เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง

เมื่อคิดว่าจะเอาอะไรมาเปรียบเทียบดี เพื่อให้คนหันมาฉุกคิดว่า สุภาษิตอย่าง “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” นั้น บางทีก็น่าจะหยิบยกมามองในมุมใหม่ ก็พลันหันไปเห็นสุนัขที่มีอยู่ตัวเดียวในบ้านนอนแผ่อยู่ในวันอันร้อนอบอ้าว จึงคิดว่าถ้าหากวันใดขโมยเกิดเข้าบ้านแล้วหมาเกิดนอนเฉย ไม่ยอมลุกขึ้นมาเห่า ข้าวของในบ้านก็คงจะถูกยกเค้าเป็นแน่แท้

ก็เช่นเดียวกับการที่คนเราเห็นอะไรไม่ชอบมาพากลแล้วนิ่งเฉยไว้ จนในที่สุดเกิดความเสียหายขึ้นมานั่นแหละ

หมาไม่เห่า มันก็อาจจะนึกว่าเดี๋ยวโดนดี ขโมยแพ่นหัวเอา เลยนอนนิ่ง ปล่อยให้ขโมยเอาของในบ้านเจ้านายไปจนหมด

 

สุภาษิตนี้แต่เดิมมาน่าจะมาจากสังคมไทยโบราณที่เน้นการให้คนรักษาเนื้อรักษาตัวให้รอด อย่าไปพูดอะไรที่กระทบใครเข้า นอกจากเขาจะไม่ฟังแล้ว คนพูดก็อาจจะเดือดร้อนจากคำพูดก็เป็นได้

มันก็สะท้อนสังคมในสมัยโน้นด้วยละ ว่าเรื่องสำคัญคือการเอาตัวรอด

หัวข้อนี้ถ้านำมาเป็นหัวข้อโต้วาทีแบบที่ในโรงเรียนชอบทำกัน ก็คงจะมันหยด ฝ่ายหนึ่งบอกว่า พูดไปสองไพเบี้ย ก็ดีแล้วนี่ พูดแล้วไม่ได้อะไร จะไปพูดทำไม

อีกฝ่ายหนึ่งก็จะเถียงว่า ถ้ารู้ว่าคนไหนขโมยของเพื่อนไป แล้วไม่บอก ปล่อยเขาลอยนวลไป มันจะดีหรือ

อืมม์ ก็น่าคิดนะ จะดีหรือ หรือว่าดี

บางคนก็บอกว่าความเดือดร้อนเป็นของคนอื่น ไม่ใช่ของเรา และไม่ใช่ของพ่อแม่พี่น้อง ลูกหรือสามีภรรยาเรา เราไม่เกี่ยว

แต่ถ้าเขารู้ว่าทุกอย่างในโลกนี้เกี่ยวพันถึงกันหมด เขาก็จะไม่พูดแบบนี้

เมื่อเวลาที่เขาไปติดต่อธุรกิจกับราชการ เขาถูกรีดไถ ถ้าเขานิ่งเขาก็ต้องถูกไถต่อไป คนอื่นก็จะถูกไถด้วย

เพื่อนของผู้เขียนใช้รถยุโรปยี่ห้อหนึ่ง ถึงคราวต้องเปลี่ยนอะไหล่ราคาแพง สมมติว่าจ่ายไป 60,000 ได้ใบเสร็จมาแค่ 50,000 เธอร้องเรียนไป เจ้าหน้าที่ไม่สน เธอให้ทนายฟ้องไปถึงทางเมืองนอก ในที่สุดตัวแทนจำหน่ายรายนั้นถูกยกเลิกสัญญา และเธอยังได้รับชดใช้ค่าเสียหายด้วย

ถ้าเธอนิ่งเสีย ก็คงต้องสูญเสียตำลึงทองนะคะ

ผู้เขียนยกนิ้วให้เธอเลยละ คุณล่ะคะ ยกนิ้วให้เธอไหม คนแบบนี้ในสังคมไทยหายาก แต่ควรมีให้มากขึ้น จริงไหมล่ะคะ

 

เคยมีผู้ถาม ออร์ฮาน ปามุก นักเขียนรางวัลโนเบลชาวตุรกีว่า เขาเขียนหนังสือเพราะอะไร เขาบอกว่าคำตอบไม่เหมือนกันทุกครั้ง หนึ่งในคำตอบก็คือ เขียนเพราะโกรธ

ผู้เขียนก็มีความรู้สึกโกรธเหมือนกันเมื่อคิดว่าทำไมคนเราชั่งไม่สนใจไยดีว่าสังคมส่วนรวมจะเสียหายถ้าเขาเงียบกริบ ไม่พูดไม่บอกสิ่งที่ควรจะพูดจะบอก

อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นเรื่องในชนบท ผู้ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเป็นสาวอีสานที่เข้ามาทำงานแม่บ้านในกรุง เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำชุมชนบางระดับ ที่มีหน้าที่เบิกเงินจากรัฐมาจ่ายให้ลูกบ้าน เมื่อรับไปแล้วจะต้องมีการเซ็นชื่อในใบรับ เธอเล่าว่าตัวเลขในใบรับเป็น 300 บาท แต่เธอได้รับเพียง 150 บาท แต่ก็ต้องเซ็นชื่อไป

เธอก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่นิ่งเสียตำลึงทอง

 

อีกกรณีหนึ่งก็เป็นเรื่องการที่ถ้านิ่งจะทำให้มีคนเสียชื่อเสียง บุคคลที่ 1 เล่าให้บุคคลที่ 2 ฟังว่าบิดาของหลานสะใภ้เป็นตับแข็ง เพราะว่าดื่มมากไป วันดีคืนดีบุคคลที่ 3 ก็มาพูดให้บุคคลที่ 1 ฟังว่าสามีของหลานสะใภ้เป็นตับแข็ง

บุคคลที่ 1 รู้สึกตกใจ เอ็ดตะโรบุคคลที่ 2 ว่าฟังอย่างไรถึงกลายเป็นอย่างนั้นไปได้ นี่เป็นเรื่องเสียชื่อของหลานชายที่เป็นสามีของหลานสะใภ้ เพราะถ้าหากบุคคลที่ 3 พูดต่อไปเรื่อยๆ บรรดาญาติๆ ก็จะต้องกล่าวขานว่าสามีของหลานสะใภ้เป็นตับแข็ง เขายังหนุ่มแน่นมีการงานดี

ทั้งบุคคลที่ 1 และ 2 และ 3 ไม่มีส่วนได้เสียอะไร นิ่งเสียก็ได้ แต่ก็นี่ละถ้าไม่รีบแก้ความเข้าใจผิด คนที่ถูกพาดพิงถึงก็จะเสื่อมเสียแน่นอน

“คำพูด” มีพลังมหาศาลนะคะ มันสามารถพลิกฟ้าพลิกดินได้ ที่สำคัญต้องเป็นคำพูดที่เป็นเรื่องจริง มิใช่สร้างขึ้นมา ส่วนเรื่อง “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนที่พูดเคยตายมาแล้ว” ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าจะถกเถียงกัน ว่ามีมุมมองอย่างไร