สงครามนางฟ้าประชารัฐ! “บุรุษ” แบ่งก๊ก สะเทือน “สตรี” แบ่งก๊วน

ศึกภายในพรรคพลังประชารัฐ ในยุคชาย-หญิงเท่าเทียมกัน ทำให้มีผู้หญิงที่เข้ามาสู่การเป็น “นักการเมือง” มากขึ้น รวมทั้งมีสัดส่วนเป็น ส.ส.ในสภามากขึ้น โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐถือเป็นพรรคที่มีสัดส่วน ส.ส.หญิงมากที่สุดในสภา อีกทั้งมีบทบาทนำในพรรคไม่น้อยไปกว่าผู้ชาย

ทว่าไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ในพื้นที่ทางการเมืองก็หนีไม่พ้นเรื่องก๊กหรือกลุ่มในพรรค และการได้รับบทบาทสำคัญในการแสดงฝีมือออกมา

ความเคลื่อนไหวของ ส.ส.หญิงพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้โดดเด่นเพียง เอ๋-ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี ที่เป็น ส.ส.เรตติ้งแรงแห่งยุค

แต่ล่าสุดการออกมาเคลื่อนไหวเดินสายของ “มาดามเดียร์-วทันยา วงษ์โอภาสี” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่รวมกลุ่ม “6 ส.ส.ดาวฤกษ์” ล้วนเป็น ส.ส.กรุงเทพฯ ได้แก่ นายศิริพงษ์ รัสมี ส.ส.เขตหนองจอก, นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.เขตคลองเตย-วัฒนา, น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.เขตราชเทวี-พญาไท-จตุจักร, น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.เขตบางกะปิ-วังทองหลาง, น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.เขตดุสิต-บางซื่อ ลงพื้นที่กรุงเทพฯ หลายครั้งตั้งแต่ปี 2562

แต่ในห้วงที่พรรคมีปฏิบัติการยึดพรรค “มาดามเดียร์” ยังคงลงพื้นที่กับ 6 ส.ส.ดาวฤกษ์ ตามปกติ

ทำให้ถูกจับตาว่า จะเป็น “การต่อรอง” ตำแหน่งหรือไม่

ซึ่ง “มาดามเดียร์” ก็ได้ปฏิเสธทั้งหมด รวมทั้งกระแสรอยร้าวกับ “บี-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ที่เป็น “เจ้าพ่อนครบาล” ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ดูแล ส.ส.กรุงเทพฯ

“เวลาเจอกับนายพุทธิพงษ์ในสภา เราก็พูดคุยกันตามปกติ ไม่ได้รู้สึกว่ามิตรภาพเปลี่ยนแปลงไป กลุ่ม 6 ส.ส.เป็นเพียงกลุ่มก้อนที่เริ่มต้นมาจากความเป็นเพื่อน ที่มีความคาดหวังจะเป็น ส.ส.ที่ดี ทำเพื่อประชาชน โดยไม่ได้มีความคาดหวังที่จะต่อรองตำแหน่ง” มาดามเดียร์ชี้แจง

แต่กระนั้น กลุ่ม “6 ส.ส.ดาวฤกษ์” ก็ไม่ตกขบวน ประกาศหนุนบิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เช่นกัน

หากย้อนดูรายชื่อกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ พบว่ามีชื่อของขั้ว “เจ้าพ่อนครบาล” อย่าง “บี พุทธิพงษ์” กับ “ตั้น-ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” และ “จั้ม-สกลธี ภัททิยกุล” อยู่ด้วย แต่เป็นที่พูดกันในพรรคว่าสถานการณ์ของ “เจ้าพ่อนครบาล” ไม่ได้ราบเรียบหรือคุม ส.ส.กรุงเทพฯ ได้เป็นเอกภาพเช่นเดิม เพราะ 5 ส.ส.กรุงเทพฯ ก็ไปอยู่ในกลุ่ม ส.ส.ดาวฤกษ์ ของ “มาดามเดียร์”

