อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ทุนไทยใน CMLV กัมพูชา-เมียนมา-ลาว-เวียดนาม อยู่ตรงไหน?

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

CMLV เราหมายถึง ราชอาณาจักรกัมพูชา เมียนมา สปป.ลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ด้วยผลของการสิ้นสุดของสงครามเย็น และด้วยผลของปรับนโยบายของประเทศเหล่านี้ได้แก่ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้ใช้นโยบายโดเมย หรือนโยบายการเปิดประเทศ การใช้กลไกตลาดและการปฏิรูปเศรษฐกิจ

ส่วน สปป.ลาว ก็ใช้นโยบายจินตนาการใหม่ เป็นนโยบายสำคัญในการเปิดประเทศ

ช่วงนั้นราชอาณาจักรกัมพูชาเมื่อสิ้นสุดสงครามกลางเมืองระหว่างเขมรฝ่ายที่ประเทศตะวันตกสนับสนุนและประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนสนับสนุน อันนำมาซึ่งการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1993 โดยการกำกับของกองกำลังสหประชาชาติ

ส่วนเมียนมา การเปิดประเทศ การเลือกตั้งอย่างเสรีโดยการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของพรรคการเมืองมากกว่า 90 พรรคและการใช้กลไกตลาดในการบริหารประเทศเพิ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2010 อันนับว่าเมียนมาเปิดประเทศช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในแถบนี้ แต่ก็ถือว่าเมียนมาเป็นทั้งตลาดการค้าและการลงทุนของหลายประเทศ รวมทั้งไทยด้วย

ปัจจุบันนี้ บทบาทของทุนไทยเป็นอย่างไรและอยู่ในสถานะอะไรในกลุ่มประเทศ CMLV นี้

จากทุนดั้งเดิมสู่ทุนการผลิต

ควรยอมรับความเป็นจริงว่า โครงสร้างเศรษฐกิจของ CMLV หรือจะเรียกว่า อินโดจีนในอดีต หรืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Sub region-GMS) ตามที่ Asian Development Bank-ADB เรียกขานก็ตาม ในระหว่างนั้น ช่วง 3 ทศวรรษคือ ทศวรรษ 1970-1990 โครงสร้างเศรษฐกิจของ CMLV ยังเป็นเศรษฐกิจธรรมชาติที่มีทรัพยากรธรรมชาติได้แก่ ป่าไม้ แร่ธาตุ ประมงและภาคเกษตรเล็กๆ คือการเพาะปลูกข้าวเป็นหลัก

อีกทั้งเจ้าของโครงสร้างเศรษฐกิจนั้นก็คือ รัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลท้องถิ่น และเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลนั้นเอง

ในช่วงยุคอาณานิคมในศตวรรษที่ 19 ผู้ปกครองอาณาจักรขายทรัพยากรธรรมชาติให้ชาติตะวันตกอย่างไร หลังยุคอาณานิคม ผู้นำรัฐชาติก็ขายทรัพยากรธรรมชาติไปอย่างนั้น เพียงแต่ผู้ซื้ออาจเป็นพ่อค้า คนมีอาวุธในชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ในบริเวณนั้น

ในช่วงสงครามเย็น สภาพการณ์ที่คล้ายคลึงกันเช่นนี้ก็ยังดำเนินไป เช่น ผู้นำชนกลุ่มน้อยเมียนมาขายไม้ให้กับทางการจีนในส่วนที่อยู่ติดกับเขตแดนจีน พ่อค้าไทยก็ได้สัมปทานตัดไม้ในเมียนมา ใน สปป.ลาวจากผู้นำชนกลุ่มน้อยที่มีอาวุธเพื่อแลกกับเงินที่จะนำไปซื้ออาวุธมาต่อสู้กับรัฐบาลกลางของตน

สัมปทานประมงในฝั่งเมียนมาที่มีมายาวนานเพราะทรัพยากรสัตว์น้ำในเมียนมาและมหาสมุทรอินเดียมีมากมายเหลือเกิน ก็เป็นกลไกสำคัญของการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างผู้นำชนกลุ่มน้อยกับพ่อค้าไทยซึ่งมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำกองกำลังติดอาวุธฝั่งเมียนมา เป็นต้น

