ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 กรกฎาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
หายนะของฌอน บูรณะหิรัญ ทำให้คนจำนวนมากแสดงออกว่าเอือมระอาคนที่ตั้งตัวเองเป็น “ไลฟ์โค้ช” และ “กูรู” เพราะถึงแม้ความไม่โปร่งใสเรื่องเงินบริจาคจะเป็นเรื่องของฌอน การที่คนแบบนี้ตั้งตัวเป็นผู้รู้จนขายคอร์สได้สองชั่วโมง 13 ล้านก็สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่น่ากังวล
คนที่เชื่อว่าตัวเองมีความรู้แบบรู้ลึกและรู้วิเคราะห์มีแนวโน้มไม่ชอบฌอน เพราะนอกจากฌอนจะถูกมองว่าพูดแต่คำคมไร้สาระ คนไม่น้อยยังตั้งข้อสังเกตว่าฌอนลอกเลียนคำพูดเหล่านั้นจากผู้อื่น
ฌอนจึงเป็นสัญลักษณ์ว่าสังคมไทยมาถึงจุดที่อวิชชาไร้ปัญญากลายเป็นสินค้ายอดนิยม
คุณวีระ ธีรภัทร เคยตั้งคำถามในรายการโทรทัศน์ว่า “ฌอนคือใคร” และผมคิดว่าคนที่มีอายุรุ่นคุณวีระจำนวนมากคงมีปัญหาว่า “ฌอนคือใคร” แบบเดียวกับคุณวีระด้วย
เพราะฌอนและคนแบบฌอนเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมซึ่งเพิ่งเกิดในสังคมไทยราวๆ สิบกว่าปีมานี้เท่านั้นเอง
“ไลฟ์โค้ช” และ “กูรู” เป็นสถานะทางสังคมที่ไม่มีสถาบันอะไรรับรอง คนเหล่านี้ทำท่าสอนอะไรบางอย่างเหมือนครูบาอาจารย์ แต่ขณะที่ครูและอาจารย์ต้องมีคุณวุฒิและวิทยฐานะซึ่งถูกรับรองโดยจากสถาบันการศึกษาที่ควรจะเชื่อถือได้ “ไลฟ์โค้ช” และ “กูรู” กลับไม่จำเป็นต้องมีอะไรแบบนี้เลย
แน่นอนว่าความรู้ไม่จำเป็นต้องถูกผูกขาดโดยสถาบันการศึกษาและนักวิชาการ สังคมไทยในอดีตจึงมีพระ, หมอดู, หมอผี, โหร ฯลฯ ที่มีสถานะทางสังคมเหมือน “ไลฟ์โค้ช” หรือ “กูรู” ทุกวันนี้ ซึ่งความน่าเชื่อถือมาจากการสะสมบารมีส่วนบุคคลโดยไม่ต้องสนใจการยอมรับจากสถาบันอื่นเลย
“นักพูด” คือบรรพบุรุษของอาชีพ “ไลฟ์โค้ช” และ “กูรู” และในบริบทที่โทรทัศน์ขยายตัวอย่างสูงในทศวรรษ 2530 “นักพูด” ก็ทำหน้าที่ทางสังคมเหมือน “ไลฟ์โค้ช” และ “กูรู” ในทศวรรษ 2560 ซึ่งหากินโดยสร้างความน่าเชื่อถือส่วนบุคคลที่ไม่ขึ้นต่อสถาบันการศึกษาหรือองค์กรอื่นในสังคม
ไม่มีใครที่สติสัมปชัญญะปกติแล้วไม่รู้ว่า “ไลฟ์โค้ช” และ “กูรู” จำนวนมากสอนในเรื่องที่ตัวเองไม่ได้มีความรู้พิเศษแต่อย่างใด
รายได้ของคนแบบนี้จึงมาจากการทำให้ผู้ฟังเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าผู้พูดมี “ความรู้” กว่าคู่แข่งอย่างอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือนักวิจัย จนควรจ่ายค่าฟังชั่วโมงละสองพัน
ด้วยเงื่อนไข “ไลฟ์โค้ช” และ “กูรู” เป็นการทำมาหากินโดยไม่มีสถาบันความรู้รองรับอย่างเป็นทางการ เส้นทางของการหากินจึงต้องทำให้คนเหล่านี้มีความเป็นวิชาการโดยอ้างว่าคอร์สที่ตัวเองขายคือสัมมนา, Workshop, อบรม ฯลฯ
ทั้งที่ทั้งหมดคือการซื้อตั๋วฟังคนแบบนี้พูดแทบจะข้างเดียว