ซึ่งก็รับกับข่าวที่ว่า “มาดามเดียร์” หนุน “ก๊กสี่กุมาร” ซึ่งก่อนหน้านี้ “มาดามเดียร์” ก็ต้องออกมาปฏิเสธข่าว หลังมีชื่อติดโผไปตั้งพรรคใหม่กับก๊กสี่กุมารชื่อ “พรรคสร้างไทย” ว่า ไม่เป็นความจริง พร้อมชี้แจงว่าตนพูดคุยกับ “อุตตม-สนธิรัตน์” เคยมีการประสานเรื่องงานเพียงครั้งคราวเท่านั้น

ย้อนกลับไปต้นเดือนมิถุนายน 2563 “มาดามเดียร์” นำ 6 ส.ส.ออกแถลงการณ์ขอให้ผู้ใหญ่ในพรรคเลิกขัดแย้ง-แย่งอำนาจ ขอให้มุ่งแก้ไขปัญหาให้ประชาชนแทนด้วย

ทำให้กลุ่ม “ส.ส.ดาวฤกษ์” ยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้น อีกทั้งไปสอดรับกับสิ่งที่ “ก๊กสี่กุมาร” เดินเกม ที่เน้นทำงาน ลอยตัวเหนือความขัดแย้ง อีกทั้งรับกับสิ่งที่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เคยซัดกลับช่วงมีปฏิบัติการยึดพรรคใหม่ๆ ปลายเมษายน 2563 ว่า “ไม่ใช่เวลามาพูดถึงอำนาจ จะเอาอำนาจไปทำอะไร ไม่เข้าใจ”

ข่าวเดิมที่ “มาดามเดียร์” หวังขึ้นเป็นรัฐมนตรี ที่แก้ข่าวไปยังไม่ทันจาง ก็มีข่าวปล่อยไม่จบ จน “มาดามเดียร์” ต้องรีบแจงตัดไฟแต่ต้นลม หลังมีข่าวว่าจะมาเป็น “โฆษกรัฐบาล” แทน “ดร.แหม่ม-นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” เหรัญญิกพรรค พปชร. ที่มีชื่อติดโผเป็นรัฐมนตรี หากมีการปรับ ครม. โดย “มาดามเดียร์” ออกมาปฏิเสธว่า ไม่เป็นความจริง

แต่ยังไม่จบเท่านี้ ยังมีข่าวอีกว่า “มาดามเดียร์” ได้เปลี่ยนชื่อกลุ่มจาก “ดาวฤกษ์” เป็น “สหมิตร” จนมีการนำไปผูกโยงชื่อล้อกับ “สามมิตร” สุดท้ายแล้วเกี่ยวข้องกันหรือไม่ ซึ่ง “มาดามเดียร์” ชี้แจงว่า ไม่มีการเปลี่ยนชื่อ แต่เห็นจากที่สื่อเขียนขึ้นมา และไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับกลุ่มสามมิตร

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ถูกจับตาล่าสุด หลังชื่อ “ดร.แหม่ม” ถูกปั่นเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พปชร. ที่ถูกตีข่าวถึงขั้นแต่งตัวรอเป็นรัฐมนตรี จนมีกระแสยี้เกิดขึ้น เพราะมองว่ามือไม่ถึงและยังไม่เห็นผลงานชิ้นโบแดงของ “ดร.แหม่ม” รวมทั้งการทำหน้าที่โฆษกรัฐบาล 1 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งเรื่องนี้สื่อได้มาถาม “มาดามเดียร์” โดยได้ปฏิเสธตอบ แต่ก็ไม่ได้แสดงท่าทีหนุนหรือค้านอย่างชัดเจน แต่ชี้ว่าต้องมีวัยวุฒิ คุณวุฒิ ประสบการณ์ในการทำงานระดับประเทศหรือระดับท้องถิ่น และจะต้องสื่อสารสร้างความเชื่อมั่นไปยังต่างประเทศได้ เป็นบุคคลที่สร้างศรัทธาให้กับประชาชน

มากันที่ “ดร.แหม่ม” ก็โลว์โปรไฟล์ตัวเอง ทำหน้าที่โฆษกรัฐบาลต่อไป หลังเกิดกระแสยี้เกิดขึ้น ทำให้ต้องมีการชั่งน้ำหนักกันใหม่ รวมทั้งโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีของ พปชร. ที่กรรมการบริหาร พปชร.ชุดใหม่ก็ต่อแถวรอเสียบ

