วัฒนธรรมร้านหนังสือ วงจรเล็กๆ ที่ส่งผล “มหาศาล” คุยกับศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

วงจรเล็กๆ ที่ส่งผล “มหาศาล”

“มันมหาศาลแค่ไหนที่จะทำให้คนของเราฉลาดขึ้น เก่งขึ้น รู้มากขึ้น” มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ สะท้อนความคิด

และนั่นก็เป็นเหตุผลหลักที่เขาโดดเข้าร่วมเป็นหนึ่งในแรงสำคัญ ที่ผลักดันให้เกิดโครงการวัฒนธรรมร้านหนังสือ โครงการซึ่งดำเนินงานโดยมูลนิธิวิชาหนังสือ ที่มีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้สนับสนุน โครงการที่มีสาระสำคัญคือทำอย่างไรให้ร้านหนังสืออิสระ หรือร้านหนังสือเล็กๆ อยู่ได้ ไม่ลำบาก ไม่ขาดทุน และมีคนเข้าไปซื้อหนังสือในร้านมากขึ้น

แผนที่คิดไว้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ มกุฏบอกว่า มีทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งอย่าง “สั้น” ที่ทำก่อนคือ การมอบหนังสือเดินทาง หรือ “บุ๊กพาสปอร์ต” ให้นักอ่านที่เข้าร้านหนังสืออิสระต่างๆ

“ใครก็ได้ที่เข้าร้านหนังสือ แล้วเอาบุ๊กพาสปอร์ตไปประทับตรา ลงชื่อ ลงทะเบียน เพื่อที่เดือนหนึ่ง เดือนไหนก็ตาม ที่คุณไปซื้อหนังสือ คุณจะมีสิทธิได้รับรางวัลจากการจับสลากของโครงการ”

การจับสลากที่มีขึ้นทุกๆ เดือนเพื่อมอบรางวัลให้นักอ่านซึ่งสนับสนุนร้านหนังสืออิสระผู้โชคดีจะได้รับ ตัวรางวัลจะเริ่มต้นตั้งแต่การให้คูปองเงินสด เพื่อนำไปแลกซื้อหนังสือฟรีได้ทั่วประเทศ

“ซื้อแล้ว ร้านหนังสือก็จะมาขึ้นเงินกับเรา นั่นหมายความว่าเป็นอิสระที่คุณจะซื้อจากร้านไหนก็ได้ แล้วก็สามารถเลือกได้ตามต้องการ ไม่ใช่เราเป็นคนเลือกให้”

“ด้วยวิธีการนี้จะทำให้ร้านหนังสือต่างๆ มีโอกาสขายหนังสือเพิ่มขึ้น มีคนเข้ามาในร้านหนังสือเพิ่ม มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เพราะว่ามีตราประทับในพาสปอร์ต มีหนังสือให้เป็นรางวัล”

แถมยังมีรางวัลใหญ่ที่จะให้ตั๋วเครื่องบินในประเทศฟรี ให้ที่พักในโรงแรมของจังหวัดนั้นๆ ที่คนได้รางวัลเลือกได้ตามใจอีก 2 คืน แล้วยังมีเงินอีกจำนวนหนึ่งให้เลือกซื้อหนังสืออะไรก็ได้ในร้านหนังสือของเมืองนั้น

ซึ่งเป็นรางวัลที่จะออกทุกๆ 6 เดือน

ที่แจก แจก และแจก ขนาดนั้น มกุฏบอกว่า เป็นเพราะพฤติกรรมของคนทุกวันนี้มีการสั่งซื้อหนังสือทางออนไลน์กันมากขึ้น

และ “ถ้าคนซื้อหนังสือออนไลน์มากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่ร้านหนังสือเล็กๆ จะอยู่รอดก็ยากมากขึ้นเท่านั้น เพราะว่าออนไลน์สะดวก และมีการลดราคาด้วย แต่ไปร้านหนังสือคุณต้องเดินทางไป คุณก็ควรจะได้รางวัลจากการเดินทางไปซื้อหนังสือ”

