สุรชาติ บำรุงสุข | 88 ปีระบอบทหารไทย ep.1 : จาก 2475-2488

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ถ้าประชาธิปไตยอ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพอย่างมากแล้ว ทำไม [ทหาร] จึงต้องใช้กำลังอย่างรุนแรงในการโค่นล้มสิ่งนี้? ทำไม [ทหาร] จึงต้องจับฝ่ายตรงข้าม แล้วเอารถถังออกมาวิ่งบนถนน และเปิดเพลงปลุกใจ? ถ้าเช่นนั้น [พวกทหาร] กลัวอะไร ถ้าไม่ใช่กลัวประชาธิปไตยเสียเอง?”

David Runciman

How Democracy Ends (2019)

หากย้อนอดีตกลับไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศให้เป็นประชาธิปไตยในปี 2475 แล้ว คงต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีอายุยาวนานมาถึง 88 ปี

และขณะเดียวกันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะที่ “ล้มลุกคลุกคลาน” ของการพัฒนาการเมืองไทย ที่มีความมุ่งหวังว่าการเปลี่ยนแปลงในปี 2475 จะเป็นจุดเริ่มต้นของ “กระบวนการสร้างประชาธิปไตยไทย” ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นพื้นฐานของการสร้างระบอบการเมืองใหม่ของประเทศ

แต่ผ่านไป 88 ปีแล้ว ความมุ่งหวังดังกล่าวไม่ประสบความสําเร็จเท่าที่ควร

และอาการล้มลุกคลุกคลานของการเมืองจากปี 2475 จนถึงปัจจุบัน กลับเป็นความจริงของสถานะการเมืองไทยอย่างเห็นได้ชัด

จนต้องยอมรับปัญหาสำคัญว่าอุปสรรคใหญ่ของการพัฒนาประชาธิปไตยไทยในรอบ 88 ปี คือ การรัฐประหารและการคงอยู่ของระบอบทหารในการเมืองไทย…

ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ทหารกลายเป็น “ตัวแสดงหลัก” เช่นเดียวกับที่รัฐประหารก็เป็น “กฎ” มากกว่า “ข้อยกเว้น” ในการเมืองไทย

ดังนั้น บทความนี้จะทดลองสำรวจ 88 ปีของทหารในการเมืองไทยอย่างสังเขป

ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ

ถ้ามองย้อนการเมืองถอยกลับไปก่อนปี 2475 แล้ว คงต้องยอมรับว่าสังคมไทยในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 เริ่มเห็นความท้าทายของกระแสประชาธิปไตยทั้งจากเวทีโลกและเวทีไทยอย่างเด่นชัด

กล่าวคือ ใน พ.ศ.2455 (นับตามปีสากล) คณะทหารหนุ่มที่มีแนวคิดเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองถูกจับกุมทั้งหมด (กรณี ร.ศ.130) แม้พวกเขาจะล้มเหลว แต่ก็เป็นสัญญาณทางการเมืองของกระแสความคิดใหม่ที่ก่อตัวในสยาม

และน่าสนใจว่ากระแสนี้ก่อตัวอย่างมีนัยสำคัญในหมู่คณะนายทหาร ที่แม้พวกเขาจะเป็นเพียงนายทหารระดับล่าง

จนกระทั่งในอีก 20 ปีถัดมา การเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงประสบความสําเร็จด้วยการขับเคลื่อนของ “คณะราษฎร”

ในทางรัฐศาสตร์ถือว่าเป็น “การปฏิวัติสยาม” ที่นำไปสู่รูปแบบการปกครองใหม่ของ “ระบอบรัฐธรรมนูญนิยม” ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะไม่สำเร็จได้เลยโดยปราศจากการสนับสนุนของผู้นำทหารบางส่วน

ความสําเร็จในครั้งนี้จึงมีส่วนโดยตรงในการนำพาคณะนายทหารเข้าสู่เวทีการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ในความหมายของ officer corps ไม่ใช่ในฐานะนายทหารที่เป็นตัวบุคคล)

