วิรัตน์ แสงทองคำ : ว่าด้วยกรุงเทพฯ (2) เรื่องราวเกี่ยวกับกรุงเทพฯ กับกลุ่มทีซีซี น่าสนใจมากขึ้นๆ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เรื่องราวเกี่ยวกับกรุงเทพฯ กับกลุ่มทีซีซี น่าสนใจมากขึ้นๆ

ว่ากันว่าในช่วงที่ผ่านมา เจริญ สิริวัฒนภักดี เก็บตัวเงียบกว่าปกติ จนมาถึงวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา เพิ่งจะรู้กันว่า เขารอมาให้ถึงวันเปิดตัวโครงการที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ

นั่นคือ โครงการ One Bangkok บนที่ดิน 104 ไร่ หัวมุมถนนพระราม 4-ถนนวิทยุ ด้วยแผนการลงทุนถึง 1.2 แสนล้านบาท พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (Mix-used) ประกอบด้วย โรงแรม ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน พร้อมกับแผนการสร้างตึกสูงที่สุดในไทย

เรื่องราว “ความยิ่งใหญ่” นำเสนอผ่านสื่ออย่างตั้งใจ (โดยบริษัทประชาสัมพันธ์ในกรุงเทพฯ)

ถ้อยแถลงที่น่าสนใจ (ต้นฉบับภาษาอังกฤษ) ปรากฏใน Press Releases ของบริษัทนานาชาติที่เกี่ยวข้อง–Frasers Centrepoint Limited (FCL) แห่งสิงคโปร์ (“One Bangkok”, Thailand”s largest integrated development, set to transform Bangkok city-centre and become a new global landmark destination– 3 April 2017 http://investor.fraserscentrepoint.com/) และ Skidmore, Owings & Merrill LLP หรือ SOM แห่งสหรัฐ (SOM Works with Multidisciplinary Team to Design 16-Hectare Mixed-Use District in Central Bangkok- 4 April 2017 –www.som.com)

โดยเฉพาะต้นฉบับถ้อยแถลงที่ปรากฏใน Frasers Centrepoint Limited นั้น ได้มีการแปลเป็นภาษาไทยนำเสนอผ่านสื่อไทยด้วย ที่อ้างถึงปรากฏในไทยรัฐออนไลน์ (www.thairath.co.th ) เป็น Advertorial (เป็นสื่อโฆษณาชิ้นหนึ่ง) หัวข้อข่าว –“One Bangkok” พลิกโฉมพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในไทย (4 เมษายน 2560)

ทั้งนี้ ได้ปรากฏถ้อยแถลงของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ไว้หลายตอนอย่างตั้งใจเป็นพิเศษ

 

“วิสัยทัศน์ของเราคือการสร้างสรรค์สถานที่ที่ผู้คนจะตกหลุมรัก และอยากมาใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ ในที่แห่งนี้ ที่ที่ทำให้ทุกคนในกรุงเทพฯ รู้สึกว่าที่นี่คือส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของกรุงเทพฯ และเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะกลายเป็นแลนด์มาร์กระดับโลกที่ยกระดับภาพลักษณ์ที่ดีงามของกรุงเทพฯ และประเทศไทยให้โดดเด่นเป็นสง่าบนเวทีโลก”

แค่นี้ยังไม่พอ “จุดมุ่งหมายในการวางแผนและออกแบบโครงการ “One Bangkok” (วัน แบงค็อก) คือการยกระดับภาพลักษณ์ของกรุงเทพฯ ในฐานะเมืองที่เป็นประตูเชื่อมโลกกับเอเชีย”

และตามมาด้วยอีกตอนหนึ่ง “สิ่งที่คาดหวังในการเนรมิตโครงการ “One Bangkok” (วัน แบงค็อก) คือการเสริมสร้างความเชื่อมั่นที่ทั่วโลกมีต่อประเทศไทย ในฐานะเมืองที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียนและเป็นเมืองที่เป็นประตูสู่โลกและเป็นเมืองแห่งไลฟ์สไตล์ที่สำคัญของเอเชีย รวมทั้งคาดหวังที่จะนำความรุ่งเรืองที่ยิ่งใหญ่มาสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้เช่า เจ้าของ หรือพันธมิตรทางธุรกิจ”

สะท้อนถึงความตั้งใจกับโครงการใหญ่มากๆ สะท้อนความเชื่อมั่น “กรุงเทพฯ “อย่างเต็มเปี่ยม อันที่จริงเป็นเรื่องที่เชื่อกันเช่นนั้นอยู่แล้วในแวดวงสังคมธุรกิจ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ ยุคปัจจุบัน ยุครัฐบาล คสช. ด้วย

 

