ต่างประเทศ : สิ่งท้าทาย ภายใต้แนวโน้มประชากรโลกลด

จํานวนประชากรโลกในปัจจุบัน อ้างอิงตัวเลขข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ชี้ว่ามีรวมกันอยู่ที่กว่า 7,700 ล้านคน

แต่รายงานการศึกษาแนวโน้มประชากรโลกของทีมนักวิจัยนานาชาติ ที่ตีพิมพ์ในวารสารแลนเซ็ต เผยแพร่เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนคาดการณ์ว่า ในสิ้นศตวรรษนี้ หรือภายในปี ค.ศ.2100 ประชากรโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นรวมกันอยู่ที่ราว 8,800 ล้านคน ซึ่งน้อยกว่าที่ยูเอ็นคาดการณ์ไว้ถึงประมาณ 2,000 ล้านคน

โดยยูเอ็นคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าประชากรโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 8,500 ล้านคนในปี ค.ศ.2030 และเพิ่มขึ้นเป็น 9,700 ล้านคนในปี ค.ศ.2050 และ 10,900 ล้านคนในปี ค.ศ.2100

ที่สำคัญไปกว่านั้น รายงานการศึกษานี้ระบุด้วยว่า ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ประชากรในกว่า 20 ประเทศจะลดลงไปถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรที่ประเทศเหล่านี้มีอยู่ทั้งหมดในขณะนี้

ซึ่งในกว่า 20 ประเทศเหล่านั้นมีไทยเรารวมอยู่ด้วย นอกเหนือจากอิตาลี ญี่ปุ่น โปแลนด์ โปรตุเกส เกาหลีใต้ และสเปน ที่ถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างขึ้นมา

นั่นหมายความว่าหากเป็นไปตามการคาดการณ์ของทีมนักวิจัยนานาชาติชุดนี้ ในสิ้นศตวรรษนี้ ประเทศไทยเราซึ่งปัจจุบันมีประชากรอยู่ที่กว่า 66.5 ล้านคน ก็จะมีประชากรลดลงอยู่ที่เพียงกว่า 33 ล้านคน!

 

รายงานการศึกษาฉบับนี้ที่มีคริสโตเฟอร์ เมอร์เรย์ ผู้อำนวยการสถาบัน Institute for Health Metrics and Evaluation (IHME) แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เป็นผู้นำการเขียนรายงาน ยังระบุถึงจีน ชาติมหาอำนาจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอยู่ในขณะนี้ที่ราว 1,400 ล้านคน

แต่ในอีก 80 ปีข้างหน้า จีนจะมีประชากรลดลงครึ่งหนึ่ง อยู่ที่ประมาณราว 730 ล้านคน

สวนทางกับแอฟริกาใต้สะฮารา ภูมิภาคในทวีปแอฟริกาและอยู่ใต้ทะเลทรายสะฮารา ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่มีประชากรเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว

โดยมีประชากรรวมกันที่ราว 3,000 ล้านคน เฉพาะไนจีเรียเพียงชาติเดียว จะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 800 ล้านคนในปี ค.ศ.2100 และไนจีเรียจะมีประชากรเป็นรองเพียงแค่อินเดียเท่านั้น

โดยอินเดียยังจะแซงหน้าจีน เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในเวลานั้น โดยมีประชากรราว 1,100 ล้านคน

 

ผลการศึกษายังระบุว่า ในขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์โลกลดลงและอายุขัยเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น แต่คาดว่าประชากรกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีลงไป จะมีอัตราลดลงมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ หรือจากที่มีประชากรกลุ่มนี้ราว 681 ล้านคนในปี ค.ศ.2017 จะเหลือเพียง 401 ล้านคนในปี ค.ศ.2100

นอกจากนี้ ในอีก 80 ปีข้างหน้า ประชากรราว 2,370 ล้านคน หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรโลก จะมีอายุ 65 ปีขึ้นไป

โดยกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปี ยังจะเพิ่มขึ้นจากราว 140 ล้านคนในขณะนี้ เป็น 866 ล้านคนในช่วงเวลานั้น

อย่างไรก็ตาม รายงานแนวโน้มประชากรของทีมนักวิจัยนานาชาติชุดนี้มีความแตกต่างไปจากรายงานการคาดการณ์ของยูเอ็นที่ถูกยึดเป็นมาตรฐานของโลก ซึ่งสถาบัน IHME ให้เหตุผลว่าเป็นผลจากการประเมินอัตราการเจริญพันธุ์ หรือ “อัตราทดแทน” ทางประชากรที่แตกต่างกัน โดยระดับประชากรที่มีเสถียรภาพ จะมีอัตราการเกิดของทารกอยู่ที่ 2.1 คนต่อผู้หญิง 1 คน

