วงค์ ตาวัน : ปริศนาวันเลือกตั้ง

วงค์ ตาวัน

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีผลบังคับใช้ ประเด็นที่กล่าวขวัญกันในฉับพลันทันทีก็คือ แล้ววันเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อไร เพราะวันเลือกตั้งหมายถึงการกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะเป็นวันที่อำนาจทางการเมืองกลับคืนสู่มือของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ

หลักการปกครองที่เป็นมาตรฐานของคนที่เจริญแล้วทั่วโลกนั้น อำนาจการเมืองต้องอยู่กับประชาชนคนส่วนใหญ่

ต้องมีการเลือกตั้ง

ต้องมีการตัดสินใจทางการเมืองโดยเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน

“หลักการนี้ ไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ แต่เป็นบรรทัดฐานของสังคมการเมืองทั่วทั้งโลกที่ใชักันในทุกวันนี้ และส่งผลให้ประเทศเหล่านั้นพัฒนาก้าวหน้าในทุกด้าน ตั้งแต่สิทธิเสรีภาพ มาตรฐานความเป็นอยู่ และเศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรือง”

หลักการนี้ เมื่อนำมาอธิบายเส้นทางของบ้านเมืองเรา ก็เห็นได้ทันทีว่า นับว่าเรายิ่งถอยหลัง พลิกจากประเทศที่เจริญมากสุดในภูมิกาคนี้ กลับเป็นเกือบล้าหลังที่สุดแล้ว ด้วยเพราะการเมืองเราถอยหลังลงคลองเป็นปัจจัยสำคัญ

ในขณะเดียวกัน แม้ว่าประเทศไทยเรานั้น จะมีปัญหาการรัฐประหารค่อนข้างบ่อย ทำให้การเมืองไทยวนเวียนอยู่ในอ่าง ไม่ก้าวหน้าอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเสียที

แต่เมื่อมีรัฐประหารทุกครั้ง คณะรัฐประหารก็ต้องรีบบอกกล่าวกับประชาชนว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นแน่นอน ประมาณว่าน่าจะเป็นช่วงไหนบ้าง

แม้ว่ากลุ่มที่ก่อรัฐประหาร จะรังเกียจนักการเมือง รังเกียจการเลือกตั้ง แม้ว่ากลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในเมืองหลวงจะเชียร์ให้มีรัฐประหาร คลั่งรัฐบาลทหาร เกลียดชังรัฐบาลนักการเมือง

“แต่ไม่ว่าจะอย่างไร คนพวกนี้ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ไม่มีการเลือกตั้งไม่ได้ ไม่มีประชาธิปไตย ไม่ให้อำนาจกลับคืนสู่มือของประชาชนคนส่วนใหญ่ไม่ได้!”

เพราะถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็แปลว่านี่คือประเทศเผด็จการ อันเต็มไปด้วยความล้าหลัง เป็นที่น่ารังเกียจในสายตาคนทั้งโลก

“ไม่มีใครคบค้า ถูกคว่ำบาตร เศรษฐกิจจะถดถอย ผู้คนจะอยู่อย่างยากลำบากในด้านปากท้อง และเสรีภาพ”

การรัฐประหารหนล่าสุดเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ทำให้ประเทศเรากลับไปสู่ยุคบริหารโดยรัฐบาลทหาร

แต่คณะ คสช. ก็ต้องพยายามบอกกล่าวว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นแน่นอน และคณะรัฐบาลทหารจะอยู่ไม่นานนัก

ทีแรกก็เริ่มต้นว่า การเลือกตั้งน่าจะมีขึ้นในปี 2560

ต่อมาก็เลื่อนเป็นปี 2561

ล่าสุดก็เริ่มพูดถึงอุปสรรคบางประการ อาจจะมีในปี 2562

จนเริ่มเป็นที่ล้อเลียนกันว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเลื่อนเวลาไปเรื่อยๆ”

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เราก็หนีวันเลือกตั้งไปไม่พ้น!

