ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : เสียงของความศักดิ์สิทธิ์

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพุทธ ผี หรือพราหมณ์ หลายพิธีการจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ทำให้เกิด “เสียง” นัยว่าเป็นการขับกล่อมพระเจ้า

แต่การประสานเครื่องดนตรีหลายชิ้นเข้าด้วยกันเพื่อทำให้เกิดเพลง แสดงให้เห็นถึงสังคมที่มีความสลับซับซ้อนทางโครงสร้างและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านต่างๆ

แคนไม่ได้เป็นแค่ท่อนไม้ไผ่ที่นำมามัดรวมกัน แต่ยังมีลิ้นแคนทำจากสำริดที่หล่อได้บางอย่างเปลือกไข่ และก็เป็นเจ้าลิ้นแคนนี่แหละที่เป็นเครื่องมือในการควบคุมเสียงไม่ว่าจะเป่าออก หรือดูดเข้า

รูปคนเป่าแคนปรากฏอยู่บนหน้ามโหระทึก-กลองทอง ยุคสุวรรณภูมิ ราว 3,000 ปีมาแล้ว เครื่องดนตรีสำริดอย่างมโหระทึกจึงเคยใช้บรรเลงร่วมกับแคนประกอบอยู่ในพิธีกรรมแน่

และเจ้ามโหระทึกนี้ก็มีวิธีการบรรเลงไม่ต่างไปจากกลอง เครื่องดนตรีไม้ขึงหนังที่มีมาก่อน เพียงแต่เปลี่ยนวัตถุดิบเป็นสำริดที่มีราคาขึ้นมาแทน

เสียงที่ประสานกันจากเครื่องดนตรีเหล่านี้จึงแสดงถึงพัฒนาการทั้งในด้านของการผลิตเสียง เทคโนโลยีทางโลหกรรม และเครื่องไม้ หรือแม้กระทั่งพัฒนาการทางสังคม ฯลฯ

 

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า “มโหระทึก” เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นลวดลายประดับที่อยู่บนหน้ามโหระทึก (เห็นได้ชัดจากรูป “กบ” ที่เป็นสัญลักษณ์ของฝน) หรือพิธีกรรมที่ยังปฏิบัติสืบทอดมาถึงปัจจุบัน อย่างพิธีกรรมของพวกจ้วงในมณฑลกวางสี ประเทศจีน

เสียงที่ดังมาจากเครื่องดนตรีเหล่านี้จึงไม่ได้มีที่มาจากการขับกล่อมให้พระเจ้ายินดีปรีดาเพียงอย่างเดียว แต่กำลังวิงวอนร้องขอความอุดมสมบูรณ์ จากอำนาจที่สามารถควบคุมธรรมชาติได้ พร้อมๆ กับที่แสดงถึงความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม

แต่ทำไม “เสียง” (ไม่ว่าจะหมายถึงดนตรีหรือไม่ก็ตามแต่) จึงสามารถอ้อนวอนร้องขออำนาจเหนือธรรมชาติได้ล่ะครับ?

 

ตัวอย่างง่ายๆ มีอยู่ในพระราชพิธีตรียัมปวาย ที่ผนวกเอาพิธีโล้ชิงช้าเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง จนมักจะเข้าใจผิดกันว่า พระราชพิธีตรียัมปวายคือการโล้ชิงช้า มีการใช้ “เสียง” ประกอบในพิธีทั้งสองส่วนคือ ทั้งในส่วนการโล้ชิงช้าที่ประกอบการในที่แจ้ง และส่วนพิธีพราหมณ์ตรียัมปวายที่ประกอบอยู่ในสถานพระอิศวร โบสถ์พราหมณ์

ในพิธีที่ว่า มีการ “ช้าเจ้าหงส์” เป็นการนำเทวรูปขนาดเล็กประทับไว้บนบุษบกรูปหงส์ ขึ้นไกวบนเสาชิงช้าขนาดย่อมภายในโบสถ์ ช้าเจ้าหงส์ที่ว่าคงดัดแปลงมาจากพิธีพราหมณ์ในอินเดียที่มีพิธีการนำเทวรูปขึ้นประทับบนชิงช้าขนาดเล็กแล้วไกวขับกล่อมในลักษณาการไม่ต่างกันนัก

การขับกล่อมในพิธีช้าเจ้าหงส์ใช้ฉันท์ที่พราหมณ์สยามมักจะอ้างกันว่าเก่าแก่ก่อนพุทธกาล โดยยังคงรักษาท่วงทำนองการออกเสียงของอักขระและพยัญชนะ (เป็นอักษรคฤนถ์) อย่างโบราณไว้ทั้งหมด

