จัตวา กลิ่นสุนทร : เก่าไปใหม่มา ควรต้องดีกว่าเดิม?

ต้องพูดตรงไปตรงมาอย่างไม่อ้อมค้อมเลยว่า ไม่เคยศรัทธารัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ ยิ่งมองถึงตัวบุคคลในพรรคซึ่งเป็นแกนนำอย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคร่วมที่ได้คัดสรรไปเป็นรัฐมนตรียิ่งรู้สึกวังเวง สิ้นหวัง

นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่มาจากทหาร ซึ่งเข้าสู่การเมืองด้วยการปฏิวัติ รัฐประหาร ปิดประตูห้องยึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วยแล้ว ยิ่งไม่มีความนิยม ไม่เคยอยู่ในสายตา และความคิด

บางพรรคตั้งเงื่อนไขแก้เขินก่อนร่วมรัฐบาลว่า จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องบอกอีกเหมือนกันว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ไม่เคยมีความหวังแม้แต่สักน้อยนิด

ยิ่งพรรคอนาคตใหม่ซึ่งพอจะยังเป็นที่พึ่งทางความคิด มีความหวังเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นประชาธิปไตย และการต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรมมาถูกยุบทำลายพรรคไป เพียงแค่ทิ้งความหวังไว้สำหรับเป็นปากเสียงให้ผู้คนกับพรรคก้าวไกลบ้าง

ถึงกระนั้นผู้แทนของอนาคตใหม่จำนวนไม่น้อยกกลับละทิ้งอุดมการณ์ (ไม่น่าจะเคยมี) ไปกลืนกินกล้วยเพิ่มจำนวนเสียงให้พรรคร่วมรัฐบาล

 

ย้อนกลับมอง 6 ปีที่ผ่านยิ่งเกิดความรู้สึกเสียดายทรัพยากร เสียดายเวลาของประเทศเป็นอย่างยิ่ง จำกันได้หรือไม่ว่า นายกรัฐมนตรีคนนี้แหละได้พยายามยืดเวลาโดยโกหกประชาชนมาอย่างต่อเนื่องว่าขอเวลาอีกไม่นานจะคืนความสุขให้ประชาชน จะจัดให้มีการเลือกตั้ง

ที่จริงประชาชนไม่ได้เคร่งครัดมากนักกับช่วงเวลาที่จะคืนประชาธิปไตยโดยจัดให้มีการเลือกตั้ง ถ้าการบริหารจัดการประเทศด้วยความเป็นธรรม มีทีมงานเศรษฐกิจที่เปี่ยมล้นด้วยฝีมือ และวิสัยทัศน์เทียบเคียงต่างประเทศ สามารถสร้างงานช่วยชี้นำแนวทางเพื่อการประกอบธุรกิจ การทำมาค้าขายเพิ่มความเจริญก้าวหน้า ก่อเกิดอาชีพให้ประชาชนของประเทศนี้ได้

ปรากฏว่าไม่ได้สร้างอะไรให้งอกงามนอกจากการปกครองด้วยอำนาจพิเศษ

ไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งการคืนอำนาจให้ประชาชน นอกจากช่วยให้ธุรกิจระดับทุนใหญ่เพิ่มความร่ำรวยขึ้น

เมื่อถูกตำหนิติเตียนวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นๆ จึงหันไปเปลี่ยนทีมงานเศรษฐกิจ พร้อมเร่งวางแผนออกกฎหมายเพื่อการสืบทอดอำนาจให้ยาวต่อไปอีก

 

เปลี่ยนหัวทีมเศรษฐกิจมาเป็นเด็กเก่าของอดีตนายกฯ ทักษิณ (ว่ากันว่าสมัยอยู่ไทยรักไทยเก่งนักหนา) คนปัจจุบัน พร้อมลูกน้องสนิทสนมเด็กในคาถาเข้าทำงานมาราว 4-5 ปี ถึงการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 แต่ไม่มีอะไรดีขึ้น เศรษฐกิจประเทศของเรายังคงย่ำแย่ตกต่ำตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ คนยากไร้เพิ่มจำนวนมากขึ้น