 

ในแง่ของผู้คนที่เชื่อมั่นในหลักประชาธิปไตย มองว่า วันเลือกตั้งจะเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง ไม่ใช่แค่ผู้ถูกปกครอง คอยนั่งนิ่งอย่างสงบไม่มีปากมีเสียง เพื่อรอฟังผู้นำประเทศมาชี้นิ้วสั่งสอนและบังคับให้ทำตามไปเสียทุกอย่าง

ในแง่ของภาพรวมประเทศ สิ่งที่รัฐบาลทหารตระหนักดี รู้ได้ว่าเป็นปัญหามากมาย หากเรายังไม่มีประชาธิปไตยอันปกติ หากยังไม่มีการเลือกตั้ง จะโดนสังคมโลกตั้งแง่ อันจะมีผลกระทบทั้งสถานะทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ

หนักกว่านั้นคือ ผู้นำของโลกเสรีทั้งหลาย จะมีท่าทีไม่เดินทางมาเยี่ยมเยือนบ้านเรา

ทั้งประมุข ทั้งผู้นำรัฐบาลทั่วโลก ล้วนติดขัดกับปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศเรา ทำให้เป็นเครื่องขวางกั้น ไม่มีแขกสำคัญระดับโลกเดินเข้ามายังประตูบ้านเรา

“เป็นประเด็นที่ส่งผลเสียมากมายต่อสถานะของประเทศชาติ”

มองในแง่นี้ ภายในกลุ่มอำนาจยุคปัจจุบันเอง บางส่วนมองว่า จำเป็นต้องกำหนดวันเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ถ้าได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 ก็จะถือว่าดีอย่างยิ่ง

เป็นช่วงเหมาะเจาะ เพื่อให้แขกบ้านแขกเมือง ผู้นำระดับโลก เริ่มเดินทางมาเยือนบ้านเราได้

ถ้าสามารถประกาศวันเลือกตั้งได้ชัดเจน และไม่ล่าช้า

“โดยประมาณว่าอยู่ในช่วงต้นปี 2561 ประมาณ 4 เดือนแรก”

“นั่นจะทำให้หมดสิ้นอุปสรรค ทำให้ประมุขรัฐผู้นำรัฐบาลตะวันตก สามารถเดินทางมาเยี่ยมเยือนได้ ในปีนี้เป็นต้นไป!”

แต่ขณะเดียวกันกลุ่มอำนาจชุดนี้ในอีกซีก มองว่า การรีบร้อนให้เลือกตั้งเร็วไป โดยที่ยังไม่สามารถวางกรอบกติกาควบคุมให้ระบบพรรคการเมืองอยู่ในกรอบที่มี่พวกตนเองคาดคิดเอาไว้ จะทำให้การยึดอำนาจครั้งนี้เปล่าประโยชน์

พวกนี้ตั้งความหวังอย่างยิ่งว่า จะต้องทำให้การเมืองไทยเข้าสู่ยุคที่ นักการเมืองและพรรคการเมือง ไม่สามารถมีอิทธิฤทธิ์ใดๆ ได้อีก ไม่ควรจะปล่อยให้เกิดยุคที่พรรคการเมืองสามารถทำนโยบายที่ครองใจประชาชนได้อย่างกว้างขวางเหมือนที่ผ่านมาได้อีกแล้ว

พวกนี้แหละ ที่ยังไม่อยากให้เลือกตั้งเร็ว ต้องการกวาดล้างนักการเมืองและพรรคการเมืองที่เป็นเป้าให้สิ้นซากเสียก่อน จึงจะปล่อยให้มีเลือกตั้งได้

พวกนี้อยากให้เลือกตั้งในปลายปี 2561 หรือถ้าให้ดีก็เลื่อนไปปี 2562 โน่นเลย

 

