คุยกับ “เนติวิทย์” “คนรุ่นใหม่” ต้องลงถนน ดอกผล “ปชต.” ที่บ่มเพาะมา 88 ปี กำลังจะงอกงาม

แม้จะถูกปลดจากตำแหน่งประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปเมื่อปี 2560 แต่นั่นไม่ได้ทำให้ชื่อของ “เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล” หลุดออกจากวงจรการเมือง ทั้งภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและการเคลื่อนไหวระดับชาติ

มาถึงปีนี้ เนติวิทย์หวนคืนสู่การดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้ง หลังได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ฯ

เราจึงถือโอกาสนี้ชวนเขามาพูดคุยถึงเรื่องราวทั้งในและนอกรั้วสถาบันการศึกษา

: สิ่งที่ตั้งใจจะทำในฐานะนายกสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ตอนนี้ผมเพิ่งได้รับตำแหน่งมาประมาณสัปดาห์เศษ (สัมภาษณ์ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2563) เพราะว่าวาระเริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563

ก็มีความคาดหวังมาก เพราะว่าที่ผ่านมาเคยได้เป็นประธานสภานิสิต แต่เป็นได้แค่ 2 เดือน ก็ถูกปลดออก ฉะนั้น ตอนนี้ก็อยากจะพยายามทำงานให้เต็มที่

อย่างล่าสุด เราก็ออกแถลงการณ์จากกรณีคุณวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกอุ้มหายไป แล้วเราก็ยังจะมีโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โครงการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างคณะต่างๆ แล้วก็ความผูกพันระหว่างสิงห์ดำ นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะทำให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น

: ระหว่างเนติวิทย์ที่เป็นประธานสภา กับเนติวิทย์นายกสโมสร มีการเติบโตหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ในส่วนของผมเองก็คิดว่ามันมีหลายอย่างที่เราทำได้ ถ้าเราเข้ามาตรงนี้ แต่มันก็อาจจะต้องพยายามเข้าใจคนอื่นมากขึ้น เข้าใจมุมมองแตกต่างของคนอื่นมากขึ้น แต่ก็โชคดีเหมือนกัน ที่ผมไม่ต้องปรับตัวเข้าหาระบบ 100% เพราะว่าสังคมไทยเองก็ตื่นตัวมากขึ้น

คนรุ่นใหม่ตอนนี้ก็เหมือนที่เห็น เมื่อสองปีที่แล้วกับตอนนี้มันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลย คนตื่นตัวกับเรื่องการเมือง การเมืองกลายเป็นเรื่องปกติ สองปีที่แล้วผมเรียกร้องให้นายกสโมสร หรือคนมีชื่อเสียงออกมาใส่ใจเรื่องสังคม ผมก็จะถูกด่าว่าสิ่งที่ผมทำ มันเป็นการทำให้เขาเดือดร้อน

แต่ตอนนี้ก็คือคนเข้าใจตรงนี้แล้ว เราไม่จำเป็นต้องพูด เขาก็เข้าใจว่าสังคมนี้มันเป็นสังคมของพวกเรา มันก็เปลี่ยนไปในเชิงที่ดีขึ้น ส่วนตัวผมก็สามารถจะสื่อสารทำงานได้ง่ายขึ้น

: มองสถานการณ์การเมืองไทยวันนี้เป็นอย่างไร

สถานการณ์ตอนนี้ก็ค่อนข้างอยู่ในความทุกข์ยากของคน ที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าเราทุกคนจะดูมีอำนาจผ่านโซเชียลมีเดีย สามารถพิมพ์แสดงความคิดเห็นได้มาก แต่ขณะเดียวกัน เมื่อเราลองมองลงมาข้างล่าง เราก็จะเห็นความทุกข์ยากของประชาชนเต็มไปหมด

แม้กระทั่งนักศึกษาเองก็ได้รับผลกระทบ ตอนนี้ พ่อ-แม่ ผู้ปกครองหลายคนได้รับผลกระทบอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หลายคนเชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นแหล่งการท่องเที่ยวซึ่งอยู่รอดได้ แต่เราก็เห็นแล้วว่ามันไปไม่ได้ เมื่อระบบเศรษฐกิจและการเมืองของเราเป็นแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้

