ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | เยาวชนปลดแอก : New Normal สู่อนาคตใหม่ของประเทศ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

การชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนในนาม “เยาวชนปลดแอก” กำลังเป็นสึนามิทางการเมืองลูกใหม่ในสังคมไทย เพราะทันทีที่คนกลุ่มนี้ฝ่าเจ้าหน้าที่ไปตั้งเวทีบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสำเร็จ ความมั่นใจในการแสดงออกทางการเมืองที่ถูกกดด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ฟื้นชีพขึ้นใหม่ทันที

“เยาวชนปลดแอก” ไม่ใช่ชื่อที่คนทั่วไปรู้จักในช่วงก่อนชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม เพราะนอกจากจะไม่มีความชัดเจนว่ากลุ่มคือใคร ผู้นำกลุ่มก็ไม่มีภาพที่สังคมคุ้นเคยเท่านักศึกษาที่เคลื่อนไหวประชา ธิปไตยคนอื่น ไม่ต้องพูดถึงการใช้คำว่า “เยาวชน” หรือ “ปลดแอก” ซึ่งไม่ใช่ภาษาของยุคสมัยนี้เลย

แม้การชุมนุมของเยาวชนปลดแอกในวันที่ 18 จะไม่ใช่การชุมนุมที่ผู้เข้าร่วมสูงสุดในประวัติศาสตร์ไทย แต่การชุมนุมในวันนั้นกลับเปรียบได้กับไม้ขีดไฟที่ถูกโยนใส่กองฟางจนเกิดเปลวไฟแผดเผาความอยุติธรรมซึ่งกลืนกินประเทศหลังปี 2557 เพราะจากนั้นการชุมนุมจังหวัดอื่นก็บังเกิดตามมา

สื่อรับจ้างในช่อง 11 และนักการเมืองปลายแถวในพลังประชารัฐพยายามประจบพล.อ.ประยุทธ์ โดยปั่นข้อมูลเท็จว่า “เยาวชนปลดแอก” เชื่อมโยงกับธนาธร แต่ในโลกที่ทุกคนรู้ข้อเท็จจริงเท่ากัน ข่าวแบบนี้ถูกปฏิบัติให้ด้อยค่ากว่ากระดาษชำระใช้แล้วจนเป็นได้แค่คอมเม้นท์โง่ๆ ตามเฟซเท่านั้นเอง

ความเชื่อว่า “เยาวชนปลดแอก” มีแกนนำทำให้รัฐบาลเชื่อว่าต้องตัดไฟแต่ต้นลมโดยให้ตำรวจดำ เนินคดีกับ “แกนนำ” แต่ที่จริงเยาวชนซึ่งนัดหมายประชาชนไปชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวันที่ 18 รวมทั้งในพื้นที่อื่นๆ ไม่ใช่ “แกนนำ” ในความหมายที่รัฐบาลคิด

ถ้ารัฐบาลบ้องตื้นจนยกระดับการคุกคามเด็กจากใช้ตำรวจข่มขู่ตามบ้านเป็นการจับ หรือไม่ก็ส่งทหารไปเล่นงานทั้งทางตรงและทางอ้อม ในที่สุดแล้วไม่เพียงรัฐบาลจะไม่อาจตัดไฟไม่ให้ลุกลามไปตามลม แต่รัฐบาลจะกลายเป็นคนโหมไฟให้ลามเป็นกองเพลิงเผาไหม้รัฐบาลไปด้วยตัวเอง

“เยาวชนปลดแอก” ไม่ใช่องค์กรจัดตั้งที่ใครคนใดเป็นผู้บังคับบัญชาหรือเป็นแกนกลาง และ การรวมตัวในวันที่ 18 ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการระดมมวลชน เพราะในวินาทีที่เพจ “เยาวชนปลดแอก” ประกาศในวันที่ 17 ว่าจะชุมนุม คนจำนวนมากยังไม่เชื่อและไม่รู้จักว่าคนกลุ่มนี้เป็นใครด้วยซ้ำไป

