จิตต์สุภา ฉิน : อีโมจิไม่ได้มีความหมายเดียว

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

อีโมจิได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารในรูปแบบดิจิตอลไปแล้ว ตัวฉันเองก็น่าจะคล้ายๆ หลายๆ คน คือใช้อีโมจิเพื่อทำให้ทั้งประโยคดูซอฟต์ลง สุภาพ อ่อนน้อมมากขึ้น และสำหรับคนไทย อีโมจิที่ได้ใช้บ่อยๆ ก็น่าจะเป็นอีโมจิรูปยกมือไหว้นี่แหละ

จากข้อมูลในเดือนมีนาคมปี 2020 ระบุว่ามีอีโมจิทั้งหมด 3,304 ตัว ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีการเพิ่มตัวใหม่ๆ เข้าไปประมาณปีละร้อยกว่าตัว โดยจะมีคณะกรรมการที่ทำงานทางด้านการคัดเลือกโดยเฉพาะว่าตัวไหนจะได้เข้ารอบบ้าง และอีโมจิก็เป็นที่รักของคนทั่วโลกเสียจนมีวันหนึ่งที่อุทิศให้เป็นวันอีโมจิสากลไปเลย ซึ่งก็คือวันที่ 17 กรกฎาคม นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะใช้อีโมจิทุกวันจนแทบจะจำได้ว่าตัวไหนอยู่ตรงไหนบนคีย์บอร์ดแล้ว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะรู้เรื่องราวและวัตถุประสงค์เบื้องหลังของอีโมจิทุกตัว ว่าแท้ที่จริงแล้วมันถูกออกแบบมาให้สื่อสารถึงอะไรกันแน่

หรืออีโมจิบางตัวที่ดูเหมือนจะตีความได้แค่แบบเดียว แต่เมื่อไปอยู่ในต่างที่ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ความหมายของมันก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงเลยก็ได้ และถ้าเราใช้ไม่ถูกต้อง เจตนาดีๆ ของการสื่อสารก็อาจจะถูกเปลี่ยนแปรไปเป็นคำเหยียดหยามดูถูกโดยที่เราไม่ตั้งใจ

เราไปดูบางตัวอย่างของอีโมจิที่สื่อสารไปคนละทางในแต่ละประเทศกัน

 

อีโมจิภาพมือโบกไหวๆ ที่คนในหลายๆ ประเทศในยุโรปใช้เพื่อทักทายกัน ในจีนกลับถูกตีความเป็นความต้องการในการขอแยกทางจากกันได้

หลายประเทศใช้อีโมจิยกนิ้วโป้งเพื่อเป็นการแสดงอาการเห็นด้วยกับสิ่งที่ใครบางคนพูด แต่ถ้าไม่ระวังให้ดี และไปใช้อีโมจินี้กับคนในประเทศตะวันออกกลาง อย่างอัฟกานิสถาน อิหร่าน หรืออิรัก ก็อาจจะมีความเสี่ยงที่ผู้รับจะเข้าใจไปอีกอย่าง เพราะการยกนิ้วโป้งแบบนี้จะถูกตีความไปคล้ายๆ กับการยกนิ้วกลางในแบบตะวันตกซึ่งจะสร้างความรู้สึกไม่ดีได้

อีโมจิรูปมือทำสัญลักษณ์ต่างๆ มีแนวโน้มที่จะถูกตีความได้หลากหลาย อย่างอีโมจิรูปมือที่เอานิ้วชี้กับนิ้วโป้งมาติดกันเป็นวงกลม ?? ดูเหมือนจะเข้าใจได้อย่างเดียวคือ “โอเค” แต่ในบราซิล นี่ก็ให้ผลลัพธ์แบบเดียวกันกับการชูนิ้วกลางเหมือนกัน

อีโมจิรูปก้อนอึหรืออุนจิยิ้มได้อาจจะไม่ใช่อีโมจิที่เข้าใจได้ง่ายจากการมองครั้งแรก เว็บไซต์ Emojipedia ที่รวบรวมทุกข้อมูลเกี่ยวกับอีโมจิทุกตัวระบุเอาไว้ว่าอีโมจิรูปนี้เอาไว้สื่อถึงอารมณ์บ๊องๆ แผลงๆ ซึ่งก็ให้ความรู้สึกไปในทางที่สนุกสนานและมีความสุข หรืออาจจะเอาไว้ใช้กัดตัวเองเล่นๆ ขำๆ ก็ได้

แต่ในประเทศญี่ปุ่น อีโมจิตัวนี้ถูกใช้ไปในแบบที่เราคาดไม่ถึง คือใช้เพื่ออวยพรให้ใครสักคนโชคดี ซึ่งเว็บไซต์เรียนภาษา Babbel อธิบายเอาไว้ว่านี่คือการเล่นกับคำว่า kin no unko ที่จะแปลว่าโชคดีก็ได้ หรือจะแปลว่าอุนจิทองก็ได้

ไปดูในจีนกันบ้าง เวลาที่เราจะแสดงความยินดีกับใครสักคนหนึ่งเราอาจจะเลือกใช้อีโมจิรูปตบมือ ?? ที่สื่อความหมายได้ง่ายมาก แต่ในจีน อีโมจิตัวเดียวกันนี้อาจจะหมายถึงการเชื้อเชิญให้มามีเซ็กซ์ก็ได้

