Solidarity น่าจับใจ มือชาย รอยยิ้ม ร้านลาบ

สัปดาห์ก่อน มีเหตุการณ์น่าจับใจ 2 เหตุการณ์ที่จุดแรงบันดาลใจให้ทั่วโลก

เหตุการณ์แรก คือชายแท้ (straight) ทั้งนักการเมือง ผู้มีชื่อเสียง และคนทั่วไปเดินจับมือกันตามที่สาธารณะในเนเธอร์แลนด์ ขยายไปนิวยอร์ก ลอนดอน แคนเบอร์ราและอัมสเตอร์ดัม

พร้อมโพสต์ภาพและติดแฮทช์แทก #allmenhandinhand ในโลกโซเชียล เพื่อแสดงจุดยืนว่าพวกเขาเคารพต่อสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน

หลังเกิดเหตุการณ์คู่รักเกย์ชาวเนเธอร์แลนด์ นายรอนนี ซิพราทาน แวร์เนส และ นายยาสเปอร์ แวร์เนส-ซิพราทาน ถูกกลุ่มวัยรุ่นรุมทำร้ายเพราะเดินจับมือกัน

และเหตุการณ์ที่สอง คือภาพรอยยิ้มอันทรงพลังของ ซัฟฟิยะห์ ข่าน หญิงสาวเชื้อสายเอเชียใต้ที่เดินเข้าไปปกป้อง ไซรา ซาฟาร์ หญิงมุสลิมผู้กำลังตกอยู่ในวงล้อมของกลุ่มสันนิบาตป้องกันอังกฤษ (English Defence League) หรือ EDL ซึ่งเดินขบวนต่อต้านชาวมุสลิมอยู่ในเมืองเบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ

ในขณะนั้น ซัฟฟิยะห์ส่งยิ้มที่อบอุ่น เปี่ยมไปด้วยเมตตา และปราศจากความกลัว ให้ชายขวาจัดผู้ฮึดฮัดและกำลังผลักรุนความโกรธเกรี้ยวของเขาไปให้ถึงขั้นสูงสุด ท่าทางล้วงกระเป๋าสบายๆ รอยยิ้มเหมือนเพื่อนมอบให้เพื่อน และดวงตามั่นคงร้อยเปอร์เซ็นต์ของซัฟฟิยะห์จ้องแน่วไปยังชายคนหนึ่งในกลุ่ม ELD อย่างเปี่ยมด้วยความรักในเพื่อนมนุษย์

ทำให้ชายขวาจัดผู้กำลังคลั่งอยู่ในเกมที่เขาไปต่อไม่ถูกและตกเป็นรองอย่างช่วยไม่ได้

ภาพรอยยิ้มของเธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของหยดน้ำกลางไฟในโลกยุคหันขวา

 

เหตุการณ์ที่ผู้คนรู้สึก “ร่วมทุกข์ร่วมสุข” ไปกับผู้อื่น และยืนหยัดเพื่อผู้อื่น โดยที่ผู้นั้นอาจแตกต่างจากเรา หรือไม่ได้สังกัดกลุ่มก้อนเดียวกับเราของทั้งสองเหตุการณ์นี้ ปรากฏคำสำคัญร่วมกันคำหนึ่งคือคำว่า “solidarity”

หนังสือพิมพ์ The Guardian พาดหัวข่าวเหตุการณ์แรกว่า “Dutch men walk hand in hand for solidarity after gay couple attacked” (หนุ่มดัตช์จับมือเพื่อแสดง ความเป็นหนึ่งเดียวกัน หลังคู่รักเกย์ถูกทำร้าย)

และปลุกประกายของ solidarity อีกครั้งในเหตุการณ์หลังว่า “Solidarity is so important” : Saffiyah Khan meets woman she stood up for at EDL demo”

(ความเป็นหนึ่งเดียวกันสำคัญมาก : ซัฟฟิยะห์ ข่าน พบผู้หญิงที่เธอยืนหยัดปกป้องจากการเดินขบวนของ ELD)

AFP PHOTO / KIM JAE-HWAN / AFP / KIM JAE-HWAN

ในประเทศไทย solidarity เป็นคำที่เรามักจะได้ยินในแวดวงของแรงงาน และมักแปลว่า “สมานฉันท์” เช่น ชื่อของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (Thai Labour Solidarity Committee)