อดีตรองโฆษกกองทัพอย่าง “ผู้พันเจี๊ยบ” เหยียดหยามผู้ชุมนุมเป็น “ม๊อบขนอุย” ที่โง่จนควรหัดขายของออนไลน์ และแม้ทรรศนะของนายพันที่มองคนเป็นขนจนคิดว่าความฉลาดขึ้นอยู่กับอายุขนจะเขลาจนน่าสมเพช สิ่งที่ผู้พันคนสนิท ผบ.ทบ.ทำให้เห็นคือคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้บริสุทธิ์และน่าเชื่อถือกว่าข้าราชการหญิงวัยกลางคนที่ใช้ภาษีประชาชนทำเพจอวยผลงานนาย

พลังของ “เยาวชนปลดแอก” คือการสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ และการที่คนกลุ่มนี้เปิดเพจปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2562 แล้วมีผู้ติดตามสามแสนกว่าๆ จนนัดชุมนุมสำเร็จสะท้อนว่า “เยาวชนปลดแอก” พูดและทำตรงกับสิ่งที่ทุกคนคิด หรือพูดอีกแบบคือพูดและทำสิ่งที่เป็น “กระแส” สังคม

หนึ่งวันหลังจากเยาวชนปลดแอกชุมนุมที่ราชดำเนิน เชียงใหม่ก็เกิดชุมนุมที่ประตูท่าแพ จากนั้นกิจกรรมคล้ายกันก็เกิดขึ้นที่ชลบุรี, มหาสารคาม, ลำพูน, นครสวรรค์ ฯลฯ จนแผนใช้โควิดสกัดแฟลชม็อบนักศึกษากำลังเผชิญหน้ากับการกลับมาของประชาชนที่ใหญ่โตขึ้นกว่าเดิม

ข้อเรียกร้องของเยาวชนปลดแอกที่ราชดำเนินคือยุบสภา แต่การชุมนุมที่จังหวัดอื่นๆ ไม่ได้พูดเรื่องยุบสภามากเท่าการชุมนุมที่กรุงเทพ พลังของม็อบเยาวชนจึงไม่ได้อยู่ที่ข้อเรียกร้องเท่ากับการใช้ข้อเรียกร้องเป็นการสร้างกระบวนการเพื่อให้คนกลุ่มอื่นกล้าหาญจะทำอย่างที่ม็อบเยาวชนปลดแอกทำ

ขณะที่ม็อบเยาวชนปลดแอกเรียกร้องให้ยุบสภา ป้ายหรือข้อความที่ปรากฎในการชุมนุมจังหวัดอื่น กลับพูดเรื่องนี้ไม่มากนัก ยิ่งกว่านั้นคือผู้ร่วมชุมนุมบางคนจงใจใช้ป้ายเพื่อสื่อสารประเด็นอื่นๆ ไปสู่สังคมจนเห็นได้อย่างชัดเจน

“ป้าย” ในการชุมนุมทำให้คนบางส่วนกระอักกระอ่วนใจ และยิ่งนานก็ยิ่งเห็นชัดว่าผู้มีอำนาจต้องการขยายเงื่อนไขเรื่องป้ายไปสู่การกำจัดการชุมนุมทั้งหมด แต่ที่จริงป้ายสะท้อนความคิดของคนถือป้ายซึ่งสุดวิสัยที่แกนนำหรือผู้ชุมนุมจะรับรู้ได้ การปราบปรามด้วยเรื่องป้ายจึงมีแต่จะเร่งให้สถานการณ์ลุกลาม

ตรงข้ามกับรัฐบาลและคนอายุ 50 กว่าๆ ที่มองม็อบเยาวชนปลดแอกผ่านเลนส์เรื่อง “ขบวนการ” ที่ต้องมี “แกนนำ” เยาวชนปลดแอกโดยเนื้อแท้แล้วเป็น “ความเคลื่อนไหว” ที่คนกลุ่มนี้เป็นเพียงคนอำนวยการให้เกิดพื้นที่ซึ่งคนมหาศาลที่คิดแบบเดียวกันจะแสดงออกได้อย่างกว้างขวางต่อไปเท่านั้นเอง