อีกทั้งโควต้าพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ยอมเสีย งานนี้ “ดร.แหม่ม” อาจต้องเป็นโฆษกรัฐบาลเช่นเดิม อีกทั้งที่ผ่านมา ดร.แหม่มได้แผลงอิทธิฤทธิ์ทางการเมืองไว้ไม่น้อย จนถูกวิจารณ์หนักว่า “ลืมคุณคน” หรือไม่ หากย้อนกลับไป “ดร.แหม่ม” เข้าสู่เส้นทางการเมืองโดย “รองนายกฯ สมคิด-ก๊กสี่กุมาร” จากนั้น “ดร.แหม่ม” ก็ปรากฏกายข้าง “ผู้กองมนัส-ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ในฐานะประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งภาคเหนือ พปชร. ในการลงพื้นที่ภาคเหนือในขณะนั้น ก่อนจะมาปรากฏกายข้าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ช่วงเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร.อยู่บ่อยครั้ง จนเป็นกลายเป็น “โฆษก” ประจำ “บิ๊กป้อม” อีกคน

ทั้งนี้ “ดร.แหม่ม” เป็น “ผู้หญิงคนเดียว” ที่อยู่ในภาพถ่ายในการไปเทียบเชิญ พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพลังประชารัฐ ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ เรียกได้ว่า “ดร.แหม่ม” เดินเลียบค่ายป่ารอยต่อฯ

มากันอีกคู่ในการชิงเป็น “โฆษกพลังประชารัฐ” คนใหม่ หลัง “แด๊ก-ธนกร วังบุญคงชนะ” ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ที่พ้นไปตามวิถีหลัง “ก๊กสี่กุมาร” หลุด กก.บห.ชุดใหม่

ในห้วงแรกมีชื่อ 2 คน ได้แก่ “ดร.ส้ม-พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์” ส.ส.กทม. ที่อยู่ในสายของ “พุทธิพงษ์-ณัฏฐพล” อีกชื่อคือ “อ้น-ทิพานัน ศิริชนะ” รองโฆษกพรรค ที่เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ มาก่อน ซึ่งได้รับการชักชวนมาลง ส.ส.กรุงเทพฯ โดย “กลุ่มเจ้าพ่อนครบาล” ของ พปชร. แต่ในช่วงระยะหลังมาก็ห่างเหินกันไป

แม้ว่าหลายคนคุ้นชินชื่อ “อ้น ทิพานัน” มากกว่าเพราะผ่านงานโฆษกมาก่อน อีกทั้งเรียนจบกฎหมาย ปริญญาโทสาขาวิชากฎหมายธุรกิจ ม.มินนิโซตา สหรัฐ และทำงานด้านกฎหมายมาก่อน 10 ปี มีความเชี่ยวชาญในเรื่องข้อกฎหมาย จึงมีหลายครั้งที่ “อ้น ทิพานัน” ออกมาตอบโต้ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในเรื่องข้อกฎหมาย

ถือเป็น “ไม้เบื่อไม้เมา” กับอดีตพรรคอนาคตใหม่-พรรคก้าวไกล และเป็นลูกสาว ดร.วันชัย ศิริชนะ อดีตปลัดทบวงมหาวิทยาลัย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

แต่แล้วตำแหน่งก็ตกไปเป็นของ “ดร.ส้ม พัชรินทร์” เป็นอดีตผู้เข้าประกวดนางสาวไทยปี 2552 พ่วงตำแหน่ง Miss Intelligent จบปริญญาเอก อาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรมและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เคยผ่านงานในสภามาก่อนในตำแหน่ง “ที่ปรึกษา” ของประธานกรรมาธิการหลายชุด อีกทั้งเคยเป็นคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม เคยทำงานร่วมกับอุตตม สาวนายน และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ช่วงยุครัฐบาล คสช.

ทั้งหมดนี้เป็น “สงครามนางฟ้า” ที่มีบ่อเกิดจากการแบ่งก๊กแบ่งขั้วทางการเมือง แต่โจทย์สำคัญกว่าคือ “ฝีมือ-ความรับผิดชอบ” ของแต่ละ “นางฟ้า” ที่ได้รับมอบหมาย เพราะ “ตำแหน่ง” ไม่ยั่งยืนเท่า “ตำนาน”

สงครามนางฟ้าประชารัฐ!!