วิเคราะห์ : เราอยู่กันอย่างไรในภาวะอากาศร้อนถึงขีดสุด

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ความรู้สึกในตอนเช้าตรู่ของห้วงเวลานี้ เหมือนดวงอาทิตย์โผล่ผ่านขอบฟ้าแล้วส่องแสงแรงจ้า เป็นแสงที่มาพร้อมๆ กับอากาศร้อนระอุ ต่างกับวันเก่าๆ ในอดีตสมัยเป็นเด็กๆ เมื่อตะวันโผล่เปล่งแสงเปิดม่านฟ้าสว่างให้ความรู้สึกอบอุ่น

ถามเพื่อนๆ ได้คำตอบเหมือนๆ กันว่าอากาศร้อนอบอ้าวผิดปกติ ยิ่งในตอนกลางวันยิ่งรู้สึกร้อนสุดๆ คล้ายอยู่ในเตาอบ ผิวโดนแดดแสบแทบไหม้

ปลายสัปดาห์ก่อน เดินทางไปอีสาน ที่นั่นก็ร้อนตับแตกเหมือนๆ กรุงเทพฯ

ตื่นขึ้นมา 6 โมงเช้าพระอาทิตย์ส่องแสงแผดเปรี้ยงแล้ว ออกไปปั่นจักรยานเล่นแถวๆ สวนสาธารณะของเทศบาลนครขอนแก่นได้เพียงไม่กี่นาที เหงื่อไหลโชกชุ่มไปทั้งตัว

พูดถึงเมืองขอนแก่น เวลานี้มีพื้นที่สาธารณะให้พักผ่อนออกกำลังกายหลายแห่ง แต่ละแห่งมีผู้คนไปใช้บริการกันคึกคัก น่าชมเชยผู้บริหารที่มีความพยายามทำให้ขอนแก่นเป็นเมืองในสวน

เมืองในสวนหรือ Green City เป็นแนวโน้มของโลกยุคใหม่เพราะผู้บริหารเมืองที่มีแนวคิดทันสมัยเชื่อว่าการปลูกต้นไม้ให้เต็มเมืองจะช่วยลดอุณหภูมิให้เย็นลงเพิ่มความน่าอยู่น่าอาศัยและให้ผู้คนรู้สึกผ่อนคลาย

 

เมื่อไม่นานมานี้คณะนักวิทยาศาสตร์ที่มาจากหลายๆ ชาติทั้งอเมริกา ยุโรป นำข้อมูลประวัติศาสตร์และสภาพภูมิอากาศของโลกย้อนหลังไปเมื่อ 6,000 ปีก่อนมาคำนวณ พบว่าห้วงเวลานั้นหลายชุมชนของโลกสร้างวัฒนธรรมอันศิวิไลซ์ต่างอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี

อุณหภูมิโลกมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 11-15 องศาเซลเซียส หรือที่เรียกว่าภูมิอากาศจำเพาะ (climate niche) ชาวโลกจึงอยู่กันอย่างชิลๆ สบายๆ

คนเราเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมดีๆ มีกินอิ่มหลับสบาย ความคิดสร้างสรรค์ก็เบ่งบาน บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข

ในเวลานั้น มีชุมชนเพียงไม่กี่แห่งในโลกอยู่ภายใต้อุณหภูมิเฉลี่ย 20-25 ํc

นักวิทยาศาสตร์ใช้ข้อมูลการพยากรณ์จำนวนประชากรและจำลองสถานการณ์ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกของสหประชาชาติพบว่า หากอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น 3 ํc ชุมชนของโลกราว 20 เปอร์เซ็นต์จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่ ภายใน 50 ปีข้างหน้า

หากเป็นไปตามการวิเคราะห์ คาดว่าประชากรโลกราว 1 ใน 3 หรือประมาณ 3,000 ล้านคนจะดำรงชีวิตอยู่ภายใต้สภาพอากาศอันร้อนระอุเหมือนทะเลทรายซาฮารา ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ไม่กี่แห่งของโลกที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยของทั้งปีสูงกว่า 29 ํc

“ทิม เลนตัน” ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาวะภูมิอากาศโลกแห่งมหาวิทยาลัยเอ็กซ์เตอร์ ประเทศอังกฤษ หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมกันศึกษาเรื่องนี้บอกกับนักข่าวบีบีซีว่า อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 3 ํc ผิวโลกร้อนกว่าผิวน้ำทะเล จะทำให้ผู้คนรู้สึกเหมือนร้อนขึ้นกว่าเดิมถึง 7 ํc