แต่สมานฉันท์คำเดียวกันนี้เมื่อถูกใช้ในแวดวงการเมือง โดยสะท้อนผ่านวาทะของผู้นำรัฐบาลกลับมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า การคืนดี (reconciliation) มากกว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมายถึงการฟื้นคืนดีและการประนีประนอมกลุ่มผลประโยชน์ หรือกลุ่มขัดแย้งให้สามารถอยู่ร่วมกันได้

เช่นกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร ตั้ง “คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ” (2548) เพื่อแก้ไขความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้ง “ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์” (2557) เพื่อสลายสีเสื้อ (อย่างที่ทราบกันดีนั้น ไม่เคยเกิดความสมานฉันท์จากองค์กรเพื่อสมานฉันท์ของรัฐไม่ว่าชุดใดๆ)

มีถ้อยคำดีงามมากมายที่คนไทยใช้ขับเคลื่อนการทำเพื่อผู้อื่น เช่น ความเมตตากรุณา ความมีน้ำใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ฯลฯ มีถ้อยคำมากมายที่ทำให้เรารู้สึกถึงการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น เช่น ความสมัครสมานสามัคคี ความสมานฉันท์ ถ้อยทีถ้อยอาศัย หรือแม้แต่การ “รักความสงบ และรู้จักสมานประโยชน์เพื่อความสามัคคีของบ้านเมืองตลอดมา”

ดังที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยตั้งข้อสังเกตว่าเป็นลักษณะนิสัยของคนไทย น่าสนใจว่าถ้อยคำเหล่านี้เหมือนหรือแตกต่างจาก solidarity อย่างไร?

AFP PHOTO / EPA POOL / JIM LO SCALZO

ย้อนไปช่วงเดือนมกราคม เมื่อ โดนัลด์ เจ. ทรัมป์ ออกคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีห้ามคนมุสลิม 7 ประเทศเข้าสหรัฐอเมริกา 90 วัน ได้เกิดปรากฏการณ์ “Solidarity with Muslims” ขึ้นในอเมริกาและทั่วโลก

ทั้งการประท้วงให้ทรัมป์ยกเลิกคำสั่ง และการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ

แต่ที่น่าจับใจคือหลังคำสั่งของทรัมป์มีผลในวันแรก เกิดปัญหาชาวมุสลิมตกค้างในสนามบินจำนวนมาก ที่สนามบินนานาชาติเดนเวอร์ คนอเมริกันจำนวนหนึ่งได้รวมกลุ่มสร้างวงล้อมเพื่อดูแลความปลอดภัยให้ผู้โดยสารมุสลิมที่กำลังละหมาด

และเมื่อเกิดเหตุวางเพลิงศูนย์อิสลามวิกตอเรียซึ่งเป็นมัสยิดแห่งเดียวในเท็กซัส ชาวยิวซึ่งเห็นว่าชาวมุสลิมขาดสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจได้ยื่นกุญแจโบสถ์ยิวให้ใช้ไปพลางก่อน

คําว่า solidarity มีที่มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า la solidarit? ปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อกลางศตวรรษที่ 19 ในยุคสาธารณรัฐสมัยที่ 3 ของฝรั่งเศสซึ่งกำลังสร้างชาติบนฐานแนวคิดที่มาจากประชาชน la solidarit? อาจแปลว่า “ความสมานฉันท์” ได้เช่นกัน

ทว่า ความสมานฉันท์ของฝรั่งเศสมีความแตกต่างจากความสมานฉันท์ตามความรับรู้ที่คนไทยคุ้นเคย

กล่าวคือ “ความสมานฉันท์มิใช่ความเป็นเนื้อเดียวกัน (homogeneity) ของสังคม ความสมานฉันท์มิได้ต้องการสังคมที่คนทุกคนคิดเหมือนกันหมดลักษณะเหมือนกันหมดราวกับเป็นสสารที่มีเนื้อเดียวกัน ตรงกันข้ามความสมานฉันท์ต้องการให้ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยของสังคมมีความหลากหลายและแตกต่าง แต่จะทำอย่างไรให้ความแตกต่างดังกล่าวอัดตัวกันเป็นก้อนที่มีความแข็งแกร่งไม่บุบสลายง่ายๆ”(1)

ในเยอรมนี solidarity เป็นคำที่ผ่านเวลามานานจนมีผลถึงนโยบายรัฐ หาก solidarity เข้มแข็งก็ยิ่งมีอำนาจต่อรอง

