คนมองหนัง | อาลัย “เอนนิโอ มอร์ริโคเน” ผู้สร้างสรรค์สรรพเสียงขับกล่อมโลกภาพยนตร์ยุคใหม่

คนมองหนัง

“เอนนิโอ มอร์ริโคเน” นักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ชาวอิตาเลียน ที่ฝากผลงานไว้ในหนังหลากหลายแนว ตั้งแต่หนังสปาเกตตี เวสเทิร์น (เคาบอยอิตาลี), หนังรักโรแมนติก, หนังสยองขวัญ จนถึงหนังไซไฟ ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ณ กรุงโรม ขณะมีวัย 91 ปี หลังจากเขาเพิ่งมีอาการกระดูกต้นขาหักไม่กี่วันก่อนหน้านั้น

มอร์ริโคเนเกิดเมื่อปี 1928 เขาเริ่มเล่นทรัมเป็ตตามรอยบิดาผู้เป็นนักดนตรีแจ๊ซ ก่อนจะแต่งเพลงขนาดสั้นๆ ได้เองตั้งแต่อายุเพียง 6 ขวบ

หลังจบการศึกษาด้านดนตรีคลาสสิค มอร์ริโคเนเริ่มงานด้วยการแต่งดนตรีประกอบให้ละครเวทีและสถานีวิทยุ ในเวลาต่อมา เขาได้ร่วมงานกับศิลปินเพลงป๊อปหลายราย อาทิ พอล แองกา, ฟรองซัวส์ ฮาร์ดี เรื่อยมาถึงเพตชอปบอยส์ แถมยังก้าวข้ามไปทำงานเพลงแนวทดลองด้วย

แต่บทบาทที่ถูกจดจำมากที่สุดของเขา คือ การเป็นนักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ ซึ่งมอร์ริโคเนเริ่มทำงานแขนงนี้ในช่วงกลางทศวรรษ 1950 ด้วยฐานะ “โกสต์ไรเตอร์” ผู้รับจ้างแต่งดนตรีประกอบหนังแบบไร้เครดิต หรือไม่ก็เป็นผู้เรียบเรียงงานของประพันธกรคนอื่นๆ

ทศวรรษ 1960 คือห้วงเวลาแห่งความสำเร็จระลอกแรกของมอร์ริโคเน เมื่อเขาได้ร่วมงานกับอดีตเพื่อนสมัยโรงเรียนประถม ที่เคยวิ่งเล่นด้วยกันตอนอายุ 7 ขวบ (ทว่ามิได้สานก่อมิตรภาพลึกซึ้ง) ผู้มีนามว่า “เซอร์จิโอ เลโอเน”

เลโอเนสร้างชื่อเสียงจากการกำกับภาพยนตร์เคาบอยในแนวสปาเกตตี เวสเทิร์น โดยได้นักแสดงหนุ่มชาวอเมริกันชื่อ “คลินต์ อีสต์วู้ด” มานำแสดง

ผนวกกับเพลงประกอบฝีมือมอร์ริโคเน อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ด้วยเมโลดี้ติดหูจากเสียงผิวปาก เสียงดนตรีคลาสสิค ตลอดจนท่อนโซโล่กีตาร์ ที่ผสมผสานเข้ากับเสียงลั่นกระสุนปืนอย่างเหมาะเจาะลงตัว

หลายคนอาจไม่รู้ว่าสรรพเสียงทรงเสน่ห์ที่ปรากฏอยู่ในหนังเคาบอยอิตาลี นั้นถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาจากข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ ซึ่งบีบให้มอร์ริโคเนจำเป็นต้องเลือกใช้เสียงกีตาร์ไฟฟ้าแทนเครื่องสายหรูหราที่ปรากฏในหนังเคาบอยยุคแรกๆ และต้องพึ่งพาซาวด์เอฟเฟ็กต์ต่างๆ เมื่ออยากจะเว้นวรรค-คั่นจังหวะฉากแอ๊กชั่นรุนแรงในจอภาพยนตร์

เซอร์จิโอ เลโอเน เคยกล่าวถึงความสำคัญของดนตรีประกอบฝีมือมอร์ริโคเนเอาไว้ว่า “ดนตรีเหล่านั้นคือสิ่งจำเป็นที่ขาดเสียมิได้ เพราะว่าในทางปฏิบัติแล้ว หนังของผมแทบจะเป็นภาพยนตร์เงียบ ซึ่งมีบทสนทนาค่อนข้างน้อย ด้วยเหตุนี้ ดนตรีประกอบภาพยนตร์จึงช่วยขับเน้นการกระทำและอารมณ์ความรู้สึกของเหล่าตัวละครได้มากกว่าบทสนทนา”

อีกหนึ่งหลักฐานที่ช่วยยืนยันให้คำพูดดังกล่าวมีความหนักแน่นยิ่งขึ้น ก็คือ การที่เลโอเนมอบหมายให้มอร์ริโคเนไปแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์มาก่อนที่เขาจะออกกองถ่ายทำหนัง เพื่อที่ผู้กำกับฯ ดัง จะได้ดีไซน์มุมกล้องต่างๆ ให้สอดคล้องตามเสียงเพลงประกอบของมิตรสหายยอดนักประพันธ์ดนตรี

