คุยกับทูต ‘ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี’ จากนักกฎหมายธุรกิจ สู่การเป็นทูตสหรัฐประจำประเทศไทย (จบ)

“ความท้าทายที่ผมเผชิญตั้งแต่มาประจำการที่สถานทูตสหรัฐในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (Covid-19) อันเป็นเรื่องที่ผมคาดไม่ถึงเลย จากที่คิดว่าจะมาเน้นความสัมพันธ์ทางด้านยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ใช่ด้านสุขภาพในประเทศไทย”

ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี (His Excellency Mr. Michael George DeSombre) เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนล่าสุด ตอบคำถามอย่างรวดเร็ว กระชับรัดกุม ตรงไปตรงมา ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส

“แต่ด้านสาธารณสุขก็เป็นเรื่องที่มีคุณค่าและมีประโยชน์มาก ผมได้ทราบข้อมูลมากขึ้นหลังจากที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาแล้ว ว่าสถานทูตสหรัฐและรัฐบาลไทยได้มีความร่วมมือด้านสาธารณสุขที่ลึกซึ้งและมีมาเป็นเวลายาวนานอยู่แล้ว”

ทั้งนี้เพราะศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (CDC) สหรัฐอเมริกา มีสำนักงานนอกสหรัฐ และที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนั้นอยู่ที่กรุงเทพฯ ภายในกระทรวงสาธารณสุข โดยมีความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขของไทยมานาน 4 ทศวรรษ

CDC ได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือกว่า 133 ล้านเหรียญสหรัฐแก่กระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครในหลากหลายโครงการด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี/เอดส์ โรคระบาดไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้ออื่น

ความโดดเด่นด้านสาธารณูปการทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ของไทยในวันนี้ ถือกำเนิดจากเงินทุนสนับสนุนช่วงแรก ที่ได้รับจากความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างรัฐและเอกชนของสหรัฐกับไทย ซึ่งริเริ่มโดยสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลและนักเรียนไทยในยุคนั้นที่ตามเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษายังมหาวิทยาลัยในสหรัฐ ทั้งสหรัฐและไทยยังคงเดินหน้าสร้างระบบบริการสาธารณสุขที่เข้มแข็งทั่วทั้งภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐผ่านองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) มอบความช่วยเหลือเพิ่มเติมมูลค่า 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อบรรเทาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในประเทศไทย

ภายใต้การประสานงานกับรัฐบาลไทย USAID จะทำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่นและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนประเทศไทยในการควบคุมการระบาดของโรคดังกล่าว

“เรารู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในสัมพันธภาพที่ยาวนานระหว่างสหรัฐและประเทศไทย โดยเห็นได้ชัดเจนจากความร่วมมือด้านสาธารณสุขของทั้งสองประเทศที่ยาวนานถึง 70 ปี ที่เป็นรากฐานให้สหรัฐเพิ่มความช่วยเหลืออย่างมีนัยสำคัญแก่ประเทศไทยในการจัดการความท้าทายจากโรคโควิด-19”

“ความช่วยเหลือในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของมิตรภาพระหว่างสหรัฐและรัฐบาลไทยที่มีมายาวนาน” เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี กล่าว

“สหรัฐร่วมมือกับประเทศไทยในการดำเนินโครงการทางด้านสุขภาพผ่านองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AFRIMS) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) สหรัฐ เพื่อปกป้องสุขภาพที่ดีของประชาชนชาวอเมริกัน ประชาชนชาวไทย และประชากรทั่วโลกเป็นเวลากว่า 60 ปีแล้ว”

“ปีนี้เป็นปีครบรอบ 40 ปีของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกาที่มาจัดตั้งที่ประเทศไทย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่วิเศษมากที่ผมได้ทราบ เพราะมีแหล่งข้อมูลที่สามารถนำ มาช่วยในการต่อสู้กับโรคระบาดนี้ได้”

ในช่วงการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโคโรนา Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม ที่ได้ยินจนคุ้นหูในเวลานี้ เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่ถูกนำมาใช้ เพื่อแก้ปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และลดการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิผล โดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการทำงานและรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นการชั่วคราว

“การลดจำนวนเจ้าหน้าที่ของสถานทูตก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ท้าทายสำหรับผมมาก เนื่องจากสถานทูตสหรัฐมีเจ้าหน้าที่กว่า 2,000 คน เราจำเป็นต้องลดจำนวนเจ้าหน้าที่เพื่อให้มาปฏิบัติงานที่สถานทูตเพียง 10% ของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด โดยผมต้องคอยดูแลเจ้าหน้าที่เหล่านี้ แต่ในวันนี้ สถานการณ์คลี่คลายลงไปมากแล้ว เราจึงให้เจ้าหน้าที่ทยอยกลับมาทำงานที่สถานทูตเพื่อให้ครบจำนวนอีกครั้ง”