เยอรมนีเป็นประเทศแรกที่ประสบความสำเร็จในการจัดหลักประกันด้านสังคมและสุขภาพให้แก่ประชาชนด้วยระบบประกันสังคมหรือประกันภาคบังคับ โดยมีปรัชญาและหลักการพื้นฐานสำคัญมาจากระบบการเมืองเยอรมันคือ การกระจายอำนาจและบทบาทหน้าที่ระหว่างหน่วยงานรัฐ (ส่วนกลาง ภูมิภาค) และเอกชน (subsidiarity)

และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในสังคม (solidarity) เป็นพื้นฐานการพัฒนาองค์กรทางสังคมจากล่างขึ้นบน

 

ในการประชุม World Social Forum ครั้งที่ 2 ที่เมืองปอร์โตอเลเกร (Porto Alegre) ประเทศบราซิล คำว่า Solidarity Economy หรือ เศรษฐกิจสมานฉันท์ ได้รับการพูดถึงแพร่หลายเป็นครั้งแรก

เศรษฐกิจสมานฉันท์ให้ความสำคัญแก่การริเริ่มของประชาชนในการควบคุมและตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วม ว่าจะผลิต บริโภค ลงทุน และแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกันอย่างไร มีรูปแบบของการจัดการการผลิตที่หลากหลาย

เช่น ผลิตภายใต้กรรมสิทธิ์ร่วมของคนงานและชาวบ้าน การยึดโรงงานที่ล้มละลายแล้วมาบริหารจัดการเองโดยคนงาน การใช้ระบบเงินตราชุมชนในอาร์เจนตินาหลังเศรษฐกิจล่มและในเวเนซุเอลาปัจจุบัน การทดลองระบบการผลิต การแจกจ่ายและการบริโภคที่มีคนและชุมชนเป็นศูนย์กลาง ฯลฯ

เกิดกระบวนการตัดสินใจแนวระนาบ เป็นมิตรกับคนหมู่มากและสิ่งแวดล้อม(2) แนวคิดเศรษฐกิจสมานฉันท์ได้เดินทางมาถึงแวดวงแรงงานไทย เกิดโรงงานและแบรนด์เสื้อผ้าที่ใช้แนวคิดนี้ชื่อว่า Dignity Returns ซึ่งเป็นโรงงานที่คนงานรวมกลุ่มจัดการธุรกิจของตัวเองอย่างปรับตัวให้สอดคล้องและรู้เท่าทันเศรษฐกิจโลกที่รัดล้อมด้วยระบบเสรีนิยมใหม่(3) (เป็นความรู้เท่าทันที่อยู่คนละกระบวนทัศน์กับความรู้เท่าทันในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง)

“เศรษฐกิจสมานฉันท์คือ กรอบความคิดและภาษาใหม่ที่จะช่วยให้เรานิยาม “เศรษฐกิจ” ที่ดำรงอยู่ร่วมกับระบบตลาดมานาน แต่ไม่เคยถูกมองเห็น เป็นการเปลี่ยนวิธีคิด เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกที่เรารู้จัก อย่างที่ แคตเธอรีน กิ๊บสัน เคยหยิบยกสโลแกนของเฟมินิสต์ขึ้นมาอธิบายว่าเราสามารถ “เปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับโลก เพื่อที่จะเปลี่ยนโลก”(4)

อีก solidarity ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือขบวนการ Solidarity ในโปแลนด์ที่เป็นแรงบันดาลใจในการต้านอำนาจรัฐให้ทั่วโลกและเป็นหนึ่งในปัจจัยบั่นทอนอย่างรุนแรงให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย จนกล่าวได้ว่า “solidarity มีความหมาย 2 ชั้นในโลกตะวันตก หนึ่งคือการนึกถึงคนอื่น การเห็นอกเห็นใจคนอื่นและพยายามคิดว่า ความถูก ความยุติธรรม หรือความชอบธรรมคืออะไร

และอีกความหมายคือขบวนการโซลิดาริตี้ของคนงานในโปแลนด์ (5)