สื่อสำคัญสำหรับการสร้างความน่าเชื่อถือของไลฟ์โค้ชและกูรู เพราะในเมื่อไม่มีอะไรรองรับความรู้อย่างเป็นทางการ การสร้างภาพผ่านสื่อว่าตัวเองครอบครองความรู้บางอย่างจึงเป็นวิถีทางเดียวที่จะชักจูงให้สังคมเชื่อไลฟ์โค้ชและกูรูจนยอมซื้อตั๋วแพงๆ โดยลืมถามว่าคนเหล่านี้รู้อะไรบ้างจริงๆ
ไลฟ์โค้ชและกูรูจำนวนมากสร้างความน่าเชื่อถือที่ตรวจสอบไม่ได้จริงๆ กูรูแฟชั่นบางคนชอบอ้างว่าเคยไปอยู่นิวยอร์ก ทั้งที่ไปเรียนประกาศนียบัตรแค่แปดเดือนซึ่งเป็นระยะเวลาสั้นๆ จนไม่มีใครเป็นกูรูด้วยวิธีนี้ได้ แต่การขายคอร์สโดยอ้างนิวยอร์กก็ทำให้คอร์สขายได้ราคากว่าไม่อ้างอะไรเลย
องค์ประกอบทุกอย่างของไลฟ์โค้ชและกูรูอุดมด้วยสาเหตุที่ทำให้คนเอือมระอา ต่างประเทศจึงมีคำเปรียบเทียบว่าคำสอนของไลฟ์โค้ชคือ Pseudoscience ซึ่งแปลแรงๆ ก็คือ “ศาสตร์ลวงโลก” ที่ดูดีแต่ไม่มีอะไรน่าเชื่อถือหรือใช้ประโยชน์ได้ ทำได้ก็แค่ให้ผู้ฟังสบายใจจากการได้รับกำลังใจจอมปลอม
ไลฟ์โค้ชบางคนมีรูปแบบการสอนที่กระตุ้นให้ผู้ฟัง “คิดบวก” ต่อตัวเอง เพราะผู้ซื้อคอร์สต้องมีเรื่องที่ครุ่นคิดหรือไม่สบายใจ การผลักดันให้ผู้ฟังคิดบวกจึงเป็นการเติมเชื้อไฟให้ผู้ฟังเชื่อว่าออกจากสถานการณ์ที่รุมล้อมได้ภายใต้การเสียเงินซื้อคอร์สของ “ไลฟ์โค้ช” ไปเป็นเข็มทิศชีวิตตัวเอง
ด้วยเหตุดังนี้ ไลฟ์โค้ชมักสร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตตัวเองให้วนเวียนอยู่กับการก้าวข้ามปัญหาจนเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในที่สุด กูรูในธุรกิจไลฟ์โค้ชจึงมักเริ่มต้นว่าตัวเองเคยเลว เคยใจแตก เคยเห็นแก่ตัว เคยต่อยพ่อ เคยติดคุก ฯลฯ แต่เมื่อพัฒนาตัวเองให้ถูกทิศก็ร่ำรวยได้ในบั้นปลาย
น่าสนใจด้วยว่าไลฟ์โค้ชที่ประสบความสำเร็จด้านการขายมักมาพร้อมกับความคลั่งไคล้ในการอวดคอนโดหรู, อวดรถหรู, อวดนาฬิกาหรู, แต่งตัวหรู ฯลฯ เพื่อให้ผู้ฟังเห็นตั้งแต่แว่บแรกว่าไลฟ์โค้ชคือตัวอย่างของคนที่พัฒนาตัวเองจนร่ำรวยจริงๆ จนสมควรที่ทุกคนจะซื้อคอร์สเคล็ดลับความรวย
“คิดบวก” หมายถึงวิธีคิดที่สร้างสรรค์จนเปลี่ยนมุมคิดเพื่อหาทางออกจากปัญหาได้ตลอดเวลา แต่วิธีคิดแบบนี้เกิดจากการฝึกฝน คอร์สสองชั่วโมงช่วยไม่ได้ ไลฟ์โค้ชบางพวกจึงสร้างการคิดบวกปลอมๆ โดยให้ผู้ฟังปรบมือชมตัวเองพร้อมคำพูดว่า “ยอดเยี่ยมมากครับ” อย่างคลุ้มคลั่งตลอดเวลา
ไลฟ์โค้ชและกูรูมักเริ่มต้นเรื่อง “คิดบวก” โดยให้ผู้ฟังนึกถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง แต่ในที่สุดแทบทุกคอร์สทิ่คิดบวกล้วนมีเนื้อหาวนเวียนอยู่กับการรวยลัด, ทำการตลาดออนไลน์ให้รวยเร็ว, ค้าที่ดินอย่างไรให้สุดยอด, เคล็ดลับอายุน้อยร้อยล้าน, สร้างโรงแรมและธุรกิจทั่วประเทศ ฯลฯ เท่านั้นเอง