การเป็นทูตสหรัฐคนแรกที่มาจากภาคเอกชน จึงเข้าใจความต้องการของภาคธุรกิจเอกชนเป็นอย่างดี ภารกิจสำคัญที่ต้องการผลักดันคือการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งเน้นไปที่ธุรกิจด้านพลังงานโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิตอล และโครงการผลิตที่สหรัฐมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชั้นสูง

รวมทั้งต้องการผลักดันความร่วมมือด้านความมั่นคงในการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในอนุภูมิภาคนี้ ด้วยศักยภาพของประเทศไทยในฐานะฐานการผลิตที่สำคัญของบริษัทอเมริกันในภูมิภาคอาเซียน และการเป็นที่ตั้งของห่วงโซ่อุปทาน ที่มั่นคง ปลอดภัย เชื่อถือได้ และคุ้มค่ากับการลงทุน

“ผมจึงมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นความสัมพันธ์ของเราให้ดียิ่งขึ้นและก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน แน่นอนที่ผมต้องการจะเสริมสร้างความเข้มแข็งในความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ โดยจะพยายามช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาและทำให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น โดยการนำบริษัทจากอเมริกาหรือบริษัทจากประเทศตะวันตกให้มาลงทุนที่ไทย และให้บริษัทจากประเทศไทยไปลงทุนที่อเมริกา”

จากที่ได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันตั้งแต่อดีต ที่ผ่านมาจึงมีธุรกิจสหรัฐเข้ามาลงทุนในประเทศไทยต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจไทยก็เข้าไปลงทุนในสหรัฐเช่นเดียวกัน อย่าง บมจ.บ้านปู กลุ่มซีพี บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC)

ปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์อย่างสมบูรณ์แบบ หลังจากที่ประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ปี ค.ศ.2019 โดยสหรัฐยังคงส่งเสริมหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ สนับสนุนสถาบันประชาธิปไตย และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

ท่านทูตให้ความเห็นถึงการก้าวต่อไปสู่เส้นทางประชาธิปไตยของประเทศไทยว่า

“การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ดี เราเชื่อมั่นในประชาธิปไตย เห็นได้ชัดว่า ประเทศไทยมีการเลือกตั้งที่ประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วเช่นกัน”

“สิ่งที่ทำให้ผมมีความสุขมากที่ได้เห็นในประเทศไทย คือมีเสียงของฝ่ายค้านในรัฐสภา ผมคิดว่าใจความสำคัญของระบอบประชาธิปไตย คือ การสร้างความมั่นใจว่ามีการถกเถียงทางการเมืองเกิดขึ้นภายในรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่า เมื่อพวกเขาได้เลือกคนเข้าสภาแล้ว พวกเขาจะมีกระบอกเสียงในการยื่นข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ และมีการอภิปรายในสภา อันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปัจจุบันในประเทศไทย และผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี”

“อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ค่อนข้างจะยุ่งเหยิงและไม่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกประเทศ เพราะประชาธิปไตยมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งก็เห็นว่า ประเทศไทยได้พยายามดำเนินไปตามรูปแบบของตนเองเพื่อให้ดีที่สุด”

ประวัติ : นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

ได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2019 และได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2020 ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำราชอาณาจักรไทย

ประสบการณ์ : เป็นหนึ่งในผู้บริหารสำนักงานกฎหมาย Sullivan and Cromwell ตั้งแต่ ปี 2004-2019 โดยดำเนินงานด้านการควบรวมและเข้าซื้อกิจการในทวีปเอเชีย มีประสบการณ์กว่ายี่สิบปีทางด้านการดำเนินการทางกฎหมายและการเจรจาต่อรองให้แก่ลูกความสหรัฐ และประเทศอื่นๆ ในโครงการการลงทุนและการพัฒนาทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชีย จึงมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความท้าทายต่างๆ ทางการเมือง กฎหมาย และยุทธศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐในภูมิภาคเอเชียและอินโด-แปซิฟิก

การศึกษา : ปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์เชิงปริมาณ และปริญญาโทสาขาเอเชียตะวันออกศึกษาจาก Stanford University และหลักสูตรนิติศาสตร์ (Juris Doctor) จาก Harvard University

ครอบครัว : สมรสและมีบุตรสี่คน

ภาษา : จีน เกาหลี ญี่ปุ่น

กีฬา : กอล์ฟ เทนนิส และเต้นรำ

ดนตรี : หลากหลาย ป๊อป, ร็อก, คลาสสิคร็อก, แร็พ, EDM

อาหารไทยที่โปรดปราน : ต้มยำกุ้ง, ต้มข่าไก่, ยำปลาหมึก, ส้มตำ