พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู : วิธีการวางแผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ

พลโท ดร. พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ในการวางแผนพัฒนาประเทศของประเทศในยุโรปบางแห่งจะมีวิธีการที่แตกต่างไปจากสหรัฐฯที่เป็นต้นแบบทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมซึ่งจะใช้การจูงใจและลดอุปสรรคในการทำธุรกิจให้กับภาคเอกชน และให้เอกชนทำการค้าขายเองตามกลไกตลาด ตรงกันข้ามกับแนวทางของประเทศสังคมนิยมที่ใช้การวางแผนจากภาครัฐซึ่งสุดท้ายพิสูจน์แล้วว่าทำให้เกิดการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก และสุดท้ายหันมาใช้กลไกตลาดกันหมดรวมทั้งจีนด้วย จะมียกเว้นอยู่ก็บางประเทศเผด็จการเท่านั้นที่รัฐยังเป็นผู้กำหนดชะตากรรมที่น่าสงสารของประชาชนอยู่ ส่งผลให้เกิดความอดอยากตามทฤษฎีเช่นกรณีเกาหลีเหนือ เป็นต้น

วิธีการของยุโรปและประเทศกำลังพัฒนาที่ยกมานี้ จะเป็นการผสมผสานระหว่างการใช้กลไกตลาดของภาคเอกชนและการกำกับนโยบายบางอย่างด้วยการวางแผน เราเรียกกันว่าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสมหมายถึงทั้งรัฐและเอกชนมีบทบาทร่วมกัน บางแห่งเช่นประเทศคานาดาถือได้ว่ามีส่วนผสมของภาครัฐและเอกชนเท่าเทียมกัน ส่วนญี่ปุ่นเดิมนั้นรัฐเป็นผู้นำ ปัจจุบันภาคเอกชนเป็นผู้นำ

อย่างไรก็ตามสิ่งที่นำมาเสนอนี้คือแนวทางการวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ในหลายแห่งรวมถึงประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่มีระบบเศรษฐกิจแบบผสม เช่นประเทศไทย (หากไม่เปลี่ยนไปเป็นระบบรัฐควบคุมเบ็ดเสร็จเสียก่อน)

สำหรับการวางแผนเศรษฐกิจนั้นก่อนอื่นต้องมีตัวเลขข้อมูลที่สมบูรณ์ก่อนในทุกระดับ เช่นรู้ว่าแต่ละจังหวัดมีการผลิตสินค้าและบริการในเรื่องอะไรบ้าง สิ่งที่ต่อเนื่องกับการผลิตเช่น การศึกษา ทักษะฝีมือแรงงาน เป็นอย่างไร เป็นต้น มาจนปัจจุบันนี้กำลังก้าวเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลด้วยข้อมูลขนาดใหญ่กันแล้ว การไหลของข่าวสารข้อมูลในเรื่องสินค้าและการบริโภคต้องมีอย่างครบถ้วน มิฉะนั้นการวางแผนจะมีความผิดพลาดมากขึ้นตามข้อมูลที่คลาดเคลื่อนนั้น

ตัวอย่างของการมีข้อมูลที่ชัดเจนคือ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในนโยบายบางประการเช่น ลดภาษีสินค้าบางชนิดหรือขึ้นภาษีทำให้ราคาสินค้าบางชนิดเปลี่ยนไป จะทำให้ปริมาณการผลิตลดลงเท่าไร จะส่งผลให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าไร สิ่งนี้ถ้ายังไม่มีการแถลงออกมาอย่างเป็นทางการ ก็แปลว่าการบริหารจัดการข้อมูลนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพ ในปัจจุบันหลายประเทศสามารถระบุได้ชัดเจนว่าจะมีการจ้างงานหรือลดกำลังการผลิตเป็นปริมาณเท่าไรได้ล่วงหน้าอย่างแม่นยำ

สมมติว่าข้อมูลพื้นฐานนี้มีแล้ว ต่อไปคือเป้าหมายในการวางแผนหรือการกำหนดยุทธศาสตร์ว่าในเมื่อมีทรัพยากรทางเศรษฐกิจจำกัด เราควรที่จะนำเงินนั้นไปวางที่ตรงไหน แล้วจะเกิดผลอะไรทางด้านเศรษฐกิจตามมา และต้องทำนายได้เป็นตัวเลขอย่างละเอียด ไม่ใช่การคาดหมายว่าควรจะเป็นอย่างไรซึ่งเป็นตัวเลขทางมหภาคที่มีความหยาบมาก เหตุผลเพราะสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละนั้น ไม่ได้แจกแจงว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นไปตกอยู่กับใคร เป็นปริมาณเท่าไรนั่นเอง

