ปรากฏการณ์ Coldplay คอนเสิร์ตสุดยิ่งใหญ่ ทอล์ก ออฟ เดอะ เวิลด์!

เมื่อสัปดาห์ก่อน มีปรากฏการณ์คอนเสิร์ตวงโคลด์เพลย์ (Coldplay) ที่ถูกพูดถึงทั่วประเทศ และโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง

คนที่ฟังเพลงหรือติดตามข่าวสารอยู่ระดับหนึ่ง คงรับรู้ถึงกระแสคอนเสิร์ตนี้อยู่แล้วว่าแรงขนาดไหน

ส่วนคนที่ไม่รู้ก็น่าจะมีไม่น้อยที่ได้รู้กันในวันนั้น

เนื่องจากปรากฏการณ์ที่ผู้คน 6 หมื่นกว่าคนมุ่งหน้าไปยังสถานที่จัดคอนเสิร์ต ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน ส่งผลให้รถติดทั่วกรุงเทพฯ จนต้องสอบถามหาสาเหตุ

ทำให้ความยิ่งใหญ่ของคอนเสิร์ตนี้กระจายการรับรู้ออกไปเป็นวงกว้างมากขึ้น

อันที่จริงคอนเสิร์ตโคลด์เพลย์ถูกพูดถึงและอยู่ในกระแสต่อเนื่องมานานหลายเดือนแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนตุลาคม 2559 โคลด์เพลย์-วงดนตรีป๊อปร็อกชื่อดังประกาศตารางทัวร์คอนเสิร์ตทั่วโลกในชื่อ “A Head Full of Dreams Tour” เป็นความฝันของแฟนเพลงทั่วโลกที่อยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในนั้น

ผู้คนจากต่างมุมโลกพร้อมใจกันพูดถึงการประกาศทัวร์คอนเสิร์ตนี้ จนขึ้นอันดับ 1 ในเทรนด์โซเชียลมีเดียทั่วโลก และเป็นข่าวที่สื่อทั่วโลกมอบพื้นที่ให้

ประกาศรอบแรกไม่มีชื่อประเทศไทยในตารางทัวร์

แต่มีการประกาศเพิ่มเข้ามาภายหลัง โดยการดีลของโปรโมเตอร์ยักษ์ใหญ่ “ไลฟ์เนชั่น บีอีซี-เทโร”

หลังจากเห็นกระแสเรียกร้องของคนไทยว่ามีคนอยากดูอยู่เป็นจำนวนมากพอที่ผู้จัดจะไม่ขาดทุน

พอถึงวันเปิดขายบัตรของแต่ละประเทศ คนที่อยากดูต้องตื่นมารอเตรียมซื้อบัตรกันแต่เช้า ใครเร็วก็ได้ไป

บัตรขายหมดประกาศ Sold Out อย่างรวดเร็วทุกที่ (ยกเว้นบ้านเราที่มีดราม่าเรื่องขายตั๋วเกินที่นั่ง)

“AHead Full of Dreams Tour” เป็นทัวร์คอนเสิร์ตยิ่งใหญ่ที่สุดในปีนี้

ไม่ใช่แค่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย แต่หมายถึงใหญ่ที่สุดในโลก

ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับคอนเสิร์ตของศิลปินอื่นๆ ในวงการเพลงโลกที่ออกทัวร์คอนเสิร์ตในปีนี้

และอาจจะใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีจากนี้

ที่ว่า “คอนเสิร์ตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” วัดกันจากอะไร หรือดูอะไรเป็นองค์ประกอบบ้าง?

