คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / ชวนสดับ “คเณศคีตา” : ปัญญาญาณจากพระคเณศ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมเคยเล่าไว้ว่า ที่จริงนอกจาก “ภควัทคีตา” แล้ว ยังมี “คีตา” อื่นๆ อีกหลายเล่มในบรรณพิภพคัมภีร์อินเดีย เช่น อวทูตคีตา รามคีตา ฯลฯ เพียงแต่ภควัทคีตานั้นได้รับการเผยแพร่มากกว่าคัมภีร์ใดๆ ของศาสนาฮินดู

เดิมภควัทคีตามิได้แพร่หลายนัก แต่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยชาร์ลส์ วิลกินส์ (Charls Wilkins) ในช่วงที่อังกฤษยังปกครองอินเดีย บรรดานักชาตินิยมอินเดียพากันยกย่องคีตามาก ด้วยว่าใช้เป็นตัวแทนคัมภีร์อันทรงภูมิปัญญาของศาสนาฮินดูไม่ต่างกับไบเบิล สามารถเชิดหน้าชูตาได้ และยังตีความให้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อีกด้วย

เหตุนี้ภควัทคีตาหรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าคีตาจึงอาจเป็นหนังสือฮินดูที่ถูกแปลไปเป็นภาษาต่างๆ มากที่สุด แม้ในบ้านเราเองก็มีหลายสำนวนให้เลือกอ่านกัน

ผมมีคีตาอื่นๆ อยู่ที่บ้านหลายฉบับ แต่ที่อยากจะแปลคือ “อวทูตคีตา” เนื่องด้วยเนื้อความเป็นโลกุตตระลึกซึ้ง แต่เรียบง่าย มีความเป็นสากลของประสบการณ์ ไม่ยาวเกินไปและภาษาก็ไม่ยากมาก

หากยังไม่ล้มหายตายจากเพราะพระอนิจจตาหรือความไม่เที่ยงเสียก่อน หวังว่าจะได้อ่านกันครับ

นอกจากนี้ ยังมีอีกคีตาหนึ่งที่ผมสนใจมากๆ คือ “คเณศคีตา” ซึ่งแน่นอนว่าตัวดำเนินเรื่องสำคัญในคัมภีร์นี้คือพระคเณศ

เหตุที่สนใจนอกจากศรัทธาส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าในบ้านเราเมื่อกล่าวถึงพระคเณศ คนที่นับถือก็มักจะนึกถึงในแง่ความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์หรือเทวตำนานต่างๆ หากได้รู้ว่ามีคัมภีร์ที่เป็นคำสอนลึกซึ้งเกี่ยวเนื่องด้วยพระคเณศแล้ว ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในทางปัญญา หรือชวนให้สนใจอะไรๆ ที่ลึกซึ้งไปกว่าพิธีกรรมและตำนานดังที่เป็นอยู่

วันนี้จึงคิดว่าน่าจะแนะนำคัมภีร์นี้ให้รู้จักกันในเบื้องต้นก่อนครับ

 

คีตาไหนๆ ก็ต้องอาศัยบางช่วงบางตอนและตัวละครจากวรรณคดีที่ใหญ่กว่ามาเป็นฉากหลัง เช่น มหาภารตะ รามายณะ ปุราณะ โดยมีเอกลักษณ์ที่สำคัญคือเป็น “บทสนทนา” เพื่อคลายความขัดข้องใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

พูดอย่างสวยๆ คือ พระเป็นเจ้าได้ขับขาน “คีตา” หรือบทเพลงแห่งสัจธรรมผ่านการสนทนากับผู้ตกอยู่ในความฉงนสงสัย

คเณศคีตาเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ “คเณศปุราณะ” จัดอยู่ในคัมภีร์เทวตำนานคือบรรดาปุราณะ (แปลว่าโบราณ) แต่เนื่องด้วยไม่ใช่ปุราณะหลักจึงเรียกว่าอุปปุราณะ

ปุราณะนี้ให้ความสำคัญกับพระคเณศอย่างสูงสุด จึงเป็นปุราณะในนิกาย “คาณปัตยะ” หรือนิกายที่นับถือพระคเณศเป็นพระเจ้า แพร่หลายมากในแคว้นมหาราษฎร์

อายุของปุราณะนี้นักวิชาการกล่าวว่าน่าจะอยู่ในช่วงปลายของยุคกลาง ตกในราวคริสต์ศตวรรษที่ 13-17 คือเป็นปุราณะรุ่นหลังมากๆ มีเนื้อความคล้ายคลึงกับปุราณะอื่นที่มีอายุเก่ากว่า