ผมเองเคยอ้างถึงไว้กรณีหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ (ซีพี-ทีซีซี มติชนสุดสัปดาห์ 23 กันยายน 2559) นับเป็นเรื่องมีความสัมพันธ์กันอย่างไม่น่าเชื่อ กรณี ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ (กิจการหลักในกลุ่มทีซีซี) ในฐานะคณะกรรมการคนสำคัญของ “แผนการสานพลังประชารัฐ” ให้สัมภาษณ์ภายหลังมีประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยมุมมองเชิงบวกอย่างมากๆ เขาเชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ที่สำคัญย้ำว่าได้รับนโยบายจาก เจริญ สิริวัฒนภักดี “ให้เดินหน้าลงทุนอย่างเข้มข้นอีกครั้ง เพราะยังเห็นโอกาสในด้านทำเลที่ตั้งของไทยที่เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน จึงมีความได้เปรียบและมีศักยภาพการแข่งขันสูงเมื่อเทียบกับประเทศโดยรอบ” (ข้อความในเครื่องหมายคำพูด อ้างมาจาก มติชนออนไลน์–http://www.matichon.co.th/ 11 สิงหาคม 2559)

แผนการ One Bangkok ดำเนินอย่างทุ่มเทและตั้งใจอย่างยิ่ง สะท้อนผ่านธุรกิจที่เกี่ยวข้องและอ้างถึง Frasers Centrepoint Limited (FCL) นั้น คือบริษัทร่วมทุนถือหุ้นประมาณ 20% ในโครงการใหญ่ แต่มีบทบาทสำคัญในการบริหาร แท้จริงแล้วเป็นกิจการในกลุ่มทีซีซี ได้ให้ภาพอีกภาพหนึ่ง

ซึ่งหลายคนอาจไม่เห็นภาพเครือข่ายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มทีซีซีในระดับภูมิภาค

 

Frasers Centrepoint Limited (FCL) ก่อตั้งในสิงคโปร์ (เมื่อปี 2531) และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ค่อยๆ ขยายกิจการกลายเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร

เมื่อเข้ามาอยู่ในเครือข่าย Fraser and Neave หรือ F&N (ปี 2533) ได้ขยายธุรกิจออกสู่ต่างประเทศ ต่อมาเมื่อกลุ่มทีซีซีเดินแผนการใหญ่บุกเบิกธุรกิจภูมิภาค เข้าซื้อกิจการ Fraser and Neave (ปี 2556) เป็นดีลที่ครึกโครม ถือได้ว่ากลุ่มทีซีซีได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ Frasers Centrepoint Limited ไปด้วย

จากนั้น Frasers Centrepoint Limited มีแผนการเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะในปี 2557 เข้าซื้อเครือข่ายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในออสเตรเลีย (Australand ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Frasers Property)

ปัจจุบัน Frasers Centrepoint Limited มีสินทรัพย์ (สิ้นปี 2559) มากกว่า 24,000 ล้านเหรียญสิงคโปร์ มีเครือข่ายธุรกิจครอบคลุม 80 เมืองทั่วโลก ทั้งเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป และตะวันออกกลาง

ส่วน Skidmore, Owings & Merrill LLP หรือ SOM เป็นผู้ออกแบบหลักของโครงการ One Bangkok ทั้งแผนงานหลัก สถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน และวิศวกรรมโครงสร้าง ในฐานะกิจการใหญ่และมีชื่อเสียงระดับโลก ก่อตั้งมากว่า 80 ปีในสหรัฐ

ปัจจุบันมีสำนักงานในเมืองสำคัญ ทั้งในสหรัฐ (New York, Chicago, San Francisco, Los Angeles และ Washington D.C ) และนอกสหรัฐคือ London, Hong Kong, Shanghai และ Mumbai โดยมีผลงานทั่วโลก โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ในเอเชียแปซิฟิก

สำหรับโครงการ One Bangkok นั้น Skidmore, Owings & Merrill LLP ให้ความสำคัญมากทีเดียว นำเสนอขึ้นเป็นภาพข่าวหน้าแรกของ website โดยรระบุว่า

“SOM ในฐานะผู้นำการออกแบบโครงการ โดยร่วมมือกับทีมงานด้านสถาปัตยกรรมและภูมิสภาปัตยกรรม ทั้งระดับโลกและท้องถิ่น”

 

ที่สำคัญ เจริญ สิริวัฒนภักดี ไม่ลืมที่กล่าวอีกตอนหนึ่ง ซึ่งปรากฏในทั้งต้นฉบับภาษาอังกฤษ และสื่อไทยโดยทั่วไป “ทางกลุ่มรู้สึกเป็นเกียรติที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ให้ความไว้วางใจในการพลิกโฉมพื้นที่ผืนสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ ผืนนี้ให้กลายเป็นเมืองที่ครบครัน ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบที่ผมมีความมุ่งมั่นและผมขอยืนยันที่จะสร้างสรรค์โครงการนี้ให้สำเร็จและโดดเด่นเป็นสง่าน่าภาคภูมิใจ พร้อมที่จะพลิกโฉมประเทศไทยให้ชาวโลกชื่นชม” สะท้อนถึงความภาคภูมิใจอย่างแท้จริง และสะท้อน “สายสัมพันธ์” ทางธุรกิจที่สำคัญ

