4 คำที่ “เจ้าสัวเจริญ” สอนลูกชาย ก่อนส่งไม้บริหารอาณาจักรช้าง

มหาเศรษฐี หรือคนที่ประสบความสำเร็จมากๆ ส่วนใหญ่มักจะหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์หรือการเป็นข่าว การจะรู้ว่าเขาคิดอะไร จึงเป็นเรื่องที่ไม่เข้าถึงง่ายนัก

อย่างคนที่กำลังจะกล่าวถึง “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของเมืองไทย และอันดับที่ 4 ของเอเชีย ผู้มั่งคั่งจากธุรกิจสุราและเบียร์ช้าง ก่อนจะต่อยอด แตกกิ่งก้านไปทำธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย

เจ้าสัวเจริญก็เป็นมหาเศรษฐีคนหนึ่งที่ไม่ค่อยเปิดให้สื่อสัมภาษณ์ ยิ่งระยะหลังที่ส่งไม้ต่อให้ลูกคนที่ 3 ซึ่งเป็นลูกชายคนแรกในบรรดาทายาททั้ง 5 คน คือ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” โดยให้บริหารอาณาจักรเบียร์ช้างในตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) คุณเจริญก็ยิ่งห่างหายจากการพูดคุยกับสื่อ

แต่การจะรู้อะไรเกี่ยวกับใครสักคน อาจไม่ต้องรอให้เขาบอกเล่าเองก็ได้ หลายครั้งเรารู้ได้จากการสอบถามคนใกล้ชิด

ถ้าจะเจาะจงลงไปกว่านั้นคือ ต้องดูว่าเขาสอนอะไรลูก เพราะแนวคิดการทำธุรกิจ หลักยึดในการทำงาน รวมถึงการดำเนินชีวิตของคนคนหนึ่งที่ยึดถือและทำมากว่าจะประสบความสำเร็จและจะยิ่งใหญ่ได้ ก็เปรียบได้กับตำราล้ำค่า เขาคงไม่ปล่อยให้สูญไปในรุ่นเดียว ย่อมต้องมีการถ่ายทอดส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานสืบต่อไป

ดังนั้น เมื่อมีโอกาสคุยกับ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” คำถามสำคัญที่พลาดไม่ได้คือถามว่าตอนเด็กๆ คุณพ่อปลูกฝังหรือกำชับอะไรมากที่สุด เรื่องอะไรที่ท่านให้ความสำคัญ

ซึ่งทายาทมหาเศรษฐีอันดับ 1 ตอบว่า

 

“ถามท่าน ท่านก็จะเล่าประวัติ ตามปกติคนยุคนั้นเขาไม่มีตอบแบบโป้งป้าง ท่านได้แค่เล่าประสบการณ์ให้ฟัง แล้วแต่เราจะไปเก็บเอาเองว่าเราได้มุมไหน จะให้เขาสอนเขาก็บอกว่าเขาไม่ถนัดสอน แต่เขาจะเล่าเรื่องราว แต่ถ้าเอาหลักๆ เชิงความคิด คุณพ่อมี 4 คำ คือ อดทน เสียสละ เงียบ ร่าเริง ท่านเคยพูดถึงอยู่แล้ว อดทนก็คือทำให้สำเร็จ เสียสละทำให้พ้นภัย เงียบทำให้มีสติ สติทำให้เกิดปัญญา ร่าเริงทำให้สุขภาพดี มองโลกในทางบวก ถ้าจะกล่าวโดยคร่าวๆ 4 คำนี้ ผมคิดว่า ตั้งใจทำงานไม่ไปต่อล้อต่อเถียงกับใคร ไม่ต้องไปสร้างเรื่องราวอะไรให้มันวุ่นวาย ถ้าเกิดมีเรื่องอะไรก็หยวนๆ ตามปกติคุณเจริญก็เป็นคนอย่างนั้น ท่านก็เป็นคนน่ารัก เรียบง่าย 4 คำนี้มันสะท้อนออกมาจากตัวคุณพ่อ

ส่วนคุณแม่ (คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี) มี 4 ประโยค คุณแม่บอกว่า สุขภาพเป็นของเราเอง เงินทองเป็นของคนอื่น อำนาจเป็นเรื่องชั่วคราว ชื่อเสียงเป็นเรื่องชั่วนิรันดร์ สุขภาพเป็นของเราเองท่านบอกว่า ถึงแม้แม่จะรักหนุ่มมากแค่ไหน แต่ถ้าอยากจะช่วยเรื่องสุขภาพก็ไม่รู้จะช่วยยังไง ถ้าเราป่วยก็ป่วย คนที่รักเราก็ไม่รู้จะช่วยเรายังไง เงินทองเป็นของคนอื่น คือถ้าจะคิดว่ามันเป็นของเรา แต่เดี๋ยวมันก็มาเดี๋ยวมันก็ไป อำนาจก็เป็นเรื่องชั่วครั้งชั่วคราว ไม่มีอะไรที่อยู่ยงคงกระพันตลอดไป ส่วนชื่อเสียง สิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราคิด เป็นสิ่งที่อยู่ตลอดไป”