ถ้าพูดแบบง่ายๆ คือดูที่สเกลงาน

คอนเสิร์ตนี้ออกแบบมาเพื่อแสดงในสเตเดี้ยมขนาดใหญ่เท่านั้น ไม่แสดงในฮอลล์เด็ดขาด

ดูหยาบๆ แค่นี้ก็บอกได้แล้วว่า “ยิ่งใหญ่ที่สุด”

แต่อันที่จริง การที่ผู้คนยกให้คอนเสิร์ตนี้เป็นคอนเสิร์ตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มันมีเหตุผลประกอบที่ละเอียดกว่านั้น

 

ความยิ่งใหญ่ของคอนเสิร์ต “A Head Full of Dreams Tour” ประกอบขึ้นมาจาก

1. ชื่อเสียงของวงโคลด์เพลย์ที่อยู่ระดับหัวแถวของยุคนี้ พูดได้เลยว่าเป็นวงป๊อปร็อกที่ดังที่สุดในโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาและอีกสัก 3 ปีหลังจากนี้ก็ยังไม่น่าจะมีวงไหนขึ้นมาเทียบพวกเขาได้

โคลด์เพลย์เป็นวงดนตรีจากอังกฤษ ประกอบด้วยสมาชิกวง 4 คนคือ คริส มาร์ติน-ร้องนำ/เปียโน, จอนนี่ บั๊กแลนด์-กีตาร์, กาย เบอร์รี่แมน-เบส, วิล แชมเปี้ยน-กลอง

ออกอัลบั้มแรกเมื่อปี 2000

พวกเขาเป็นวงดนตรีจากอังกฤษที่ไม่ได้ทำเพลงแบบ “อังกฤษ”

ด้วยสไตล์ดนตรีของวงที่เป็นสากลถูกจริตอเมริกันชน ไม่ใช่ดนตรี “บริตป๊อป” หรือ “บริตร็อก” ที่มีสำเนียงเฉพาะอย่างวงดนตรีอังกฤษส่วนใหญ่ในยุคก่อนหน้านั้น

ทำให้พวกเขาไปได้สวยในอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อกระแสดนตรีทั่วโลก

เมื่อได้รับการตอบรับอย่างดีในอเมริกา การจะมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลกก็อยู่ในมือของพวกเขาแล้ว

ชื่อเสียงของโคลด์เพลย์ค่อยๆ เพิ่มขึ้น บวกกับประสบการณ์ในวงการที่มากขึ้นเรื่อยๆ โคลด์เพลย์ได้ขึ้นแสดงเป็นเฮดไลน์เทศกาลดนตรีดังๆ ของโลกมาแล้วแทบทุกเวที

แม้ว่าอัลบั้มหลังๆ มานี้พวกเขาทำเพลงที่ต่างออกไป จนโดนบ่นว่า “ออกทะเล” แต่ก็ไม่ได้ฉุดชื่อเสียงความนิยมของวงอยู่ดี

ในตอนนี้อาจจะยังไม่สามารถสรุปได้ว่าโคลด์เพลย์อยู่ในช่วงพีกแล้วหรือยัง

เพราะในแง่ความนิยม กราฟของพวกเขายังเป็นขาขึ้นอยู่ และอาจจะขึ้นไปมากกว่านี้ได้ในอัลบั้มต่อๆ ไป


2.โปรดักชั่นของคอนเสิร์ตที่อลังการงานสร้าง

อย่างที่บอกว่าออกแบบมาเพื่อแสดงในสเตเดี้ยมขนาดใหญ่ โปรดักชั่นประกอบด้วยเวที 3 เวที คือเวทีหลัก 1 และเวทีย่อยอีก 2 ประกอบกับแสง สี เสียง พลุ โมชั่นกราฟิกตระการตา ออกแบบมาอย่างพิถีพิถันใส่ใจรายละเอียด

ครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ของคอนเสิร์ตบอกว่า

“การออกแบบเวทีที่ไม่มีหลังคาทำให้เรามีพื้นที่กว้างขวางและไม่มีข้อจำกัดใดๆ นักร้องสามารถจ้องมองดวงดาวได้เลย ถึงแม้มีข้อกังวลถกเถียงกันเกี่ยวกับความยากและอุปสรรคในการออกแบบเวทีกลางแจ้ง แต่เราเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีศักยภาพเหมาะสมที่สุดกับโปรดักชั่นที่เราออกแบบ”