รัฐบาลเผด็จการแพ้เลือกตั้ง (24 มีนาคม 2562) ครั้งที่ผ่าน แต่ได้ชิงตั้งรัฐบาลโดยอาศัยวิธีการดังที่ปรากฏเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปทั้งโลก เพียงแต่คนในบ้านเราไม่มีความรู้สึกละอายเท่านั้น เพราะฉะนั้น เราจึงมีบุคลากรเป็นตัวเลือกในวงจำกัดจากพรรคแกนนำที่ก่อตั้งขึ้นคล้ายพรรคเฉพาะกิจ และพรรคร่วมรัฐบาล เข้ามาบริหารประเทศ

คนรุ่นใหม่ๆ จากพรรคการเมืองใหม่ๆ ตลอดจนพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงเต็มไปด้วยบุคลากรที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความรู้ความสามารถที่ไม่มีโอกาสได้ทำงานให้ประเทศมารวมกันอยู่ ได้แค่เพียงเสนอความคิดเห็นโดยการอภิปรายในสภา ซึ่งแล้วมันก็ผ่านหูเลยไปโดยรัฐบาลแทบไม่ได้ไยดีอะไร?

เศรษฐกิจเป็นหัวใจในการก้าวเดินของประเทศ แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงกระเตื้องขึ้น รัฐบาลยังขาดนโยบายที่ชัดเจนแหลมคมในการดำเนินงาน ยังใช้ทีมงานรัฐมนตรีเศรษฐกิจแถว 2-3-4

ซึ่งในที่สุดแม้แต่การทำงานเพื่อแจกเงินประชาชนยังเป็นไปด้วยความล่าช้าตกหล่นไม่ราบรื่น แต่รัฐบาลกลับคิดว่าเป็นคนเก่งมีความสามารถ ไม่ฟังเสียงประชาชนทั่วไป ฝ่ายต่างๆ อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝ่ายค้าน

นายกรัฐมนตรีที่มาจากการยึดอำนาจ เป็นทหารมาตลอดชีวิตกลับกล้าเสนอตัวเข้ามาคุมทีมงานด้านเศรษฐกิจ โดยออกตัวยอมรับว่า “–ไม่เก่งเศรษฐกิจ แต่จริงใจ และไม่แก้ปัญหาแบบมักง่าย”? ประเทศของเราจึงอยู่ในสภาพที่เห็นและเป็นไปอย่างนี้

 

หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ประชาชนพอได้มองเห็นอะไรต่อมิอะไรชัดเจนขึ้นบ้าง กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาทั่วประเทศเข้าใจความเป็นไปของบ้านเมืองว่าไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ยังมีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน พวกเขาเริ่มรวมตัวกันเพื่อออกมาทวงคืนสิทธิเสรีภาพ เรียกร้องความถูกต้อง เป็นธรรมในสังคม แต่ทุกอย่างต้องพักกันไว้ก่อน–

เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสร้าย โคโรนา 2019 (Covid-19) ไปทั่วโลก สร้างความสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจโดยรวมจนแทบจะล้มละลายไปตามๆ กัน ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่แข็งแรง ถึงวันนี้ยังเอาไม่อยู่

รัฐบาลแทนที่จะระดมความคิดเห็นจากประชาชนโดยเร่งรีบเรียกเปิดประชุมสภา แต่กลับเกรงกลัวฝ่ายค้านจึงไม่ได้ดำเนินการ

ยังดีที่ประเทศของเรา แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์มีความสามารถสูง และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศแข็งขัน ทุ่มเททำงานกันอย่างไม่รู้จักความเหน็ดเหนื่อย น่าชื่นชม เราจึงสามารถผ่านพ้นจุดวิกฤตมาได้

ซึ่งสิ่งที่เราจะปฏิเสธไม่ได้เลยคือ ประชาชนที่ให้ความร่วมมืออย่างดีเยี่ยมมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมองข้ามความผิดพลาดหลายๆ จุดในระยะแรกๆ จากผู้บริหารที่อ่อนด้อยไร้สติปัญญาบางคนไปได้

