สมหมาย ปาริจฉัตต์ : จากวันนั้นถึงวันนี้ 5 ปีเพาะพันธุ์ปัญญา (1)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

วิจัยให้คิดจิตเพลิน มุ่งมั่นจำเริญ เพาะพันธุ์ปัญญาพาเรียน

เด็กครูดูทำพากเพียร เปล่งปลั่งดั่งเทียน สะบัดโบกโยกไหวในลม

ทั้งทุกข์สุขคละระทม ร่ำร้องระงมโอดครวญ…หวนพร่ำ…ร่ำไห้

ผ่านโศกโศกาอาลัย เพราะสู้สุดใจ เป็นผู้รู้เรียนเพียรคิด

พี่เลี้ยงเพี้ยง! โอม ประโลมจิต วิถีชี้ทิศวิจัย…วิสัยใฝ่ทำ

ฟั่นเทียนลำใหญ่ใจนำ ร่าเริงระบำ ก้าวเดินเพลินไปในทาง

ทางแห่งแสงเทียนฤๅจาง เรืองรุ้งรุ่งสาง เพาะพันธุ์ปัญญาพาเรียน

ซ้ำ * / ** / **

เรืองรุ้งรุ่งสาง เพาะพันธุ์ปัญญาพาเรียน

 

ทันทีที่บทเพลง เพาะพันธุ์ปัญญาพาเรียน เสียงขับขานอันสดใสของ นางสาวอรอุษา สุนนานนท์ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.ราชบุรี ดังขึ้นจนจบลงพร้อมเสียงปรบมือชื่นชมยินดี ผู้ฟังต่างส่งยิ้มให้กันและกันอย่างเปี่ยมสุข

วิจัยให้คิดจิตเพลิน มันดังขึ้นอีกครั้งในงาน เวทีนำเสนอผลงานระดับชาติโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาประจำปี 2560 ที่ห้องประชุม อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ตลอดวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2560 ท่ามกลางผู้คน นักเรียน ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ผู้รักและใฝ่ใจทางการศึกษาเต็มห้องประชุมเกือบพันคน

ผู้นำกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญา ความหวังแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาไทย รศ.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ อาจารย์วิศวกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ประพันธ์เนื้อร้องเจ้าของผลงานเขียนด้วยรูปแบบกาพย์ฉบัง 16 ยืนยิ้มอยู่ด้านข้างเวที

ขณะที่ คงวุฒิ นิรันตสุข อาจารย์เทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยศิลปากร แกนนำศูนย์พี่เลี้ยงครูเพาะพันธุ์ปัญญา ผู้นำมารจนาให้ทำนองเพลง โค้งคำนับเสียงปรบมือยาวนาน

ก่อนถือกีตาร์เดินนำเด็กน้อยก้าวลงจากเวที

 

เป็นรายการนำเสนอผลงานในรูปแบบของการแสดงจากนักแสดงตัวจริง เสียงจริง ที่ต่างมีบทบาทจริงในการปฏิรูปการศึกษาด้วยการลงมือทำ จนสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ปรากฏทั้งนักเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียนนับร้อยแห่ง ในห้วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

จากคำพูดที่กลั่นจากใจ น้ำเสียง น้ำตาและใบหน้าของแต่ละคน ในวิดีทัศน์ที่ฉายก่อนรายการในเวทีจะเริ่มต้นขึ้น

“ขึ้นอยู่กับว่าเขาต้องการอนาคตอย่างไร พอใจเฉพาะผลคะแนนโอเน็ต เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้เท่านั้นหรือ หากต้องการสิ่งแวดล้อมใหม่ ทักษะใหม่สำหรับศตวรรษใหม่ เพาะพันธุ์ปัญญาให้คำตอบได้”

“เราเรียนทิ้งไปปีต่อปี ไม่ใช่การเรียนที่แท้จริง แต่เหมือนกับว่าเราไปจดจำอะไรมาสักอย่างแล้วเราก็ทิ้งมันไป”

“เราใช้วิธีการตั้งคำถามกับเด็กเสมอ ถ้าจะปลูกผักจะขึ้นแปลงอย่างไร ถ้าไม่รู้ก็ไปหาความรู้มา บางคนมีความรู้มาจากที่บ้าน เด็กๆ ก็จะเอามาแลกเปลี่ยนกัน”

“มันได้มากกว่าเพาะพันธุ์ปัญญา การแสดงออก ความรักความสามัคคีที่มีต่อกัน สอนให้เราคิดเป็นระบบ ที่หนังสือเขียนไว้เราตั้งคำถามถ้าทำอย่างนี้ล่ะได้ไหม มีกระบวนการคิดใหม่ มีเหตุมีผลมากขึ้น เราก็มีความสามารถไม่ด้อยกว่าคนอื่น”

“ผลจากวิธีการวัดที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร ขณะที่ผู้ปกครองมองไปที่การแข่งขัน เรื่องสอบเข้า ก็จะส่งลูกเข้าสู่กระบวนการสอนพิเศษ เด็กขาดทักษะชีวิตในการอยู่ร่วมกัน”

“โรงเรียนของเรา เป็นโรงเรียนธรรมดาๆ มีเด็กมาถามดินฉันว่า ครูคะ ถ้าหนูสอบเข้ามหิดลได้ ครูจะดีใจไหม”