ตามทัศนะส่วนตัว มอร์ริโคเนเห็นว่างานที่ดีที่สุดที่เขาเคยทำให้กับเลโอเน คือ ดนตรีประกอบในหนังเรื่อง “Once Upon a Time in America” (1984)

ต่อมา เมื่อนักแสดงนำอย่างอีสต์วู้ดหันไปกำกับหนังเคาบอยของตนเอง มอร์ริโคเนได้ปฏิเสธที่จะแต่งดนตรีประกอบให้ภาพยนตร์เหล่านั้น เพื่อแสดงความภักดีต่อเลโอเน ซึ่งเขาเพิ่งมายอมรับเมื่อ 6 ปีก่อน ว่านั่นถือเป็นการ “พลาดโอกาสครั้งสำคัญ” ในชีวิต

Italian composer Ennio Morricone speaks during a press conference in Taipei on May 29, 2009. Morricone is leading an orchestra to Taiwan and will hold a live concert on May 31 in Taipei. AFP PHOTO / Sam YEH (Photo by SAM YEH / AFP)

หนึ่งในคนทำหนังร่วมสมัยที่ประกาศว่าตนเองได้รับอิทธิพลจากดนตรีของมอร์ริโคเนอย่างไม่มีปิดบัง ก็คือ “เควนติน แทแรนติโน”

และก็เป็นภาพยนตร์เรื่อง “The Hateful Eight” ของทาแรนติโน ที่ส่งให้มอร์ริโคเนได้รับรางวัลออสการ์ สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เป็นหนแรกในชีวิต ขณะมีวัยเกือบ 90 ปี เมื่อปี 2016

หลังเคยชวดรางวัลสาขานี้ในการเข้าชิงออสการ์ 5 ครั้งก่อนหน้านั้น จากภาพยนตร์เรื่อง “Days of Heaven”, “The Mission”, “The Untouchables”, “Bugsy” และ “Malena”

นับเป็นเรื่องตลกร้ายไม่น้อย ที่มอร์ริโคเนได้รับรางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จในวิชาชีพบนเวทีออสการ์ไปตั้งแต่ปี 2007 เท่ากับว่าเขาได้รับรางวัลพิเศษและถูกยกขึ้นหิ้ง ก่อนจะหวนกลับลงมาคว้ารางวัลสามัญในอีก 9 ปีถัดจากนั้น

สายสัมพันธ์ระหว่างนักประพันธ์ดนตรีชาวอิตาเลียนกับวงการภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดจึงคล้ายจะมีความเหินห่างแฝงอยู่ในความชิดใกล้

โดยมอร์ริโคเนมักถูกมองเป็นผู้ที่พยายามธำรงรักษาป้อมปราการทางวัฒนธรรมของยุโรป มิให้ถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมแบบอเมริกัน เห็นได้จากการยืนกรานจะเขียนสกอร์เพลงด้วยลายมือ ไม่ยอมใช้รูปแบบการเขียนโน้ตชนิดใหม่ ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์, การปฏิเสธที่จะเรียนภาษาอังกฤษ

และการเลือกปักหลักอาศัยที่กรุงโรมบ้านเกิด แม้จะมีผู้เสนอแหล่งพำนักพักพิงในฮอลลีวู้ดให้แบบฟรีๆ

นอกจากนี้ แทแรนติโนยังนำผลงานของมอร์ริโคเนไปประกอบในหนังเรื่อง “Kill Bill” และ “Inglourious Basterds” รวมทั้งทาบทามให้นักประพันธ์ดนตรีอาวุโสมาแต่งเพลงนำของภาพยนตร์เรื่อง “Django Unchained”

อีกหนึ่งนักทำหนังคู่บุญของมอร์ริโคเน ก็ได้แก่ “จูเซ็ปเป้ ทอร์นาทอเร” ซึ่งดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Cinema Paradiso” (“เอนนิโอ” ทำงานชิ้นนี้ร่วมกับบุตรชายชื่อ “อันเดรีย มอร์ริโคเน”) และ “The Legend of 1900” เป็นต้น ยังตราตรึงใจผู้ชมอย่างข้ามบริบท เวลา และวัฒนธรรม

ขณะเดียวกัน ดนตรีประกอบภาพยนตร์บางชิ้นของมอร์ริโคเนก็โด่งดังในวงกว้างยิ่งกว่าตัวภาพยนตร์ต้นทางเสียอีก เช่น แม้หนังเรื่อง “Maddalena” (1971) ของผู้กำกับฯ ชาวโปแลนด์ “เยอร์ซี คาวาเลโรวิชซ์” จะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในปัจจุบันแล้ว ทว่าเพลง “Come Maddalena” และ “Chi Mai” ในภาพยนตร์เรื่องนี้ กลับถือเป็นงานยอดนิยมซึ่งข้ามพ้นยุคสมัย

