วิเคราะห์ : ทุบทำลายบ้านไม้ “บอมเบย์เบอร์มา” ความไม่รู้สู่ความผิดพลาดครั้งใหญ่

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

บรรดานักอนุรักษ์เมืองเก่า ผู้หลงใหลในประวัติศาสตร์ ต่างพากันมึนงงกับเหตุการณ์ทุบทิ้งบ้านไม้อายุ 120 ปี ตั้งอยู่ในสวนรุกขชาติเชตะวัน ริมแม่น้ำยม อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ นึกไม่ถึงว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นฝ่ายทำลายเสียเอง

ที่น่างุนงงยิ่งไปกว่านั้นก็คือ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้อนุมัติโครงการ คนเซ็นคำสั่งเห็นชอบเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ และผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ควบคุมโครงการ

และน่าแปลกประหลาดกับเอกสารอนุมัติให้ซ่อมแซมบ้านโบราณหลังนี้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของบริษัทบอมเบย์ เบอร์มา สัญชาติอังกฤษ ยุคของการให้สัมปทานตัดไม้เมื่อปี 2432 ด้วยเงินงบประมาณ 4.5 ล้านบาท แต่ภาพที่ปรากฏกลับกลายเป็น “ทุบทิ้ง”

การกล่าวอ้างไม่รู้ว่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นสมบัติล้ำค่าเก่าแก่คู่เมืองแพร่มากว่าร้อยปี และไม่ได้อยู่ในเขตอนุรักษ์ ถือเป็นคำแก้ตัวน้ำขุ่นๆ แถมยังปัดความรับผิด โยนให้ผู้รับเหมาว่าทำเกินสั่งเพราะสั่งให้ปรับปรุงไม่ได้ทุบทิ้ง

ผู้มีสถานะเป็นถึงระดับอธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนัก แต่ไม่ได้ตระหนักถึงการทำนุบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นนั้นๆ ก็ไม่ควรอยู่ในตำแหน่งสำคัญเยี่ยงนี้

ชาวบ้านกลุ่มรักษ์เมืองแพร่ตีแสกหน้าเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบในเหตุการณ์นี้ด้วยการงัดข้อกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองโบราณสถาน อาคารใดๆ ที่มีอายุเกินกว่า 100 ปีต้องถือว่าเป็นโบราณสถาน ต้องขออนุญาตกรมศิลปากรและต้องให้ชุมชนเห็นชอบก่อนจะดำเนินการใดๆ

 

ปรากฏการณ์ “ทุบทิ้ง” บ้านไม้โบราณเมืองแพร่ กลายเป็นประเด็นร้อนทิ่มแทงหน่วยงานรัฐที่ไร้จิตวิญญาณประวัติศาสตร์ จนต้องออกมายอมรับความผิดพลาดและร้องวิงวอนขอโอกาสแก้ตัวด้วยการสร้างใหม่ให้เหมือนเก่า

นับเป็นเรื่องน่าหัวร่ออีกเช่นกัน ในเมื่อรื้อเละเป็นเศษไม้ ไม่เหลือสภาพอาคารที่เคยโดดเด่นงามสง่า มีเรื่องเล่าในอดีตมากมายแฝงอยู่ในทุกอณูของตัวอาคาร จะทำให้เหมือนเดิมนั้นเป็นไปได้อย่างไร?

การอนุรักษ์ของบ้านโบราณอันทรงคุณค่า ไม่ว่าที่ใดในโลกต้องผ่านกระบวนการวางแผนศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ ทั้งทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและวิศวกรรม

เมื่อศึกษาค้นคว้าจนได้ข้อสรุปลุล่วงแล้ว ก็ต้องนำมาวิเคราะห์อีกครั้งว่าถ้าจะปรับปรุงจุดไหน จะรื้อต้องรื้อด้วยกรรมวิธีอย่างไรให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดและดำรงสภาพเดิมๆ มากที่สุด

ถ้ายกบ้านขึ้นมาทั้งหลังแล้วปรับฐานรากทรุดโทรมให้กลับมาแข็งแรง ทำได้หรือไม่ หรือถอดแค่บางชิ้นที่ทรุดโทรมซ่อมแซมใหม่

กระบวนการอนุรักษ์ดังกล่าวนี้ ไม่ได้นำมาใช้กับบ้านไม้ 120 ปีเมืองแพร่แต่อย่างใด ผลลัพธ์อย่างที่เห็นคือการทุบรื้อราบเป็นหน้ากลอง

 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวนอกจากจะเป็นความผิดสำเร็จและไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำอีกในพื้นที่อื่นๆ หากยังสะท้อนให้เห็นว่า หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ไม่ได้ทำงานสอดประสานกันเลย แม้กระทั่งในกระทรวงเดียวกัน

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ในด้านอนุรักษ์โดยเฉพาะการอนุรักษ์เมืองเก่า ทำไมกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อยู่ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เช่นกันจึงไม่สอบถามว่าควรจะรื้อบ้านไม้โบราณของเมืองแพร่หรือไม่?

