วิรัตน์ แสงทองคำ : สัญญาณจากแบงก์ชาติ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เชื่อกันว่าเป็นสัญญาณอันแข็งขันของผู้ว่าการ ผู้กำลังจะพ้นตำแหน่งในไม่ช้า

“ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงให้ ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) จัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนสำหรับระยะ 1-3 ปีข้างหน้า โดยคำนึงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตและศักยภาพของลูกหนี้ในการทำธุรกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ในระหว่างที่ ธพ.จัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนใหม่นี้ ธปท.ขอให้ ธพ.งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานในปี 2563 รวมถึงงดการซื้อหุ้นคืน เพื่อให้ ธพ.รักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งและรองรับการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับแนวทางที่ธนาคารกลางหลายประเทศได้ดำเนินการแล้ว เพื่อรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19” สาระสำคัญจากถ้อยแถลงสั้นๆ (เพียง 200 คำ) ของวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

(ข่าว ธปท. ฉบับที่ 31/2563 เรื่อง ธปท.มุ่งให้ ธพ.เสริมสร้างเงินกองทุน เพื่อรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 เมื่อ 19 มิถุนายน 2563)

 

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ (1 ตุลาคม 2558-30 กันยายน 2563) วัย 51 ถือเป็นผู้ว่าการอายุน้อยที่สุด อย่างน้อยในช่วงประวัติศาสตร์ธนาคารกลางยุคสมัยราว 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

เขาเพิ่งประกาศไม่ขอสมัครเพื่ออยู่ในตำแหน่งอีกเทอม ขณะที่ช่วงเวลาการเปิดรับสมัครผู้ว่าการคนต่อไปเพิ่งจบลง (26 พฤษภาคม-16 มิถุนายน 2563)

วิรไท สันติประภพ ผู้มีประสบการณ์ในการบริหารธนาคารพาณิชย์ (8 ปี) และตลาดหลักทรัพย์ฯ (4 ปี) กับบทบาทช่วงท้ายๆ ตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ ท่ามกลางช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ของไทย จึงน่าจับตาเป็นพิเศษ

แทบจะทันทีเมื่อมีถ้อยแถลงข้างต้น กลายเป็นเรื่องราวสำคัญ ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่มีมุมมองเป็นไปในทางบวก ว่าด้วยบทบาทอันแข็งขันเชิงสร้างสรรค์ของธนาคารกลาง

ขณะที่บางคนบอกว่าเป็นการส่งสัญญาณตอกย้ำ เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเลวร้ายกว่าที่คิด

อย่างไรก็ตาม วันต่อมา แบงก์ชาติโดยอ้างถ้อยแถลงผู้ว่าการได้อรรถาธิบายเพิ่มเติมค่อนข้างยืดยาว (มากกว่า 2,500 คำ พร้อม infographic ประกอบ)

หากสนใจรายละเอียดเต็มฉบับ โปรดอ่าน “ธปท.ไขข้อข้องใจทำไมขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” และ “งดซื้อหุ้นคืน” 20 มิถุนายน 2563 (https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2020/Pages/n3363.aspx)

ขอจับบางประเด็นที่คิดว่าสำคัญ

“ใครที่ติดตามเรื่องของธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินรอบโลกก็คงไม่แปลกใจกับนโยบายเรื่องนี้ของ ธปท. ในขณะที่ ธปท.เพิ่งขอให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” และ “งดซื้อหุ้นคืน” ในระหว่างทบทวนแผนบริหารจัดการเงินกองทุนใหม่ ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลหลายประเทศทั่วโลกได้ออกนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปก่อนหน้านี้หลายเดือน บางประเทศ (เช่น อังกฤษ) ขอให้งดซื้อหุ้นคืน และไปไกลถึงขนาดขอให้งดการจ่ายเงินปันผลประจำปีจากผลประกอบการของปีที่แล้วด้วย บางประเทศ (เช่น สหภาพยุโรป และนิวซีแลนด์)” บางตอนจากถ้อยแถลง อาจตีความได้ว่า แนวทางที่ว่ากันว่าเป็นอย่างแข็งขันนั้น อาจจะแตกต่าง เป็นไปอย่างระแวดระวังเป็นพิเศษกว่าที่คิด

