ภาพยนตร์ / นพมาส แววหงส์ / ARTEMIS FOWL ‘โลกเวทมนตร์’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

ARTEMIS FOWL

‘โลกเวทมนตร์’

 

กำกับการแสดง Kenneth Branagh

นำแสดง Ferdia Shaw Colin Farrell Judi Dench Josh Gad Lara McDonnell

 

สร้างจากนิยายของ Eoin Colfer นักเขียนชาวไอริชที่เขียนเมื่อ ค.ศ.2001 เกี่ยวกับโลกเวทมนตร์ของสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่ซ่อนตัวอยู่ในโลกโดยพยายามปิดกั้นไม่ให้มนุษย์โลกล่วงรู้ แต่ก็มีคนพบเห็นจนกลายเป็นตำนานพื้นบ้านเล่าขานกันมาแต่ครั้งโบราณ

สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นคือ ภูตน้อยหรือเอลฟ์ คนแคระ ยักษ์ และสรรพชีวิตนานาที่อยู่ในเทพนิยายและปกรณัมปรัมปรา หรือเรื่องเล่าขานเก่าแก่ที่ตกทอดกันมาหลายต่อหลายชั่วอายุคน

อาร์ทิมิส ฟาวล์ เป็นชื่อของเด็กชายวัยสิบสองขวบ ซึ่งแก่แดดแก่ลมเกินวัยที่เข้ากับใครไม่ได้ในสังคมของโรงเรียน

เขาเป็นลูกชายคนเดียวของมหาเศรษฐีตระกูลฟาวล์ ผู้เป็นนักผจญภัยโลดโผนอยู่ในโลกพิสดารที่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น

อาร์ทิมิส ฟาวล์ ผู้พ่อ (คอลิน ฟาร์เรลล์) เป็นนักสะสมของเก่าซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่า เขามีคฤหาสน์อันโอฬารอัครฐานพันลึก ที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวริมฝั่งทะเล ซึ่งเรียกกันว่าคฤหาสน์ฟาวล์

เขาหายตัวไปอย่างลึกลับ และลูกชายได้รับสารเรียกค่าไถ่ที่ไม่ใช่เงินทอง แต่เป็นของล้ำค่าที่เขาขโมยมาจากโลกของภูต

ซึ่งเรียกกันว่า “อะคูลอส”

 

อะคูลอสได้รับการอธิบายตั้งแต่ต้นเรื่อง จากปากคำของคนแคระ มัลช์ ดิกกัมส์ (จอช แกด) ผู้ที่ถูกหน่วยราชการลับของอังกฤษ “เอ็มไอซิกซ์” จับตัวไปสอบสวนในสถานที่โดดเดี่ยวกลางทะเล โดยบอกว่าเป็น “อาวุธที่ทรงพลังและลึกลับเกินกว่าจะนึกฝันได้”

ตอนดูหนังอยู่ก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอกค่ะว่า มันคืออะไรกันแน่ เลยต้องลองค้นต่อดู ก็พบว่า อะคูลอสไม่ใช่กุญแจสำคัญที่อยู่ในนิยายต้นฉบับมาก่อน แต่เป็นการคิดค้นเพิ่มเข้ามาในเรื่องราวของหนังดิสนีย์ที่สร้างโดยตั้งเป้าคนดูไว้ที่เยาวชน และพยายามทำให้ตัวเอกของเรื่องมีความน่าเห็นใจมากกว่าในหนังสือต้นเรื่อง และไม่เป็นตัวอย่างอันไม่น่าส่งเสริมให้เยาวชนทำตาม

คำโปรยสำหรับหนังเรื่องนี้คือ เรื่องราวของเด็กชายผู้วางแผนอาชญากรรมล้ำลึก ที่ก้าวล่วงเข้าไปสู่โลกใต้ดินของเหล่าภูต ยักษ์ คนแคระ และสิ่งมีชีวิตในเรื่องเล่าปรัมปรา

ซึ่งหลังจากดูหนังจบ ก็ยังไม่เห็นว่าอาร์ทิมิส ฟาวล์ เป็นอาชญากรตรงไหน

ทั้งนี้เนื่องจากหนังเปลี่ยนคอนเซ็ปต์สำคัญจากเรื่องราวดั้งเดิม ซึ่งอาร์ทิมิส ฟาวล์ เป็นคนวางแผนขโมยตัวภูตน้อยชื่อฮอลลี่ ชอร์ต (ในหนังแสดงโดยลาร่า แม็กดอนเนลล์) เพื่อเรียกค่าไถ่เป็นทองคำล้ำค่าจำนวนมหาศาลในโลกของภูต แม้ว่าครึ่งหนึ่งจะเอามารักษาแม่ที่ป่วยหนักของเขา แต่อีกครึ่งหนึ่งก็เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวคือ สร้างความร่ำรวยให้แก่ตัวเอง