ขณะที่ไลฟ์โค้ชตั้งตัวเองเป็น “อาจารย์” หรือ “ครู” เพื่อกลบเกลื่อนภาพขายคอร์สหาเงิน สารที่ไลฟ์โค้ชสอนล้วนเป็นเรื่องที่ไม่ถูกสอนโดย “อาจารย์” ในความหมายของสถาบันวิชาการแบบตะวันตก หรือ “ครู” ในความหมายของคุรุตะวันออก นั่นคือการไขว่คว้าหาทางรวยแบบรวยลัดและรวยเร็ว
แน่นอนว่าไลฟ์โค้ชและกูรูมีหน้าที่ทางสังคมต่างจากอาจารย์และครูในความหมายที่เคร่งครัด แต่การที่แทบไม่มีไลฟ์โค้ชหรือกูรูขายคอร์สประเภท “รวยแล้วต้องไม่เอาเปรียบสังคม”, “รวยลัดต้องเป็นธรรม” หรือ “ทำอย่างไรเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม” ก็สะท้อนอะไรบางอย่างได้พอสมควร
ไลฟ์โค้ชมีแนวโน้มจะแทนที่การคิดถึงนโยบายสาธารณะโดยพัฒนาคุณสมบัติส่วนตัว คำสอนเรื่องพัฒนาตัวเองเป็นอาภรณ์ห่อหุ้มการเอาตัวรอดด้านการขาย
โลกแบบนี้ทำให้ “ส่วนรวม” ค่อยๆ เลือนหายด้วยคำถามเรียวแคบว่าทำอย่างไรที่จะกอบโกยเงินเข้ากระเป๋าสตางค์มากกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง
จริงอยู่ว่ามีไลฟ์โค้ชไม่กี่คนที่สอนให้เห็นแก่ตัว แต่คำสอนให้แต่ละคนพัฒนาตัวเองเพราะ “ความสำเร็จขึ้นอยู่กับตัวเรา” ทำให้เกิดโลกทัศน์ว่าคนเราจะรวยหรือจนขึ้นอยู่ตัวเราเองทั้งหมด ทั้งที่เรื่องนี้เกี่ยวพันกับโอกาสทางสังคม, ความเป็นธรรมในการแข่งขัน ฯลฯ ซึ่งไม่มีไลฟ์โค้ชสอนเรื่องนี้เลย
ไลฟ์โค้ชและกูรูเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของระบบทุนนิยม การขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิตอลทำให้การค้าออนไลน์เติบโต และความถดถอยของภาคอุตสาหกรรมจนเศรษฐกิจมหภาคหดตัวก็ยิ่งทำให้คนจำนวนมากต้องหากินในโลกออนไลน์โดยไม่มีความรู้อะไรเลย
ความเติบโตของธุรกิจไลฟ์โค้ชและ “กูรู” สะท้อนความพยายามเอาตัวรอดของชนชั้นต่างๆ ในสังคม เพราะสำหรับคนที่คิดว่าทุกอย่างในชีวิตไปด้วยดี ไลฟ์โค้ชคือส่วนเกินที่ไม่มีคุณค่าอะไรทั้งสิ้น ไลฟ์โค้ชอยู่ได้ในสังคมที่เศรษฐกิจผันผวนจนคนต้องการเครื่องมืออะไรสักอย่างให้มั่นใจว่าอยู่ได้จริงๆ
ด้วยเหตุที่ไลฟ์โค้ชและ “กูรู” ขายคอร์สในราคาที่เกินเอื้อมจากมือคนส่วนใหญ่ในสังคม ไลฟ์โค้ชจึงเป็นปรากฏการณ์ซึ่งสะท้อนความไม่มั่นใจในอนาคตตัวเองของชนชั้นกลางและผู้ประกอบการด้วย และยิ่งไลฟ์โค้ชและ “กูรู” เติบโตก็ยิ่งแสดงว่าชนชั้นกลางและผู้ประกอบการกังวลอนาคตตัวเอง
ไลฟ์โค้ชและ “กูรู” เป็นอาชีพที่เติบโตในสิบปีซึ่งสังคมไทยผันผวนทางเศรษฐกิจและการเมือง ไลฟ์โค้ชให้แสงสว่างกับคนที่เหนื่อยล้าจนหาทางออกไม่ได้ แต่ไลฟ์โค้ชไม่ใช่ทางออก เป็นได้แค่คนให้ยากล่อมประสาท เพราะต้นตอของปัญหาคือความไม่แน่นอนในชีวิตจากระบบเศรษฐกิจการเมือง
ไม่ต้องแปลกใจที่คำสอนของฌอนจะไม่มีสาระอะไร เพราะหน้าที่ของไลฟ์โค้ชไม่ใช่ให้สาระ แต่คือการพูดซ้ำๆ และใช้ดนตรีติ๊งหน่องสร้างแรงบันดาลใจให้คนคิดว่าจ่ายสี่พันแล้วรวย