อันนี้คือสิ่งที่เห็นเต็มไปหมด คนรุ่นใหม่รู้สึกมีอำนาจในการพิมพ์ ในการแสดงความเห็น ในการแสดงออก แต่เมื่อเขามองกลับมาในโลกของความเป็นจริง ลองมองออกมาข้างล่าง เขาจะเห็นว่าเขาแทบไม่มีอะไรเลย เขาไม่มีฐานอะไรเลย เขาไม่มีความมั่นคงอะไรเลย

นี่คือสภาพการเมืองตอนนี้ ที่คนรู้สึกขาดความมั่นคงในชีวิตแทบทุกด้าน รัฐบาลบริหารงานล้มเหลวแทบทุกด้าน

: คุณเป็นคนหนึ่งที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากฝ่ายความมั่นคง เป็นเพราะอะไร

จริงๆ โดยส่วนตัวผมก็ไม่ได้มีบทบาทสำคัญอะไรที่จะให้เขามาจับตาขนาดนั้น แต่นั่นเราก็เห็นถึงความกลัว ความกลัวของผู้มีอำนาจทุกคน

เราต้องเข้าใจนะ ตอนที่ผมโดนจับตานี่คือเมื่อสองปีที่แล้ว ตอนนั้นมันมีไม่กี่คน (ที่เคลื่อนไหว) แต่ไม่กี่คนสำหรับฝ่ายผู้มีอำนาจ มันก็อาจจะจุดประกายให้คนตั้งคำถามกับพวกเขาได้ ฉะนั้น เขาก็กลัว

แต่ตอนนี้เขากำลังรับศึกหนักกว่า คือคนมันตื่นตัวมากมายกว่าสมัยนั้น ดังนั้น ตอนนี้ถ้าพูดจริงๆ ผมก็คงไม่ได้เป็นเป้าอะไรมาก แต่กลายเป็นว่าเป้าของเขาคือประชาชนธรรมดาทั่วไปที่กำลังตื่นตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

: มองพลังในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนิสิตนักศึกษาปัจจุบันอย่างไร

ยังจะต้องเติบโตต่อไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าต้องอาศัยบทเรียนจากในอดีต พยายามดูว่าในอดีตเขาเคลื่อนไหวกันอย่างไร เขาล้มเหลวกันอย่างไร มากขึ้น แล้วก็จะมีการประสานงานกันแบบเครือข่ายแบบไหน

อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ตอนนี้อาจจะยังไม่ชัดเจน รูปแบบยังไม่ชัดเจน เพราะว่าส่วนใหญ่ก็คือเรายังอยู่ในโลกออนไลน์กันอยู่

จริงๆ ก็เกือบจะจุดติดแล้ว แต่ว่าเพราะเรื่องโควิดเข้ามาก่อน ฉะนั้น ผมว่าเราต้องล้มลุกคลุกคลานเรียนรู้ผิดถูกกันไปสักระยะหนึ่ง อาจจะต้องลงมาปฏิบัติการบนท้องถนนก่อน สักพักหนึ่งก็จะเริ่มปรับตัวถูก เริ่มคุยกันถูกว่าจะไปอย่างไรต่อ แต่สำคัญก็คือต้องคิดเชิงยุทธศาสตร์ให้ได้

: หมายความว่าการเคลื่อนไหวแค่ในโซเชียลมีเดียไม่เพียงพอ

ตอนนี้ทุกคนก็เห็น มันไม่พอ มันต้องออกมาท้องถนน แต่จะออกมายังไง ท้องถนนของผมไม่ได้หมายถึงจะต้องออกมาประท้วงแบบอยู่นาน อยู่แบบที่เคยเห็น

