โล่เงิน | ฟัน ตร.เพิกเฉยคดี “บอส อยู่วิทยา” วิจารณ์ขรม “ลูบหน้าปะจมูก” เสียงอื้ออึง “คุกมีไว้ขังคนจน”?

สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติชี้มูลความผิด กล่าวหา 7 นายตำรวจ กรณีสอบสวนช่วยเหลือ “บอส” วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ไม่ให้ถูกดำเนินคดีขับรถขณะเมาสุรา ขับรถเร็วเกินกว่าอัตรากฎหมายกำหนด และไม่ออกหมายจับ “วรยุทธ” มาส่งพนักงานอัยการฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาหลบหนี เหตุเกิดเมื่อปี 2555

ประกอบด้วย พล.ต.ต.กฤษฏิ์ เปียแก้ว ผบก.น.5, พ.ต.อ.สุคุณ พรหมายน รอง ผบก.น.5, พ.ต.อ.ไตรเมต อู่ไทย รอง ผบก.น.5, พ.ต.อ.ชุมพล พุ่มพวง ผกก.สน.ทองหล่อ, พ.ต.อ.สัมฤทธิ์ เกตุแย้ม พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ สน.ทองหล่อ, พ.ต.ท.วิบูลย์ ถิ่นวัฒนากูล พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สน.ทองหล่อ และ พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สน.ทองหล่อ (ทั้งหมดเป็นยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

ป.ป.ช. มีมติว่า พฤติการณ์ของทั้งหมด “มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง” ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 78(9)

และให้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยกับนายตำรวจทั้ง 7 ตามฐานความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91(2)

หากยังจำกันได้ เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อเช้ามืด 3 กันยายน 2555 ขณะนั้นบอสอายุ 25 ปี เป็นหนุ่มนักเรียนนอก ทายาทเจ้าของเครื่องดื่มชูกำลัง ควบรถสปอร์ตหรูเฟอร์รารี่ สีบรอนซ์เทา มาด้วยความเร็วพุ่งชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ ป.สน.ทองหล่อ ขณะขี่รถจักรยานยนต์ตราโล่ ยี่ห้อไทเกอร์ ปฏิบัติหน้าที่บริเวณปากซอยสุขุมวิท 47 และลากทั้งคนทั้งรถเป็นระยะทางเกือบ 200 เมตร จน ด.ต.วิเชียรเสียชีวิต ก่อนจะขับรถหลบหนีเข้าบ้านพักภายในซอยสุขุมวิท 53 ทิ้งคราบน้ำมันเครื่องเป็นทางยาวตั้งแต่จุดเกิดเหตุจนถึงบ้านพัก

หลังเกิดเหตุ พ.ต.ท.ปัณณ์ณภณ นามเมือง สวป.สน.ทองหล่อ ซึ่งสนิทสนมกับบ้านหลังนี้ ได้มีความพยายามสับเปลี่ยนตัวผู้ต้องหา โดยได้นำตัวพ่อบ้านออกมาสมอ้างเป็นคนขับรถคันเกิดเหตุ

จนทำให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ในขณะนั้น ที่ขับรถมาตรวจที่เกิดเหตุ ถึงกับปรี๊ดแตก ควันออกหู ยอมไม่ได้ที่ลูกน้องถูกชนเสียชีวิต แต่คนที่เป็นตำรวจด้วยกันกลับพยายามช่วยเหลือคนทำผิด

ถึงกับประกาศกร้าว ขอใช้ตำแหน่งเป็นเดิมพัน ต้องได้คนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย พร้อมกับสั่งย้าย พ.ต.ท.ปัณณ์ณภณให้ไปช่วยราชการที่ บช.น.อย่างไม่มีกำหนด

“ผมไม่พอใจเพราะไปเอาตัวปลอมมามอบตัว ส่วนคนขับรถชนตำรวจตัวจริงยังลอยนวลอยู่ ผมทราบดีว่า สวป.คนดังกล่าวมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยให้กับบ้านของลูกชายเจ้าสัว แต่ทำงานแบบนี้ใช้ไม่ได้” พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าวหลังตรวจสอบบ้านพักหรูของบิดา “บอส”