?? อีโมจิรูปมือที่ชูนิ้วชี้และนิ้วก้อยขึ้นมาและเก็บนิ้วอื่นเอาไว้ เป็นอีโมจิที่ให้ความรู้สึกในเชิงบวก ผ่อนคลายสบายๆ แต่ในบางประเทศกลุ่มละตินอย่างคิวบา สเปน บราซิล หรืออุรุกวัย การทำมือแบบนี้อาจจะหมายถึง “สวมเขา” ซึ่งก็เป็นการเปรียบเปรยถึงการมีชู้ ให้ความหมายคนละแบบกันไปเลย

ยังมีอีโมจิอีกหลายตัวที่ถูกนำมาใช้ในแบบที่นอกเหนือจากสิ่งที่ตาเห็น อย่างอีโมจิรูปพีชที่สื่อถึงก้น ?? หรือมะเขือที่สื่อถึงอวัยวะเพศชาย ?? เป็นต้น

 

เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา มีอีโมจิที่ได้รับการเพิ่มเข้ามาใหม่หนึ่งตัวที่ถูกนำมาใช้ในทางทะลึ่งอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็คืออีโมจิรูปจีบนิ้ว คล้ายๆ กับอีโมจิที่ทำมือเป็นรูปโอเค แต่ลักษณะการจีบจะเป็นเส้นตรงและปลายนิ้วชี้กับนิ้วโป้งจะไม่สัมผัสกัน ??

อีโมจิรูปนี้ออกแบบมาให้ใช้เพื่อสื่อถึงอะไรที่เล็ก ใช้ได้กับทั้งในแง่ขนาดและปริมาณ หรือถ้าต้องลงลึกกว่านั้นก็สามารถใช้เพื่อสื่อถึงประเด็นที่ต้องการลงรายละเอียดให้เป๊ะและแม่นยำก็ได้

แต่ในเมื่อสามารถสื่อถึงอะไรที่เล็กได้ คนบนอินเตอร์เน็ตก็ไม่รอช้า และใช้อีโมจิรูปนิ้วจีบนี้เพื่อสื่อถึงขนาดของอวัยวะเพศชายที่เล็กทันที

ไม่ใช่อีโมจิทุกตัวที่จะมีสตอรี่เบื้องหลังที่ชัดเจนและสามารถชี้บอกได้เลยว่ามันคือรูปอะไร ใช้งานอย่างไรจึงจะถูกต้อง อย่างอีโมจิรูปยกมือไหว้ ครั้งหนึ่งก็เคยมีกระแสไวรอลออกมาเพื่อบอกว่าแท้ที่จริงแล้วมันคืออีโมจิรูปไฮไฟว์หรือการที่คนสองคนยกมือขึ้นมาแปะกันกลางอากาศต่างหาก

แต่หลังจากนั้น เว็บไซต์ผู้เชี่ยวชาญอีโมจิ อย่าง Emojipedia ก็ออกมาไขความเข้าใจผิดเสียใหม่ว่าเมื่อดูจากรูปมือ ตำแหน่งนิ้ว และเปรียบเทียบอีโมจิตัวเดียวกันนี้ในแต่ละแพลตฟอร์มแล้วก็พบว่ามันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นไฮไฟว์แน่ๆ

แต่ตั้งใจมาให้เป็นมือที่ประสานเข้าด้วยกันตามที่เราเข้าใจตั้งแต่ต้นนี่แหละถูกอยู่แล้ว

 

ฉันคิดว่าเสน่ห์ของอีโมจิก็คือเรื่องนี้แหละ มันคือการมีอีโมจิตัวหนึ่งที่คนในหลากหลายวัฒนธรรมสามารถหยิบไปใช้ในรูปแบบของตัวเองได้ เข้าใจกันเอง สื่อสารกันเอง และสนุกกับมันกันได้เอง ในแบบที่ไม่ต้องมีใครมาตีตราว่าผิดหรือถูก ขณะเดียวกันถ้าคนนอกวัฒนธรรมเกิดหยิบอีโมจิตัวเดียวกันนี้มาสื่อสารด้วยความหมายอื่น ฉันว่าทุกคนก็พร้อมที่จะเข้าใจว่าเราไม่ได้ตีความอีโมจิเหมือนกันเสมอไป เว้นแต่ว่าอีโมจิตัวนั้นจะเป็นอีโมจิที่พื้นฐานมากๆ อย่างเช่น อีโมจิหัวเราะ ซึ่งไม่ควรใช้ส่งในสถานการณ์ที่มีเรื่องโศกเศร้าหรือความสูญเสียเกิดขึ้น

อีโมจิแบบต่างวัฒนธรรม รู้ไว้คร่าวๆ ก็น่าจะโอเคแล้ว ที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นกระบวนการเรียนรู้กันไป แต่ถ้าจะมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งออกมาจำกัดความและวิธีการใช้อีโมจิทุกตัวอย่างเคร่งครัด

ฉันว่าจะพาลทำให้เสียบรรยากาศความสนุกกันเปล่าๆ