มุกดา สุวรรณชาติ : 88 ปี ยังไม่มี…ประชาธิปไตย แต่มีลอบสังหาร…อุ้มหาย – โหดเหี้ยมเพื่ออำนาจ

มุกดา สุวรรณชาติ

การใช้อำนาจเถื่อนแก้ปัญหาการเมือง

กรณีอุ้มหายนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ อดีตเอ็นจีโอเกี่ยวกับเยาวชนด้านเอชไอวี/เอดส์ และถูกตำรวจระบุว่าเป็นแอดมินเพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ” ซึ่งเขาอยู่ระหว่างลี้ภัยในกัมพูชา เนื่องจากถูกหมายจับในความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับความมั่นคง

VOA ภาคภาษากัมพูชารายงานว่า มีพยานสามคนยืนยันว่านายวันเฉลิมถูกลักพาตัวโดยกลุ่มชายที่มีอาวุธ 3 คน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ระหว่างที่ซื้อของบริเวณร้านค้าใกล้อพาร์ตเมนต์ของเขา นายวันเฉลิมถูกทำร้ายร่างกาย เขาพยายามตะโกนขอความช่วยเหลือ ก่อนจะถูกลากขึ้นรถยนต์สีดำหนีหายไป

นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาของฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย ระบุว่า กรณีนายวันเฉลิม เรียกได้ว่าเป็นบุคคลที่อาจถูกบังคับให้สูญหาย (Forced Disappearance) ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงทางกฎหมายระหว่างประเทศ หลังทางการกัมพูชาปฏิเสธไม่รับรู้ และไม่ยอมสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เรื่องการว่าจ้าง อุ้มหาย ในกัมพูชาคงเป็นเรื่องเกิดขึ้นบ่อย แต่ถ้าคนไทยปล่อยให้เกิดขึ้นโดยไม่สนใจ ไม่คัดค้าน มันจะลามมาถึงหน้าบ้านเราในเมืองไทย เพราะนี่คือการใช้อำนาจเถื่อน ที่ผู้ทำจะได้ใจทำแล้วทำอีก

ประวัติศาสตร์การเมืองสอนเราว่าเรื่องแบบนี้จะนำความรุนแรงมาสู่สังคม เป็นผลร้ายต่อประชาธิปไตย

 

เผด็จการทำมานานแล้ว
เริ่มจากยุคทมิฬ
หลังรัฐประหาร 2490

4มีนาคม 2492 ขณะที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ครองอำนาจ ได้มีการจับกุมและสังหาร 4 นักการเมือง ประกอบไปด้วย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีต ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี พรรคสหชีพ และเป็นอดีตรัฐมนตรีถึง 6 สมัย, นายถวิล อุดล อดีต ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเดียวกัน เป็นอดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ, นายจำลอง ดาวเรือง อดีต ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม, ดร.ทองเปลว ชลภูมิ อดีต ส.ส.จังหวัดปราจีนบุรี เลขาธิการพรรคแนวรัฐธรรมนูญ

ซึ่งบุคคลทั้ง 4 นี้ล้วนแต่เป็นนักการเมืองสายของนายปรีดี พนมยงค์ และ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ทั้งสิ้น

ค่ำวันที่ 3 มีนาคม ตำรวจได้เคลื่อนย้ายผู้ต้องหาทั้งหมดไปไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน โดยอ้างเหตุความปลอดภัยด้วยรถของตำรวจ เมื่อวิ่งมาถึงหลักกิโลเมตรที่ 12 ถนนพหลโยธิน เวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 4 มีนาคม ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนร่างละไม่ต่ำกว่า 10 นัด ในสภาพที่ทุกคนยังสวมกุญแจมืออยู่

ต่อมาตำรวจแถลงว่า กลุ่มโจรมลายูได้ดักซุ่มยิงเพื่อชิงตัวผู้ต้องหา และได้มีการปะทะกับตำรวจ แต่ตำรวจทั้งหมดราว 20 นายไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลย

คนทั่วไปไม่เชื่อนิยายเรื่องโจรมลายู แต่เชื่อว่าเป็นการกระทำของตำรวจเอง ภายใต้การบัญชาการของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้น

 

หลัง 14 ตุลา 2516-6 ตุลา 2519
ยังใช้วิธีลอบสังหาร

เริ่มต้นหลัง 14 ตุลาไม่ถึงปี วันที่ 23 สิงหาคม 2517 แสง รุ่งนิรันดรกุล นักศึกษารามคำแหง ซึ่งถูกระบุว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ยืนรอรถเมล์พร้อมคนสี่ห้าคนที่ป้ายรถ ถูกมือปืนซึ่งคอยอยู่ก่อนแล้วลงมือยิง แล้วมือปืนก็ซ้อนท้ายจักรยานยนต์หนีไปแบบมืออาชีพ

ข่าวการเสียชีวิตของแสงเป็นข่าวใหญ่ที่ขึ้นหน้าหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาบางฉบับเขียนข่าวทำนองว่า ตัวการสำคัญของฝ่ายซ้ายได้ถูกสังหารแล้ว

หน่วยงานซีไอเอถูกตั้งข้อสงสัยว่าอยู่เบื้องหลัง

ข่าวนี้ถูกนำไปโยงกับการเสียชีวิตของนิสิต จิรโสภณ ซึ่งเสียชีวิตก่อนหน้าเนื่องจากตกรถไฟ มีผู้สงสัยว่าจะไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นการฆาตกรรม

กรณีของ…พี่แสง…ไม่มีข้อสงสัยอะไรอีกแล้ว คำถามที่ตั้งขึ้นมาคือ ใคร? จะเป็นรายต่อไป

 

การล่าสังหาร
ที่เป็นขบวนการ “ขวาพิฆาตซ้าย”
ฆ่าแม้กระทั่งชาวนา

8สิงหาคม 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ออกโทรทัศน์ชี้แจงต่อประชาชนถึงสถานการณ์ “ขวาพิฆาตซ้าย” รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะปราบปรามประชาชน

แต่ยอมรับว่า… “การลอบสังหารผู้นำชาวนานั้น คล้ายมีขบวนการล่าสังหาร” เหยื่อจากการลอบสังหารในห้วงระยะเวลาดังกล่าวมีลักษณะเป็นขบวนการ และไม่มีการคลี่คลายคดีแต่อย่างใด

เกือบทั้งหมดเป็นผู้นำชาวนาในสังกัดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย เฉพาะเมษายน-ตุลาคมของปี 2518 ที่ตรวจสอบยืนยันได้ มีถึง 13 คน เช่น

5 เมษายน นายเฮียง สิ้นมาก ผู้แทนชาวนาสุรินทร์

21 เมษายน นายโง่น ลาววงศ์ ผู้นำชาวนาหมู่บ้านหนองบัวบาน จ.อุดรธานี

5 พฤษภาคม นายมงคล สุขหนุน ผู้นำชาวนานครสวรรค์

20 พฤษภาคม นายเกลี้ยง ใหม่เอี่ยม รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ อ.ห้างฉัตร

22 มิถุนายน นายพุฒ ปงลังกา ผู้นำชาวนาเชียงราย

3 กรกฎาคม นายจา จักรวาล รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่บ้านดง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

31 กรกฎาคม นายอินถา ศรีบุญเรือง ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ

ฯลฯ

 

วันสังหารหมู่ที่พังงา

23 กันยายน 2518 มีการชุมนุมประท้วงคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ที่ย้ายนายธวัช มกรพงศ์ ผู้ว่าราชการการจังหวัดพังงา ไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ทั้งนี้เพราะนายธวัช มกรพงศ์ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการต่อสู้ของฝ่ายนักศึกษาในกรณีเทมโก อเมริกา เพราะ ดร.ธวัชไปเสนอยกเลิกสัมปทานเหมืองแร่ดีบุกเกือบห้าหมื่นไร่ มูลค่าเป็นแสนล้าน จึงถูกกล่าวว่าเป็นผู้ว่าฯ ฝ่ายคอมมิวนิสต์