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ยังประกาศด้วยว่า หากทางฝ่ายคู่กรณียังไม่ยินยอมให้ความร่วมมือ ก็จะกลับมาอีกครั้งพร้อมกับกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 200 นาย และหากยังไม่ได้ตัวอีก จะขอลาออกจากตำแหน่ง เพราะในฐานะผู้บังคับบัญชา ยอมไม่ได้ที่จะปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเสียชีวิตไปฟรีๆ ได้ใจเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนล้อมบ้านอยู่นั้น ต่างปรบมือเกรียวกราว

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายศาลเข้าไปในบ้านอยู่วิทยาได้ ประกอบกับ “บอส” ทนแรงกดดันจากสังคมไม่ไหว จึงออกมามอบตัว พร้อมรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุตัวจริง

แต่การสอบสวนคดีที่ดำเนินไปอย่างล่าช้า เมื่อ “บอส” อ้างว่าติดภารกิจต่างประเทศ และอ้างว่าป่วยหลายครั้ง ทำให้คดีเริ่มเลือนหายจากความสนใจของประชาชน จนหมดอายุความลงเมื่อปี 2556 ได้แก่ ข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย ส่วนข้อหาขับรถขณะเมาสุรา ตำรวจสั่งไม่ฟ้อง เพราะหลักฐานไม่เพียงพอ

ทำให้มีเพียง 2 ข้อหาที่ส่งสำนวนให้อัยการ คือ ข้อหาไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควรกับ ด.ต.วิเชียร หมดอายุความไปตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2560 เหลือเพียงข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อายุความ 15 ปี จำคุกไม่เกิน 10 ปี ซึ่งจะหมดอายุความวันที่ 3 กันยายน 2570 แต่ต้องติดตามตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาลตามคำสั่งฟ้องของอัยการให้ได้

ส่วนตำรวจ 7 นายที่ถูก ป.ป.ช.ฟันความผิดวินัยไม่ร้ายแรงนั้น สังคมต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่ากันว่าลูบหน้าปะจมูกหรือไม่ อีกทั้งในปัจจุบันตำรวจบางรายยังคงมีความก้าวหน้าในชีวิตราชการ และบางรายรับราชการจนเกษียณอายุไปแล้ว

สําหรับรายละเอียด พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 เรื่องความผิดวินัยไม่ร้ายแรง มาตรา 89 ระบุว่า ข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษ ภาคทัณฑ์, ทัณฑกรรม, กักยาม, กักขัง หรือตัดเงินเดือน พ.ศ.2547 ตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด หรือจะงดโทษให้โดยให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือ หรือว่ากล่าวตักเตือนก็ได้

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร.ชี้แจงว่า มีคำสั่งเมื่อ 31 มีนาคม 2563 สั่งลงโทษภาคทัณฑ์ พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รอง ผบช.น., พล.ต.ต.ชุมพล พุ่มพวง ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ, พ.ต.อ.สัมฤทธิ์ เกตุแย้ม รอง ผบก.อัตรากำลังพล, พ.ต.อ.วิบูลย์ ถิ่นวัฒนากูล ผกก. (สอบสวน) บก.น.2

สั่งกักยาม พ.ต.อ.วิลดล ทับทิมดี ผกก. (สอบสวน) บก.จร. มีกำหนด 3 วัน

ส่วน พ.ต.อ.ไตรเมต อู่ไทย และ พล.ต.ต.กฤษฎิ์ เปียแก้ว ที่เกษียณอายุราชการไปแล้วนั้น ได้แยกเรื่องไว้พิจารณาอีกส่วนหนึ่ง

เมื่อผลออกมาเช่นนี้ ทำให้คนติดตามเรื่องราวกว่า 8 ปี เกิดข้อกังขาในกระบวนการยุติธรรม เหตุใดถึงล่าช้า หนำซ้ำทายาทเครื่องดื่มชูกำลังยังคงลอยนวลใช้ชีวิตหรูหราในต่างประเทศ

หากดูผิวเผินแล้วคดีขับรถชนคนตายเป็นคดีที่ไม่มีความซับซ้อนอะไร เหตุใดจึงกลายเป็นคดีที่มีความยืดเยื้อ ช่วยไม่ได้ที่สังคมนึกถึงวลี “คุกมีไว้ขังคนจน”