เหตุที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการสนับสนุนการขายผ่านร้าน แม้ว่าสุดท้ายปลายทางของช่องทางการขายทั้ง 2 ประเภทก็ทำให้คนได้อ่านหนังสือเหมือนกัน มกุฏบอกว่า เป็นเพราะตามความเห็นของเขาร้านหนังสือคือโอกาสที่จะทำให้คนเข้าถึงความรู้ได้มาก

“ถ้าร้านหนังสืออยู่ไม่ได้ โอกาสของคนท้องถิ่นที่จะมาเปิดหนังสือดูวันละหน้า 2 หน้าก็จะหมดไป”

“ปรัชญาของร้านหนังสือไม่ใช่เพียงสถานที่ขายหนังสือ แต่ร้านหนังสือยังทำหน้าที่อย่างหนึ่ง เหมือนประเทศที่ฉลาดที่จะคิดเรื่องนี้ เขาคิดว่าร้านหนังสือคือห้องสมุดกลายๆ ของท้องถิ่น สมมุติว่าร้านหนังสือแห่งนี้อยู่ในอำเภอหนึ่ง หมู่บ้านหนึ่ง นั่นแสดงว่าคนที่เข้ามาในร้านหนังสือ มีโอกาสเปิดดูสักหน้า 2 หน้า 3 หน้า เขาก็จะรู้สาระในวันนั้นไป”

“ลองดูอย่างนี้แล้วกัน ถ้ามีร้านหนังสือในประเทศสักประมาณ 500 ร้าน แล้วมีคนเข้าร้านสัก 10 คน เท่ากับ 5,000 คน ถ้าเข้า 100 คน เท่ากับ 50,000 คน ถ้าทุกคนอ่านหนังสือเพียง 1 หน้าเมื่อเข้าร้านหนังสือนั้น เท่ากับแต่ละวันเรามีคน 50,000 คนได้ความรู้เพิ่มขึ้น 1 หน้า มันมหาศาลแค่ไหน”

“ในปรัชญาข้อนี้เราจึงจำเป็นที่จะต้องให้มีร้านหนังสือเยอะๆ แล้วก็ให้เสรีแก่คนที่จะเข้าไปใช้บริการ”

“เมื่อร้านหนังสือเล็กๆ อยู่ได้ คนเข้าร้านหนังสือมาก ประชาชนมีความรู้ พอมีความรู้เขาไปทำมาหากินได้งอกงามขึ้น เขาก็เสียภาษีให้รัฐบาลมากขึ้น”

“เป็นวงจรเล็กๆ แบบนี้”

ส่วนแผนระยะยาวที่คิดไว้เพื่อสนับสนุนการอ่านและแวดวงหนังสือในบ้านเรา เขาก็ว่ามีอีกหลายอย่าง ทั้งในเรื่องการดูแลการผลิต ดูแลการหาต้นฉบับ ซึ่งในอย่างหลังนี้ก็เริ่มแล้วกับโครงการแปลหนังสือ วรรณคดีและวรรณกรรมแห่งชาติอาเซียน

“ตอนนี้เรามีชื่อหนังสือที่ควรจะต้องแปลให้คนไทยได้อ่านกัน 450 เล่ม มีคณะกรรมการชุดหนึ่งที่พิจารณาหาคนแปล พิจารณาว่าจะให้พิมพ์อย่างไร ซึ่งเมื่อแปลเสร็จเราจะให้สำนักพิมพ์ต่างๆ เข้ามามีส่วน โดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ เอาไปพิมพ์ได้เลย โดยมีเงื่อนไขนิดหน่อย คือหนังสือในโครงการนี้ห้ามขายลดราคา”

“แล้วยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่จะค่อยๆ ทำไป”

“และอีกหลายๆ อย่างที่ยังพูดไม่ได้ เพราะรายละเอียดบางอย่างอย่างอยู่ในระดับกรม รายละเอียดบางอยู่ในระดับกระทรวง รายละเอียดบางอย่างอาจจะต้องถึงคณะรัฐมนตรี”

“ซึ่งต้องรอเป็นลำดับขั้นตอนไป”


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่