ได้กล่าวมาแล้วว่า One Bangkok นอกจากจะเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในประเทศแล้ว ถืออยู่ในพื้นที่แปลงใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ในทำเลสำคัญซึ่งสำนักงานทรัพย์สินฯ เปิดทางให้เอกชนเข้าพัฒนา

ที่จริงแล้วกลุ่มทีซีซีภายใต้การนำของ เจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นเจ้าของที่ดินแปลงสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ อยู่ไม่น้อย ที่ดินบางแปลงมีความเชื่อมโยงกับเรื่องราว เชื่อมโยงกับผู้คนที่อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์และพัฒนาการกรุงเทพฯ

เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์–ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแรกๆ เจริญ สิริวัฒนภักดี ซื้อมาในช่วงต้นก่อตั้งกลุ่มทีซีซี

“เปิดตำนานของท่าเรือระหว่างประเทศที่แรกของสยาม ย้อนกลับไปในช่วงปี 1884 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประเทศในเอเชียอยู่ภายใต้การคุกคามของการรุกรานจากมหาอำนาจยุโรป ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความคิดริเริ่มที่จะยกระดับสยามให้ไปถึงประเทศชั้นนำของโลกและตัดสินพระทัยที่จะสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเดนมาร์ก รวมถึงในขั้นตอนนี้คือการก่อสร้างของท่าเรือที่เป็นของบริษัท อีสต์เอเซียติก ซึ่งทำธุรกิจที่ทุ่มเทให้กับการส่งออกไม้สัก โดยมี Mr. Hans Nille Anderson, สัญชาติเดนมาร์ก เป็นเจ้าของบริษัท ท่าเรือนี้คือสัญญาณการเริ่มต้นของการทำการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างราชอาณาจักรไทยและประเทศในยุโรป และเป็นกุญแจสำคัญในการที่สยามยังคงรักษาอธิปไตยและความเป็นอิสระจวบจนทุกวันนี้ ปัจจุบัน พื้นที่เดียวกันนี้ที่ท่าเรืออีสต์เอเซียติกครอบครองกำลังคืนไปสู่ความรุ่งโรจน์เดิมภายใต้ชื่อ “เอเชียทีค เดอะริเวอร์ ฟร้อนท์” ด้วยครั้งแรกและเป็นที่ที่วิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ตั้งอยู่บนแม่น้ำเจ้าพระยา” (http://www.asiatiquethailand.com/)

เรื่องราวที่ดินแปลงดังกล่าว นำเสนออย่างภาคภูมิใจ เชื่อมโยงกับแผนธุรกิจใหม่

 

นอกจากนี้ ควรกล่าวถึง โอพี เพลส และ โอพี การ์เด้น มีตำนานอยู่ในยุคเดียวกัน ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณไม่ห่างกันนัก ทั้งสองเป็นอาคารเก่าสร้างขึ้นยุคอาณานิคม ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 โอพี เพลส เคยเป็นห้างขายสินค้ายุโรป ชื่อ ฟัลค์ แอนด์ ไบเด็ก หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ห้างสิงโต อาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างศิลปะนีโอคลาสสิคแบบตะวันตกกับศิลปะไทย ได้รับการดูแลรักษาอย่างดี จนได้รับการยกย่องให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในปี 2525

ส่วนโอพี การ์เด้น โครงสร้างเป็นหมู่อาคารเล็กๆ 5 หลัง มีพื้นที่ว่างตรงกลางทำเป็นสวนหย่อม ด้วยสถาปัตยกรรมยุคเดียวกัน กลุ่มอาคารได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้สอยบ้าง ในปี 2479 กลายเป็นคลินิก “สหการแพทย์” ของ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล นักอนุรักษ์ชื่อดังของไทย

รวมทั้ง กลุ่มทีซีซี เป็นเจ้าของย่าน เวิ้งนาครเขษม สัญลักษณ์ชุมชนประวัติศาสตร์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนจะมาเป็นเวิ้งนาครเขษม เคยเป็นวังน้ำทิพย์ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นกัน หลังยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้ปรับเปลี่ยนเป็นย่านการค้า

กรณีข้างต้น ล้วนเป็นเรื่องราวเชื่อมโยงกับอดีต กับความเป็น “เจ้าของ” ในที่ดินแปลงเล็กๆ กระจัดกระจาย ซึ่งแตกต่างจากโครงการยิ่งใหญ่ One Bangkok เชื่อมโยงกับปัจจุบัน และคงเชื่อว่าเป็นอนาคตด้วย