เมื่อใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้ ใครรับบท “หมาเฝ้าบ้าน”? | กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

ภาพที่ผมเอามาให้ดู สมัยหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ แวดวงสื่อเขาเรียกว่า “ห้องข่าวหลอมรวม” หรือ Convergent Newsroom

ไม่เพียงแต่สื่อตะวันตกที่ให้คนข่าวปรับตัวเองให้ทำงานครบทุกสื่อ

ไทยเราก็ไม่ได้น้อยหน้า…พยายามปรับพยายามเปลี่ยนให้ทันคลื่นที่ถาโถมมาทุกทิศทาง

แต่สุดท้ายจะทันหรือไม่ทันประวัติศาสตร์บทนั้นยังบันทึกไม่เสร็จ

เป็นแนวโน้มยุคที่สื่อผ่านความเปลี่ยนแปลงระหว่างสื่อดั้งเดิมสู่สื่อดิจิตอล…ก่อนจะเข้าสู่ “ยุคพายุสมบูรณ์แบบ” หรือ Perfect Storm ที่ทำลายล้างโครงสร้างการทำงานของสื่อในเกือบทุกวงการ

ยิ่งเมื่อ Covid-19 มาซ้ำเติมด้วยการอาละวาดไปทั่วโลกด้วย สื่อก็เป็นหนึ่งในเหยื่อของสถานการณ์ที่ต้องหาหนทางอยู่รอดให้ได้ท่ามกลางความท้าทายและแรงกดดันรอบด้าน

แต่เรื่องของ “ห้องข่าวหลอมรวม” มีที่มาที่ไปที่น่าสนใจ สมควรจะจารึกเอาไว้เป็นตำนานแห่งวงการสื่อที่กำลังจะเปลี่ยนไปอย่างรุนแรง

เพราะเทคโนโลยี

เพราะพฤติกรรมผู้เสพข่าว

เพราะในยุคโซเชียลมีเดีย ทุกคนสร้างเนื้อหาได้ ไม่เฉพาะแต่คนที่เรียกตัวเองว่าคนข่าวอาชีพเท่านั้น

รูปแบบของ Convergent Newsroom ในยุคนั้นคือการให้คนทำข่าวปรับตัวให้สามารถนำเสนอเนื้อหาผ่านสื่อครบวงจรไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์, วิทยุ, ทีวีหรือพอดแคสต์ที่เพิ่งจะเริ่มมีให้เห็นในช่วงนั้น

ช่วงนั้นมีการเปิดช่องทางให้คนเขียนบทความและความเห็นคล้ายๆ กับบันทึกประจำวันส่วนตัว (ไดอารี่) บน Blog ได้

บล็อกก็คือช่องทางออนไลน์ที่ทุกคนเปิดเวทีของตัวเอง เขียนแล้วส่งให้คนอ่านเข้ามาอ่านหรือแสดงความเห็น อีกทั้งยังส่งต่อหรือที่เรียกว่าแชร์ได้

เป็นช่วงเดียวกับที่มีโซเชียลมีเดียที่เรียกว่า Twitter ซึ่งเปิดทางให้ผู้คนส่งข้อความสั้นๆ ไม่เกิน 140 ตัวอักษรได้

นั่นคือปี 2006

ก่อนหน้านั้นหนึ่งปีคือ 2005 มีการเปิดตัว YouTube เป็นช่องทางบนอินเตอร์เน็ตเพื่อการส่งคลิปวิดีโอขึ้นไปแบ่งปันกันดูและแชร์

ก่อนหน้านั้นเพียงปีเดียว 2004 มีการเปิดตัว Facebook เป็นครั้งแรกเพื่อให้คนที่สมัครเป็นสมาชิกสามารถจะสร้างกลุ่มเพื่อนพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ง่ายๆ ผ่านคอมพิวเตอร์และมือถือ

ตอนนั้นไม่มีใครคิดว่าแพลตฟอร์มสองตัวนี้จะสามารถเปลี่ยนโลกได้อย่างเหลือเชื่อ

เมื่อเกิด Blog, Facebook และ Twitter คนข่าวจำนวนหนึ่งในไทยเองก็เริ่มจะถามตัวเองว่ามันจะมาเกี่ยวข้องกับการทำงานของตัวเองอย่างไร

ส่วนใหญ่ไม่สนใจ ไม่คิดว่าจะมีความเชื่อมโยงกับการทำมาหากินของตัวเองแต่อย่างไร

“ก็เป็นแค่ของเล่นสำหรับคนบ้าเทคโนโลยี” คือประโยคที่ได้ยินบ่อยๆ ในช่วงนั้นจากผู้คนในแวดวงสื่อ