แต่ผลการสำรวจตำราพราหมณ์สยามของ ป.ส. ศาสตรี พราหมณ์อินเดียที่เคยทำงานอยู่ในราชสำนักสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 พบว่าตำราที่ใช้ขับกล่อมในการช้าหงส์บางส่วนนำมาจากคัมภีร์สดุดีพระอิศวรที่เขียนขึ้นเมื่อราว 1,100-1,200 ปีมาแล้ว ในขณะที่บางส่วนก็ได้มาจากคำสดุดีพระอรรธนารีศวร (ร่างรวมระหว่างพระอิศวรกับพระอุมา) ต่างหาก

น่าสนใจว่านอกเหนือจากตัวอักษร พวกพราหมณ์สยามที่มีบรรพบุรุษเป็นทมิฬก็ให้ความสำคัญกับการออกเสียงด้วยท่วงทำนองที่อ้างว่าเป็นอย่างดั้งเดิม ในที่นี้ทั้งตัวอักษรที่จดจารพระคัมภีร์และ “เสียง” ที่อ่านออกมาจึงเป็นตัวแทนของความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าเสียงของความศักดิ์สิทธิ์จากปากพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีจะเปล่งเสียงดังพอให้ผู้เข้าร่วมพิธีได้ยินหรือไม่ก็ตามที

เพราะแค่พราหมณ์ขมุบขมิบปากก็ศักดิ์สิทธิ์แล้ว

 

“ความศักดิ์สิทธิ์” จึงทำให้ “เสียง” ข้ามผ่าน “การได้ยิน” เป็นเพียง “การรับรู้” หรือ “ระลึกได้” เท่านั้น

ในบางกรณี “การไม่ได้ยิน” ก็ทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ เพราะ “ความเงียบ” สร้างให้ “ความรู้” ในเสียงที่ท่องบ่นอยู่ในใจ แต่แสดงออกด้วยอากัปกิริยาที่อ้างไปถึงการเกิดเสียงกลายเป็น “ความลับ”

และก็เป็นเจ้า “ความลับ” นี่เองที่ทำให้เจ้าของอากัปกิริยาที่อ้างไปถึงกำเนิดของ “เสียง” กุม “อำนาจ” ของ “ความศักดิ์สิทธิ์” เอาไว้ได้

ภายในพระราชพิธีตรียัมปวายยังมีพราหมณ์เป่าสังข์อยู่เป็นระยะ เป็นที่เข้าใจกันดีว่าเสียงที่เป่าออกจากหอยสังข์นั้นศักดิ์สิทธิ์ พวกพราหมณ์ทั้งในสยามและที่ชมพูทวีป ต่างมีปกรณัมที่เกี่ยวข้องกับสังข์อยู่มากมาย

บ้างก็ถึงกับอธิบายว่าภายในสังข์บรรจุไว้ด้วยพระเวท เพราะครั้งหนึ่งอสูรรูปหอยสังข์ได้ขโมยพระเวทไปแอบซ่อนไว้ แต่พระเวท (ซึ่งหมายถึงสรรพวิชาสูงสุดตามคติพราหมณ์) ไม่เคยไปประทับอยู่ภายในเปลือกหอยสังข์แน่ ดังนั้น สังข์จึงศักดิ์สิทธิ์มาก่อนที่พราหมณ์ไปแต่งเรื่องว่าปีศาจหอยขโมยพระเวท

เพราะภายในเปลือกของหอยสังข์มีพื้นที่ซับซ้อนอยู่ภายใน

พื้นที่ซับซ้อนที่ว่าเป็นบ่อเกิดของ “ชีวิต” ไม่ต่างอะไรกับที่ชาวจีนยุคบุพกาลใช้กระดองเต่า สำหรับประกอบพิธีเสี่ยงทายตามลัทธิความเชื่อดั้งเดิม ทั้งภายในเปลือกแข็งๆ ของหอยสังข์ และกระดองเต่าจึงเป็นกุญแจสำหรับข้ามไปสู่โลกแห่งกำเนิดของสรรพชีวิต ซึ่งหมายถึงความงอกเงย หรือความอุดมสมบูรณ์

“เสียง” ที่เกิดจากโลกภายในเปลือกหอยสังข์ที่ “หยุดนิ่ง” จึงเป็นความลับของการก่อกำเนิด ไม่ต่างอะไรไปจาก “ความเงียบ” ที่เกิดจากความ “เคลื่อนไหว” บนริมฝีปากสมณชีพราหมณ์ หรือพ่อมดหมอผี

 