ซึ่งการมีบทบาทเช่นนี้จำเป็นต้องสร้างอุดมการณ์ทหารชุดใหม่รองรับ

ฉะนั้น ทหารจึงถูกประกอบสร้างให้เป็น “ผู้พิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ” ที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในปี 2475 (อาจจะเทียบเคียงได้กับบทบาทกองทัพสาธารณรัฐจีนในยุคหลัง 2455 หรือกองทัพตุรกีในยุคหลัง 2465)

คือการที่กองทัพมีบทบาทรองรับระบอบการเมืองใหม่ แต่ก็มิได้มีนัยที่เกิดการปรับรื้อขนาดใหญ่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่นที่เกิดในหลายประเทศ

กองทัพได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการพิทักษ์ระบอบใหม่ โดยเฉพาะการใช้กำลังในปี 2476 เพื่อตอบโต้ปฏิบัติการทางทหารของ “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ในการก่อการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล (หรือที่เรียกกันว่า “กบฏบวรเดช”)

การใช้กำลังครั้งนี้ส่งผลให้ “ระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย” ไม่ถูกทำลายลงอย่างง่ายดายในเบื้องต้น

แน่นอนว่าภาพของความขัดแย้งที่เกิดไม่ว่าจะระหว่างกลุ่มอำนาจใหม่กับอำนาจเก่า และระหว่างกลุ่มอำนาจใหม่ด้วยกันเองนั้น ตัวบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญก็คือ ตัวผู้นำทหารเอง

เช่น กรณีผู้นำทหารระดับสูงที่เรียกว่า “สี่ทหารเสือของคณะราษฎร” ที่มีบทบาทอย่างมาก แม้ต่อมาจะเกิดความแตกแยกในหมู่ผู้นำเหล่านี้ และเปิดโอกาสให้นายทหารระดับกลางคนสำคัญอย่าง พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในเดือนธันวาคม 2481 (ยศในขณะนั้น)

กำเนิดของ “ระบอบพิบูลฯ” ที่แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง “รัฐทหาร” ขึ้นในการเมืองไทยในยุคหลัง 2475 แต่ก็ยังคงให้ความสําคัญกับรัฐธรรมนูญ และกองทัพยังคงบทบาทในการปกป้องรัฐธรรมนูญ

เช่นเดียวกับที่ผู้นำทหารในยุคนี้ยังคงถือว่าตนเองเป็นผลผลิตของ 2475 และยังมองตัวตนทางการเมืองในฐานะที่เป็นคณะราษฎร เช่น การกวาดล้างฝ่ายต่อต้านรัฐบาลด้วยข้อหา “ล้มล้างรัฐธรรมนูญ” ในปี 2477 เป็นต้น

การประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นปฐมฤกษ์ ณ ตึกสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัย จอมพล ป. (ภาพจาก “ข่าวโฆษณาการ” มิถุนายน 2482)

พันธมิตรอักษะ

บทบาททหารในช่วงแรกของยุคหลัง 2475 มาถึงจุดสูงสุดเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรปในปี 2482 และมีสถานการณ์สงครามคาบเกี่ยวอันเป็นผลจากข้อเสนอของสยามให้มีการปรับเส้นเขตแดนตามแนวลำน้ำโขงใหม่ จนกลายเป็น “สงครามอินโดจีน” ในต้นปี 2484

ชัยชนะของสยามในครั้งนี้ทำให้ พล.ต.หลวงพิบูลฯ ได้รับการเลื่อนยศเป็น “จอมพล” (โดยไม่ผ่านยศพลโทและพลเอก)

ชัยชนะนี้ทำให้ตัวผู้นำมีความเข้มแข็งในทางการเมืองมากขึ้น อันเป็นส่วนเสริมโดยตรงต่อ “ลัทธิผู้นำ”

ดังคำขวัญว่า “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ซึ่งก็สอดรับกับบุคลิกของตัวจอมพล ป. อันอาจเทียบเคียงได้กับการสร้าง “ลัทธิบูชาตัวผู้นำ” เช่นในกรณีของมุสโสลินีในอิตาลี หรือฮิตเลอร์ในเยอรมนี