ชุมชนของโลกที่คาดการณ์ว่า ในราวปี 2613 จะมีชีวิตอยู่ภายใต้ภูมิอากาศร้อนสุดๆ ได้แก่ ออสเตรเลียเหนือ อินเดีย แอฟริกา อเมริกาใต้ และบางส่วนของตะวันออกกลาง

ผลการศึกษายังพบอีกว่า คนที่มีรายได้น้อย บ้านพักอาศัยไม่มีเครื่องปรับอากาศ ทำงานอยู่กลางแจ้ง ตามไร่นาจะมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบากยิ่งกว่าเดิม ในช่วงหน้าร้อนอากาศร้อนอบอ้าวอย่างมาก

 

อากาศร้อนอบอ้าวมีผลต่อสุขภาพร่างกายอาจถึงขั้นทำให้อวัยวะทำงานผิดปกติหรือเสียหาย

ความร้อนทำให้ผู้คนรู้สึกหงุดหงิด เกิดอาการเครียด หัวใจทำงานหนักขึ้นเพราะเส้นเลือดขยายกว้าง และความดันลดลง หัวใจต้องสูบฉีดเลือดแรงขึ้นกว่าเดิม

คนที่ร่างกายไม่แข็งแรงสมบูรณ์เมื่อเจออากาศร้อนอบอ้าวอย่างสุดๆ จะมีโอกาสเสี่ยงเกิดอาการหัวใจวาย หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว เป็นลม กล้ามเนื้ออ่อนล้าเป็นตะคริว

อากาศร้อนมีผลโดยตรงกับคนป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง คนสูงวัย เพราะคนเหล่านี้ปรับตัวได้ยากกว่าคนปกติทั่วไป

ฉะนั้น ลองนึกภาพดู ถ้าอุณหภูมิพุ่งสูงเฉลี่ยเกิน 25 ํc แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนทั้งโลก

หันมาดูประเทศไทย เมื่อปีที่แล้วคนไทยอยู่ภายใต้อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 28.1 ํc

กรมอุตุฯ บอกว่า เป็นค่าเฉลี่ยสูงกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีตรอบ 30 ปี หรือสูงกว่าค่าปกติ 1.0 ํc

เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงระหว่างปี 2494-2562 อุณหภูมิเฉลี่ยของปี 2561 สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทยในรอบ 69 ปี

ถ้าหากบ้านเราไม่รีบเร่งปรับสภาพเมือง สภาพชุมชนให้อยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ร่มรื่นเขียวชอุ่ม คนไทยโอกาสจะเผชิญกับอุณหภูมิร้อนอย่างสุดๆ อย่างแน่นอน เพราะตอนนี้ทุกหัวระแหงก็ร้อนแทบตับแตกอยู่แล้ว ถ้าร้อนมากไปกว่านี้ คนไทยจะยิ่งเครียดหนักมากกว่าเดิมอีก

อยากจะฝากบอกรัฐบาลลุงตู่ให้เร่งๆ ทำการเมืองให้นิ่งๆ มีเสถียรภาพ ปรับคณะรัฐมนตรีเร็วๆ อย่าปล่อยให้อึมครึม เกิดสุญญากาศการเมือง ข้าราชการปล่อยเกียร์ว่าง งานไม่เดิน และเมื่อปรับ ครม.เสร็จแล้ว ก็รีบๆ วางแผนแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องให้ลุล่วงเบ็ดเสร็จ พร้อมๆ กับปรับเมืองให้เป็นกรีนซิตี้

รัฐบาลต้องประกาศแผนเร่งด่วนให้เป็นผู้บริหารท้องถิ่นทั่วประเทศประกาศสร้างพื้นที่สีเขียวที่ได้มาตรฐานโลก

 

อย่างที่ขอนแก่นมีแผนพัฒนาให้เมืองในสวนมาตั้งแต่ปี 2547 มีการตั้งเป้าหมายเพิ่มต้นไม้ พื้นที่สาธารณะให้ได้ 15.22 ตารางเมตรต่อคน ตามมาตรฐานสากล

พื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยก็เช่นกัน ควรปลูกป่า ปลูกต้นไม้ สร้างสวนสาธารณะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้มาตรฐานสากลโดยเร็ว

ถ้าเชื้อโควิด-19 ยังไม่หมดจากโลก ประเทศไทยจะเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจหนักหนาสาหัสอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

เมื่อคนไทยเครียดกับการทำมาหากินที่ลำบากแสนสาหัส รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อีกทั้งเมืองสกปรกรกรุงรัง มีแต่กลิ่นเน่าเหม็นไม่น่าอยู่น่าอาศัย ไม่น่าเบิกบานใจ

ความทุกข์ยาก ความอลหม่านเหล่านี้จะปลุกกระตุ้นให้สังคมปั่นป่วนในทุกมิติ