ซึ่งยูเอ็นประเมินว่าในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำในขณะนี้ จะเห็นอัตราการเกิดของทารกที่ราว 1.8 คนต่อผู้หญิง 1 คนในภายภาคหน้า

แต่การคาดการณ์ของ IHME ประเมินจากตัวแปรที่ ผู้หญิงมีระดับการศึกษามากขึ้น และมีการเข้าถึงการบริการสาธารณสุขด้านการเจริญพันธุ์ได้มากขึ้น นั่นเป็นเหตุผลให้จำนวนประชากรมีแนวโน้มเติบโตลดลง ที่คาดว่าจะมีค่าเฉลี่ยการเกิดของทารกไม่ถึง 1.5 คนต่อผู้หญิง 1 คน

คริสโตเฟอร์ เมอร์เรย์ บอกว่า หากแนวโน้มประชากรโลกเป็นไปตามการคาดการณ์นี้ ทางหนึ่งจะถือเป็นข่าวดีสำหรับสิ่งแวดล้อมโลก ที่จะทำให้ระบบการผลิตอาหารของมนุษย์เราคลายความตึงตัวลง จะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อภาวะโลกร้อนลดลง

และยังจะช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญให้กับประเทศในแถบภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราให้ลืมตาอ้าปากได้

 

แต่ในทางกลับกัน ก็มีผลกระทบเชิงลบที่จะส่งผลอย่างยิ่งยวดต่อประเทศส่วนใหญ่นอกทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะจะเห็นการลดลงของประชากรที่เป็นกลุ่มแรงงาน ซึ่งเป็นกำลังหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และโครงสร้างประชากรจะกลายเป็นแบบพีระมิดหัวกลับ ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างลึกซึ้ง

เช่นจีน จะมีประชากรในกลุ่มวัยทำงานลดลงจาก 950 ล้านคนในขณะนี้ เหลือราว 350 ล้านคนในสิ้นศตวรรษนี้ หรือลดลงไปถึง 62 เปอร์เซ็นต์

ตรงข้ามกับไนจีเรีย ที่จะมีประชากรกลุ่มแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 86 ล้านคนในขณะนี้ เป็นมากกว่า 450 ล้านคน

รายงานการศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มประชากรลดลงของจีน ยังจะทำให้จีนซึ่งถูกคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) พุ่งขึ้นแซงหน้าสหรัฐอเมริกาไปได้ในปี ค.ศ.2050 แต่ขนาดเศรษฐกิจของจีนก็จะปรับลดลงมาอยู่อันดับ 2 เช่นเดิมในปี 2100

ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียก็ขยายตัวขึ้นไปรั้งอันดับ 3 ของโลก

ในขณะที่ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร จะยังคงอยู่ใน 10 อันดับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

ส่วนบราซิลจะร่วงหล่นจากอันดับ 8 มาอยู่อันดับ 13 รัสเซียหล่นจากอันดับ 10 มาอยู่อันดับ 14

ขณะที่อิตาลีและสเปน จะหลุดร่วงลงไปอยู่ที่อันดับ 25 และ 28 ตามลำดับ

ที่น่าจับตาคือ อินโดนีเซียจะผงาดขึ้นมาเป็นชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 12 ของโลก

 

สรุปได้ว่าสาเหตุหลักใหญ่ของแนวโน้มประชากรโลกจะลดลง มาจากอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง สวนทางกับกลุ่มประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น

ซึ่งขณะนี้หลายประเทศกำลังเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว และกำลังเผชิญผลพวงของปัญหานี้อยู่ หนึ่งในนั้นก็คือการขาดแคลนแรงงาน

ซึ่งรายงานการศึกษานี้ยังได้เสนอแนวทางแก้ไขรับมือเอาไว้ในการทำให้ระดับประชากรและเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

เช่น การยืดหยุ่นนโยบายอพยพย้ายถิ่น

การให้การสนับสนุนทางสังคมแก่สถาบันครอบครัว การส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง

ตลอดจนการปฏิรูประบบบริการทางสังคมและสาธารณสุขต่อประชากรผู้สูงอายุ