อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : สู่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

คําว่า อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือภาษาอังกฤษคือ Greater Mekong sub-region-GMS ที่ใครๆ เรียกขานกันสมัยนี้ความจริงแล้วเป็นคำศัพท์ใหม่อุบัติขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2535 นี่เอง แท้จริงแล้วหมายถึงภูมิภาคอินโดจีน (Indochina)

เป็นคำศัพท์ที่มีทั้งความหมายทางการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจและรากฐานแห่งประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของภูมิภาคแถบนี้

กล่าวคือ เป็นคำศัพท์ที่บัญญัติขึ้นโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ Asian Development Bank ในสมัยนั้นซึ่งช่วงดังกล่าวประเทศญี่ปุ่นมีบทบาทมากในธนาคารแห่งนี้ทั้งในแง่เงินทุนให้ความช่วยเหลือ การจัดการด้านการพัฒนาและทิศทางของธนาคาร

ผมไม่ทราบว่า เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นท่านใดในธนาคารนี้หรือกระทรวงใดของญี่ปุ่นบัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้นมา

ทว่าบทบาทของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคนี้มากกว่าที่เราคาดคิด

แน่นอน เงินทุนเพื่อการพัฒนาของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียมีความสำคัญยิ่ง

ทว่าปรัญชาการพัฒนาเบื้องหลังเงินเพื่อความช่วยเหลือเหล่านั้นสำคัญยิ่งกว่า

เป้าหมายการพัฒนาต่อภูมิภาคคือ การบูรณะ ฟื้นฟูซากปรักหักพังของภูมิภาคจากภัยสงครามนับตั้งแต่สงครามเวียดนามในช่วงทศวรรษ 1950 และภัยจากสงครามอินโดจีน ช่วงทศวรรษ 1970-1980

เป้าหมายต่อมาคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน ทางรถไฟ ท่าเรือ ไฟฟ้า น้ำประปาให้กลับมาใช้ได้ดังเดิม

พร้อมกันนั้น การพัฒนาความจำเป็นพื้นฐานด้านสุขอนามัย สาธารณสุข การศึกษาและอาชีพย่อมสำคัญและได้รับการยกระดับด้วย การบูรณะและพัฒนาในภูมิภาคที่มีความขัดแย้งและแตกแยกด้วยสงครามย่อมเป็นไปไม่ได้

หากไม่มีกระบวนการสันติภาพ ซึ่งตรงนี้เปิดบทบาทใหม่ของญี่ปุ่นทั้งในฐานะกองกำลังนานาชาติ เวทีการเจรจาสันติภาพ1 การจัดการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชา

ตรงนี้ควรบันทึกด้วยว่า ไทยช่วงนั้นมีบทบาทสำคัญโดยผลักดันให้ญี่ปุ่นแสดงบทบาทนี้โดยคนที่มีบทบาทโน้มนำญี่ปุ่นคือ อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกสมัยนั้น

มิเพียงแต่เท่านั้น ฝ่ายไทยที่กล่าวถึงได้เห็นพ้องกับบทบาทญี่ปุ่นทั้งผู้ริเริ่มสันติภาพ การบูรณะฟื้นฟูและพัฒนาภูมิภาค ดังนั้น ขอบเขตทางพื้นที่ของอินโดจีนจึงขยายบริบทออกไปถึงจีนตอนใต้อันปรากฏในนิยามอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

 

ญี่ปุ่นในสมการใหม่

ผู้นำญี่ปุ่นทั้งยอมรับนับถือเป็นการส่วนตัวของนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่ในเวลาเดียวกัน ญี่ปุ่นก็ต้องการมีบทบาทในทางการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นบทบาทระหว่างประเทศที่ญี่ปุ่นอยากแสดงในประชาคมโลกเพื่อเปลี่ยนโฉมหน้าของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง

และช่วยลบภาพพจน์ของเสือเหลือง ที่ถูกโจมตีว่าเข้ามาขูดรีดแรงงานราคาถูกในฐานอุตสาหกรรมและกอบโกยความร่ำรวยจากตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นับจากนั้น ญี่ปุ่นยังไม่เคยถอนตัวเองออกจากอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอีกเลย

ญี่ปุ่นยังคงเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือและให้กู้รายใหญ่ต่อกัมพูชา

ญี่ปุ่นยังคงรักษาความสัมพันธ์โดยตรงต่อผู้นำกัมพูชา เช่น ฮุน เซน

ญี่ปุ่นพยายามสร้างความสมดุลระหว่างจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นในเชิงยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางทหารในภูมิภาค

ญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพทางการเมืองในภูมิภาคโดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งตามแนวชายแดน ได้แก่ พรมแดนไทย-กัมพูชา ในภาคพื้นสมุทรคือ พื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย ในขณะที่ปล่อยให้สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียมีบทบาทในประเด็นข้อขัดแย้งในทะเลจีนใต้

แน่นอน การทำไม้ บริษัทการค้า โรงงานทอผ้า กิจการไฟฟ้า น้ำประปา การก่อสร้างอาคารสนามบิน ถนน ทางด่วน สะพานข้ามแม่น้ำยังคงดำเนินการโดยบริษัทญี่ปุ่น

แต่บทบาททางการเมืองและผู้สร้างสมดุลทางการเมืองเป็นบทบาทใหม่ของญี่ปุ่นที่โดดเด่นไม่แพ้ด้านเศรษฐกิจ

