต็มที่

บางแห่งไม่ใช่การชุมนุม อย่างเช่นชลบุรี ก็เป็นกิจกรรมเก็บขยะที่แหลมแท่น

ตำรวจจะห้าม ก็ห้ามยาก

แต่มีความหมายทางการเมือง

มีเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมาก

ที่อุบลราชธานี เขาเปิดเวทีให้ทุกคนได้แสดงความเห็น

มีเด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่งขึ้นมา

เธอบอกว่า พี่ๆ เพื่อนๆ ที่มาชุมนุมวันนี้คงโดนพ่อ-แม่ห้ามว่ามาชุมนุมทำไม

“แต่หนู…พ่อ-แม่ไม่ว่า” เธอทำเสียงภูมิใจ

“เพราะหนูไม่บอกพ่อ-แม่”

มุขแบบนี้ เวทีเสื้อแดงหรือ กปปส.ไม่มี