เมื่อมีคำสั่งย้ายดังกล่าว นักศึกษา ประชาชนชาวพังงาจึงชุมนุมประท้วงที่หน้าศาลากลางเพื่อคัดค้านคำสั่ง

การชุมุนมยืดเยื้อไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม ก็เกิดเหตุร้ายเมื่อมีการขว้างระเบิดกลางที่ชุมนุม ทำให้ประชาชนเสียชีวิต 15 คน และบาดเจ็บ 17 คน

การสังหารหมู่ที่ปัตตานี จากการที่มีการวิสามัญฆาตกรรมชาวบ้าน 5 ศพที่แม่น้ำสายบุรี ทำให้มีการชุมนุมเรียกร้องหน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี แต่ได้เพียงแค่สองวันก็เกิดเหตุโยนระเบิดเข้าใส่ผู้ชุมนุมประท้วงในช่วงเวลาประมาณหนึ่งทุ่มของคืนวันที่ 13 ธันวาคม 2518 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน และบาดเจ็บอีกนับ 30 คน

สังหารและโจมตีพรรคการเมืองโดยตรง

สมัยก่อนไม่มีองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการภิวัฒน์ การกำจัดพรรคการเมืองและนักการเมืองคู่แข่ง จึงใช้วิธีข่มขวัญ และฆ่า

15 กุมภาพันธ์ 2519 ได้มีคนร้ายปาระเบิดที่ทำการพรรคพลังใหม่ในกรุงเทพฯ ปรากฏว่า การปาระเบิดผิดพลาด ทำให้ผู้ก่อเหตุเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และบาดเจ็บสาหัสจนต้องถูกตัดแขน และได้มีการค้นพบบัตรสมาชิกกระทิงแดงในตัวของบุคคลทั้งสอง แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ดำเนินการอย่างไร

28 กุมภาพันธ์ 2519 ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยถูกลอบยิงเสียชีวิต ในคืนเกิดเหตุวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2519 ขณะกลับจากงานเลี้ยงส่ง สถานทูตออสเตรเลีย เวลา 01.30 น. ของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2519 ดร.บุญสนองซึ่งขับรถซีตรอง ก่อนถึงวิภาวดีรังสิต ซอย 44 เพื่อกลับบ้านพักภายในซอย ได้ถูกยิงทะลุกระจก เป็นเหตุให้รถแฉลบลงคูข้างทางเสียชีวิต นี่เป็นการลอบสังหารและข่มขู่ก่อนการเลือกตั้ง 4 เมษายน 2519

24 มีนาคม 2519 มีการปาระเบิดที่จังหวัดชัยนาท ในขณะที่นายสมหวัง ศรีชัย ผู้สมัครพรรคพลังใหม่ กำลังปราศรัยหาเสียงที่วัดหนองจิก อำเภอวัดสิงห์ ขณะนั้นมีผู้ฟังการปราศรัยอยู่ราว 200 คน ปรากฏว่าระเบิดไม่ถูกนายสมหวัง แต่กลับทำให้ประชาชนที่ฟังการหาเสียงเสียชีวิต 8 คน บาดเจ็บอีก 10 คน

**(การเลือกตั้ง 2518 พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ได้ ส.ส. 15 คน พรรคพลังใหม่ได้ ส.ส. 12 คน พรรคแนวร่วมสังคมนิยมได้ ส.ส. 10 คน แต่พรรคเหล่านี้ถูกกล่าวหา โดยคำขวัญว่า สังคมนิยมทุกชนิด คือคอมมิวนิสต์นั่นเอง การฆ่าข่มขวัญครั้งนี้ทำให้ผู้สมัคร ส.ส.หลายคนไม่ลงสมัคร ด้วยการสกัดกั้น ทั้งด้วยอาวุธ การข่มขู่และ เงิน พรรคฝ่ายก้าวหน้าที่ปี 2518 ได้ ส.ส.รวมกัน 37 คน ปี 2519 เหลือเพียง 6 คน)