นอกจากนั้น ยังมีรายละเอียดที่ดูเหมือนจะเล็กน้อยแต่สำคัญคือ การแจกริสแบนด์เฉพาะของวงที่เรียกว่า “Xyloband” ให้ผู้ชมทุกคนใส่ขณะชมคอนเสิร์ต

ซึ่งเจ้าริสแบนด์ตัวนี้จะรับสัญญาณและส่องแสงไฟสีต่างๆ ตามที่ทีมออกแบบได้ออกแบบไว้ว่าอยากให้เพลงไหนได้ภาพออกมาในโทนสีไหน

 

3.จำนวนคนดูมหาศาล ซึ่งก็สัมพันธ์กับชื่อเสียงความโด่งดังของวง และจากการออกแบบการแสดงในสเตเดี้ยม บ่งบอกว่าอย่างน้อยๆ ก็ต้องมีคนดูรอบละ 4 หมื่นคน อย่างในบ้านเรามีคนดูมากถึง 6 หมื่นกว่าคน

โคลด์เพลย์มีแฟนเพลงมากขนาดนั้นเชียวหรือ? คนดูมากมายขนาดนั้นมาจากไหน?

ถ้าวัดความเป็นแฟนเพลงจากการติดตามฟังเพลง ซื้อเพลงหรืออุดหนุนศิลปินอย่างจริงจัง แฟนโคลด์เพลย์ก็ไม่มากถึงขนาดนั้นหรอก

แต่ในกรณีนี้ต้องมองอย่างละเอียดอ่อนกว่าคำว่า “แฟนเพลง” เพราะแต่ละศิลปินมีธรรมชาติไม่เหมือนกัน

บางศิลปินจะได้ใจแฟนตัวจริงของตัวเองเท่านั้น คนอื่นเข้าไม่ถึง

ขณะที่บางศิลปินมีความแมส เป็นคนของมหาชน ต่อให้ไม่ใช่แฟนก็เข้าถึงและอยากเข้าไปมีประสบการณ์ร่วม ซึ่งโคลด์เพลย์เป็นแบบหลัง

เพลงของโคลด์เพลย์ฟังง่าย เข้าถึงง่าย ใครฟังก็ได้ จึงมีคนมากมายที่ไม่ได้เป็นแฟนโคลด์เพลย์ แต่ฟังโคลด์เพลย์ มีคนมากมายที่ไม่ใช่นักฟังเพลง แต่ชอบฟังเพลงโคลด์เพลย์ มีคนมากมายที่ไม่ได้เป็นนักดูคอนเสิร์ตตัวยง แต่เมื่ออยากดูคอนเสิร์ตสักครั้งจึงเลือกคอนเสิร์ตโคลด์เพลย์ เพราะคำร่ำลือว่าคุ้มค่าน่าดู หรือเหตุผลอื่นๆ

แต่แน่นอนว่าในคอนเสิร์ตโคลด์เพลย์ก็ย่อมมีคนที่เป็นแฟนตัวจริงของโคลด์เพลย์อยู่มากมายพอกัน

ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแฟนเพลงชาวต่างชาติที่อยู่ในเมืองไทย และมีแฟนเพลงจากประเทศเพื่อนบ้านที่มาเพื่อดูคอนเสิร์ตนี้โดยตรง


4.โคลด์เพลย์เป็นศิลปินที่ใครๆ ก็รัก ทั้งเพื่อนฝูงคนในวงการ ทั้งสื่อมวลชน

ในแง่ตัวบุคคลพวกเขาเป็นคนดี วางตัวดี ไม่มีข่าวเสียหาย ข้อนี้อาจจะเป็นเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนักมากเท่า 3 ข้อก่อนหน้า แต่ก็มีส่วนที่ทำให้โคลด์เพลย์ได้รับการสนับสนุนจากสื่อมวลชนไปในทางบวกเสมอมา