ต่อมาในปี 2007 สตีฟ จอบส์ เปิดตัวโทรศัพท์มือถือที่เรียกว่า iPhone

เขาบอกว่า มันเป็นที่รวมของโทรศัพท์, อินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ เป็นครั้งแรกที่ปฏิวัติคำว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่

และคำว่า Apps หรือ Applications ก็เกิด…เป็นส่วนเสริมบน iPhone ที่สามารถทำอะไรต่อมิอะไรได้มากกว่าเพียงแค่ถ่ายรูปและพูดโทรศัพท์

ผมจำได้ว่าเมื่ออุปกรณ์นี้สามารถถ่ายภาพนิ่งและเคลื่อนไหวเป็นวิดีโอได้ อีกทั้งยังส่งผ่าน YouTube, Facebook และ Twitter ไปถึงคนอื่นได้ ผมก็เริ่มเอะใจว่าคนทำสื่อกำลังจะถูกกระทบแน่นอน…ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

คำว่า Disrupt ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย

และถึงแม้จะมีคนเริ่มเตือนว่าถ้าผู้คนสามารถส่งข้อความ, เสียงและวิดีโอให้แก่กันและกันได้ คนอาจจะหันมาเสพสื่อผ่านมือถือ

แต่ไม่มีใครเฉลียวใจว่ามันจะมาแทนหลายๆ ส่วนของทีวี

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เมื่อมีเว็บไซต์ คนเริ่มอ่านข่าวและบทความบนอินเตอร์เน็ตได้ เป็นทางเลือกสำหรับคนอ่านหนังสือพิมพ์ แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณเตือนภัยที่เด่นชัดอะไรนัก

ใครที่ตั้งประเด็นว่าหนังสือพิมพ์อาจจะถูกทดแทนโดยสื่อออนไลน์จะถูกเยาะเย้ยถากถางว่าเป็นคนขี้ตื่น ไม่เข้าใจหรือว่าคนต้องอ่านหนังสือพิมพ์เพราะเป็นกิจวัตรประจำวันที่สำคัญสำหรับทุกคนทุกวัย

สัญญาณเตือนภัยเริ่มชัดขึ้นสำหรับคนทำหนังสือพิมพ์ แต่การปรับตัวก็ยังช้าอยู่ บางสื่อหนังสือพิมพ์ทำเว็บไซต์อย่างไม่ค่อยเต็มใจเท่าไหร่ แต่เมื่อถูกรุกเร้ามากขึ้น ก็ทำเว็บไซต์ขึ้นมา และเอาเนื้อหาจากหนังสือพิมพ์นั้นเอาขึ้นเว็บ

เพื่อให้ได้ชื่อว่า “เราก็ทำเนื้อหาออนไลน์แล้ว”

อ้างได้ว่าไม่ตกยุค ไม่ต้องให้ใครมาถามอีกว่าได้ปรับตัวกับโลกออนไลน์หรือยัง

แต่ไม่ได้ทำด้วยความทุ่มเท ไม่ได้ทำด้วยยุทธศาสตร์

การสร้างคนก็ไม่ได้มุ่งไปทางเพิ่มทักษะที่จะเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างจริง ทำอย่างเสียไม่ได้ และขาดเป้าหมายร่วมกันว่าจะต้องสร้าง “คนข่าวยุคดิจิตอล” ที่แท้จริง

คนข่าวยุคดิจิตอลที่ว่านี้คืออะไร?

ไม่ได้เริ่มที่การเพิ่มทักษะแม้จะเป็นเรื่องสำคัญ

แต่ที่สำคัญกว่าคือ “วิธีคิด” หรือ mindset

คำว่า Mindset มีมากกว่า “คิดอย่างไร” แต่รวมถึงทัศนคติต่ออาชีพและชีวิตของตนเองและการมองความเปลี่ยนแปลงของโลกและแนวโน้มของสิ่งที่ตนทำอยู่จะสอดคล้องกับอนาคตอย่างไร

Mindset หมายรวมถึงความพร้อมที่จะเรียนรู้ว่าการทำหน้าที่ของตัวเองจะยกระดับขึ้นมารับกับความท้าทายใหม่ๆ ได้อย่างไรด้วย

ดังนั้น การปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงจึงหมายถึงการปรับวิธีคิดและการวางเป้าหมายของชีวิตให้ตรงกับความแปลกใหม่ที่มาเยี่ยมเยือนทุกคนที่ยืนอยู่ท่ามกลางพายุหนักหน่วงรุนแรงที่ไม่เคยประสบพบมาก่อนทั้งสิ้น

