มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น : สัญญาณการปิดตัวเองของระบบทุน

AFP PHOTO / Brendan Smialowski

สัญญาณการปิดตัวเองของระบบทุน

ระบบและระเบียบโลกเกิดความโกลาหลมากขึ้นในปี 2017 และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากมีการละทิ้งกระบวนโลกาภิวัตน์ที่เป็นแบบเสรีนิยมมากขึ้น ในปี 2016 อยู่ที่การลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ

ในปี 2017 สหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ได้แสดงตัวชัดเจนว่า จะถือ “อเมริกันอยู่เหนือชาติใด” และจะ “ทำให้อเมริกันยิ่งใหญ่” อีกครั้ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎระเบียบใดมาบีบรัดขัดขวาง ทุกเรื่องจะต้องเจรจาทำข้อตกลงกันใหม่ การสละกระบวนโลกาภิวัตน์ไปของสหรัฐ แสดงว่าอย่างน้อยชนชั้นนำส่วนหนึ่งเห็นว่า ขบวนรถไฟโลกาภิวัตน์ที่คาดหวังว่าจะนำไปสู่ความมีเสรีและความไพบูลย์ถ้วนหน้าในโลก ทำท่าไม่เป็นจริงดั่งคาด ปรากฏว่ามีชาติใหญ่อื่นๆ ขึ้นไล่ทันและเตรียมจะวิ่งขึ้นหน้าแสดงบทบาทเป็นผู้นำใหญ่

การสละกระบวนโลกาภิวัตน์ของสหรัฐดูได้จากการประชุมสุดยอดกลุ่ม 20 ในปี 2008 และปี 2017

 

การประชุมสุดยอดกลุ่ม 20 ปี 2008 จัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐ เมื่อวันที่ 14-15 พฤศจิกายน ปี 2008 ริเริ่มขับเคลื่อนโดยประธานาธิบดีบุชผู้ลูกหลังวิกฤติการเงินใหญ่ในสหรัฐปะทุขึ้น ทำความเสียหายร้ายแรงถึงขั้นเศรษฐกิจสหรัฐจะล้มทั้งยืนและอาจพาทั้งโลกล้มตามได้ด้วย

โฆษกประธานาธิบดีบุชกล่าวสรุปผลการประชุมครั้งนี้ว่า “ผู้นำประเทศ (สมาชิก จี 20) ได้มาร่วมกันเพื่อทบทวนความคืบหน้าของการแก้ปัญหาวิกฤติการเงินในขณะนี้ และทำความเข้าใจร่วมกันถึงสาเหตุที่มาของปัญหา และเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดซ้ำๆ โดยให้การรับรองมาตรการร่วมกันชุดหนึ่ง ที่จะปฏิรูปกฎระเบียบและบริหารสถาบันที่เกี่ยวข้องในภาคการเงินของโลก…

สำนักทำเนียบขาวรายงานว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้ ได้บรรลุสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิญญาวอชิงตัน” ตามวัตถุประสงค์หลัก 5 ประการ ที่บรรดาผู้นำรัฐบาลกลุ่มสมาชิกได้ตกลงร่วมกัน คือ

(ก) ความเข้าใจร่วมถึงรากเหง้าแห่งสาเหตุของวิกฤติโลก

(ข) ได้ทบทวนปฏิบัติการที่ประเทศต่างๆ ดำเนินการอยู่ และเตรียมจะดำเนินการต่อไปในอนาคต เพื่อรับมือกับวิกฤติกะทันหันและเสริมพลังการเติบโตทางเศรษฐกิจ

(ค) บรรลุข้อตกลงมาตรการร่วมเพื่อปฏิรูปตลาดเงินของประเทศตน

(ง) ริเริ่มแผนปฏิบัติการเพื่อนำมาตรการข้างต้นไปดำเนินการและเรียกร้องให้บรรดารัฐมนตรีกลุ่ม 20 ไปพัฒนาข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาทบทวนในการประชุมสุดยอดผู้นำในครั้งต่อไป

และ (จ) เน้นย้ำพันธกิจของแต่ละประเทศต่อหลักการของตลาดการค้าเสรี

(ดูเอกสาร 2008 G20 Washington summit, เว็บไซต์ https://en.wikipedia.org/wiki/2008_G20_Washington_summit#Core_participants)

 

ตามมติการประชุมนี้ ในทางปฏิบัติรัฐบาลและธนาคารกลางประเทศสมาชิกกลุ่ม 20 มีพันธะที่จะต้องยึดมั่น “ปฏิญญาวอชิงตัน” ดำเนินการปฏิรูปการเงิน นั่นคือเปิดเสรีทางการเงินการลงทุนมากขึ้น