ม็อบเยาวชนปลดแอกคือม็อบที่ไม่มีแกนนำ ผู้ชุมนุมรู้จักคนปราศรัยผ่านภาพกิจกรรมต่างๆ เช่น “หนุ่มระยอง” มากกว่าจะจดจำคนเหล่านี้ในฐานะปัจเจกบุคคล ประชาชนร่วมชุมนุมเพราะการชุมนุมคือ Platform ที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีความคิดบางเรื่องตรงกัน ต่อให้จะไม่มีแกนนำเลยก็ตาม

“เยาวชนปลดแอก” แสดงพลังคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าที่คิดตรงกับคนรุ่นใหม่ในหลายเรื่องสำคัญหลายเรื่อง แต่ก่อนที่จะมาถึงเวลาของ “เยาวชนปลดแอก” สังคมไทยก็เคยมีการแสดงออกแบบนี้ผ่านช่องทางอื่นๆ อย่างการเลือกธนาธรและพรรคอนาคตใหม่, แฟลชม็อบ หรือแม้แต่วิ่งไล่ลุง

เยาวชนปลดแอกไม่ได้น่ากลัวเพราะความสมเหตุสมผลของข้อเรียกร้องยุบสภา พลังของเยาวชนปลดแอกอยู่ที่การแสดงให้เห็นว่าสังคมเกิด New Normal หรือ “วิถีใหม่” ที่คนรุ่นใหม่มองว่าการแสดงจุดยืนทางการเมืองในพื้นที่สาธารณะคือเรื่องปกติ โดยเฉพาะจุดยืนตรงข้ามผู้มีอำนาจปัจจุบัน

นักร้องและนักแสดงหลายคนแสดงออกว่าสนับสนุนการชุมนุมบนถนนราชดำเนิน แต่ขณะที่การแสดงออกว่าอยู่ข้างประชาธิปไตยแบบนี้แทบเป็นไปไม่ได้ในช่วงปี 2549, 2553 และ 2557 นางงามอย่างมารีญาหรือนักร้องอย่างอิมเมจ , แม็กซ์ เจนมานะ, มิวสิค BNK48 ฯลฯ กลับทำแบบนี้ได้โดยสมบูรณ์

ถ้ายอมรับว่ามารีญาและนักร้องนักแสดงที่ระบุชื่อไปล้วนมีผู้สนับสนุนหลักเป็นประชากรวัยต่ำกว่า 25 การที่คนเหล่านี้แสดงออกแบบนี้แล้วไม่ถูกเสียบประจานแบบที่เคยเกิดแก่คนในวงการบันเทิงอื่นๆ ในช่วง 2553 และ 2557 ก็ชี้ให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่เดินไปสู่ทิศทางของการมีจุดยืนตรงข้ามผู้มีอำนาจจริงๆ

การขยายตัวของแฟลชม็อบไปแทบทุกจังหวัดสะท้อนว่าคนรุ่นใหม่ต้องการแสดงออกเหมือนที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกทำ และรายงานข่าวเรื่องตำรวจไล่ล่านักเรียนหรือนักศึกษาแทบทุกพื้นที่ก็สะท้อนความหวาดกลัวที่เห็นคนรุ่นใหม่แสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่าการต่อต้านผู้มีอำนาจเป็นเรื่องธรรมดา

รัฐบาลประยุทธ์แสดงออกอย่างเปิดเผยว่าหาทางยัดคดีทุกคนที่ถูกหมายหัวเป็น “แกนนำ” บนถนนราชดำเนิน แต่ผู้ชุมนุมไม่ได้สังกัดองค์กรจัดตั้ง และเยาวชนปลดแอกไม่ใช่แกนนำ การยัดคดีจึงไม่มีผลให้การรวมตัวแบบนี้ปิดฉาก อย่างมากก็ได้แค่บีบให้เกิดองค์กรใหม่ซึ่งมีบทบาทลักษณะเดียวกัน

เยาวชนปลดแอกเป็นสัญลักษณ์ว่าสังคมไทยเคลื่อนสู่จุดที่ “คนรุ่นใหม่” หมดศรัทธาผู้มีอำนาจจนไม่เหลือความยำเกรงรัฐบาลต่อไป ความน่ากลัวของเยาวชนปลดแอกอยู่ที่การเปิดพื้นที่ให้คนแบบนี้ค้นพบว่าตัวเองมีพวกมากจนเป็น Mass หรือมวลชนที่คิดคล้ายกันเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตย

เงื่อนไขทางสังคมของการเกิดองค์กรอย่าง “เยาวชนปลดแอก” คือคนรุ่นใหม่ที่มีปัจเจกภาพสูงนั้นมีมากจนตระหนักในพลังของตัวเองขั้นไม่เห็นความจำเป็นต้องหวั่นเกรงรัฐบาล

“การเมือง” ของคนรุ่นใหม่จึงเป็นการเมืองที่ไม่มีใครชี้นำใคร ไม่จำเป็นต้องมีองค์กรจัดตั้ง และไม่มีใครเป็น “แกนนำ”

“เยาวชนปลดแอก” คือหลักกิโลเมตรสำคัญของขบวนการคนรุ่นใหม่ในสังคมไทย เพราะในโลกที่การขับเคลื่อนสังคมดำเนินการผ่านออนไลน์ โอกาสที่ใครสักคนจะเป็นผู้นำความคิดในพริบตาย่อมเป็นไปได้ทั้งหมด การแสดงออกทางการเมืองของ “คนรุ่นใหม่” จึงเป็นเรื่องที่ใครทำก็ได้ตลอดเวลา

หกปีที่พลเอกประยุทธ์กดคนทั้งประเทศให้อยู่ใต้พลเอกประยุทธ์คือหกปีที่ “คนรุ่นใหม่” ถูกทำลายล้างด้วยการยัดคดี แต่บทเรียนที่พลเอกประยุทธ์ไม่เคยได้คือคนรุ่นใหม่ที่รังเกียจพลเอกประยุทธ์ยิ่งนานยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนหมดโรมมีเนติวิทย์ และหมดเนติวิทย์ก็มีเพนกวิ้นและทัตเทพโผล่ขึ้นมา

“เยาวชนปลดแอก” ไม่ใช่องค์กรที่ใครคนใดเป็นแกนนำ แต่ “เยาวชนปลดแอก” คือ Platform ที่คนซึ่งมีสำนึกปัจเจกอย่างแรงกล้าค้นพบว่าเวลาของการแสดงออกถึงการต่อต้านพลเอกประยุทธ์และพวกได้มาถึงแล้ว การเมืองของการต่อต้านรัฐวันนี้จึงเป็นเรื่องที่ใครก็เป็นผู้นำได้ตลอดเวลา

ด้วยการชุมนุมบนถนนราชดำเนินในวันเสาร์ที่ 19 ขั้นตอนใหม่ของการต่อสู้ระหว่างคนรุ่นใหม่กับระบอบการปกครองที่ทำลายอนาคตประเทศได้เริ่มขึ้นแล้ว “แกนนำ” ของคนรุ่นใหม่คือทุกคนที่อยู่ในโซเชียลเต็มไปหมด

ต่อให้ลูกน้องผบ.ทบ.จะภูมิใจในความแก่ของขนตัวเองจนดูแคลนคนรุ่นใหม่ว่าเป็นพวกขนเพิ่งขึ้น ก็ไม่มีทางที่คนรุ่นที่ขนกลายเป็นสีขาวหรืออาจร่วงหมดแล้วจะกำจัดคนรุ่นใหม่ได้เลย

หายนะจากระบอบการปกครองของพลเอกประยุทธ์กำลังผลิดอกออกผลให้เกิดสงครามระหว่างรุ่นที่พลเอกประยุทธ์เคยพูดและสร้างเงื่อนไขมานาน หนทางเดียวที่จะยุติปัญหานี้คือการฟังและการออกแบบประเทศที่เปิดกว้าง แต่ทั้งหมดไม่ใช่สิ่งที่คนแบบพลเอกประยุทธ์จะทำได้เลย

ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แน่ๆ แต่ผู้มีอำนาจที่ควรทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปอย่างราบรื่นกลับกลายเป็นฝ่ายที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงกลายเป็นความรุนแรงทางการเมือง

ไม่มียุคสมัยไหนที่ผู้มีอำนาจต้องรับผิดชอบกับหายนะของประเทศมากที่สุดเท่าผู้มีอำนาจยุคปัจจุบัน