โครงสร้างทางเศรษฐกิจของ CMLV และปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มนายทุนไทย นายทุนจีน นายทุนมาเลย์ยังคงดำเนินมาเช่นนี้เป็นบางส่วนในปัจจุบัน

แต่ทว่า ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่มากกว่า ทักษะการเป็นผู้ประกอบการและการเคลื่อนย้ายการผลิตและการใช้แรงงาน รวมทั้งการสิ้นสุดการต่อสู้ทางอุดมการณ์ได้ค่อยๆ เปลี่ยนโครงสร้างการผลิตและปฏิสัมพันธ์ระหว่างทุน รัฐและแรงงานในภูมิภาคนี้ไปอย่างรวดเร็ว

หลากวาทกรรมการพัฒนาแต่เป้าหมายเดียวกัน

จากฝากฝั่ง CMLV จินตนาการใหม่ของ สปป.ลาว โดเมยของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม การปฏิรูปของประเทศของ ออง ซาน ซูจี เปิดประเทศสู่ภายนอก หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ทำประเทศให้เข้าสู่ระบบทุนนิยม คงทำได้อ่อนแรงนัก หากไม่ได้รับแรงกระแทกจากทุน เงินทุน เครื่องจักร เทคโนโลยี และการลงทุนจากภายนอก ภายใต้วาทกรรมการพัฒนาของผู้นำชาติต่างๆ ในภูมิภาคนี้ได้แก่

อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong sub region) ของเอดีบี (1992)

ระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor)

แปรสนามรบเป็นตลาดการค้า (1988) พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

ACMECS Ayavady Chaopaya Mekong Economic Cooperations (2003) พ.ต.อ. ดร.ทักษิณ ชินวัตร

Japan Mekong Initiative ของรัฐบาลญี่ปุ่น

Korea Mekong Initiative ของรัฐบาลเกาหลี

Lower Mekong Initiative ของสหรัฐอเมริกา

One Belt One Road (OBOR) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน (2013)

Langchang Mekong Cooperation ของสาธารณรัฐประชาชนจีน (12 November 2015)

นั้นหมายความว่า การซื้อมาขายไปเครื่องอุปโภคบริโภคระหว่างพ่อค้าไทยกับพ่อค้าในประเทศเพื่อนบ้านในตอนสงครามและตอนสิ้นสงครามค่อยๆ หมดไป มีการพัฒนาด่านชายแดนถาวรระหว่างกัน การค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมา สปป.ลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา มาเลเซียเกิดขึ้น อีกทั้งมีปริมาณสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของคนในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการกระจายสินค้าของไทย แน่นอนบริเวณชายแดนเป็นจุดของเศรษฐกิจมืด (Dark Economy) ได้แก่ บ่อนกาสิโน การค้าแรงงานและการค้ามนุษย์ การลักลอบขนยาเสพติดข้ามชาติอีกด้วย

แต่นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของไทยได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ให้สิทธิพิเศษด้านศุลกากร แรงงานและภาษีมีมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงเริ่มมองเห็นโรงงานผลิตมาม่าในเมืองมัณฑะเลย์ ในเมียนมา โรงงานผลิตชุดชั้นในวาโก้ เสื้อผ้าแอร์โร ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา (Thilawa) ในเมียนมา (1)

เราเห็นมานานแล้วว่า สปป.ลาวเป็นแหล่งพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำของไทย เมียนมาเป็นแหล่งพลังงานน้ำมันและก๊าซของไทย การลงทุนของภาคบริการได้แก่ กิจการโรงแรม ห้างสรรพสินค้าในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามยังเกิดขึ้น

CMLV มิได้เป็นฐานทรัพยากรธรรมชาติดังในอดีตของไทย ปัจจุบัน CMLV เป็นที่มาของแรงงาน เป็นตลาดที่กำลังเติบโต มีคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้บริโภค อีกทั้งยังมีการพัฒนาและก่อสร้างบ้านเรือนอีกมาก เพียงแต่ว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและยงยืน (ตามภาษาลาว) หรือไม่

เพื่อนบ้านและบริบทได้เปลี่ยนไปแล้ว

 

(1)”แผนลงทุนสหพัฒน์” ประชาชาติธุรกิจ 20-22 กุมภาพันธ์ 2560 : 17-18.