เพิ่มสินเชื่อและปริมาณเงิน เพื่อ “เสริมพลังเติบโตทางเศรษฐกิจ” ซึ่งทุกชาติก็ทำเหมือนกันหมด ไม่ใช่ปล่อยให้สหรัฐทำคนเดียว

ในบางด้าน เช่น การทุ่มเงินหรือการสร้างหนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จีนอาจจะทำมากกว่าสหรัฐด้วยซ้ำ จากบางตัวเลขพบว่าหนี้สินของจีนตอนสิ้นปี 2007 รวมทุกภาคส่วนสูงเพียงร้อยละ 148 ของจีดีพี แต่เมื่อถึงสิ้นปี 2016 หนี้สินของจีนสูงขึ้นเป็นถึงราวร้อยละ 277 ของจีดีพี

ดังนั้น การที่จีนรักษาอัตราการเติบโตในระดับสูงในช่วงของการเกิดวิกฤติ ขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐและสหภาพยุโรปขยายตัวในอัตราต่ำมากนั้น ไม่ใช่เพราะเกิดจากการที่จีนมาเอารัดเอาเปรียบสหรัฐ ที่สำคัญ เกิดจากการยอมเสี่ยงลงทุนด้วยเลือดเนื้อของคนรุ่นหลังด้วย ภาระหนี้สินของจีนนี้สื่อตะวันตกเองก็เสนอข่าวอยู่เนืองๆ ว่าจะฉุดให้เศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงและส่งผลไปทั่วโลกได้ (ดูบทความของ Lana Clements ชื่อ Financial Crash Warning : China”s debt could cause economic disaster “worse then 2008” ใน express.co.uk 11.02.2017)

ในการพยายามรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูง จีนเองไม่เพียงต้องเสียค่าใช้จ่ายในรูปหนี้ซึ่งเป็นภาระที่หนักอึ้งเท่านั้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นอีกมาก ได้แก่ ค่าใช้จ่ายทางสิ่งแวดล้อม เกิดการหมดไปของทรัพยากร เช่น แหล่งน้ำมันธรรมดา

การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในจีน ที่เป็นข่าวใหญ่ได้แก่มลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่มีปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น ทำให้เมืองเหล่านี้ที่มีการลงทุนมหาศาลมีความน่าอยู่ลดลงเป็นอันมาก ค่าใช้จ่ายทางสังคม เช่น เกิดลัทธิตัวใครตัวมัน มือใครยาวสาวได้สาวเอา จิตสำนึกทางสังคมลดต่ำ ค่าใช้จ่ายทางการเมือง-การปกครอง เช่น เกิดคอร์รัปชั่นระบาด เกิดความไม่พอใจและไม่ไว้วางใจการนำเพิ่มขึ้น เป็นต้น

การเติบใหญ่แข็งแรงของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ล้วนเกิดขึ้นในกฎกติกาที่ตนเสียเปรียบแก่ประเทศมหาอำนาจตะวันตกทั้งสิ้น ไม่ใช่เกิดขึ้นในบรรยากาศการเอื้ออำนวยของประเทศมหาอำนาจตะวันตกแม้แต่น้อย

อินเดีย ที่มีอัตราการเติบทางเศรษฐกิจสูงในระยะหลังก็ประสบปัญหาไม่ต่างกับจีนนัก กรุงเดลีนครหลวงได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุด (แห่งหนึ่ง) ของโลก อิหร่านเติบโตขึ้นท่ามกลางการถูกแซงก์ชั่นและการคุกคามว่าจะทิ้งระเบิดเป็นระยะ ระบบซัดดัมในอิรักถูกทั้งแซงก์ชั่นและทิ้งระเบิด แต่ไม่ยอมล้ม ถูกกองกำลังมหาอำนาจตะวันตกบุกเข้าไปยึดครอง

ในโลกแห่งการแข่งขันเสรี ไม่มีอะไรที่ได้มาเปล่าๆ สหรัฐที่ถือว่าตนเป็นประทีปแห่งความเสรีก็ควรจะได้ตระหนักในความจริงข้อนี้ด้วย

 

การประชุมกลุ่ม 20 ที่เมืองบาเดน-บาเดน เยอรมนี เมื่อมีนาคม 2017 ตัวแทนเศรษฐกิจร้อยละ 85 ของโลก ไม่สามารถตกลงเรื่องใหญ่ 2 เรื่อง ได้แก่ การคัดค้านลัทธิกีดกันทางการค้า โดยเลือกใช้ถ้อยคำพอเป็นพิธีว่า สมาชิกของกลุ่ม “จะสร้างคุณูปการด้านการค้าต่อเศรษฐกิจของเรามากขึ้น” และจะ “ต่อสู้เพื่อลดความไม่สมดุลที่มากเกินไปในโลก” กับทั้งการไม่ต้องผูกมัดกับการต่อสู้เรื่องโลกร้อน ตามแรงกดดันของสหรัฐ

รัฐมนตรีคลังของเยอรมนีกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “เราได้มาถึงจุดที่ไปต่อไม่ได้” จากการที่รัฐมนตรีคลังของรัฐบาลทรัมป์ของสหรัฐดูเหมือน “ไม่มีอำนาจตัดสินใจอะไรได้” ในเรื่องการช่วยผ่อนคลายประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ชาติกลุ่ม 20 กำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องลัทธิกีดกันทางการค้ากับการค้าเสรี

พวกเขาอ้างว่าเพิ่งมารับหน้าที่เพียงห้าสัปดาห์เศษ จากนี้จึงทำให้คำแถลงร่วมอย่างเป็นทางการหลังการประชุมครั้งนี้ เอ่ยถึงเรื่องการค้าแต่พอเป็นพิธี ไม่มีเนื้อหาที่เคยระบุในการประชุมเมื่อปีที่แล้วเกี่ยวกับ “การต่อต้านลัทธิกีดกันทางการค้าทุกรูปแบบ”

ซึ่งเท่ากับที่ประชุมครั้งนี้ยอมรับอย่างเงียบๆ ต่อท่าทีของสหรัฐ และก็ปลอบใจว่า อาจต้องรอถึงการประชุมระดับผู้นำกลุ่ม 20 ที่ฮัมบูร์กในเดือนกรกฎาคมปีนี้ซึ่งอาจจะสามารถดึงสหรัฐเข้ามาร่วมถกปัญหากันอย่างเอาจริงเอาจังได้มากขึ้น

นอกจากนั้น ยังพบว่าในแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมระดับรัฐมนตรีและประธานธนาคารชาติครั้งนี้ มีการตัดถ้อยคำที่เคยใช้ในการประชุมครั้งก่อนในเรื่อง “ความพร้อมของมาตรการทางการคลังเพื่อการต่อต้านปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศโลก ตามข้อตกลงที่ปารีสเมื่อปี 2015” เนื่องจากการคัดค้านจากสหรัฐและซาอุดีอาระเบียอีกด้วย

(ดูรายงานข่าว G20 financial leaders acquiesce to U.S., drop free trade pledge; จากเว็บไซต์ http://www.reuters.com/article/us-g20-germany-trade-idUSKBN16P0FN)

 

การที่ผลการประชุมออกมาเช่นนี้ แสดงว่าสหรัฐได้แสดงท่าทีแยกตัวออกจากกระบวนโลกาภิวัตน์ชัดเจน เพราะว่าข้อตกลงเรื่องการป้องกันโลกร้อน ถือว่าเป็น “จิตวิญญาณ” สำคัญอย่างหนึ่งของกระบวนโลกาภิวัตน์ ที่แสดงความเป็นหนึ่งเดียวของประชาคมโลกในการร่วมกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยิ่งคือเรื่องโลกร้อนและลมฟ้าอากาศสุดขั้ว

แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ สิ่งที่เรียกว่า “ปฏิญญาวอชิงตัน” และ “หลักการของตลาดเสรี” ตามที่ได้บรรลุในความตกลงการประชุมสุดยอดปี 2008 ได้ถูกทำให้อ่อนพลังลงเป็นอันมากอย่างเห็นได้ชัด

หลังการประชุมสุดยอดแล้วประธานาธิบดีทรัมป์ยังเดินหน้านโยบายปกป้องการค้าต่อ ด้วยการออกคำสั่งฝ่ายบริหารสองฉบับ ตั้งคณะกรรมการขึ้นสองชุดมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกเครื่องนโยบายสหรัฐเกี่ยวกับการแก้ปัญหาทางการค้าที่ไม่ถูกต้อง และคำสั่งเริ่มกระบวนดำเนินตามกรอบนโยบายการเก็บภาษีสินค้านำเข้าทั้งหมด จากผู้ส่งออกสินค้าชาวต่างชาติที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบการค้าโลก ซึ่งวิจารณ์กันว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการโหมโรงของสงครามการค้า คำสั่งดังกล่าวระบุให้ตรวจสอบและรายงานผลใน 90 วัน โดยดูอย่างละเอียดเป็นรายประเทศ รายสินค้า และสืบสาวจนถึงการดำเนินการค้าที่ทำให้สหรัฐขาดดุลการค้ากับประเทศในโลกนี้อยู่ถึง 5 แสนล้านดอลลาร์

คำสั่งนี้ออกมาระหว่างที่ทรัมป์เตรียมการพบปะกับประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ผู้นำจีน ซึ่งสหรัฐเองเสียเปรียบดุลการค้าอยู่กับจีนถึง 347,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทรัมป์ทวีตเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การพบปะกับผู้นำจีนครั้งนี้ “คงยากมาก เนื่องจากว่าจากนี้ไปเราจะไม่ยอมเสียเปรียบดุลการค้ากับจีนอย่างขนานใหญ่อย่างนี้ต่อไปอีกแล้ว”