ก็ให้สงสัยอีกว่า ทำไมกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมีกรมศิลปากรทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ จึงไม่รู้เรื่องการอนุมัติโครงการทุบทิ้งดังกล่าว?

นี่เป็นช่องโหว่ของการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ที่จะต้องนำมาชำระสะสางกันใหม่

 

พูดถึงสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพิ่งได้ทราบข่าวหน่วยงานนี้จะจัดประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน

ประเด็นในการประชุมจะหารือเรื่องการขยายเขตกรุงรัตนโกสินทร์ให้กว้างขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ต่อเนื่องระหว่างกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นในกับกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก และปรับปรุงภูมิทัศน์คูคลองคูเมืองเดิม รวมถึงคลองหลอดวัดราชนัดดา คลองหลอดวัดราชบพิธ

เป้าหมายต้องการปรับปรุงพื้นที่ให้มีความสวยงามเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพมหานครในเชิงนิเวศและพื้นที่อนุรักษ์วัฒนธรรม

คณะกรรมการชุดนี้ยังพิจารณาเรื่องการประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าร้อยเอ็ด ครอบคลุมพื้นที่กำแพงเมือง-คูเมืองร้อยเอ็ดบึงพลาญชัย และศาสนสถานที่สำคัญ อาทิ วัดเหนือ วัดกลางมิ่งเมือง วัดบูรพาภิราม วัดสระทอง วัดบึงพลาญชัย และศาลเจ้าร้อยเอ็ด รวมทั้งย่านการค้าบริเวณถนนผดุงพานิช

รวมทั้งพิจารณาการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่า พะเยา เมืองเก่าสุพรรณบุรี และเมืองเก่าสุรินทร์

ฝากให้ที่ประชุมพิจารณาเน้นถึงความสำคัญการมีส่วนร่วมของชุมชน เพราะหากให้หน่วยงานภาครัฐทำอยู่ฝ่ายเดียวจะเกิดปัญหาเหมือนกรณี “ทุบทิ้ง” บ้านโบราณเมืองแพร่ จนชาวบ้านลุกฮือประท้วง

 

การดึงนักปราชญ์ท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และคนรุ่นหนุ่ม-สาวเข้าไปมีส่วนร่วมอนุรักษ์พัฒนาเมืองเก่าเป็นเรื่องที่สมควรทำอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเชื่อมผสานให้เมืองเก่ามีชีวิต มีมิติทางสังคมและประวัติศาสตร์

ขอเสนอแนวทางแบ่งพื้นที่อนุรักษ์เมืองเก่าให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้ามามีส่วนร่วม เช่น ลานกิจกรรมกลางแจ้ง เปิดให้แสดงดนตรี ศิลปะพื้นเมือง หรือโชว์ความสามารถของเยาวชนหนุ่ม-สาว รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นร่วมเรียนรู้ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่นในหลายๆ ภาษา

นอกจากนี้แล้ว การอนุรักษ์เมืองเก่าไม่ใช่แค่ทาสีตึกให้สวยๆ แต่ต้องควบคุมสภาพแวดล้อมรอบๆ ให้มีความกลมกลืนกับโบราณสถาน

การจัดวางผังเมืองจึงต้องกำหนดให้มีมาตรฐาน ป้องกันการก่อสร้างอาคารโดยรอบไม่ให้เกิดทัศนะอุจาด อย่างเช่น มีวัดโบสถ์โบราณเก่าแก่ ก็ต้องมีกฎห้ามก่อสร้างตึกแถวคอนกรีตหน้าต่างติดเหล็กดัดโผล่อยู่ข้างๆ หรือถ้ามีอยู่แล้วทำอย่างไรจึงปรับให้กลมกลืน

เมืองเก่าจะต้องได้รับการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติด้วย ถนน คูคลองต้องสะอาด ระบบบำบัดน้ำเสีย การกำจัดขยะ พื้นที่รกร้าง ต้องปลูกต้นไม้ให้เขียวชอุ่ม ส่วนต้นไม้เก่าแก่ต้องบำรุงรักษาให้เติบโตร่มรื่น

ช่วงเวลานี้ต้องรีบแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส เร่งบูรณะปรับปรุงบ้านเมืองเราให้น่าอยู่น่าอาศัย มีสิ่งแวดล้อมสวยงาม เปิดเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้หลากหลาย เมื่อโรคร้ายโควิด-19 จางหายไป ชาวโลกเดินทางมาเที่ยวจะได้เห็นเมืองไทยในมิติใหม่