ขบวนการ Solidarity โปแลนด์เกิดขึ้นจากการรวมตัวต่อสู้กับอำนาจเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ โดยมีแกนนำหลักคือสหภาพแรงงานอู่ต่อเรือในเมืองกดั๊งสก์ เมืองศูนย์กลางของกรรมกรหนุ่มสาวในโลกยุคสงครามเย็น เมื่อคอมมิวนิสต์ล่มสลายเอกภาพของขบวนการดังกล่าวได้แปลงสภาพเป็นเอกภาพของความหลากหลายภายใต้สังคมประชาธิปไตยที่โซลิดาริตี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของพลัง มิใช่ในฐานะพลังหลักอีกต่อไป

พลังนั้นแตกออกเป็นพรรคการเมืองที่แตกแถวออกจากโซลิดาริตี้ไม่น้อยกว่า 8 พรรค โดยมีฐานเสียงสนับสนุนของตนเองที่หลากหลาย ต่างมีแนวทางเฉพาะของตนเอง นับตั้งแต่อนุรักษนิยมสุด จนถึงซ้ายสังคมนิยม

แต่ไม่มีพรรคไหนมีแนวทางขวาสุด หรือซ้ายสุด และไม่มีพรรคไหนชูแนวทางกีดกันชาติพันธุ์เลย

และหลังจากผ่านความเจ็บปวดมานาน โปแลนด์ได้กลายสภาพจากรัฐคอมมิวนิสต์ที่อ่อนแอและเผด็จการ เป็นชาติทุนนิยมใหม่ที่แข็งแกร่ง

ไม่เคยเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือตกต่ำอย่างยาวนานน่าทึ่ง มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าตื่นใจ

พร้อมกับพัฒนาจากระบบการเมืองมาเป็นมีระบอบประชาธิปไตยเต็มรูปที่เข้มแข็งและมีเสถียรภาพภายใต้รัฐบาลผสม(6)

คำว่า solidarity มีนัยถึงการเห็นคนเล็กคนน้อย การพัฒนาจากฐานราก การแสดงออกที่เปี่ยมความรู้สึก การเห็นความสำคัญที่คนทุกคนควรเท่าเทียมกันมาก่อนเป็นอันดับแรก แม้สุดท้ายจะนำไปสู่การรวมพลัง แต่การรวมพลังนั้นต้องมีความกล้าหาญและกล้าเผชิญความขัดแย้งเป็นส่วนประกอบ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากคำว่าปรองดอง สมัครสมานสามัคคี หรือรู้จักประสานผลประโยชน์

คำถามที่น่าสนใจคือ solidarity เป็นพลังให้กับหลายมุมโลก ทั้งทางด้านพลังใจ ให้กำลังใจ ให้ความอบอุ่นใจ (ซัฟฟิยะห์ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่เข้าไปช่วยหญิงสาวมุสลิมว่า “ไม่มีข้ออ้างอะไรที่จะไม่ช่วยเหลือกัน”)

เมื่อนำมาผนวกกับเศรษฐกิจได้กลายเป็นพลังช่วยกอบกู้เศรษฐกิจที่ล้มละลายในสังคมรากหญ้าของอเมริกาใต้ให้ฟื้นขึ้น เป็นฐานผลักดันให้เกิดนโยบายรัฐที่เป็นประโยชน์ในเยอรมนี กำราบประธานาธิบดีที่คะนองอำนาจในสหรัฐ สร้างประเทศที่เข้มแข็งและมีป้อมปราการให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมตามสมควรแม้จะเข้าสู่เกมทุนนิยมอย่างโปแลนด์

คำถามที่น่าสนใจคือ solidarity จะเป็นพลังให้กับสังคมไทยบ้างหรือไม่? และเราจะพบ solidarity หรือความสมานฉันท์ที่แท้จริงได้ที่ไหนนอกจากในชื่อคณะกรรมการต่างๆ

คืนหนึ่งของสัปดาห์ที่แล้ว มีเหตุการณ์ที่ผู้เขียนคิดว่ามีเซ็นส์ของ solidarity อยู่เล็กๆ เกิดขึ้นที่ร้านลาบหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ รอดพ้นจากการเกณฑ์ทหาร ด้วยเหตุผลว่ามวลกายเกิน

การเข้าสู่กระบวนการเกณฑ์ทหารทั้งที่ด่าทหารมาตลอดนั้น เป็นเรื่องน่าประหวั่นพรั่นพรึง จึงมีผู้ให้กำลังใจชายไทยวัย 25 ปีรายนี้กันมาก นับไม่ถ้วนในโลกออนไลน์และหลากวงการที่ร้านลาบริมถนน