ขณะเดียวกันสงครามอินโดจีนก็เป็นปัจจัยโดยตรงต่อการสร้างอำนาจของ “ระบอบทหาร” ในยุคสงครามโลก ที่เริ่มมีทิศทางโน้มเอียงไปในทางนิยมญี่ปุ่น

และตัวจอมพล ป.เองก็มีความคิดไปในทางของระบอบฟาสซิสต์มากขึ้นด้วย ดังนั้น เมื่อความขัดแย้งขยายตัวเป็นสงครามโลกในเอเชียในปลายปี 2484 ผู้นำทหารไทยจึงพาประเทศเข้าร่วมเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับญี่ปุ่น

และจุดสูงสุดของความใกล้ชิดนี้คือ จอมพล ป.ตัดสินใจประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในเดือนมกราคม 2485

ในเงื่อนไขสงครามเช่นนี้ ระบอบทหารของหลวงพิบูลฯ จึงอาศัยสงครามเป็นเครื่องมือของการสร้างอำนาจของตน และขณะเดียวกันกองทัพไทยเองก็อยู่ในฐานะ “พันธมิตรร่วมรบ” ของกองทัพญี่ปุ่น ที่ต้องการใช้ไทยเป็นพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ในการขยายอำนาจในภูมิภาค

และเป็น “ประตู” เพื่อขยายปฏิบัติการทางทหารไปสู่การรบกับกองทัพอังกฤษที่ควบคุมพื้นที่ของพม่าและอินเดียในขณะนั้น

ผู้นำทหารหลักจึงมีทิศทางไปในลักษณะที่นิยมอักษะไปด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลสำเร็จของการยุทธ์ของกองทัพเยอรมันและกองทัพญี่ปุ่นในช่วงต้นสงคราม

โดยเฉพาะในเอเชียนั้น ความสําเร็จของการโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐที่ฮาวายในปลายปี 2484 เป็นประจักษ์พยานสำคัญ จนผู้นำทหารในปีกนี้ฝันอย่างมากว่า แล้วไทยจะได้ส่วนแบ่งจากชัยชนะของญี่ปุ่นในภูมิภาค

ดังจะเห็นได้ว่า นอกจากการปรับเส้นเขตแดนหลังสงครามอินโดจีนแล้ว รัฐบาลของหลวงพิบูลฯ ได้ปรับเส้นเขตแดนเพิ่มเติมทั้งทางด้านรัฐฉานและทางด้านใต้

ซึ่งการได้อาณาเขตเพิ่มทำให้ระบอบพิบูลสงครามมีความเข้มแข็งมากขึ้น

ในสภาวะสงครามเช่นนี้ การพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญของบทบาททหาร เพราะกองทัพกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของผู้นำในความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น

ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือในการเสริมสถานะของจอมพล ป.กับการเมืองภายใน แต่สิ่งนี้ก็กลายเป็นเงื่อนไขของความแตกแยกของผู้นำทหารในอีกสายหนึ่ง

เพราะแม้ผู้นำทหารเรือจะนิยมญี่ปุ่น แต่การรวบอำนาจของผู้นำทหารบกอย่างจอมพล ป.ส่งผลให้ฝ่ายทหารเรือหันไปร่วมมือกับผู้นำสายพลเรือนของคณะราษฎรที่นำโดยอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และยังสมทบด้วยกลุ่มตำรวจ ตลอดรวมถึงกลุ่มทหารบกที่ไม่พอใจรัฐบาลอีกด้วย

ในอีกด้านของความขัดแย้งนี้ สายพลเรือนดังกล่าวกลายเป็นปีกที่นิยมสัมพันธมิตร และนำไปสู่การจัดตั้ง “ขบวนการเสรีไทย” ในเวลาต่อมา…

ญี่ปุ่นเริ่มเป็นฝ่ายถดถอยในการสงครามมากขึ้น ไม่ต่างกับสถานะของรัฐบาลพิบูลสงคราม ที่ความสนับสนุนทางการเมืองลดลงอย่างมาก

จนทำให้จอมพล ป.แพ้การลงเสียงในรัฐสภาถึงสองครั้งในตอนกลางปี 2487 ด้วยญัตติการย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ และญัตติพุทธบุรีมณฑล อันส่งผลให้จอมพล ป.ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