 

เรายังไม่มีหน่วยงานไหนไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาล หรือองค์กรต่างๆ เข้ามาทำการสำรวจตรวจสอบถึงความสูญเสียเรื่องเศรษฐกิจว่ามากน้อยแค่ไหน หนักหนาสาหัสมากกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี พ.ศ.2540 หรือไม่ แต่เท่าที่ติดตามและประเมินด้วยประสบการณ์ดูเหมือนว่าหนักกว่า เพราะพังราบกันไปทั่วทั้งประเทศ ซึ่งคงต้องใช้เวลาบวกกับฝีมือการบริหารของรัฐบาลอีกนานกว่าจะกลับมาฟื้นคืนได้

สิ่งหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งประเทศไปจนถึงลูกถึงหลาน แม้กระทั่งที่ยังไม่ได้ลืมตาขึ้นมาดูโลกใน พ.ศ.อันใกล้นี้ด้วยซ้ำ คือ ต้องเป็นหนี้ เพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ทำการกู้เงินมากที่สุดเท่าที่มีรัฐบาลมาในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้

อาจจะเป็นการตกลงกันเอาไว้ในพรรคแกนนำตอนจัดตั้งรัฐบาลเรื่องเก้าอี้ “รัฐมนตรี” ว่าถึงเวลาต้องผลัดเปลี่ยน ด้วย ส.ส.บางคนที่พลาดตำแหน่งครั้งแรกทนรอต่อไปอีกไม่ไหว เวลาเดียวกันพรรคเล็กๆ ที่หนุนรัฐบาลก็เร่งเร้าอยากได้เก้าอี้ด้วย หรือเกิดจากความน้อยใจของพี่ใหญ่ซึ่งไม่ได้กำกับดูแลหน่วยงานสำคัญๆ อย่างทหาร ตำรวจ

กรรมการบริหารของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จึงพร้อมใจกันลาออก 18 คน เกินกว่าครึ่ง (ทั้งหมด 34 คน) จำเป็นต้องเลือกกรรมการบริหารกันใหม่ในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้

เรื่องนี้ถูกผลักดันเข้ามาขณะรัฐบาลกำลังชุลมุนอยู่กับการต่อสู้กับไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) จึงมีคนไม่เห็นด้วย ทำให้ฝ่ายรุกจำเป็นต้องหยุดพักไว้ก่อน เพราะใครๆ ต่างรู้ว่าการเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคเป็นการนำไปสู่การเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรีของกระทรวงการสำคัญ ซึ่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคนั่งกำกับอยู่ หมายถึงการปรับ “คณะรัฐมนตรี”

 

นักวิเคราะห์การเมืองทั้งหลายอ่านเกมต่อไปว่า ทั้งพี่ใหญ่-น้องรอง-น้องเล็ก ไม่น่าจะมีอะไรต้องปีนเกลียว ขัดอกขัดใจถึงกับเกิดการแตกแยก เพราะว่าเป้าหมายจริงๆ น่าจะถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนยกชุดทีม “เศรษฐกิจ” ของรองนายกรัฐมนตรี (คนดี) เหมือนกับที่เคยเปลี่ยนมาแล้วในรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้

คาดหมายกันว่ามีการติดต่อทาบทามใครต่อใครไว้หลายคนทีเดียว ไม่ใช่ ส.ส.ที่โยนชื่อขึ้นมาทดสอบสังคม เพราะชื่อเหล่านั้นน่าจะได้รับแต่เสียงร้องยี้มากกว่าอย่างอื่น ถ้าจะปรับให้ประชาชนพอรับได้ คนที่มาใหม่ควรจะต้องดีมีความรู้ ความสามารถมากกว่าเดิม

แต่ยังคาดหมายไม่ได้ว่าถ้ามีการปรับ “คณะรัฐมนตรี” จะปรับเพียงพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือปรับใหญ่ไปถึงพรรคร่วมรัฐบาลด้วยหรือไม่?

คงอีกไม่นานเกินรอ