การตั้ง “ห้องข่าวหลอมรวม” หรือ Convergent Newsroom จึงเป็นเครื่องมือหรือ “กุศโลบาย” อย่างหนึ่งที่จะจัดระเบียบให้คนข่าวเรียนรู้ทักษะหลายๆ อย่างในการทำหน้าที่ของตัวเองในโลกยุคใหม่

นั่นหมายถึงการเรียนรู้ฝึกฝนตัวเองที่จะผลิตเนื้อหาทั้งที่เป็นข้อความ (text) แบบหนังสือพิมพ์, เสียง (audio) แบบวิทยุ และภาพเคลื่อนไหว (video) แบบโทรทัศน์

ฝึกฝนเรียนรู้ลองผิดลองถูกกับเครื่องมือใหม่ และทำหน้าที่เป็นคนข่าว “หลากสื่อ” ที่เรียกว่า multi-media journalist ในยุคที่ไม่รู้แน่ชัดว่าสื่อจะไปทิศทางไหนกันแน่

แต่รู้แน่ว่าผู้เสพเนื้อหามีทางเลือกมากขึ้น

และเมื่อ “ใครก็เป็นนักข่าวได้” เพราะมีมือถือที่สามารถใช้ถ่ายรูป อัดเสียงและคลิปวิดีโอด้วยตนเองและแบ่งปันให้คนอื่นได้ด้วยการส่งขึ้นโซเชียลมีเดีย คนข่าวก็ควรจะรับรู้ว่าตัวเองจะต้องปรับต้องเปลี่ยนบทบาทของตัวเองอย่างไร

เดิมคนทำสื่อได้ชื่อว่าเป็น “ผู้เฝ้าประตู” หรือ Gatekeeper

หรือเป็น “หมาเฝ้าบ้าน” Watchdog ทำหน้าที่กลั่นกรองเนื้อหาแทนคนอ่านคนฟังคนดู และเฝ้าระวังสิ่งผิดหูผิดตาให้กับสังคม

แต่เมื่อ “ประตู” นั้นเปิดกว้าง และทุกคนเป็น “หมาเฝ้าบ้าน” ร่วมกันได้ คนทำสื่อดั้งเดิมก็ต้องตระหนักว่าความเป็นมืออาชีพหมายถึงการต้องยกระดับตัวเองให้สามารถนำเสนอเนื้อหาที่ลึกกว่า, กว้างกว่า และเจาะหาสาระที่ “หาที่ไหนไม่ได้”

แต่ความสำเหนียกเช่นนั้นไม่เกิดหรือเกิดช้า

เหมือนตอนเกิดสายการบินประหยัดที่มีคำขวัญว่า “ใครๆ ก็บินได้” (Everyone can fly)

เริ่มแรก สายการบินหลักไม่ใส่ใจ ไม่เชื่อว่าสายการบินที่ไม่มีบริการครบถ้วนจะมาแข่งกับตัวเองได้

เหมือนคนทำหนังสือพิมพ์บอกตัวเองในตอนนั้นว่ายังไงๆ คนก็ยังต้องมาอ่านสิ่งที่ตนตีพิมพ์ ไม่เชื่อว่า “ใครก็เป็นนักข่าวได้” จะเกิดขึ้นจริง

แต่สายการบินประหยัดเปลี่ยนอุตสาหกรรมการบินและพฤติกรรมของคนได้อย่างคาดไม่ถึง

เพราะการนำเสนอให้ผู้คนสามารถบินได้ด้วยราคาที่สูงกว่ารถไฟและรถโดยสารไม่มากนัก แต่ประหยัดเวลาและ “สร้างความรู้สึกที่ดี” ให้กับชนชั้นกลางที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะสามารถขึ้นเครื่องบินได้ ทำให้ภูมิทัศน์การบินเปลี่ยนไปรวดเร็ว, กว้างขวาง, รุนแรง

สายการบินดั้งเดิมปรับตัวไม่ทัน พ่ายแพ้เกมการแข่งขันแบบตั้งตัวไม่ทัน

ไม่ต่างอะไรกับที่สื่อดั้งเดิมที่ไม่ยอมรับรู้การแข่งขันที่มาจากสื่ออินเตอร์เน็ตที่ตอบโจทย์ของคนที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพราะสะดวกกว่า, ถูกกว่า, รวดเร็วกว่า

จากวันนั้นถึงวันนี้…ไม่ต้องถามว่าทำไมคนในหลายวงการจึงกำลังถามตัวเองว่า “เราตกรถไฟตั้งแต่ขบวนที่เท่าไหร่?”

เพราะคนที่เขาตอบได้หายไปตั้งแต่กระโดดขึ้นขบวนแรกๆ แล้ว!


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่