คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : สงกรานต์อย่างของพราหมณ์เขา

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

แขกพราหมณ์มีสงกรานต์ทุกเดือน สงกรานต์นั้นมาจากคำสันสกฤตว่า “สังกรานติ (สํกฺรานฺติ)” แปลว่าเคลื่อนหรือย้าย หมายเอาตามโหราศาสตร์ฮินดูว่า พระอาทิตย์ย้ายเข้าราศี

ราศี หมายถึงการแบ่งขอบฟ้าออกเป็นช่องๆ สิบสองช่องเท่าๆ กัน แต่ละช่องมีดาวจักรราศีครองอยู่ พระอาทิตย์จะอยู่ช่องละสามสิบวัน เคลื่อนย้ายไปทั้งปี ครบทั้งสิบสองช่องคือครบหนึ่งปี

พระอาทิตย์ย้ายราศีในทุกเดือนตกราวๆ วันที่ 14-15 ของเดือนนั้นๆ เข้าในราศีใด ก็เรียกสงกรานต์ของราศีนั้น เช่น พระอาทิตย์ย้ายเข้าราศีมังกร ก็เรียก มกรสังกรานติ (มกรสงกรานต์) เข้าราศีเมษก็เรียก เมษสังกรานติ (เมษสงกรานต์) ฯลฯ

ดังนั้น ในหนึ่งปีแขกพราหมณ์จึงมีสงกรานต์ถึงสิบสองครั้ง แล้วเขาทำอะไรในสงกรานต์แต่ละครั้ง

 

อย่าลืมนะครับว่าชาวฮินดูจะบูชาเทพเจ้าในแทบทุกวันหรือเทศกาลสำคัญ ผิดแผกกันไปตามแต่ละเทศกาล

แต่เลือกบูชาเทพองค์ใด ก็สะท้อนว่าเทพเจ้าองค์นั้นสัมพันธ์กับวันหรือเทศกาลนั้นๆ

ดังนั้น ถ้าให้เดาก็คงพอเดากันออกครับว่า สงกรานต์ซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วยดวงอาทิตย์ ชาวฮินดูก็น่าจะบูชาพระสุริยเทพแน่ๆ

เทพมณเฑียร เสาชิงช้า ศาสนสถานฮินดูของชาวอินเดียเหนือในกรุงเทพฯ ทุกสงกรานต์ในเวลาเช้าตรู่ พราหณาจารย์ทั้งหลายจะกระทำบูชาพระอาทิตย์ในรูป “สูริยนารายณ์” ด้วยเหตุว่าในคัมภีร์พระเวทพระวิษณุเป็นสุริยเทพองค์หนึ่งก่อนจะกลายมาเป็นพระวิษณุอย่างที่เรารู้จักกันจากคัมภีร์ปุราณะ

นอกจากพิธีบูชาพระสูริยนารายณ์แล้ว ชาวฮินดูยังเชื่อกันว่า ในช่วงสงกรานต์ของทุกเดือนหรือในช่วงเวลาใกล้เคียงสงกรานต์ จะไม่ประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความมั่นคงหรือพิธีกรรมสำคัญ เช่น ขึ้นบ้านใหม่หรือแต่งงาน เพราะพระอาทิตย์ซึ่งเป็นดาวใหญ่ เป็นดาวใหญ่เพิ่งเคลื่อนย้าย ยังไม่สถิตมั่นคง ย่อมจะให้ผลเป็นความไม่มั่นคงแก่สิ่งทั้งหลายด้วย

 

นอกจากสงกรานต์แต่ละเดือนแล้ว พราหมณ์เขายังถือเอาสงกรานต์ใหญ่สองสงกรานต์ว่าสำคัญกว่าสงกรานต์อื่นๆ คือ มกรสงกรานต์ และเมษสงกรานต์

มกรสงกรานต์ หรือมกรสังกรานติ คือสงกรานต์ที่พระอาทิตย์ย้ายเข้าราศีมังกร ตกในราววันที่สิบสี่หรือสิบห้ามกราคมของทุกปี

เหตุที่มกรสงกรานต์สำคัญ ก็เพราะการที่ดวงอาทิตย์ย้ายเข้าราศีมังกร เท่ากับได้ย้ายจากวงโคจร (อายน) ด้านใต้ (ทักษิณายัน) ซึ่งกินเวลาครึ่งหนึ่งของปี มาสู่วงโคจรด้านเหนือ (อุตรายัน)

วงโคจรด้านเหนือของดวงอาทิตย์คือช่วงเวลาของฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงอบอุ่นของโลกอันเหมาะแก่การเพาะปลูก ผิดกับวงโคจรด้านใต้ที่หนาวเย็น สะท้อนถึงความมืดและความตาย

ถือกันว่าทักษิณายันเป็น “กลางคืน” ของเทวดา ส่วนอุตรายันเป็น “กลางวัน” ของเทวดา เพราะหนึ่งปีมนุษย์เท่ากับหนึ่งวันของเทวดา

นอกจากบูชาที่เทวสถานแล้ว ในอินเดียภาคใต้จะเรียกเทศกาลนี้ว่า “ไทปงคัล”