ในด้านความมั่นคงแล้ว หากความแตกต่างระหว่างคนรวยและคนจนถ่างมากเกินไป นอกจากจะเป็นผลกระทบให้เกิดความอ่อนแอทางด้านสังคมแล้ว ในระยะต่อไปอาจเกิดโจร ขโมย การหลอกลวง การฉ้อโกงมากขึ้น ผู้กระทำผิดจะระบาดไปทุกหย่อมหญ้า จนหาคนธรรมดาไม่ได้เลยเพราะต้องดิ้นรนหาเงินมาไม่ว่าถูกหรือผิดกฎหมายก็ตาม ซึ่งเป็นภัยอันตรายอย่างยิ่ง ซึ่งเรื่องนี้ค่าเฉลี่ยไม่ได้บอก

เมื่อเป็นเช่นนี้ หลักทั่วไปในการกำหนดเป้าหมายจึงอาจแบ่งออกได้เป็น ๒ ส่วนคือในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน แต่ล้วนมีที่หมายเดียวกันเท่านั้นคือ ทำให้ความแตกต่างในเรื่องของรายได้ลดลง เกิดชนชั้นกลางมากขึ้น สังคมและการเมืองจึงจะมีเสถียรภาพ สำหรับประเทศไทยเป็นที่รับทราบกันทั่วไปแล้วว่าเป็นประเทศที่มีการกระจายรายได้ย่ำแย่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกคือขยับจากลำดับ ๖ ขึ้นมาเป็นลำดับ ๓ ของการกระจายรายได้ย่ำแย่อยู่ในขณะนี้

เมื่อทราบเป้าหมายแล้ว ก็ต้องกำหนดแนวทางเป็นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถหาเงินเข้าประเทศได้เพื่อนำมากระจายให้เพื่อนร่วมชาติ ดังนั้นระบบการเก็บภาษีบริษัท ห้าง ร้านต่างๆต้องมีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้เงินงบประมาณในส่วนที่ ๒ นี้มาสร้างสวัสดิการให้กับคนจนร้อยละ ๒๐ ด้านล่างที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ที่เหลือคือร้อยละ ๓๐ ไปจนถึงร้อยละ ๘๐ ต้องขยายตัวมีรายได้มากขึ้นจนทำให้ประมาณร้อยละ ๔๐ ถึง ร้อยละ ๖๐ มีการขยายตัวมากที่สุด หรือพูดง่ายๆคือ ลักษณะประชากรมีรายได้กว้างที่สุดที่ระดับกลาง

รายได้ประชากรนี้ ไม่สามารถใช้เงินเดือนของข้าราชการและพนักงานบริษัทมาเป็นเกณฑ์ได้ เพราะการจ้างงานรายเดือนแบบนี้จะมีระดับค่าจ้างต่ำโดยธรรมชาติ การเป็นเจ้าของกิจการโดยมีคนงานหรือพนักงานเพียงไม่กี่คนและขายสินค้าที่เป็นนวัตกรรมมีมูลค่าเพิ่มสูงๆและมีการลงทุนต่อเนื่องจึงจะทำให้ส่วนแบ่งเงินในประเทศมาหมุนเวียนอยู่ในบริษัทขนาดกลางจำนวนมากนี้ให้ได้ ส่วนบริษัทใหญ่และธุรกิจขนาดย่อมก็จะมีวิถีของตัวเอง รัฐก็ผ่อนคลายกฎระเบียบให้กับบริษัทใหญ่และหาแหล่งเงินทุนให้กับธุรกิจขนาดย่อมซึ่งหาสถาบันการเงินที่จะยอมให้กู้ได้ยากมาก ส่วนคนจนกว่านั้นนอกจากสวัสดิการแล้ว การยังคงสร้างธุรกิจที่มีการจ้างงานมากไว้ จะทำให้คนจนสามารถเข้ามาในระบบการผลิตแบบง่ายๆได้บ้าง