ดังนั้น โอกาสที่จะมีวันเลือกตั้งอย่างชัดเจน อาจจะเกิดขึ้นในต้นปีหรือช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 ถ้าหากต้องการเห็นแขกบ้านแขกเมืองมาเยือนโดยไว แต่ถ้าหากเป็นไปตามเป้าหมายของฝ่ายที่ต้องการกวาดล้างนักการเมืองและพรรคการเมืองบางพรรคให้สูญสิ้น ไม่เป็นเสี้ยนหนามอีกต่อไป

ก็อาจจะมีวันเลือกตั้งในปลายปี 2561 หรือปี 2562

“สิ่งที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า กลุ่มอำนาจจะให้มีเลือกตั้งเร็วหรือช้า ก็ต้องดูที่ความคืบหน้าของกฎหมายลูก จะเดินอย่างรวดเร็วหรือเชื่องช้า มีจังหวะสะดุด มีทบทวน มีแก้ไขวุ่นวายอลหม่านหรือไม่!?”

กระบวนการเหล่านี้ สามารถมองเห็นได้อย่างเปิดเผย มองทะลุได้ว่าเนื้อแท้คืออะไร

แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่เข้ามามีส่วนกดดันให้การเลือกตั้งเร็วหรือช้า อย่างเช่น ปัญหาปากท้องของประชาชน เศรษฐกิจของประเทศ เพราะนี่เป็นจุดอ่อนของรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

การค้าการขายจะติดขัดไปรอบทิศ

รวมทั้งฝ่ายที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลทหาร ก็มักขาดการร่วมมือจากทุกฝ่าย ทำงานอย่างโดดเดี่ยว แถมรัฐบมนตรีหลายกระทรวงในฝ่ายเศรษฐกิจก็มีชั้นยศนำหน้า เท่ากับพูดจากันคนละภาษา มองการบริหารเศรษฐกิจคนละตำรา

เป็นเรื่องยากมาก ที่รัฐบาลทหารจะสามารถบริหารเศรษฐกิจให้เกิดความรุ่งเรืองได้

“นี่จะเป็นอีกปัจจัยที่มีส่วนกดดันให้กลุ่มอำนาจต้องคิดหนัก ในเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งเร็วหรือช้า”

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่น่าสนใจจากสาระของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่เพิ่งประกาศใช้

เนื่องจากมีการแก้ไขในบางมาตรา แปรเปลี่ยนไปจากที่กลุ่มอำนาจคิดเอาไว้เดิม

โดยเฉพาะมาตรา 5 ที่เดิมกำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งมีอำนาจตัดสินปัญหาวิกฤตการเมือง หากมีกรณีที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญไม่สามารถบังคับใช้ได้ โดยให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จัดประชุมร่วมกับประธานสภาผู้แทนฯ ผู้นำฝ่ายค้านในสภา ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานองค์กรอิสระ เพื่อวินิจฉัยและลงมติชี้ขาด

อันเป็นประเด็นใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในระบบการเมืองประชาธิปไตยของไทยเรา จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอื้ออึง

“เปรียบเสมือนว่ามีโปลิตบูโรเกิดขึ้นในบ้านเรา อันเป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจสูงสุดในระบบการเมืองของประเทศที่ปกครองด้วยพรรคการเมืองเดียว”

แต่สุดท้ายในรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ มีการเปลี่ยนแปลงในมาตรานี้ โดยให้กลับไปใช้เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ในอดีต ที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 ในกรณีที่เกิดวิกฤตอันไม่สามารถใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญไปบังคับใช้ได้

“นี่ก็แปลว่า ความมุ่งมาดปรารถนาของกลุ่มที่กุมอำนาจขณะนี้ ในบางเรื่องก็ไม่ได้สามารถทำให้บรรลุได้”

เช่นเดียวกับการกำหนดวันเลือกตั้ง ก็ยังต้องจับตามองกันต่อไป

ยังเป็นปริศนาว่าลงเอยจะออกมาแบบไหน!