ซีอีโอ สภาการเดินทางและท่องเที่ยวโลก ชูท่องเที่ยวไทย “ศตวรรษหน้า” ท็อปเท็นโลก

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก หรือดับเบิลยูทีทีซี โกลบอล ซัมมิต 2017 ซึ่งเป็นการประชุมผู้บริหารระดับสูงในแวดวงท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดของโลก ที่เกิดจากการรวมตัวของธุรกิจทุกประเภทในอุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยว เพื่อต่อยอดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และแสวงหาทางออกร่วมกันในประเด็นปัญหาหรืออุปสรรคที่สำคัญๆ เพื่อผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่เป็นสินค้าบริการที่สร้างรายได้ที่สำคัญอันดับแรกๆ ของนานาประเทศและประเทศไทยด้วย

โดยในปีนี้ การประชุมสุดยอดประจำปี 2560 ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายนนี้

กำหนดหัวข้อการประชุม เรื่อง “การเปลี่ยนโฉมหน้าโลกของเรา”

นายเดวิด สโคว์ซิลล์ ประธานและซีอีโอ สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (ดับเบิลยูทีทีซี) บอกว่า ในช่วงทศวรรษหน้า ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการเติบโตเร็วที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ตัวเลขล่าสุดของดับเบิลยูทีทีซี ในปี 2559 พบว่าอุตสาหกรรมการเดินทางและท่องเที่ยวของไทยขยายตัวเกือบร้อยละ 11 สร้างรายได้ 2.9 ล้านล้านบาทให้กับเศรษฐกิจไทย หรือร้อยละ 20.6 ของจีดีพี สร้างงานกว่าร้อยละ 15 ของการจ้างงานทั้งหมด 5.7 ล้านตำแหน่ง

ขณะที่ยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศขยายตัวร้อยละ 13 คิดเป็นรายได้เข้าประเทศ 1.9 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 19.2 ของรายได้จากการส่งออกรวมปี 2559

ในปี 2560 สัดส่วนรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อจีดีพีคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.9 และขยายตัว 6.5 ต่อปี ในช่วง 10 ปีข้างหน้าแตะ 5.9 ล้านล้านบาท เท่ากับ 1 ใน 3 ของจีดีพีรวมของประเทศ

ขณะที่ตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะขยายตัวร้อยละ 6.9 หรือ 6.1 ล้านตำแหน่ง ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ทุกปี คิดเป็นการจ้างงาน 9.6 ล้านตำแหน่ง เมื่อถึงปี 2570 นั่นเท่ากับว่าจะมีตำแหน่งงานใหม่อีก 3.9 ล้านอัตราในภาคการท่องเที่ยวของไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า

ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยจะมีการเติบโตเร็วที่สุดในช่วงทศวรรษหน้า หรืออยู่ในอันดับที่ 10 ของโลก

ด้านการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติระหว่างที่พำนักในประเทศคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 10.3 และอีกร้อยละ 7.3 ต่อปี ไปจนถึงปี 2570 ที่จะมีมูลค่ารวมถึง 4.2 ล้านล้านบาท เท่ากับร้อยละ 29.7 ของมูลค่าการส่งออกรวมในปีเดียวกัน

ซึ่งอัตราการขยายตัวนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 4.3

เป็นการยืนยันได้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า การประชุมสุดยอดจะมีเวทีเสวนาให้ผู้กำหนดนโยบายภาครัฐ ผู้บริหารระดับสูงภาคเอกชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้นำเสนอและหารือในประเด็นเกิดใหม่ที่กำลังส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ บุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่สุดในเวทีนี้ คือ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ นายเดวิด คาเมรอน ที่จะมาถ่ายทอดประสบการณ์การเมืองโลกและวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการเมืองโลกต่อภาคการท่องเที่ยว

พร้อมกันนี้ยังมีนักบริหารของค่ายยักษ์ใหญ่สายการบินอย่างเอมิเรตส์ แอร์ไลนส์ และแอร์เอเชีย เลขาธิการองค์การท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ

ส่วนในฟากธุรกิจโรงแรมมีหัวเรือใหญ่อย่างกลุ่มโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล อโกด้า เว็บไซต์จองที่พักชื่อดังของโลก และเสิร์ชเอ็นจิ้นอย่างกูเกิล เป็นต้น

คาดว่าจะมีผู้ร่วมงานกว่า 900 คน และสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศจากทั่วโลกกว่า 150 องค์กร

 

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในปีนี้ คือ โอกาสอันดีที่จะแสดงให้นานาประเทศเห็นว่ากรุงเทพฯ มีศักยภาพในการจัดประชุมระดับนานาชาติ สามารถรับรองผู้นำด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้ อีกทั้งยังแสดงถึงคำมั่นว่ารัฐบาลไทยจะพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการเดินทางของประเทศให้เติบโตมากยิ่งขึ้น

“ประเทศไทยเป็นตลาดท่องเที่ยวที่สำคัญของเอเชียและของโลก ซึ่งการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จะยิ่งช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ของการเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวระดับนานาชาติของไทย อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ความงดงามของวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว และอัธยาศัยไมตรีของคนไทยออกไปสู่สากลอีกด้วย

“ในต่างประเทศยังมองว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยยังมีจุดเด่นที่มีความอ่อนตัวสูง สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และผ่านวิกฤตทางการเมืองและเศรษฐกิจมาได้ตลอด สร้างความอุ่นใจและมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเลือกเดินทางมาประเทศไทย”

 

นายเดวิด สโคว์ซิลล์ ประธานของดับเบิลยูทีทีซี ย้ำว่า รัฐบาลไทยเข้าใจถึงความสำคัญของภาคธุรกิจบริการนี้และจนถึงปัจจุบันการลงทุนด้านการท่องเที่ยวก็ให้ผลตอบแทนที่ดี การที่ประเทศไทยมีโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ปี 2560-2564 ก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าไทยมีความมุ่งมั่นและต้องการให้การท่องเที่ยวสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

“ไทยเป็นประเทศเดียวที่ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่ม “future focus critical” ซึ่งหมายถึงไทยต้องตระหนักถึงการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมแม้ว่าในปัจจุบันถือว่าแข็งแกร่งอยู่แล้วและสามารถรองรับต่อความต้องการที่ยังคงเติบโตขึ้นอนาคต” โดยสามารถดำเนินการได้สามทาง คือ ขยายความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว คือ การเพิ่มห้องพัก ขยายสนามบินให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น

รวมทั้งเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ การบำรุงรักษาและการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย ที่ต้องอาศัยงบประมาณเพื่อปรับปรุงหรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ให้ทันสมัย มีคุณภาพ สามารถใช้งานได้ดีอยู่ตลอดเวลา การกระตุ้นความต้องการ การพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสำคัญเพื่อเป็นตัวกระตุ้นความต้องการใหม่ๆ ในกลุ่มนักท่องเที่ยว และเพื่อสร้าง หรือรักษาสัดส่วนการตลาดจากประเทศคู่แข่ง

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในอุตสาหกรรมการเดินทางและท่องเที่ยวรวมมูลค่า 245.5 แสนล้านบาท หรือราวร้อยละ 7.1 ของการลงทุนทั้งหมดในประเทศ สอดคล้องกับโรดแม็ป 3 แนวทางข้างต้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในการตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวจะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษหน้าอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