“นี่คือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอน”

นอกจากบอกเล่าประสบการณ์ และส่งต่อหลักยึดในการทำงานการใช้ชีวิตแล้ว เจ้าสัวเจริญเตรียมความให้พร้อมลูกชายเติบโตมาเป็นนักบริหารสืบทอดธุรกิจ โดยการให้ลูกอยู่ในบรรยากาศแวดล้อมด้วยผู้ใหญ่ นักธุรกิจ เพื่อให้ฟัง ซึมซับ จดจำ เรียนรู้วิธีคิด เห็นได้จากที่ฐาปนเล่าถึงชีวิตในช่วงวัยเด็ก-วัยรุ่นของเขาว่า

“การเที่ยวเล่นซนก็มีบ้างตามประสาวัยรุ่น แน่นอนอยู่แล้ว ตอนเด็กๆ เคยไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อนคุณพ่อ คุณพ่อถามว่าจะไปไหน ผมบอกไปชะอำ คุณพ่อบอกว่า งั้นดีเลย มีคุณลุงปัญญา คุณลุงสวน ท่านก็เฮฮาดีนะ แต่ผมไปกับเพื่อนผมด้วยนะ เพียงแต่ว่าไปไหนก็มีผู้ใหญ่ไปด้วย”

“ตั้งแต่เด็กๆ มาผมก็เป็นคนค่อนข้างจริงจัง อาจจะโตกว่าวัย อาจจะเป็นเพราะว่าตอนเด็กๆ ใกล้ชิดกับคุณพ่อคุณแม่ โดยเฉพาะคุณพ่อ เวลาว่างก็ออกไปข้างนอกกับคุณพ่อ ได้ไปเจอะเจอนั่งฟังผู้ใหญ่คุยกัน ได้เก็บรายละเอียด บางทีเราฟังตอนนั้นก็ไม่ค่อยเข้าใจ

อย่างเช่น ตอนอายุประมาณสัก 12-13 ปี ม.ต้น ส่วนใหญ่ก็เที่ยวเล่น คุณพ่อก็บอกให้ไปด้วยกัน ผมจำได้ว่ามีวันหนึ่งนั่งรถนานมากไปกระทุ่มแบน ไปหาคุณปู่เฉลียว (อยู่วิทยา) คุณพ่อก็คุยงาน ผมก็ไม่ได้จับประเด็นได้ว่ามันเป็นส่วนสำคัญในช่วงชีวิตอย่างไร ตอนที่ผู้ใหญ่นั่งคุยกัน ผมก็ไม่ได้นั่งอยู่ในห้องนะ เพราะว่าไปเดินเล่น ชอบไปเดินเล่นดูอะไรข้างนอก ปู่เฉลียวก็บอกว่า “อ้าวหลาน มากินน้ำ” จำได้ว่าตอนนั้นได้กินสปอนเซอร์ อร่อยมากเลย แล้วคุณพ่อก็ได้เข้ามาลงทุนในโรงงานสุรากระทิงแดงที่กระทุ่มแบน สมุทรสาคร และที่นั่นก็เป็นหน้าที่แรกของผมตอนที่เข้ามาทำงานไทยเบฟ คือทำงานที่โรงงานสุรากระทิงแดง

มันก็มีความเชื่อมโยงนะครับ จำได้ว่าตามคุณพ่อไปพบผู้ใหญ่ ซึ่งก็ได้รับข้อมูลข่าวสาร ปะติดปะต่อเรื่องราวว่าผู้ใหญ่รุ่นนู้นเป็นอย่างไร การบริหารราชการแผ่นดินตอนนี้เป็นอย่างไร ก็เลยเป็นมุมมองที่ดี รู้สึกว่าเกี่ยวโยงกับงาน

เคยมีคำถามว่าทำไมจบมาถึงมาทำงานครอบครัว ไม่อยากไปทำอย่างอื่นบ้างเหรอ ผมว่ามันเป็นความผูกพัน เป็นความเรียบง่ายที่แทบจะไม่ต้องตอบ เพราะว่าจบกลับมาก็มาทำโดยหน้าที่ มาให้คุณพ่อคุณแม่ใช้งานให้คุ้ม”

แม้ว่าฐาปนบอกว่าพ่อไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาสอนอย่างจริงจัง เพียงแต่ใช้วิธีการเล่าประสบการณ์ให้ซึมซับเอง และวิธีการสอนแบบนี้ก็ได้ผลดี เพราะผลที่ได้คือ ฐาปนเติบโตมาเป็นนักบริหารหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีหัวใจนักบริหารอย่างเต็มเปี่ยม พร้อมวิสัยทัศน์ที่จะพาไทยเบฟก้าวไกลขึ้นไปเป็นบริษัทคนไทยในแถวหน้าของเวทีโลก