 

วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐกล่าวแก้ต่างคำวิจารณ์ที่ว่าสหรัฐกำลังเริ่มทำสงครามการค้าว่า

“เรากำลังทำสงครามทางการค้ากันอยู่แล้ว เราได้ทำสงครามนี้กันมาหลายสิบปีแล้วนะ มีข้อแตกต่างเพียงอันเดียวคือว่า ในที่สุดกองทหารของเราก็มาถึงเครื่องกีดขวางที่ไปต่อไม่ได้ เราไม่ได้จู่ๆ ก็ต้องเสียเปรียบดุลการค้าโดยบังเอิญหรอก”

มีการเปรียบเทียบบรรยากาศในตอนนี้ว่า คล้ายอยู่ในช่วง “ความตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่” ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง

ซิกมาร์ เกเบรียล รมต.ต่างประเทศเยอรมนีกล่าวเตือนว่า คณะรัฐบาลของทรัมป์กำลังเลือก “จังหวะก้าวที่อันตราย” หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็กกล้า…

เขากล่าวหารัฐบาลทรัมป์ว่า ละทิ้งหลักการสากลเกี่ยวกับการค้าเสรี โดยการละเมิดกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ

(ดูบทความ Trump steps up trade war agenda, by Nick Beams; World Socialist Web Site https://www.wsws.org/en/articles/2017/04/01/trad-a01.html)

 

ความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำโลกทั้งภายในและระหว่างชาติ ที่ได้แตกแยกรุนแรงขึ้นทุกทีนี้ สะท้อนสิ่งผิดปรกติอย่างสูงของระบบและระเบียบโลก บ่งบอกสัญญาณการปิดตัวของระบบทุนซึ่งประกอบด้วยสิ่งบอกเหตุ 3 ประการสำคัญ ได้แก่

ก) การชะงักงันของการลงทุน การผลิต การค้าและการบริโภค ระบบทุนดำรงอยู่ได้ด้วยการลงทุนเพื่อกำไร เป็นวงจรดังนี้คือ การลงทุนเพื่อการผลิตสินค้าและบริการ นำไปค้าขายในตลาด และมีผู้ซื้อไปบริโภคในที่สุด เป็นอันครบหนึ่งรอบ จากนั้นก็ขึ้นรอบใหม่ มีการผลิตซ้ำ การบริโภคซ้ำ เกิดเป็นวงจรทางธุรกิจ มีขาขึ้นขาลง ระบบทุน โดยธรรมชาติจึงจำต้องปิดตัวเองเป็นระยะอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้ต่างออกไป มีการกล่าวถึงการชะงักงันถาวรกันมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจถดถอยมาราวสิบปีแล้วก็ยังไม่ฟื้นตัวอย่างแข็งแรง ประเทศจีนที่เป็นหัวรถจักรหนึ่งในการขับเคลื่อนกระบวนโลกาภิวัตน์ แม้จะรักษาอัตราการเติบโตระดับสูงไว้ได้ แต่ก็มีความเสี่ยงมากขึ้นจากภาระหนี้และฟองสบู่ ด้านอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจยังดูมืดมัว

ข) การดิ้นรนหนีเอาตัวรอดของประเทศต่างๆ เกิดการฟื้นฟูของลัทธิชาตินิยมและเชื้อชาตินิยม ผสม “ประชานิยม” เป็นต้น การดิ้นรนเอาตัวรอดนั้นทำกันโดยถ้วนหน้า ไม่ใช่เฉพาะในสหรัฐเท่านั้น ในอีกด้านหนึ่ง สหรัฐก็มีสิทธิในการป้องกันตัวเองจากการค้าที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น แต่การป้องกันตัวเอง ก็ไม่ได้เท่ากับสามารถข่มขู่คุกคามและรุกรานประเทศอื่นได้ตามอำเภอใจ

ค) การหันไปทำสงครามหรือใช้ความรุนแรงเพื่อเบี่ยงเบนความล้มเหลวของระบบ ใช้สำนวนไทยว่า ต่างฝ่ายต่างใช้หลักกู ไม่ใช้หลักการ กฎระเบียบทั้งภายในและระหว่างประเทศมีความหมายลดลง ยึดผลประโยชน์ของตนเป็นหลัก การยกระดับความรุนแรงขึ้นตามวงจรของมัน ในที่สุดอาจนำไปสู่การก่อสงครามใหญ่ที่โดยปรกติก็ไม่คิดจะทำขึ้นได้

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการเลือกตั้งและลัทธิขวาใหม่ในสหภาพยุโรป