ศชต. ไม่ตอบโจทย์?! 8 ปี บนเส้นทางดับไฟใต้

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นชอบตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เสนอ “ยุบ” ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. กองบัญชาการ (บช.) ตำรวจชายแดนใต้ รับผิดชอบพื้นที่ประสบสถานการณ์พิเศษ ภัยก่อความไม่สงบ พื้นที่ 3 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ควบรวมขึ้นการบังคับบัญชากับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ซึ่งเป็นรูปแบบเดิม ก่อนแยกจัดตั้ง ศชต. ในปี 2551

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … และร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … รวม 2 ฉบับ ตามที่ ตร. เสนอ โดยมีสาระสำคัญคือแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 มาตรา 4 และมาตรา 5 จัดตั้งกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว โดยยกฐานะจากกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และกำหนดหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว

และยุบรวมศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) เข้ากับตำรวจภูธรภาค 9

ขณะที่ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … แก้ไข ให้แบ่งแยกกองกำกับการสุนัขและม้าตำรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นกองกำกับการสุนัขตำรวจ และกองกำกับการม้าตำรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล

“ยุบเลิกกองกำกับการ ในกองบังคับการอำนวยการ สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล ให้เหลือฝ่ายอำนวยการ 1-7 สำหรับในสังกัดตำรวจภูธรภาค 1-8 จากเดิมประกอบด้วยฝ่ายอำนวยการ 1-9 และตำรวจภูธรภาค 9 จากเดิมประกอบด้วยฝ่ายอำนวยการ 1-10 ให้คงเหลือประกอบด้วยฝ่ายอำนวยการ 1-6 รวมถึงให้จัดตั้งและแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่กองบังคับการ กองกำกับการในสังกัดตำรวจภูธรภาค 9 เพื่อรองรับการยุบรวมศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ากับตำรวจภูธรภาค 9 ขณะที่จัดตั้งฝ่ายบัญชี ส่วนราชการระดับกองกำกับการ ในสังกัดกองบังคับการอำนวยการโรงพยาบาลตำรวจ” มติ ครม. ปรับโครงสร้าง ตร.

ใจความหลักคือ ยุบ ศชต. และตั้งกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว

 

อัตราตำแหน่ง ผู้บัญชาการ (ผบช.) ชั้นยศ พล.ต.ท. ที่เป็น ผบช.ศชต. ในปัจจุบัน หลัง พ.ร.ฎ.ปรับโครงสร้างใหม่ ยุบรวบ ศชต. ใช้บังคับ อัตรานี้เปลี่ยนเป็น ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว หากเป็นไปตามปฏิทินปรับโครงสร้างนี้ ที่คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในวันที่ 30 กรกฎาคม 2560 จะมีชื่อ พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 36 นักสืบมือดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติยุคนี้ เป็น ผบช.ศชต. คนสุดท้าย?!

ย้อนไปในปี 2547 นับแต่วันปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ระเบิดชนวนเหตุการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความรุนแรงที่ทวีขึ้นนับแต่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2547 เป็นต้นมา

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ในยุคนั้นมี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้จัดส่งกำลังพลจากหน่วยงานทั้งในส่วนภูมิภาค และส่วนกลางเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ในลักษณะการบูรณาการกำลัง เข้าแก้ไขปัญหาและยุติสถานการณ์ให้ได้โดยเร็วที่สุด

ตอนนั้น ผบ.ตร. มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 590/2547 ลงวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2547 จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า” หรือ “ศปก.ตร.สน” ทำหน้าที่เป็นศูนย์อำนวยการควบคุมสั่งการของตำรวจทุกหน่วย ตั้งอยู่ในศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 9 ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา มี พล.ต.อ.บุญเพ็ญ บำเพ็ญบุญ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.วงกต มณีรินทร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นผู้บังคับบัญชา ศปก.ตร.สน.

พล.ต.ท.วงกต ที่ขณะนั้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นผู้บัญชาการ ศปก.ตร.สน. คนแรก ตั้งแต่ 13 กันยายน 2547 – 13 กุมภาพันธ์ 2548 ต่อมา พล.ต.ท.ไพศาล ตั้งใจตรง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ปฏิบัติหน้าที่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 – 31 พฤษภาคม 2548 พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว สมัยเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (ผบช.ภ.9) ปฏิบัติหน้าที่วันที่ 1 มิถุนายน 2548 – 30 กันยายน 2548 และตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 – 25 กุมภาพันธ์ 2550 พล.ต.ท.เจตนากร นภีตะภัฎ ผบช.ภ.9 ปฏิบัติหน้าที่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 – 30 กันยายน 2550 ก่อน พล.ต.ท.อดุลย์ กลับมารับไม้ต่อ นั่ง ผบ.ศปก.ตร.สน. อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2550 – 28 กุมภาพันธ์ 2552