การลงคะแนนในรัฐสภาครั้งนี้คือสัญญาณปิดฉากของระบอบพิบูลสงคราม และชี้ให้เห็นอย่างมีนัยสำคัญว่า การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในปี 2487 ไม่จำเป็นต้องอาศัยการยึดอำนาจของทหารเป็นเครื่องมือ และไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหารบุกจับตัวนายกฯ เพื่อบังคับให้ลาออก

แต่ระบอบทหารของหลวงพิบูลฯ ต้องล้มลง เพราะขาดเสียงสนับสนุนในรัฐสภา

และแม้จะเกิดการเปลี่ยนรัฐบาลในภาวะสงคราม แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ได้ตัดสินใจแทรกแซงการเมืองไทย

อีกทั้งผู้นำทหารที่สนับสนุนรัฐบาลก็ไม่ได้ตัดสินใจเคลื่อนกำลังเพื่อสนับสนุนจอมพล ป.แต่อย่างใด

จอมพล ป.พิบูลสงคราม

เมื่อสงครามสงบ

จอมพล ป.ลาออกโดยไม่มีรัฐประหาร และการเปลี่ยนรัฐบาลครั้งนี้สอดรับกับความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลกในปี 2488

ดังนั้น เมื่อระบอบทหารชุดนี้กำเนิดและขับเคลื่อนภายใต้การขยายตัวของลัทธิฟาสซิสต์ในเวทีโลก และชัยชนะในสงครามของญี่ปุ่น ระบอบพิบูลฯ จึงมีแนวโน้มของการสร้างรัฐเผด็จการ ที่มีกองทัพเป็นฐานรองรับ จนอาจต้องเรียกว่าเป็น “รัฐบาลคณะราษฎรฝ่ายทหาร”

การสิ้นสุดของระบอบนี้เปิดโอกาสให้ประเทศไทยมีทางออกในยุคหลังสงคราม เพราะหากจอมพล ป.ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนสงครามสงบแล้ว ประเทศไทยน่าจะถูกปฏิบัติในฐานะ “รัฐผู้แพ้สงคราม” ด้วยการเข้าควบคุมของกองทัพสัมพันธมิตร ไม่ต่างกับเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น

เช่นเดียวกับที่ผู้นำไทยอาจจะจบชีวิตลงด้วยคำตัดสินของศาลอาชญากรสงคราม ดังกรณีนายกรัฐมนตรีโตโจของญี่ปุ่นที่ถูกแขวนคอ…

อดคิดไม่ได้ว่าถ้าจอมพล ป.ถูกตัดสินเช่นนั้นจริง การเมืองไทยในยุคหลังสงครามจะเปลี่ยนไปเช่นไร และใครจะเป็นผู้นำใหม่สำหรับยุคนั้น

ถ้าประเทศไทยมีสถานะเป็นผู้แพ้สงครามแล้ว กองทัพไทยจะถูกปลดอาวุธ (ความหมายคือการยุบกองทัพเดิม) และสัมพันธมิตรจะเข้ามาจัดตั้ง “กองทัพไทยใหม่”

แต่เมื่อประเทศไม่เป็นผู้แพ้สงคราม อันเป็นผลจากการดำเนินงานของขบวนการเสรีไทย โดยเฉพาะต้องให้เครดิตกับอาจารย์ปรีดีที่เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร จนพาประเทศไทยรอดพ้นจากสงครามมาได้

ผู้นำทหารไทยในยุคหลังอาจจะหลงลืมว่า หากปราศจากบทบาทของอาจารย์ปรีดีในความสัมพันธ์กับฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว กองทัพไทยแบบเดิมอาจจะสิ้นสภาพไปแล้วกับการสิ้นสุดของสงคราม

แต่ก็น่าสนใจว่าถ้าสัมพันธมิตรตัดสินใจเข้าควบคุมประเทศในยุคหลังสงครามแล้ว กองทัพไทยใหม่จะมีรูปลักษณ์เช่นไร

แล้วทหารจะยังสามารถก่อรัฐประหารได้อีกหรือไม่?