คอนเซ็ปต์ของหนัง แม้จะยังมีการจับตัวฮอลลี่ ชอร์ต มาเป็นตัวประกัน แต่ก็เป็นผลมาจากความพยายามของอาร์ทิมิสที่จะช่วยเหลือพ่อที่ถูกจับตัวไปเรียกค่าไถ่ ซึ่งทำให้ต้องตามหา “อะคูลอส” มาแลกกับชีวิตของพ่อ

หนังเผยต่อมาว่า อะคูลอสคือกุญแจของจักรวาลที่จะเปิดช่องทางระหว่างกันโดยข้ามระยะทาง ซึ่งหมายถึงว่าอะคูลอสอาจส่งตัวใครคนหนึ่งผ่านมิติจากสถานที่ใดก็ได้ไปยังสถานที่ใดก็ได้

 

นี่เป็นหนังที่ดูเหมือนจะน่าดึงดูดใจให้ดูจากชื่อเสียงของผู้กำกับฯ และนักแสดงระดับแถวหน้าหลายคน แต่ปรากฏว่ากลายเป็นหนังที่ชวนผิดหวังที่สุดเรื่องหนึ่ง

คนระดับอัศวินอย่างเซอร์เคนเนธ บรานาห์ และเดม จูดี้ เดนช์ เป็นผู้กำกับฯ และนักแสดงในบทสำคัญ ทั้งสองเป็นนักแสดงที่จริงจังกับบทบาทการแสดง ซึ่งน่าจะเป็นหลักประกันพอควรว่าหนังจะไม่วุ่นวายสับสน จับต้นชนปลายไม่ค่อยได้ หรือไร้สาระจนเกินไป

แต่ปรากฏว่าประโยคหลังนี้คือความรู้สึกระหว่างและหลังจากที่ดูหนังจบค่ะ

น้อยครั้งมากที่ผู้เขียนจะดูหนังไม่จบเรื่อง แต่สำหรับหนังเรื่องนี้ ร่ำๆ จะเลิกดูเสียหลายหน แต่บอกตัวเองให้ทนต่อไปอีกนิด เผื่อจะมีอะไรดีๆ อยู่ตอนท้าย…

…แต่ก็เป็นเพียงความหวังที่ไม่กลายเป็นจริงค่ะ…

เรื่องราวสับสนจนแทบไม่รู้เรื่อง แคแร็กเตอร์ก็ผิวเผินจนไม่น่าประทับใจหรือน่าเห็นใจ บางคนถูกจับใส่เข้ามาทำไมก็ยังนึกเหตุผลไม่ได้ เช่น จูเลียต (ทามารา สมาร์ต) หลานสาวของบัตเลอร์ (นอนโซ อาโนซี) เป็นแค่องค์ประกอบประดับฉากแอ๊กชั่นที่หวือหวาโครมคราม

ภาพที่น่าจดจำที่สุดคือ “เครื่องหยุดเวลา” หรือ Time Freeze จากโลกเวทมนตร์ซึ่งเป็นเหมือนโดมใหญ่ครอบบริเวณคฤหาสน์ฟาวล์ไว้

 

จูดี้ เดนช์ เล่นเป็นผู้บัญชาการรูท ภูตวัยชรา ซึ่งมีหูแหลมแบบเอลฟ์ หรือถ้าคนรุ่นเก่าหน่อยก็จะเรียกว่าหูแบบสป๊อก (แห่ง “สตาร์ เทรก” คุณหญิงเดนช์เธอแปลกตาด้วยคอสตูมมากกว่าจะด้วยบทบาทการแสดงค่ะ

ฮอลลี่ ชอร์ต เป็นภูตน้อยชุดเขียว หน้าตาน่าเอ็นดู และบินได้ด้วยปีกหมุนแบบเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งมักกลายเป็นอุปสรรคติดขัด มากกว่าเป็นอุปกรณ์บินที่คล่องตัว

และมีตัวเซนทอร์ (นิเคช ปาเทล) หรือครึ่งคนครึ่งม้า ซึ่งปกติเซนทอร์มีความฉลาดเฉลียวล้ำลึก ดังนั้น เซนทอร์ในเรื่องจึงเป็นคนคุมเทคโนโลยีเวทมนตร์ของโลกภูต

อ้อ นึกสะดุดใจและชอบใจอยู่หน่อยสำหรับภูตประเภทที่เรียกว่า “เลปพริคอน” (leprechaun) ในเรื่องภูตประเภทนี้อ่านออกเสียงว่า เลปพริคอน เหมือนกัน แต่สะกดว่า LEPrecon ซึ่งมีหน้าที่ “สอดส่องและติดตาม” โดยแยกศัพท์และนำมาตีความในความหมายของ recon ตรงตัวเลย

หนังขมวดเรื่องโดยทิ้งท้ายเปิดกว้างไว้สำหรับตัวละครในภาคต่อไป ซึ่งไม่มีอะไรชวนติดใจให้ผู้เขียนนึกอยากติดตามตอนต่อไปอีกเลย…