เสียงครูผู้หญิงพูดพร้อมยกมือปาดน้ำตาที่ไหลนองบนใบหน้า จบลง ผมแอบหันไปมองโต๊ะข้างๆ หน้าเวที ชายวัยกลางคนกำลังยกแว่นตาขึ้น พร้อมซับน้ำที่ไหลรินออกมา

ก่อนที่หัวหน้าหน่วยจัดการกลาง รศ.สุธีระ อาจารย์ใหญ่ของชาวเพาะพันธุ์ปัญญาจะก้าวขึ้นกล่าวรายงาน

 

พล.อ.อ ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ประธาน พร้อมคณะด้านหน้า ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสธนาคารกสิกรไทย คุณวิบูลย์ คูสกุล กรรมการกำกับดูแลกิจกรรม บมจ.กสิกรไทย ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และรองผู้อำนวยการอีกสองท่าน รศ.ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ส่วน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช องค์ปาฐกอีกท่าน รวมอยู่กับกลุ่มผู้ฟัง

การดำเนินงานโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเป็นโครงการต่อเนื่อง 5 ปี ตั้งแต่พฤษภาคม 2555 ถึงเมษายน 2560 โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ร่วมกับ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งพบว่าการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ได้สร้างทักษะ 7 C ได้ตามควร การพัฒนาทักษะ 7 C จะเกิดจากประสบการณ์การลงมือทำงานแบบกลุ่ม (Learning by Doing) ได้แก่ การทำโครงงาน (Project Based Learning)

อย่างไรก็ตาม โครงงานของนักเรียนมักจะปรากฏเป็น 2 ประเภทคือ ทำรายงานและทำสิ่งประดิษฐ์ โครงงานประเภทรายงานมักเป็นการคัดลอก ส่วนโครงงานสิ่งประดิษฐ์มักทำแบบเลียนแบบสิ่งที่เห็นมา การทำเช่นนี้จึงเกิดการเรียนรู้ที่ไม่ได้ใช้ความคิดเชิงเหตุผล ขาดการบูรณาการสาระวิชาที่เรียนเข้ากับโครงงาน

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการศึกษาให้ได้ทักษะคิดขั้นสูงและทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นนวัตกรรมการศึกษาที่ใช้การทำโครงงานฐานวิจัย (Research Based Learning) ตามแนวคิดผลเกิดจากเหตุที่อิงกฎธรรมชาติ ออกแบบเป็นวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีเป้าหมายการดำเนินงานประกอบด้วย การสร้างเครื่องมือพัฒนาครูประมาณ 300 คนต่อปีให้เข้าใจ RBL

อาจารย์จากมหาวิทยาลัย 8 แห่งทำหน้าที่ศูนย์พี่เลี้ยง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ศรีสะเกษ สุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหิดล ศิลปากร พะเยา สงขลานครินทร์ มีหน้าที่โค้ชครูในโรงเรียน 80 แห่งต่อปีอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ 18 จังหวัดทั่วประเทศ

ครูในโรงเรียนผู้เป็นโค้ชนักเรียนระดับมัธยมให้ทำโครงงานฐานวิจัย ครูช่วยการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบ RBL ของนักเรียนประมาณ 3,000 คน โดยวัดผลจากข้อมูลเชิงคุณภาพ คือจากการสะท้อนคิด (Reflection) ของครูและนักเรียน รวมทั้งพฤติกรรมของครูและนักเรียนที่เปลี่ยนไป

โดยออกแบบเครืองมือในการปฏิบัติการ 4 ด้านคือ เครื่องมือพัฒนาจิตใจ เครื่องมือพัฒนาความคิด เครื่องมือสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเครื่องมือการทำโครงงานฐานวิจัย การดำเนินงานที่ผ่านมาได้พัฒนานักเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายมาแล้ว จำนวน 4,083 คน

ในปีที่ 4 มีครูเข้าร่วม 719 คน มีโรงเรียนเข้าร่วม 89 โรง แต่ละโรงได้รับการสนับสนุนทุนให้ทำทั้งห้องจำนวน 1 ห้อง มีโรงเรียนเพิ่มห้องเรียนเองอีก จึงขยายจาก 89 ห้อง เป็น 137 ห้องเรียน รวมทำโครงงานทั้งหมด 869 โครงงาน

ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าครูและนักเรียนเปลี่ยนไปพร้อมๆ กัน เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภายใน ทั้งความคิดและจิตวิญญาณของความเป็นครู

 

การจัดประชุมระดับประเทศในปีที่ 4 นี้เน้นให้ผู้เข้าร่วมงานทราบกระบวนการที่เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเพื่อการจัดการเรียนรู้ที่จะสร้างนักเรียนให้พร้อมสำหรับประเทศไทย 4.O ภายใต้หัวข้อ เพาะพันธุ์ปัญญาสำหรับเด็กไทย 4.0

พร้อมกันนี้มีการมอบรางวัล ประกาศเกียรติคุณให้แก่ครูปัญญาทีปกรเพาะพันธุ์ปัญญา 24 ท่าน

ครูสุธีระจบคำรายงาน พิธีกรเชิญกรรมการกำกับดูแลกิจการ บมจ.กสิกรไทย ขึ้นเวที ท่ามกลางเสียงถามไถ่ใคร่รู้ และร่วมแสดงความยินดีกับครูปัญญาทีปกรเพาะพันธุ์ปัญญา เขาและเธอคือใคร