ปุราณะนี้แบ่งออกเป็นสองส่วนหรือสองกัณฑ์ (ขัณฑะ) ใหญ่ กัณฑ์แรกชื่อ “อุปาสนาขัณฑะ” อุปาสนาหมายถึงวิธีปฏิบัติทั้งการบูชาและทำสมาธิ กัณฑ์นี้จึงกล่าวถึงการบูชาสองส่วน ส่วนแรกคือการเพ่งสมาธิถึงพระคเณศในฐานะที่เป็น “พรหมัน” หรือสัจธรรมสูงสุด กับอีกส่วนที่กล่าวถึงการบูชาเทวรูปด้วยวิธีการต่างๆ

กัณฑ์นี้จะเห็นเค้าลางของแนวคิดจากนิกายต่างๆ เช่น ไวษณวะ ไศวะ หรือแม้แต่ปรัชญาเวทานตะปรากฏอยู่

 

กัณฑ์ที่สองของคเณศปุราณะ ชื่อ “กรีฑาขัณฑะ” กรีฑา หมายถึงกีฬา หรือการเล่น การแสดง ดังนั้น จึงหมายถึงการเล่นที่เป็นลีลาความสนุกสนานของพระเจ้าคือพระคเณศ ดุจมายานาฏกรรมที่สำแดงจักรวาลให้เป็นไปต่างๆ นานา

คเณศคีตาอยู่ในกรีฑาขัณฑะของคเณศปุราณะนี่เอง เริ่มตั้งแต่บท (อัธยายะ) ที่ 138 ถึง 148 รวมทั้งสิ้นสิบเอ็ดบท ความยาว 413 โศลก ผมขอเก็บความมาเล่าจากหนังสือ “Ganeshagita : A Brief Summary” โดยท่านสวามีหรรษานันทะ จัดพิมพ์โดยรามกฤษณะมิชชั่น ซึ่งก็เก็บความแบบสรุปจากคัมภีร์เต็มมาอีกที

ดังนั้น สิ่งที่ผมทำจึงเรียกว่า “สรุปในสรุป” นะครับ ท่านใดสนใจรายละเอียดโปรดหาฉบับเต็มมาอ่านเถิด อย่าด่วนเอาของผมไปยึดถือหรือนำไปใช้เลย

 

เนื้อความเริ่มต้นที่พระราชาวเรณยะมีโอรสองค์หนึ่งชื่อ “คชานนะ” แปลว่าผู้มีหน้าเป็นช้าง คชานนะผู้นี้คือพระคเณศอวตารนั่นเอง และพระราชาองค์นี้ได้ไถ่ถามความรู้เกี่ยวกับสัจธรรมและการปฏิบัติกับคชานนะ

บทแรกชื่อ สางขยารถสารโยคะ แปลว่าแก่นหลักความหมายของปรัชญาสางขยะ (หลักอภิปรัชญาของโยคะ) บทนี้จึงกล่าวถึงมโนทัศน์หลักๆ ของปรัชญาสางขยะและโยคะในฝ่ายฮินดู

บทที่สองชื่อ กรรมโยคะ บทนี้พระราชาวเรณยะถามคชานนะว่า ศรัทธาในปัญญา (ชฺญานนิษฺฐ) กับศรัทธาในการปฏิบัติ (กรฺมนิษฺฐ) อย่างใดดีกว่ากัน คชานนะตอบว่าดีทั้งคู่ แต่แม้เมื่อมีปัญญาแล้วก็ไม่พึงละทิ้งการปฏิบัติ เช่นผู้บรรลุก็ยังคงต้องทำงานสอนสั่งผู้ไม่รู้ต่อไป

บทที่สามชื่อ ชญานปรติปาทานโยคะ บทนี้คชานนะกล่าวว่า ท่านได้สอนโยคะนี้แก่พระวิษณุ พระวิษณุประทานแด่สูรยะและมนู(เรื่องเล่าเดียวกับภควัทคีตา) นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า พระคเณศคือที่มาของทุกสิ่ง ผู้ไม่รู้กราบไหว้อยู่ซึ่งเทวดาอื่นเพื่อผลทางโลก ย่อมวนเวียนในสังสารวัฏ เป็นต้น

บทที่สี่ชื่อ ทไวธสัมนยาสโยคะ ราชาวเรณยะอยากทราบว่า การกระทำกรรมหรือการไม่กระทำกรรมเลย (กรรมสัมนยาสะ) อย่างใดดีกว่ากัน คชานนะตอบว่า ให้ผลไม่ต่างกัน แต่แบบแรกนั้นดีกว่า เพราะกรรมโยคีกระทำกรรมแล้วอุทิศผลแด่พระเจ้า เมื่อกระทำกรรมแล้วไม่ยึดมั่นในผลย่อมพ้นจากทุกข์