ระหว่างนั้นภายใต้การขับเคลื่อนของ พล.ต.ท.อดุลย์ (ยศตำแหน่งในขณะนั้น) เสนอแยกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส จัดตั้งเป็น บช.แห่งใหม่ ในชื่อ “ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้” มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551

จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้” และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการ ที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 จัดตั้งส่วนราชการ ระดับกองบังคับการในสังกัด “ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้”

โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 มีการจัดตั้งกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการฝึกอบรม อยู่ภายใน ศชต. ทว่า ยังคงมี ศปก.ตร.สน. เป็นพี่เลี้ยงใหญ่

เหตุและผลจัดตั้ง ศชต. ในขณะนั้น เพื่อความคล่องตัวทั้งในเชิงบริหารและบังคับบัญชา การจัดสรรงบประมาณ และบริหารคน มี พล.ต.ท.พีระ พุ่มพิเชฏฐ์ เป็น ผบช.ศชต. ปฏิบัติหน้าที่วันที่ 1 มีนาคม 2552 – 30 กันยายน 2553 ต่อด้วย พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ปฏิบัติหน้าที่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 – 30 กันยายน 2556 พล.ต.ท.ยงยุทธ เจริญวานิช ปฏิบัติหน้าที่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 – 30 กันยายน 2557 พล.ต.ท.อนุรุต กฤษณะการะเกตุ ปฏิบัติหน้าที่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 – 30 กันยายน 2558 พล.ต.ท.เฉลิมพันธุ์ อจลบุญ ปฏิบัติหน้าที่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2559

กระทั่ง พล.ต.ท.รณศิลป์ ผบช.ศชต. คนปัจจุบัน

 

ชื่อชั้น แม่ทัพ ศชต. ไล่เรียงเช็กโปรไฟล์แต่ละคนไม่ธรรมดา ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคแรกเริ่มก่อตั้ง บิ๊กอู๋ “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” อดีต ผบ.ศปก.ตร.สน. อดีต ผบ.ตร. ที่ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีบทบาทอย่างมากในการวางตัวแม่ทัพ วางขุมกำลัง ส่งเสริมทั้งด้านงบประมาณ ขวัญกำลังใจกำลังพล

การให้สิทธินับอายุราชการแบบทวีคูณ เพื่อใช้ในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย ได้รับการผลักดันในยุคนั้น ก่อนยุติการใช้สิทธิ เพื่อการแต่งตั้งในยุค พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็น ผบ.ตร. เกิดกระแสเสียงกำลังพลกำลังใจถดถอย แรงจูงใจสิทธิประโยชน์ที่หดหาย ทำให้กำลังพลคนทำงานอยากย้ายหนี!!

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยกเหตุผลเพื่อความเอกภาพในการบริหาร ทั้งการบังคับบัญชา การสืบสวนสอบสวน เนื่องจากปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ ไม่จำเพาะเพียง 3 จังหวัดชายแดน ยังขยายไปยังพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา หลายครั้งที่ขยายวงไปยังพื้นที่ อ.หาดใหญ่ อ.สะเดา จ.สงขลา หรือบางครั้งขยายไปถึงภาคใต้ตอนบนและตอนในของประเทศ การวางยุทธการในการสืบสวนสอบสวนจะดีกว่าหากอยู่ในพื้นที่บังคับบัญชาเดียวกัน อีกทั้งการบริหารกำลังพล การแต่งตั้งโยกย้าย จะทำได้ง่ายขึ้น การขยับขยายย้ายผลัดกำลังพลที่อ่อนล้า เสริมกำลังพลที่ขาด สามารถทำได้ด้วยอำนาจ “ผบช.ภ.9” นี่คือเหตุผลทำให้ต้องยุบ ศชต. ที่มีอายุ 8 ปี กลับรวมกับ บช.ภ.9 เช่นเดิม

บทสรุปคือ ศชต. ที่ทดลองใช้มา 8 ปี ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาชายแดนใต้ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงกลับไปสู่จุดเดิม!?

โครงสร้างที่เปลี่ยนไป คงไม่สำคัญ หากวิสัยทัศน์ของผู้นำที่ยังคงให้ความสำคัญให้การขับเคลื่อนกำลังพล กำลังใจเหล่าสีกากีในพื้นที่ ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่พิทักษ์ปลายด้ามขวานได้ ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความวุ่นวายในพื้นที่ที่ทรงตัวมามากกว่า 10 ปี