จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 26 มิ.ย. – 2 ก.ค. 2563

จดหมาย

0 ดูแลโรงพยาบาล

 

…อันความกรุณาปรานี

จะมีผู้ใดบังคับก็หาไม่

หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ

จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน…

 

หลังจากเอาใจช่วยเอาใจเชียร์คุณหมอ-คุณพยาบาลมานานนม

วันนี้พวกเราชาวไทยก็ได้ชื่นชม-ชุ่มฉ่ำใจดั่งสัมผัสสายฝนเย็นฉ่ำ

ที่การสาธารณสุขไทยได้รับการสดุดียกย่องจากนานาอารยประเทศในการแก้วิกฤตการระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ได้อย่างดีเยี่ยม

นับว่าเป็นประวัติการณ์สร้างวีรบุรุษและวีรสตรีครั้งสำคัญ

และเป็นครั้งแล้วครั้งเล่า

ที่สามัญชนคนธรรมดาอย่างเราๆ ซาบซึ้งอย่างขมขื่นใจว่าวงการแพทย์บ้านเรานั้นปิดทองหลังพระมาโดยตลอด

โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์-พยาบาลและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยโรงพยาบาลของรัฐ (อัตคัดขัดสนงบประมาณ) ที่ยืนหยัดปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้เจ็บป่วยมาด้วยความอดทน ทุ่มเท เสียสละ อุทิศตนอย่างเสี่ยงภัยพลีชีพ

ซึ่งนับแต่นี้ไป

พวกเรา “เหล่าผู้ป่วย” ก็หวังใจว่าเสียงก้องในคุณงามความสามารถของคุณหมอ คุณพยาบาลการสาธารณสุขไทย

จะกระตุ้นเตือนใจให้ “ผู้ใหญ่” เบื้องบน

ได้พิจารณาถึงการจัดสรรปันส่วนงบประมาณแผ่นดินให้เหมาะสมและเพียงพอต่อสภาพความเป็นจริงของการสาธารณสุขที่ต้องดูแลผู้เจ็บไข้ได้ป่วยทั่วทั้งประเทศ

…ด้วยที่เห็นและเป็นอยู่นั้นพานให้น้อยใจในชะตากรรม

อย่างโรงพยาบาลอำเภอบ้านผมนั้น เป็นสถานพยาบาลขนาด 60 เตียง

แต่ทว่ามีผู้คนเจ็บป่วยเดินทางมาเยียวยารักษาระดับร้อยกว่าเตียง

…นอกจากผู้ป่วยจากโรงพยาบาลอำเภอใกล้เคียงจะนำส่งคนเจ็บมาฝากรักษาต่ออยู่เนื่องแล้ว

ยังต้องดูแลสุขศาลา (โรงพยาบาลในชุมชน) อีกเป็นสิบกว่าตำบล

ซึ่งแต่ละแห่งไม่มีงบประมาณการเบิกจ่ายค่ายาจะให้

…มีมากมายหลายคนไข้หนัก มีหมอเฉพาะทางคอยรักษา

แต่โรงพยาบาลอำเภอไร้อุปกรณ์การแพทย์ก็จำต้องเร่งตะบึง Ambulance ขนย้ายกันไปพึ่งพาอาศัยโรงพยาบาลน่าน (ซึ่งลำพังก็ขาดงบประมาณการช่วยเหลือตัวเองอยู่แล้วยังต้องมาเป็นโรงพยาบาลเตี้ยอุ้มค่อมอีกต่างหาก)

เออหนอ…

เมื่อเกิดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล โรงพยาบาลอำเภอก็เป็นหนี้โรงพยาบาลจังหวัด เพราะรัฐให้เงินช่วยเหลือผู้ป่วยต่อหัวนั้นน้อยกว่าค่ารักษา ฯลฯ ก็ติดค้างกันไว้

พอนานๆ ไปก็พอกพูนเป็นหนี้ NPL

อีกทั้งค่าน้ำ ค่าไฟในการปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบบำบัดทุกข์ เยียวยารักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาลก็บานทะโรค

เป็นโรคเรื้อรังที่รอความหวังได้รับการบำบัดปัดเป่าให้ทุเลาเบาบางจาก “เบื้องบน” อย่างวังเวงมานานแสนนาน

…เมื่อต้องอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวใจเช่นนี้แล้ว

จะไม่ให้แพทย์และพยาบาลเจ็บป่วยกันทั้งระบบ (ทั่วทั้งประเทศ) ได้อย่างไรกันเล่าล่ะหนอ

สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

 

เห็นด้วย

เราอีลุ่ยฉุยแฉกกับเรื่องแย่ๆ มามากต่อมาก

เจียดเอามาทำสิ่งที่ดีๆ และจำเป็นกับหมอ พยาบาลและโรงพยาบาล

จะดีกว่า

 

0 กวีนิพนธ์รัตนโกสินทร์

เรียนบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์

กวีนิพนธ์ของกรุงรัตนโกสินทร์ อ่านเจอเลยเขียนมาฝากท่าน บ.ก.ค่ะ

1) เจ้าพระยาพระคลัง (หน) 2) พระธรรมปรีชา 3) พระเทพโมฬี 4) นรินทร์ (อิน) 5) พระยาตรัง

6) สุนทรภู่ 7) ร้อยเอกเจมส์โลว์ 8) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมปรมานุชิตชิโนรส 9) สมเด็จกรมพระยาเดชาติศร 10) พระยาไชยวิชิต

11) พระยาไชยวิชิต 11) นายมี 12) คุณพุ่ม 13) “สุวรรณ” 14) มหามนตรี 15) กรมหลวงวงษาธิราชสนิท

16) กรมหมื่นไกรสรวิชิต 17) กรมหลวงภูวเนตร์ 18) หม่อมกระต่าย 19) พระยาอิศรานุภาพ (อ้น) 20) หลวงจักรปาณี

21) “เทียนวรรณ” 22) กรมหลวงพิชิตปรีชากร 23) พระยาศรีสุนทรโวหาร 24) มหาธีรราช 25) กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

26) กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ 27) “น.ม.ส. 28) กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ 29) พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน) 30) เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

31) ครูเทพ 32) “เขียวหวาน” 33) พระยาอุปกิตศิลปสาร 34) พระยาสุรินทราชา 35) “แม่วัน”

36) เสฐียรโกเศศ 37) นาคะประทีป 38) ชิต บุรทัต 39) “แมวคราว” 40 “เจ้าเงาะ”

41)” เอกชน” 42) “อักษราวลี” 43) นายผี 44) แสงทอง 45) “เปลื้อง”

46) “ฉันทิชย์” 47) อุชเชนี 49) ทวีปวร 50) อังคาร กัลยาณพงศ์

ณัช ศรีบุรีรักษ์ (กวียิปซี)

 

ขอบคุณทั้งไปรษณียบัตรใน “ขอแสดงความนับถือ”

และข้อมูลกวีกรุงรัตนโกสินทร์ ที่รวบรวมมาให้อ่าน

ใครจะเพิ่มเติมข้อมูลให้สมบูรณ์กว่านี้ เชิญ

เพื่อเข้าบรรยากาศวัน “สุนทรภู่”

อนึ่ง มีสัมภาษณ์อังคาร จันทาทิพย์ กวีซีไรต์ “ดับเบิล” คนแรกของไทย ที่หน้า 84

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่