บทที่ห้าชื่อ โยควฤตติปรสัมนยาสโยคะ บทนี้กล่าวว่า การปฏิบัติโยคะจะมีผลก็ต่อเมื่อกระทำกรรมโดยไม่ยึดติดในผลของกรรม เท่ากับชำระจิตให้บริสุทธิ์

บทที่หกชื่อ พุทธิโยคะ บทนี้กล่าวถึงปรัชญาสางขยะว่าด้วย “ปรกฤติ” หรือธรรมชาติสองแบบ อย่างต่ำคือธาตุและสิ่งอันปรากฏเป็นรูปธรรมนามธรรมต่างๆ อย่างสูงคือ ชีวะ หรือ “เจตนา” หรือตัวชีวิตและเจตจำนง

บทที่เจ็ดชื่อ อุปาสนาโยคะ กล่าวถึงการปฏิบัติบูชาที่ถูกต้องเพื่อเป็น “ยาน” อันพาไปสู่โลกต่างๆ เช่น พรหมโลก

บทที่แปดชื่อ วิศวรูปทรรศนโยคะ บทนี้ คชานนะ สำแดง “วิศวรูป” หรือรูปแห่งสกลจักรวาลของพระเจ้าให้กษัตริย์วเรณยะทอดทัศนา เช่นเดียวกับที่พระกฤษณะแสดงให้อรชุนเห็น

บทที่เก้าชื่อ เกษตรชญาตฤชเญยวิเวกโยคะ บทนี้ราชาวเรณยะถามว่า บูชาพระเจ้าที่มีรูป (อกฺษร) และไร้รูป (อวฺยกฺต) อย่างใดดีกว่ากัน คชานนะตอบว่าดีทั้งคู่ แต่แบบหลังยากกว่า และมีประเด็นเรื่องความภักดีต่อพระเจ้ากับยกย่องการปฏิบัติหน้าที่ของตน (สวธรรม)

บทที่สิบชื่อ โยโคปรเทศโยคะ ว่าด้วยตริคุณะหรือคุณสมบัติทั้งสามของจักรวาล และเราพึงเพิ่มพูนคุณะที่ดีได้อย่างไร

บทที่สุดท้าย ชื่อตริวิธวัสตุนิรูปณโยคะ พูดถึงการปฏิบัติต่างๆ ไม่ว่าจะตบะ ทาน กรรม หรือแม้แต่สุข ทุกข์ย่อมถูกจำแนกด้วยคุณะสาม หากสิ่งใดไม่ประกอบด้วยความเห็นแก่ตัวหรือยึดติดในผล ย่อมถือได้ว่ามีคุณสมบัติที่ดี (สัตวิก)

 

เมื่อพิจารณาจากสิบเอ็ดบทของคเณศคีตาที่ผมสรุปในสรุปมานี้ จะเห็นได้ว่าใช้ทั้งโครงสร้างและเนื้อหาเดียวกันกับ “ภควัทคีตา” แม้ว่าภควัทคีตาจะมีจำนวนสิบแปดบท ซึ่งมากกว่า แต่คเณศคีตาก็สามารถเก็บประเด็นสำคัญๆ มาได้ครบ

แม้แต่ตอนการสำแดง “วิศวรูป” ในภควัทคีตา ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ก็ยังถูกนำมาเล่าใหม่ในคเณศคีตาด้วย

ดังนั้น จึงไม่เป็นการเกินเลยที่จะกล่าวว่า คเณศคีตาอาศัยเค้าโครงและเนื้อหาจากภควัทคีตามาเป็นประพันธ์เพียงแต่เปลี่ยนตัวละคร และมีผู้ให้ข้อสังเกตว่า อรชุนในภควัทคีตาต้องเจอสถานการณ์ที่บีบคั้นกว่ากษัตริย์วเรณยะมาก ภควัทคีตาจึงมีความเข้มข้นและข้อถกเถียงในทางปรัชญามากกว่า

กระนั้นการเปลี่ยนตัวละครจากพระกฤษณะมาเป็นพระคเณศก็มีผลต่อความรู้สึกของศาสนิกไม่น้อย ใครๆ ก็อยากฟังเทพหรือคนที่ตนรักชอบมาพูดมาสอนทั้งนั้น แม้จะพูดเรื่องเดียวกันแต่ก็ฟังดูไพเราะกว่าเป็นไหนๆ

แต่เทพเองอาจบอกว่า นั่นปัญหาของพวกลื้อ พวกอั๊วไม่มีปัญหา

มิน่าเล่า รัฐบาลบางประเทศถึงเปลี่ยนโฆษกอะไรต่อมิอะไรบ๊อยบ่อย

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่