หากจะให้สรุปภาพรวมสั้นๆ ก็คงกล่าวรวบยอดได้ว่า “เอนนิโอ มอร์ริโคเน” คืออัจฉริยศิลปินที่ประพันธ์ดนตรีประกอบให้ภาพยนตร์กว่า 500 เรื่อง ขายผลงานได้มากกว่า 70 ล้านก๊อบปี้ ได้รางวัลออสการ์สองตัว แกรมมี่อวอร์ดส์สี่ตัว และบาฟต้า (ตุ๊กตาทองสหราชอาณาจักร) หกตัว

ทั้งยังทำหน้าที่เป็นวาทยกรกำกับวงออร์เคสตราจนมีวัยขึ้นด้วยเลข 9 ในปี 2019

“ปีเตอร์ แบรดชอว์” นักวิจารณ์จากเดอะการ์เดียน ระบุว่า “เอนนิโอ มอร์ริโคเน” คือบรรพบุรุษผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยุคใหม่

สำหรับแบรดชอว์ ประพันธกรผู้สร้างสรรค์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ชั้นยอด จะต้องทำงานให้ได้ในสามระดับ

เบื้องต้นสุด ดนตรีของเขาต้องทำให้ภาพยนตร์มีพื้นผิวที่ลึกซึ้งละเอียดลออยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ชมจะสัมผัสความลุ่มลึกดังกล่าวได้ด้วยความรู้สึก มิใช่การได้ยินได้ฟัง

ในขั้นต่อมา ดนตรีของเขาจะต้องสอดประสานไปกับภาพที่โลดแล่นบนจอ โดยบางครั้งอาจจะคล้องจอง บางคราวอาจจะย้อนแย้งถกเถียงกับอารมณ์อันปรากฏชัดในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ

และในระดับสูงสุด เขาจะต้องสร้างสรรค์ท่วงทำนองอันเรียบง่ายทว่าติดหูติดปากผู้คน ซึ่งโดดเด่นอยู่เหนือเสียงดนตรีประกอบภาพยนตร์แบบอื่นๆ

ตามทัศนะของนักวิจารณ์ผู้นี้ มอร์ริโคเนสามารถบรรลุขั้นตอนทั้งสามได้โดยครบถ้วน เมื่อพิจารณาจากการนำเสียงแปลกๆ พื้นๆ ของฮาร์โมนิกา การผิวปาก กระดิ่งผูกคอวัว กระทั่งการเอื้อนเอ่ยขับขานของมนุษย์ มาสร้างสรรค์เป็นดนตรีประกอบภาพยนตร์อย่างน่าทึ่ง

ขณะที่ “เอ็ดการ์ ไรต์” ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอังกฤษ เขียนข้อความไว้อาลัยมอร์ริโคเนอย่างคมคายว่า “เขาสามารถทำให้หนังดาดๆ กลายเป็นหนังที่ต้องดู ทำให้หนังดีๆ กลายเป็นผลงานศิลปะ และทำให้หนังที่ยอดเยี่ยมกลายเป็นตำนาน”

สําหรับคอหนังในแถบเอเชียรวมถึงเมืองไทย ผลงานและสรรพเสียงท่วงทำนองฝีมือ “เอนนิโอ มอร์ริโคเน” ดูจะมีความสนิทชิดเชื้อกับพวกเราเกินกว่าที่หลายคนคาดคิด

ปรากฏการณ์แรกที่ช่วยพิสูจน์สมมุติฐานข้างต้น คือ การผงาดขึ้นเป็นหนังทำเงินในจีนแผ่นดินใหญ่ของภาพยนตร์เก่าเรื่อง “The Legend of 1900” เมื่อปลายปีที่แล้ว

ปรากฏการณ์ที่สอง ซึ่งช่วยบ่งชี้ความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างมอร์ริโคเนกับประชาคมภาพยนตร์ไทย ก็คือ เมื่อวันที่ 4-5 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีการจัดฉายหนังในวาระที่โรงภาพยนตร์สกาลาแห่งสยามสแควร์ต้องปิดฉากยุติกิจการ

โดยภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของโปรแกรมดังกล่าวก็ได้แก่ “Cinema Paradiso”

เพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังเสียงดนตรีประกอบภาพยนตร์ในหนังอิตาเลียนเรื่องนั้นค่อยๆ เงียบสงัดลง พร้อมกับการปิดไฟอำลาผู้ชมของโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

ยอดนักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์นามอุโฆษก็อำลาจากโลกนี้ด้วยอาการสงบนิ่ง

ข้อมูลจาก

https://www.theguardian.com/music/2020/jul/06/ennio-morricone-dies-aged-91-film-composer-good-bad-ugly

https://www.theguardian.com/film/2020/jul/06/ennio-morricone-a-composer-with-a-thrilling-ability-to-hit-the-emotional-jugular

https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-53305397

https://www.bbc.com/news/entertainment-arts-19626787