การตบไหล่ อวยชัยให้พร คล้องมาลัยพลาสติกราคาถูกฉลองแด่เสรีภาพราคาแพง

การหยอกเย้ากระเซ้าแหย่ที่เกิดขึ้นระหว่างการฉลองข้างถนน ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตใครซวยน้อยลงได้

แต่แสดงอำนาจว่าพวกเขายังยิ้ม เคียงข้าง และยังมีความรักต่อกันได้ ไม่ต่างจากเหตุการณ์ชายจับมือชายหรือรอยยิ้มของซัฟฟิยะห์

วิจักขณ์ พาณิช กล่าวถึง solidarity ในความหมายว่า “เคียงบ่าเคียงไหล่” (เป็นความหมายที่แปลได้จับใจที่สุดในทัศนะของผู้เขียน)

“คำว่า “เคียงบ่าเคียงไหล่” หรือ solidarity นั้นมีความหมายที่ลึกซึ้งครับ…ในบางบริบทอาจลึกซึ้งยิ่งกว่าคำสอนทางศาสนาเสียอีก เพราะมันเป็นคำที่สะท้อนถึงจิตสำนึกที่คนในสังคมมีต่อผู้คนที่ได้รับความไม่เป็นธรรม พวกเขาอาจไม่ใช่ญาติ อาจไม่ใช่คนที่เรารู้จักเป็นการส่วนตัว แต่ด้วยความที่เราสามารถรับรู้ความทุกข์ของเขาเหมือนเป็นความทุกข์ของเราเอง เรารู้สึกโกรธ รู้สึกเจ็บ รู้สึกห่วงใยในสวัสดิภาพของพวกเขาราวกับคนเหล่านั้นเป็นพี่เป็นน้องของเรา สังคมที่มี solidarity แสดงให้เห็นว่า “ธรรมะ” กับ “ความเป็นธรรม” นั้นสอดคล้องสัมพันธ์กันอย่างไร ในทางตรงกันข้าม สังคมที่อ้างว่ามีศีลธรรมสูงส่ง แต่กลับไม่มี solidarity สะท้อนให้เห็นว่าธรรมะหรือศีลธรรมที่ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสำนึกแห่งการกดขี่และความเห็นแก่ตัวทางสังคมอย่างไร”

ที่ทางของ solidarity ที่คนธรรมดามีต่อคนธรรมดาด้วยกันในสังคมไทยไม่ค่อยจะแจ่มชัดนัก มักเห็นได้ตามที่มีคนถูกเอารัดเอาเปรียบไปรวมตัวกันแล้วก็เห็นใจกันเอง ความรู้สึกความผูกพัน เดือดแค้นแทน เห็นอกเห็นใจอย่างลึกซึ้งเข้มข้นจนแปรไปเป็นพลังได้นั้นเรามักมอบให้แก่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา

แต่ทั่วโลกได้พิสูจน์แล้วว่า solidarity ที่คนธรรมดามีให้แก่คนธรรมดาด้วยกันนี่เอง ที่นำชีวิตดีๆ มาให้คนธรรมดา

____________________________________________________
1ภาคภูมิ แสงกนกกุล. การสร้างความสมานฉันท์ (solidarity) ในฝรั่งเศส. (ออนไลน์). แหล่งที่มา https://prachatai.com/journal/2014/02/51950

2เรียบเรียงจาก facebook : สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

3ชัยวัฒน์ ไชยจารุวณิช. การปกครองตนเองของคนงานโรงงานสมานฉันท์ภายใต้เสรีนิยมใหม่. วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา ปีที่ 31 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2555).

4เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร. แนวคิด “หลังทุนนิยม” และเศรษฐกิจสมานฉันท์, (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/640784.

5ศิโรตน์ คล้ามไพบูลย์. อ่าน 1984 : ทำไมเรารัก “พี่เบิ้ม”, (ออนไลน์). แหล่งที่มา : https://prachatai.com/journal/2009/12/27114

6ศิวะ รณยุทธ์. ศึกษาโซลิดาริตี้ในโปแลนด์ : บทเรียนสำหรับผู้รักประชาธิปไตย-คนเสื้อแดง, (ออนไลน์). แหล่งที่มา https://prachatai.com/journal/2012/01/38981.