การประท้วงมันมีหลายร้อยวิธี อย่างผมตอนนี้ ผมทำสำนักพิมพ์ ผมก็ได้พิมพ์หนังสือออกมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ “จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย” (“จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย : แผนการสู่อิสรภาพ”) เขาก็ให้รายละเอียดเลย มันมีตั้ง 198 วิธีเป็นอย่างต่ำในการประท้วงเชิงสร้างสรรค์

ดังนั้น เราต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้ด้วย นั่นก็เป็นการประท้วงบนท้องถนน สำหรับผมนะ ที่สังคมไทยต้องเรียนรู้

: ยังมีความหวังว่าไทยจะเป็นประชาธิปไตย

เราสามารถเริ่มเห็นได้ ผมคิดว่าตอนนี้คนรุ่นใหม่ตื่นตัวเยอะ ประชาธิปไตยเราอาจจะไม่ได้ในแบบที่เราคิดกันทันที แบบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญที่ดี ประชาธิปไตยแบบ 100% เหมือนที่เราคาดหวังทันที

แต่ประชาธิปไตยสำหรับผมที่กำลังจะงอกงามขึ้นต่อไปนี้ เป็นประชาธิปไตยในระดับรากหญ้าที่จะเกิดขึ้นในองค์กรต่างๆ

การที่ผู้คนตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ที่เราเคยปฏิบัติมา แล้วก็มีใจกว้างที่จะยอมรับขันติธรรมกับคนที่คิดเห็นแตกต่างกัน อยู่ร่วมกันได้ อันนี้ผมว่าเป็นพื้นฐานสำคัญมาก

และเราจะเห็นโมเดลเล็กๆ เกิดขึ้นทั่วประเทศ ที่พยายามปรับปรุงตัวเอง พยายามทำองค์กรของตัวเอง พยายามทำในภาคส่วนต่างๆ ของตัวเอง ให้เป็นเสรีประชาธิปไตยมากขึ้น

ผมว่า 88 ปีที่ผ่านมา (หลังคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย) มันอาจจะมีความพยายามกีดกันของผู้มีอำนาจ ไม่ให้ประชาชนเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย แต่ตอนนี้มันไปถึงประชาชนแล้วโดยทั่วไป

ดังนั้น นี่คือเบื้องต้นที่เราจะเห็นความตื่นตัวของปัจเจกบุคคลและกลุ่มคนที่พยายามมีอุดมคติประชาธิปไตยและสร้างสรรค์จุดเล็กๆ ของเขาออกมามากมาย เมื่อมันเยอะพอสมควร ซึ่งจากนี้ผมเชื่อว่ามันจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ มันก็จะนำไปสู่ประชาธิปไตยในอุดมคติแบบที่เราอยากเห็น

แต่อันนี้ต้องใช้เวลาบ่มเพาะ ซึ่งเราบ่มเพาะมา 80 กว่าปีแล้ว และมันก็กำลังจะเห็นผลอีกไม่นาน

: อุปสรรคสำคัญคือฝ่ายผู้มีอำนาจพร้อมใช้ความรุนแรงกับประชาชน

เป็นแน่นอน เพราะว่าเป็นการทำให้คนกลัว อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ คือผู้มีอำนาจเขาไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ไม่รู้จะปิดปากยังไง ฉะนั้น การฆ่าคนคือการแสดงออกถึงการใช้อำนาจขั้นรุนแรงที่สุดของพวกเขา เขาไม่มีอะไรอีกแล้ว นอกจากความดิบเถื่อน วาทกรรมอันสวยงามก่อนหน้านี้มันใช้ไม่ได้ผลอีกแล้วกับคน

ดังนั้น ตอนนี้เราก็ต้องรู้เหมือนกันว่าเขาไปถึงจุดนี้แล้ว และเราจะป้องกันอย่างไร จะให้กำลังใจกันอย่างไร แล้วก็ต้องคอยสอดส่องกัน

และการที่เขาทำแบบนี้ มันแสดงให้เห็นว่าตอนนี้มันไม่ใช่แค่นักเคลื่อนไหวที่จะโดน ตอนนี้ประชาชนธรรมดาก็มีสิทธิที่จะถูกอุ้มหาย และอาจจะง่ายกว่าด้วย