“ปงคัล” คือข้าวหุงอย่างเทศใส่นมเนย ส่วน “ไท” คือชื่อเดือนยี่ของทมิฬ ชาวบ้านจะตื่นมาหุงข้าวปงกัลป์ถวายพระสุริยเทพ

ชะรอย ข้าว “ปงคัล” ของทมิฬ ก็คืออย่างเดียวกับ “ข้าวเปียก” หมายถึงข้าวกวนกับกะทิและนม ซึ่งใช้ถวายพระเป็นเจ้าในพระเทวสถานเฉพาะในพระราชพิธีตรียัมปวายเท่านั้น

ซึ่งพราหมณ์สยามสืบทอดมาจากทมิฬอย่างมิต้องสงสัย เพราะลักษณะคล้ายคลึงกัน และใช้ในพิธีซึ่งมีช่วงเวลาตรงกัน

แต่มกรสงกรานต์ แขกพราหมณ์ยังมิได้ถือว่าเป็นช่วงเปลี่ยนศก บางตำราก็ว่า ในทมิฬแต่เดิมยึดเอามกรสงกรานต์เป็นปีใหม่ ข้อนี้พราหมณ์ทมิฬเองก็ถกเถียงกันมิใช่น้อย

 

ส่วนสงกรานต์ใหญ่อีกวัน คือ เมษสงกรานต์หรือมหาสงกรานต์ คือพระอาทิตย์ย้ายเข้าราศีเมษ

เมษสงกรานต์สำคัญ เพราะเป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งสูงสุดคือจอมฟ้า ตรงเหนือศีรษะเราพอดี อันเป็นตำแหน่งที่พระอาทิตย์มีกำลังสูงสุด

จึงมิพักต้องสงสัยเลยว่า เหตุใดเดือนเมษายนจึงร้อนมากมายมหาศาลขนาดนี้

นอกจากดวงอาทิตย์มีกำลังสูงสุดแล้ว ในทางโหราศาสตร์อินเดียถือว่า ราศีเมษ เป็นราศีที่สถิต “ลัคนา” หรือตำแหน่งอ้างอิงทางโหราศาสตร์ของโลก

การที่ดาวใหญ่อย่างดวงอาทิตย์ย้ายเข้าในราศีลัคนาโลก จึงเป็นเรื่องใหญ่โต และยังใกล้เริ่มต้นเพาะปลูกอีกด้วย

แขกพราหมณ์อินเดียใต้ เช่น ทมิฬ โอริยา พังคละ มาลายาลัม ต่างถือว่าเมษสงกรานต์เป็นปีใหม่ของตน เรียกชื่อเทศกาลออกไปต่างกัน เช่น ปุฑานทุ วิษุ ฯลฯ

ทั้งนี้ ควรทราบว่าอินเดียในแต่ละภูมิภาคไม่ได้นับปีใหม่ตรงกัน เพราะความแตกต่างของภูมิอากาศ เช่น ในภาคเหนือและเนปาลมักยึดเอาปีวิกรมีสัมวัตหรือปีพระเจ้าวิกรมาทิตย์เป็นหลัก

ซึ่งจะเปลี่ยนปีในช่วงเทศกาลวสันตนวราตรีในเดือนไจตระ (เดือนห้าแขก) ตกราวปลายกุมภาพันธ์ถึงต้นเมษายน

ปีใหม่ตามปีพระวิกรมาทิตย์คือวันแรกของเดือนห้าตามปฏิทินฮินดูนั่นเอง

ในเมษสงกรานต์ ชาวฮินดูโดยเฉพาะภาคใต้จะพากันไปเทวสถาน นำเครื่องบูชานานาชนิดไปถวาย บางที่ก็พากันไปบูชาพระสุริยเทพ ตกแต่งบ้านเรือน หุงข้าวต้มแกงเฉพาะเทศกาลและกินเลี้ยงกัน

เด็กๆ ก็จะไปกราบไหว้ผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็จะให้พรและให้เงินเล็กๆ น้อยๆ

 

สงกรานต์ของแขกพราหมณ์ไม่มีสาดน้ำหรือรดน้ำเป็นกรณีพิเศษ ถ้าจะมีรดน้ำเทวรูปในเทวสถาน เขาก็ทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ใช่พิธีที่แยกออกมา

สาดน้ำในสงกรานต์จึงเป็นของบ้านเราเอง ไม่ได้มาจากอินเดีย นักวิชาการบางท่านว่า เริ่มที่พม่า ทำนองสาดไล่เสนียดแก่ฝ่ายอังกฤษ บางท่านว่า มาจากเอาน้ำล้างกระดูกผีบรรพบุรุษแล้วสาดขึ้นบนหลังคาเรือน เขาถึงต้องนิยมทำบุญผีบรรพบุรุษกันช่วงสงกรานต์ เพราะมันเป็นประเพณีก่อนอินเดีย

แล้วมาเล่นๆ กันโครมๆ นี่สมัยหลังแล้ว

ยังไงก็ตามแต่ ขอให้ทุกท่านมีความสุขในมหาสงกรานต์นี้นะครับ เล่นน้ำเล่นท่าระวังอุบัติเหตุกันด้วย

ส่วนใครผ่านไปรัฐสภา ฝากสาดน้ำท่านนายกฯ สักฉาด ท่านจะได้ชุ่มเย็น หายเครียด