 

การเสียชีวิต
ของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา
มาจากการรับข้าวเหนียวมะม่วง
หรือรับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม

หลัง 14 ตุลา พล.อ.กฤษณ์ได้กลายเป็น “ผู้ค้ำยัน” รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ เพราะดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. จนถึง 30 กันยายน 2518 หลังเลือกตั้งเดือนเมษายน 2519 ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เมื่อวันที่ 21 แต่วันที่ 23 ก็เสียชีวิต มีข่าวว่าเพราะกิน “ข้าวเหนียวมะม่วง”

คำเตือนสุดท้ายจาก พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา มีมาก่อนการเลือกตั้ง ผ่านมาทาง ส.ส.ไขแสง สุกใส พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ว่า

“ผมไม่มีอำนาจเหมือนเก่า เกษียณแล้ว ปกป้องพวกคุณไม่ไหว เขาจะฆ่าพวกคุณ หลบไปก่อน”

และก็เป็นเรื่องจริง ทำให้แกนนำฝ่ายซ้ายหลายคนหนีรอดไปได้ แต่คนเตือนไม่คิดหนี

 

การโจมตีขบวนการนักศึกษา

18 กุมภาพันธ์ 2519 นายอมเรศ ไชยสะอาด นักศึกษามหิดล ฝ่ายการเงินของศูนย์นิสิตฯ ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างไปออกค่ายที่อำเภอด่านขุนทด นครราชสีมา

3 มีนาคม 2519 มีคนร้ายวางระเบิดที่โรงเรียนช่างกลพระรามหก ผู้อำนวยการโรงเรียนนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนขบวนการนักศึกษา และเคยถูกลอบยิงจนได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2518 คนร้ายที่มาวางระเบิดบอกว่า การวางระเบิดมีขึ้นเพื่อสั่งสอนฝ่ายซ้ายให้รู้สำนึก เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 3 คน

21 มีนาคม 2519 มีการขว้างระเบิดใส่ขบวนของนักศึกษาประชาชนที่เดินขบวนต่อต้านฐานทัพอเมริกาที่บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์สยาม มีผู้เสียชีวิต 4 คน เป็นนักศึกษารามฯ 2 คน วิศวะจุฬาฯ 1 คน นักเรียน 1 คน บาดเจ็บ 20 กว่าคน

12 มิถุนายน 2519 ขณะที่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นกำลังตั้งแถวต้อนรับนักศึกษาใหม่ที่มาจากกรุงเทพฯ ที่สถานีรถไฟก็มีการขว้างระเบิดใส่ ทำให้มีนักศึกษาเสียชีวิตจากเหตุระเบิด 2 คน บาดเจ็บ 52 คน บาดเจ็บสาหัส 18 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีอาจารย์ด้วย 2 คน

ที่จริงการเข่นฆ่าทำร้ายจากผู้มีอำนาจ มีอาวุธ มีมากมายบรรยายไม่หมด แต่ที่ดังมากคือความรุนแรงสองครั้งหลัง ในเหตุการณ์ชุมนุมต่อต้านการกลับมาของจอมพลประภาส เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2519 และเหตุการณ์รัฐประหารโหด 6 ตุลาคม 2519 ทำให้นักศึกษา-ประชาชนหนีเข้าป่าไปหลายพันคน

การฆ่ายุคนั้นทำกันอย่างเปิดเผย ไม่ต้องอุ้มไปแอบฆ่า แต่ผลก็คือ คนที่ถูกไล่ฆ่าก็หันไปจับปืนบ้าง ต่อสู้กันหลายปี มีคนตายเป็นหมื่น ช่วงนั้นระบอบประชาธิปไตยไม่มีใครพูดถึงแล้ว เพราะได้ข้อสรุปว่าปืนจึงจะสู้กับปืนได้ (ต่อฉบับหน้า)

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่