ท่ามกลางเสียงอื้ออึงของกระบวนแห่ในพิธีโล้ชิงช้า (ซึ่งพิธีกรรมพื้นเมืองอีกส่วนหนึ่ง ที่ถูกราชสำนักสยามผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีพราหมณ์อย่างตรียัมปวาย) มีพราหมณ์นาลิวัน (มักอธิบายว่าคือ ข้าพราหมณ์ หรือหมอผีพื้นเมืองที่ถูกจับบวชเป็นพราหมณ์) แต่งกายเป็นนาค (ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ?) เป่าเสนงคือเขาควาย ไม่ต่างอะไรกับที่พวกพราหมณ์เป่าสังข์

“เสนง” เป็นเรื่องพื้นเมืองสุวรรณภูมิแน่ และพราหมณ์อินเดียก็คงไม่คิดจะเป่าเขาควาย เอาเข้าจริงถึงแม้จะต่างศาสนา ต่างที่มา แต่ก็มีนัยยะเชิงพิธีกรรมที่คล้ายๆ กัน

ข้อความในกฎมณเฑียรบาลว่าเดือนอ้ายนอกจากจะมีพิธีตรียัมปวายแล้ว ยังมีพิธีไล่เรือ คือให้พระเจ้าแผ่นดิน พร้อมพระอัครมเหสี พระเจ้าลูกเธอ หลานเธอ และพระสนม แต่งอย่างเต็มยศโบราณลงเรือพระที่นั่ง เมื่อถึงท้ายบ้านรุนให้ทรงพัชนี (พัดโบก) พอถึงประตูชัยให้ทรงส้าว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า “เป็นพิธีข้างจะให้น้ำลดเร็วๆ” การโล้ชิงช้าที่ประกอบพิธีในเดือนเดียวกันมาแต่ต้นก็คงมีจุดประสงค์ไม่ต่างกันนัก พิธีกรรมเหล่านี้จึงล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการเกษตร

พิธีไล่น้ำของพวกกูย หรือกวย ที่คนไทยชอบเรียกว่าส่วย ในปัจจุบันมีการนำโหวดขนาดเล็ก (ซึ่งใช้หมุนให้เกิดเสียง เรียกว่า “แงวโหวด” ไม่ใช่เป่าเหมือนโหวดใหญ่) มาให้คนในกระบวนแห่เล่นกันในพิธี

เสียงจากโหวดที่ว่ามีหน้าที่เชิงสัญลักษณ์ไม่ต่างเสนง (หรืออาจจะรวมถึงสังข์ด้วย) เพราะเสียงที่ว่าคือเสียงของ “สายลม” ที่มา “ไล่น้ำ” เราจึงมีคำว่า “ไล่ลมไล่น้ำ”

หลักฐานในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ยังอ้างถึงพิธีว่าวในเดือนอ้าย พิธีว่าวที่ว่าก็คือการชักว่าว เพื่อขอลมมาไล่น้ำ ไม่ต่างอะไรกับเสียงของสายลมที่ออกมาจากเครื่องมือชนิดอื่นๆ

น่าสนใจนะครับว่า ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับกำเนิดของโหวดมีอยู่ในตำนานกำเนิดบั้งไฟ ในนิทานพญาคันคาก (คำลาว แปลว่า คางคก) ซึ่งเล่าว่าพญาคันคากได้นำพาฝูงสัตว์เล็ก สัตว์น้อย เช่น มด ปลวก ฯลฯ ขึ้นไปรบชนะพญาแถนบนฟ้า แล้วสั่งให้พญาแถนปล่อยฝนตกลงมาให้มนุษย์ทำไร่ ทำนา โดยทำข้อตกลงกันว่า

1) เมื่อถึงฤดูทำไร่นา มนุษย์จะจุดบั้งไฟขึ้นฟ้า เมื่อพญาแถนเห็นจะปล่อยน้ำจากฟ้าเป็น “ฝน” ลงมาสู่โลกมนุษย์

2) เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตในนาไร่ มนุษย์จะแกว่งโหวด ส่งเสียงดังถึงพญาแถน เป็นสัญญาณให้หยุดปล่อยน้ำจากฟ้า ให้ฝนหยุดตก

ในกรณีนี้ “เสียง” จากเครื่องดนตรีต่างๆ รวมทั้ง “โหวด” จึงเป็นภาพแสดงแทนของ “ความศักดิ์สิทธิ์” เพราะเป็นสัญลักษณ์ว่า “ลม” ได้พัดมาไล่น้ำให้มีพื้นที่สำหรับทำการเพาะปลูก ก่อนที่จะมีพัฒนาการทางความเชื่อจนซับซ้อนยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นพิธีกรรมอย่างการประโคมดนตรีอื่นๆ