วางบิล/ เรืองชัยทรัพย์นิรันดร์ / คือประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

คือประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา

แล้วโรงเรียน ส.ส.เกิดอุบัติเหตุจนได้ เมื่อสมาชิก-นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม (ครับ ชื่อ “ครูมานิตย์” เนื่องจากในอดีตชื่อ “มานิตย์” แต่เป็น “ครู” เมื่อพ้นจากความเป็นครู พรรคพวก ประชาชนยังเรียกว่า “ครูมานิตย์” จึงเปลี่ยนชื่อเติม “ครู” ไว้ข้างหน้าเป็น “ครูมานิตย์” หมดเรื่อง) จังหวัดสุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ให้นับองค์ประชุมก่อน “รับทราบ” รายงานความคืบหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ

การ “รับทราบ” เสนอให้รับรู้ – รับทราบไว้เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ “เสียง” ครบหรือไม่ครบองค์ก็ได้

แต่เมื่อสมาชิกเสนอให้นับองค์ประชุมเพื่อ “รับทราบ” ประธานสภาผู้แทนราษฎรจำเป็นต้องเรียกให้สมาชิกที่อยู่นอกห้องประชุมเข้ามาในห้องเพื่อ “รับทราบ” ครบองค์ประชุม

เพราะการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ว่ากรณีใด สมาชิกภายในห้องประชุมต้องมีครบองค์ตลอดเวลา หรือเมื่อเรียกให้ลงมติแม้อยู่นอกห้องไม่ว่ากรณีใด ต้องพร้อมจะกลับเข้าห้องประชุม เผื่อจะมีการลงมติเรื่องใดเรื่องหนึ่งกะทันหัน แม้ญัตติให้ตรวจองค์ประชุมเพื่อ “รับทราบ” ก็ตาม

ปรากฏว่าผลองค์ประชุมมีเพียง 231 เสียง ไม่ครบ 244 เสียง จาก 487 เสียง ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชวน หลีกภัย ต้องสั่งปิดประชุมทันที

เป็นกรณีทดสอบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพร้อมปฏิบัติหน้าที่ในห้องประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตลอดเวลาหรือไม่ เพราะหากเป็นญัตติสำคัญของรัฐบาล แล้วสมาชิกฝ่ายรัฐบาลชะล่าใจ คิดว่าถึงอย่างไร จำนวนผู้เข้าประชุมหรือนั่งอยู่ในที่ประชุมของรัฐบาลคงครบองค์ประชุม จึงประมาท ออกไปไหนต่อไหนตามอำเภอใจ มิได้อยู่ในบริเวณรัฐสภาพร้อมจะเข้าห้องประชุมทันทีเมื่อได้ยินเสียง “ออด” เรียก

ด้วยเหตุนี้ ภาระหน้าที่ของ “วิป” ฝ่ายรัฐบาลต้องคอยนับองค์ประชุมตลอดเวลา ยิ่งขณะที่มีการอภิปรายวาระสำคัญซึ่งเป็นญัตติของรัฐบาล

 

กรณีนี้เคยเกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว เช่นกรณีนานมาแล้ว ครั้งหนึ่งสภาเสนอขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง ปรากฏว่าสมาชิกจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย เนื่องจากจะสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน หรือประชาชนไม่พอใจได้ ในจำนวนนั้น มีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธ์ ปราโมช คนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย รัฐบาลถึงกับต้องยุบสภา

เพราะเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร คือฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล ยิ่งเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ยิ่งต้องระมัดระวังเสียงในแต่ละญัตติที่ไม่ขัดกับความคิดเห็นของสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล “วิป” รัฐบาลจึงต้องคอยระวังอย่าให้เกิดกรณีขัดแย้งขึ้นในฝ่ายรัฐบาลได้

สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกของแต่ละพรรคการเมืองมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทั้งสมาชิกจากคะแนนเลือกตั้งและสมาชิกแบบบัญชีรายชื่อ พรรคใดมีคะแนนเสียงมาก แม้เป็นรัฐบาลผสม แม้ตัวรัฐบาลเองจะมีเสียงมากกว่าพรรคอื่น แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่ง ต้องมีเสียงจากพรรคอื่นมาเสริม