ผมจึงมีโอกาสได้พบปะเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นในสถานทูตต่างๆ องค์การความช่วยเหลือไจก้า พนักงานบริษัทญี่ปุ่นที่พูดภาษาเขมรได้อย่างคล่องแคล่ว โดยที่คนเหล่านั้น กระตือรือร้นในประเด็นที่เกี่ยวกับกัมพูชาอยู่ตลอดเวลา

ผมยังเห็นบทบาทและตัวตนของญี่ปุ่นในกัมพูชาและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างเด่นชัดจวบจนปัจจุบัน

 

ออสเตรเลียในสมการใหม่

อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เล่าให้ผมฟังว่า

“…เรา (ไทย ขยายโดยผู้เขียน) เป็นประเทศเล็ก เราไม่สามารถผลักดันกิจการต่างประเทศและแบกภาระต่างๆ เอาไว้ได้โดยลำพัง ผมเป็นพวกนักปฏิบัติ เราจึงต้องดึงชาติใหญ่อย่างออสเตรเลียเข้ามาในภูมิภาคนี้ด้วย…”

คำถามนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความสงสัยถึงบทบาทของออสเตรเลียในอินโดจีนและในไทยช่วงทศวรรษ 1980 ด้วยความที่ยังเป็นเด็กและอ่อนหัดทางการเมืองอย่างมาก ผมก็เห็นฝรั่งตัวสูงไว้เครามาพูดคุยกับอาจารย์ไกรศักดิ์ช่วงนั้น แกบอกว่า นั่นรัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย ผมก็สงสัยว่า ผู้นำออสเตรเลียมาทำอะไรแถวนี้ อาจารย์อธิบายว่า

“…ออสเตรเลียต้องการมีบทบาทในภาคพื้นทวีปเอเชีย เขาเป็นพวกซีกโลกใต้ ไม่รู้จะคอนเน็กกับอินโดจีนอย่างไร ก็เลยอาศัยเรา พวกเราจึงต้องช่วยกันหาวิธี…สะพานไง สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งแรก…สัญลักษณ์แห่งมิตรภาพที่ดีที่สุด ทางการลาวก็อยากได้ คนของเขาจะได้ไปมาหาสู่พี่น้องของเขาฝั่งนี้ได้สะดวก…”

ผมเริ่มเข้าใจแล้ว ในฐานะนักศึกษาด้านกิจการต่างประเทศ ควรค้นคว้าให้มากโดยเฉพาะพื้นฐานของแต่ละประเทศ ช่วงเวลาที่โลกไม่ได้สนใจออสเตรเลียเลย หารู้ไม่ว่าออสเตรเลียกำลังพยายามเชื่อมบทบาทของเขาต่อเอเชีย

ประเด็นคือ ตรงไหนของเอเชีย

ช่วงเวลานั้น ออสเตรเลียเริ่มให้ทุนการศึกษาแก่คนเอเชียที่ไม่ใช่อินโดนีเซีย ทุนเหล่านั้นรวมถึงการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และความมั่นคงศึกษา

ในเวลาเดียวกัน ออสเตรเลียมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน

ในไม่ช้า ออสเตรเลียก็ได้สัมปทานเหมืองแร่ใน สปป.ลาว

ในปัจจุบันมีการลงทุนที่เกาะเพชรในพนมเปญ การลงทุนในอุตสาหกรรมด้านป่าไม้และเหมืองแร่ในต่างจังหวัดของกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่าผลประโยชน์ของการลงทุนทางด้านเศรษฐกิจ ออสเตรเลียได้ก้าวเข้ามามีบทบาทเชิงการเมืองระหว่างประเทศในเอเชียครั้งสำคัญนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ออสเตรเลียสลัดพันธนาการของประเทศที่ไม่ใช่ทั้งยุโรปและไม่ใช่ทั้งเอเชีย สร้างสมดุลความสนใจและกิจการด้านระหว่างประเทศเฉพาะที่จำกัดอยู่กับอินโดนีเซียและผลพวงของพวกเขาในฐานะสังคมคนชวาที่ปกครองชนเผ่าต่างๆ กิจการด้านพาณิชย์นาวี

แต่ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคอินโดจีนในฐานะ ผู้บริจาคสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว

แล้วหลังจากนั้น ออสเตรเลียก็ยังคงบทบาทของตนทั้งใน สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนามและขยายต่อไปยังเมียนมา

ควรบันทึกด้วยว่า สมการใหม่ ในภูมิภาคเป็นสมการใหม่ที่วางกติกาให้เกิดการพัฒนาทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค อีกทั้งยังช่วยให้ไทยและภูมิภาคอาเซียนได้รับประโยชน์จากสมการใหม่นี้ด้วย

แล้วโฉมใหม่ของภูมิภาคก็ดำเนินสืบมา

————————————————————————-
(1) ญี่ปุ่นเป็นผู้จัดการเจรจาสันติภาพกัมพูชาที่พระราชวังอากาซากะ (Akasaka Palace) ในกรุงโตเกียวซึ่งเป็นที่รับรองแขกต่างประเทศที่หรูหรามาก และรัฐบาลญี่ปุ่นอำนวยความสะดวกให้เป็นอย่างดี อ้างในกุลธิดา สามะพุทธิ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ชีวิต มุมมอง ความคิด (มูลนิธิสานวัฒนธรรม 2563) น. 112-113.

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่