หากพิจารณาถ้อยแถลงอย่างถี่ถ้วน จะมีสาระที่แตกต่างไปบ้าง จากระบบธนาคารโลกซึ่งกล่าวอย่างกว้างๆ ถึง “การงดจ่ายเงินปันผล” ขณะที่แบงก์ชาติไทยให้ความหมายอย่างเฉพาะเจาะจง “เงินปันผลระหว่างกาล” โดยให้ความสำคัญ อรรถาธิบายไว้ค่อนข้างละเอียด

“ในภาวะปกติ ธนาคารพาณิชย์บางแห่ง (ไม่ใช่ทุกแห่ง) จะจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” ให้แก่ผู้ถือหุ้นในช่วงเดือนสิงหาคม “เงินปันผลระหว่างกาล” หรือ interim dividend เป็นการจ่ายเงินปันผลนอกรอบระยะเวลาบัญชี โดยไม่ต้องรอคำนวณผลการดำเนินงานเมื่อครบปี หรือครบรอบระยะเวลาบัญชี โดยอาจจะคำนวณจากผลประกอบการในรอบครึ่งปีแรกและผลการดำเนินงานที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนำมาจ่ายเป็น “เงินปันผลระหว่างกาล” ให้แก่ผู้ถือหุ้นในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม”

เป็นจริงอย่างที่ว่า “ธนาคารพาณิชย์บางแห่ง (ไม่ใช่ทุกแห่ง) จะจ่าย “เงินปันผลระหว่างกาล” เท่าที่สำรวจจะพบอย่างมีนัยยะสำคัญเฉพาะธนาคารใหญ่อย่างที่ยกมา (โปรดพิจารณาข้อมูลประกอบ) และที่สำคัญมีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย ในช่วงใกล้ๆ มานี้ พิจารณาเฉพาะธนาคารใหญ่ 3 แห่ง มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล เท่าที่คำนวณรวมกันปีละราวๆ หนึ่งหมื่นล้านบาท”

ที่สำคัญ ธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่งจ่ายปันผลประจำปีกันไปแล้ว ท่ามกลางช่วงเวลา Great lockdown เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก่อนหน้าเพียงเดือนเศษๆ กับมาตรการใหม่ของแบงก์ชาติ

ที่น่าสนใจอย่างมาก ธนาคารใหญ่ (ที่อ้างถึง) ได้จ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูงกว่าปกติอย่างไม่น่าเชื่อจะเป็นไปได้ รวมกันราวๆ 36,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ผลประกอบการกำไรสุทธิในปีที่ผ่านมามิได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด (โปรดพิจารณาข้อมูลประกอบอีกครั้ง) เหมือนประหนึ่งจะคาดการณ์สิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งใจชดเชยการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลอาจจะไม่มีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผมคิดอย่างที่หลายคนเชื่อ สัญญาณจากแบงก์ชาติที่ว่า นับเป็นบทบาทเชิงสร้างสรรค์ ควรเป็นไป โดยเฉพาะนำเสนอมุมมองและบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจอันทรงอิทธิพล ส่งผลกระทบในวงกว้าง

 

ข้อมูลจำเพาะ (1)

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ทุนจดทะเบียน 70,000 ล้านบาท ทุนที่ออกและชำระเต็มมูลค่า 33,991.92 ล้านบาท จำนวนหุ้นจดทะเบียน 3,395.59 ล้านหุ้น

ผู้ถือหุ้นรายย่อย 71.14% (7 มีนาคม 2562) การถือครองหุ้นต่างด้าว 16.45% (19 มิถุนายน 2563)

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด 23.38% (22 พฤษภาคม 2563)

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ทุนจดทะเบียน 40,000 ล้านบาท ทุนที่ออกและชำระเต็มมูลค่า 19,088.43 ล้านบาท จำนวนหุ้นจดทะเบียน 1,908.84 ล้านหุ้น

ผู้ถือหุ้นรายย่อย.98.57% (7 มีนาคม 2562) การถือครองหุ้นต่างด้าว 29.67% (19 มิถุนายน 2563)

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด 5.17% (12 มิถุนายน 2563)

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

ทุนจดทะเบียน 30,486.15 ล้านบาท ทุนที่ออกและชำระเต็มมูลค่า 32.932.60 ล้านบาท จำนวนหุ้นจดทะเบียน 2,393.26 ล้านหุ้น

ผู้ถือหุ้นรายย่อย 74.48% (12 มีนาคม 2562) การถือครองหุ้นต่างด้าว 48.98% (19 มิถุนายน 2563)

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด 8.52% (12 มิถุนายน 2563)