ดังนั้น พรรคร่วมรัฐบาลจึงมีความสำคัญที่รัฐบาลต้องดูแลเอาใจใส่ อย่าให้ต้องอยู่อย่างอ้างว้างเดียวดาย เพราะหากพรรคร่วมรัฐบาลไม่ว่าพรรคใดพรรคหนึ่งเห็นว่า

พรรครัฐบาล หรือตัวรัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของพรรคตนเมื่อใด เมื่อเอยก็เมื่อนั้น มีสิทธิเกิดเรื่องได้ทันที

 

ระบอบประชาธิปไตย ส่วนที่สำคัญคือระบบการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งอย่างไร เพราะผู้ที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคือประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียง ทั้งที่เป็นสมาชิกพรรคนั้น ผู้มิได้เป็นสมาชิกพรรคนั้น หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคใด หากมีสิทธิตามกฎหมาย ย่อมคือผู้มีสิทธิและใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญกำหนดในหมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50(7) ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ

ส่วนที่ 2 สภาผู้แทนราษฎร มาตรา 85 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงเป็นทั้งหน้าที่ในการใช้สิทธิโดยตรงและลับ

การมีหน้าที่ไปใช้สิทธิย่อมมีโทษหากไม่ไปทำหน้าที่ คือการตัดสิทธิบางประการตามกฎหมายบัญญัติ

ดังนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงมีความสำคัญต่อราษฎรที่ลงคะแนนเลือกตั้งให้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญกำหนด การประชุมสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นหน้าที่ของผู้แทนราษฎรเพื่อแสดงความคิดเห็นและมีมติในการออกกฎหมาย ยกเลิกกฎหมาย แก้ไขกฎหมาย รวมถึงนำเสนอนโยบายสำคัญเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน

เพราะรัฐธรรมนูญของประเทศไทยกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งจึงต้องพิจารณานโยบายของพรรคการเมืองนั้นให้ถ่องแท้ว่ามีนโยบายประการใดที่ต้องตรงกับแนวทางของตัวเอง และเป็นไปตามที่ประชาชนต้องการ

ดังนั้น ในการหาเสียงเลือกตั้งทั้งของพรรคการเมืองนั้นและผู้สมัครรับเลือกตั้งจึงต้องสอดคล้องต้องกัน

 

ขณะที่เมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลง พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายไว้อย่างไร เป็นที่ถูกใจพอใจของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมากน้อยเพียงใด

เมื่อพรรคการเมืองนั้นได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง หากมากพอจัดตั้งพรรคการเมืองได้ในพรรคเดียว ดังเคยปรากฏครั้งหนึ่งของการเลือกตั้งไทย ทำให้พรรคนั้นมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว แม้ว่าจำเป็น ต้องนำบางพรรคเข้าร่วมรัฐบาล แต่ไม่เป็นอุปสรรคในการนำนโยบายที่หาเสียงไว้ไปเป็นนโยบายรัฐบาล

ทั้งยังทำให้รัฐบาลนั้นใช้นโยบายที่นำเสนอในการหาเสียงเลือกตั้งมาปฏิบัติหน้าที่หลายนโยบายเป็นที่พอใจและถูกใจประชาชนโดยส่วนรวม

ปัญหาสำคัญที่รัฐบาลพรรคเดียวหรือแม้จะผสมกับพรรคเล็กบางพรรค คือผู้เข้าไปเป็นรัฐมนตรีหรือหัวหน้ารัฐบาลมีพฤติกรรมเป็นที่ระแวงแคลงใจทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านนำไป “โจมตี” หรือขุดคุ้ยพฤติกรรมนั้นไปในทางเสียหายต่อประเทศและประชาชนจำนวนหนึ่งได้ เช่นก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และอาจมีเหตุทุจริต

แม้ยังเป็นข้อกินแหนงแคลงใจ แต่เป็นเหตุให้ผู้หวังอำนาจการปกครองบริหารราชการแผ่นดินเคลื่อนไหว และในที่สุด ใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือก่อขบวนการอันไม่พึงประสงค์ต่อระบอบประชาธิปไตยคือเข้ายึดอำนาจการปกครองนั้น

เป็นเหตุให้ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าประเทศไทยจะกลับมาจัดให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยได้ถึงวันนี้