วิเคราะห์ : “คลื่นความร้อน” ภัยคุกคามที่กำลังเป็นความปกติใหม่

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ช่วงเวลานี้บ้านเราเข้าสู่ฤดูฝนเต็มรูปแบบแล้วจึงชุ่มฉ่ำไปด้วยสายฝน กรมอุตุฯ บอกว่า ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน จะเกิดฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะทางภาคใต้คลื่นลมแรง ขอให้เฝ้าระวังอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน

แต่ในสหรัฐอเมริกา คนอเมริกันราว 270 ล้านคน หรือ 84 เปอร์เซ็นต์กำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนที่แผ่ซ่านปกคลุมในบริเวณมิดเวสต์ของสหรัฐ แถบรัฐอิลลินอยส์ โอไฮโอและฝั่งตะวันออก ครอบคลุมไปถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

จากนั้นคลื่นความร้อนแผ่ขยายลงมายังรัฐแคนซัส เท็กซัส อาร์คันซอส์และลุยเซียนา อุณหภูมิทะลุ 40 องศาเซลเซียส

ที่ยุโรป คลื่นความร้อนแผ่ซ่านในหลายประเทศ เช่น เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี มีการพยากรณ์ว่าอุณหภูมิจะสูงถึง 42.6 ํc

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์คลื่นความร้อนในแถบไซบีเรียของประเทศรัสเซีย นักวิทยาศาสตร์พบว่าคลื่นความร้อนแผ่ซ่านกินเวลานานทำให้เกิดไฟป่าเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าตัวในช่วงเวลาเพียง 1 สัปดาห์

ภาพถ่ายทางอากาศของหน่วยงานจัดการไฟป่าของรัสเซียประเมินว่าไฟป่าเผาพื้นที่กว่า 7 ล้านไร่

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา อุณหภูมิเพิ่มสูงถึง 38 ํc ถือว่าเป็นวันที่เกิดคลื่นความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดในแถบขั้วโลกเหนือ

 

นักวิจัยในออสเตรเลียศึกษาเรื่องคลื่นความร้อนเปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกเผชิญหน้ากับการคุกคามของคลื่นความร้อนซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ละครั้งกินเวลานานและร้อนระอุสูงขึ้นกว่าในอดีตมาก

การศึกษาวิจัยดังกล่าวย้อนกลับไปดูสถิติอุณหภูมิของโลกในอดีตตั้งแต่ปี 2493 เป็นต้นมา ไม่มีที่ใดในโลกมีอุณหภูมิลดลงเลย ตรงกันข้าม คลื่นความร้อนกลับแผ่ซ่านขึ้นจนน่าตกใจเพราะเกิดผลกระทบต่อชาวโลกมากขึ้นส่งสัญญาณให้เห็นว่าจะนำไปสู่วิกฤตการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศ

ดร.ซาราห์ เพอร์กิน เคิร์กแพทริก แห่งศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศแห่งออสเตรเลีย บอกว่าตลอดช่วงระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมานี้ เราไม่เพียงเห็นคลื่นความร้อนเกิดในทั่วโลกมากขึ้น กินเวลานานขึ้น

หากยังเห็นแนวโน้มเกิดขึ้นในอัตราเร่งที่สูงขึ้นอีกด้วย

 

อย่างที่ทราบกันดีว่า คลื่นความร้อนมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชาวโลกในทางลบ ผู้คนจะอยู่ไม่สุขสบาย เดินออกไปไหนมาไหนก็เจอแดดร้อนแผดเผาจนรู้สึกแสบผิว ความร้อนขับให้เหงื่อไหลเยิ้มทะลักชุ่มไปทั่วตัวแม้จะนั่งอยู่เฉยๆ ในบ้าน

คลื่นความร้อนคุกคามสุขภาพชาวโลก ในหลายๆ ครั้งมีผู้คนสังเวยชีวิตเพราะอุณหภูมิร้อนจัดจนร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

คลื่นความร้อนยังมีผลต่อการทำเกษตรโดยตรง พืชไร่เจอแดดร้อนจัดจนใบไม้ ดอกผลไหม้เกรียม และยังทำให้เกิดไฟป่าอย่างรุนแรง

ผลการศึกษายังพบข้อมูลว่า เหตุการณ์คลื่นความร้อนเกิดรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับมาตั้งแต่ปี 2543

ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงแต่ละทศวรรษนั้นอยู่ที่ 1-4.5 องศาเซลเซียส แต่ในบางภูมิภาค เช่น ตะวันออกกลางหรือในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้บางส่วน มีแนวโน้มอุณภูมิเพิ่มสูงขึ้นถึง 10 ํc ในช่วงหนึ่งทศวรรษ (ดูกราฟิกประกอบ)

ช่วงระหว่างปี 2493-2560 พบข้อมูลการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่แถบเมดิเตอร์เรเนียนอย่างชัดเจน คลื่นความร้อนแผ่กว้างครอบคลุมพื้นที่ในแต่ละทศวรรษและระยะเวลาเกิดคลื่นความร้อนใน 1 ทศวรรษยาวนานขึ้นถึง 2 วัน

เมื่อประมวลผลช่วงระหว่างปี 2523-2560 พบคลื่นความร้อนเกิดขึ้นเฉลี่ย 6.4 วัน

แนวโน้มคลื่นความร้อนเกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาคมีความแปรผันต่างกัน คลื่นความร้อนที่แปรผันอย่างรวดเร็วอยู่ในพื้นที่แถบป่าอเมซอน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล ภูมิภาคเอเชียตะวันตกและแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่ออสเตรเลียใต้ และบริเวณทวีปเอเชียตอนเหนือนั้น มีคลื่นความร้อนเกิดขึ้นแต่ครอบคลุมพื้นที่ไม่กว้างมากนัก

 

โดยสรุปภาพรวมแล้ว แนวโน้มทั่วโลกจะเผชิญกับวิกฤตการณ์คลื่นความร้อนซึ่งจะทำให้พื้นที่นั้นๆ มีอุณหภูมิร้อนจัดอย่างสุดขีด

จนส่งผลต่อสุขภาพของผู้คน ภาคเกษตรกรรม และภาคพลังงานโดยเฉพาะน้ำและไฟฟ้า

จะต้องมีแผนรองรับให้พร้อม

เพราะคลื่นความร้อนจะเป็น “ความปกติใหม่” ของโลก