อย่างไรก็ตามธุรกิจขนาดกลางและเป็นธุรกิจแข่งขันที่กระฉับกระเฉง ใช้วิทยาการขั้นสูง มีมูลค่าเพิ่มจากสิทธิบัตรและนวัตกรรมมากๆนั้น ควรได้รับการส่งเสริมเพราะจะสร้างการเชื่อมโยงไปยังธุรกิจอื่นทั้งปลายทางและต้นน้ำได้เป็นจำนวนมาก

การคำนวณการเติบโตของเป้าหมายนี้ ควรมีการกระทำเป็นรายๆไปโดยใช้ทรัพยากรที่จำกัดให้กับธุรกิจขนาดกลางเหล่านี้ให้เข้มแข็งและพร้อมจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ยืนได้ด้วยตนเองต่อไป จากการรู้ข้อมูลทั้งการจ้างงานและการขยายตัวในการผลิต ก็จะทำให้คำนวณอัตราการเติบโตและการกระจายรายได้ที่เหมาะสมได้ไปพร้อมๆกัน ธุรกิจใดที่ใช้เทคโนโลยีสูงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย รัฐก็ใช้มาตรการทางการจัดเก็บภาษีเพื่อนำเงินมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป ธุรกิจใดที่มีการจ้างงานแบบคุณภาพก็ควรส่งเสริมให้ขยายตัวมากที่สุดต่อไปด้วยการลดหย่อนภาษีเฉพาะเป็นรายๆไป

และด้วยการมีข้อมูลการค้าในทุกระดับนี้ เราสามารถจัดลำดับความเร่งด่วนในการพัฒนาจากระดับหน่วยผลิต ระดับจังหวัดและระดับชาติได้เพื่อให้เกิดการโยกย้ายทรัพยากรให้เกิดการกระจายรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การวางแผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจจึงไม่ใช่การปล่อยให้ภาคเอกชนทำงานไปแบบใครมือยาว สาวได้สาวเอาเฉยๆ แต่รัฐควรมีมาตรการที่ชัดเจนลงไปถึงรายบริษัท ห้าง ร้าน ตามกรอบที่จะเพิ่มรายได้ เพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้กับธุรกิจเป้าหมายที่จะส่งผลต่อรายได้ของประชากรด้วย

ในระบบเศรษฐกิจแบบผสม เราคงไม่สามารถไว้ใจให้ระบบราชการมีอำนาจจนเกินไปได้เพราะไม่ได้ใช้เงินตัวเองในการลงทุน ดังนั้นภาครัฐควรมีหน้าที่เพียงในการให้ข้อมูลกับภาคเอกชนและมีมาตรการทางภาษีอย่างเหมาะสมเท่านั้น อย่าได้ทำตัวรู้ดีหรือมีอำนาจเกินไปจนเกิดการกรรโชกทรัพย์ เพราะจะกลายเป็นต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจไปในทันที

หน้าที่ของระบบราชการนอกเหนือจากการลงทุนด้านข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เพื่อให้บริการต่อหน่วยธุรกิจแล้ว ก็คือกำจัดระบบการเรียกรับทั้งปวงลงเพื่อให้ภาคเอกชนมีต้นทุนต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมถึงการไม่ให้มีการเลี่ยงภาษีด้วยระบบบัญชีหลายฉบับซึ่งขณะนี้ก็มีความพยายามดำเนินการอยู่เป็นที่น่าชื่นชม เพียงแต่จะมีความทั่วถึงและเป็นธรรมแค่ไหนต้องติดตามกันต่อไปเพื่อมิให้มีการผูกขาดเกิดขึ้นได้

ถ้าสามารถมีข้อมูลการไหลเวียนของสินค้าและบริการทุกชนิด ในทุกระดับและกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างถูกต้อง ลดต้นทุนการฉ้อราษฎร์ บังหลวง เรียกรับหัวคิวที่ในตอนนี้ไม่ทราบจะเป็นเท่าไรแล้วลงไปได้ด้วยการใช้ระบบที่มีประสิทธิภาพ ไม่เลือกปฏิบัติกับพรรคพวกหรือธุรกิจผูกขาดแล้ว ความหวังที่จะเห็นการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมคงเกิดขึ้น และนี่คือแนวทางการวางแผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจในมุมหนึ่งที่ควรนำไปพิจารณา