นั่นคือเหตุผลส่วนหนึ่งที่พอจะบอกได้ว่าทำไมคอนเสิร์ตนี้ถึงได้เป็นที่ร่ำลือว่ายิ่งใหญ่นักหนา

ในคอนเสิร์ตวันนั้น โคลด์เพลย์จัดเพลงเด่นเพลงดังมาแสดงให้ผู้ชมได้ดูถึง 23 เพลง

โดยรวมพวกเขาแสดงดีในมาตรฐานวงระดับโลก มีความซึ้ง ความเศร้า ความสนุก

แต่ในส่วนความสนุกยังน้อยไปหน่อยถ้าเอาไปเทียบกับคอนเสิร์ตศิลปินอื่นๆ ในระดับใกล้เคียงกัน

คอนเสิร์ตของโคลด์เพลย์ไม่มีเพลงที่เข้าขั้น “มัน” ชวนกระโดดสุดเหวี่ยง

ซึ่งก็เข้าใจได้ ไม่ใช่ว่าวงบกพร่องในการแสดง แต่เพราะสไตล์ดนตรีของโคลด์เพลย์ไม่จัดจ้าน ไม่มันอยู่แล้ว

พวกเขาจึงชดเชยด้วยเพลงช้าฮิตๆ ที่ได้ใจคนดูทุกเพลง

และทำโชว์ให้สนุกในหลายๆ เพลงที่ตัวเพลงสนุกพอจะทำได้

 

ความพยายามของโคลด์เพลย์ที่จะทำโชว์ให้สนุกมากขึ้น เห็นได้จากอัลบั้มหลังๆ ที่พวกเขาเติมเสียงอิเล็กทรอนิกส์ เติมสีสันดนตรีแบบอื่นๆ เข้าไปในเพลงมากขึ้นเพื่อให้เพลงออกมาสนุก

ต่างจากเพลงในยุคแรกของวง อย่างอัลบั้มล่าสุดที่เห็นได้ชัดว่าคัลเลอร์ฟูลมากๆ ซึ่งในตอนที่อัลบั้มออกมา แฟนๆ ส่วนหนึ่งก็มีคำถามว่า ทำไมโคลด์เพลย์เป็นอย่างนั้นไปแล้ว? … อยากได้ยินเพลงแบบเดิมๆ

การแสดงสดครั้งนี้จึงตอบคำถามแฟนเพลงเก่าๆ ว่า เพลงใหม่ๆ ที่ห่างจากความเป็นโคลด์เพลย์แบบเดิมนี่แหละที่ทำให้คอนเสิร์ตนี้มีสีสันและเป็นความสนุกของโชว์

ไม่ว่าจะเป็นเพลง “Adventure of a Lifetime” “Hymn For The Weekend” “A Head Full of Dreams” รวมถึง “Something Just Like This” ที่ทำร่วมกับศิลปินอื่น

ถ้าโคลด์เพลย์ทำแต่เพลงในสไตล์เดิมอย่าง “In My Place” “The Scientist” “Fix You” แบบ 3 อัลบั้มแรก เวลาเล่นคอนเสิร์ตคงไม่คึกคัก มีหวังทำคนดูง่วงแน่ๆ

คอนเสิร์ตใหญ่ๆ อย่างนี้ การที่มันจะเกิดขึ้นได้ ต้องถูกจังหวะเวลาพร้อมกันหมด

ศิลปินมีเพลงเยอะพอ ชื่อเสียงความโด่งดังพอที่จะทำโชว์ใหญ่ๆ คนจัดพร้อม คนดูพร้อม นานๆ มันเกิดขึ้นที จึงเป็นที่ฮือฮา ถูกพูดถึง

ไม่ใช่แค่ “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” แต่เป็นถึง “ทอล์ก ออฟ เดอะ เวิลด์”