“ไม่ยุติธรรม-ไม่จริงใจ” เสียงสะท้อนจากชายแดนใต้ มอง 16 ปีภายใต้กฎหมายพิเศษ ผ่านสายตา ส.ส. “กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ”

กว่าสองเดือนที่คนไทยทั่วประเทศอยู่ภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการใช้ยาแรงเกินกว่าเหตุ ขาดการคำนึงถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน

ความไม่ปกตินี้อาจเป็น “ความปกติใหม่” ของคนไทยส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่กับประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ปกตินี้มานานกว่า 16 ปีแล้ว

ความอึดอัดคับข้องใจของประชาชนในสามจังหวัด สะท้อนออกมาผ่านการอภิปรายของนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.เขต 4 จังหวัดนราธิวาส พรรคประชาชาติ ระหว่างการประชุมสภาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ถึงกับทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐบาลสืบทอดอำนาจลุกขึ้นตอบโต้อย่างเผ็ดร้อน

เพื่อทำความเข้าใจในมุมมองของคนในพื้นที่ที่มีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ นำเรามาสู่การสนทนากับ ส.ส.กมลศักดิ์ ถึงปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

: การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในเรื่องของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมันเป็นอารมณ์ความรู้สึกของคนพื้นที่ กับการที่ถูกบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตรงนี้ก็คือว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับนี้ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน เพิ่งมีครั้งแรก 2548 รัฐบาลสมัยนั้นต้องการออกมาเพื่อแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้อำนาจหน้าที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทั้งสามฝ่าย ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง โดยมองว่ากฎหมายฉบับนี้จะแก้ปัญหาสถานการณ์ได้ 16 ปีของความรู้สึกคนสามจังหวัด

เมื่อพูดถึงตรงนี้เปรียบเทียบกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่คนทั่วประเทศเพิ่งได้รับความรู้สึกจากการถูกบังคับใช้ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มันมีความรู้สึกเปรียบเทียบอยากให้คนอื่นเข้าใจว่า คนอื่น 2 เดือนเอง แต่เราสามจังหวัด 16 ปีแล้วนะ อารมณ์นั้นมันมา มันก็เลยอยากให้นายกฯ คิดถึงคนสามจังหวัดหน่อย

ส่วนที่นายกฯ ตอบมาว่าเหตุการณ์มันสงบหรือยังจะให้เลิก ถามว่าคุณใช้มา 16 ปีมันดีขึ้นหรือเปล่าล่ะ มันดีขึ้นขนาดไหน 16 ปีกับสิ่งที่เกิดขึ้น

: ระยะเวลา 16 ปี งบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท ผลลัพธ์เป็นอย่างไร

ผมว่าบางเรื่องก็มาถูกทาง แต่บางเรื่องยังไม่ถูกทาง ยังต้องคุยกันอีกเยอะ สุดท้ายผมว่า 16 ปีมันพิสูจน์ ผมเข้าใจว่าทางฝ่ายรัฐบาลหลายรัฐบาลตั้งแต่ปี 2547 กับปัญหาสามจังหวัด ทุกคนต้องการที่จะน้อมนำพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 มาใช้ คือเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาแก้ปัญหา

แต่ว่า 16 ปีผมมีความรู้สึกในฐานะคนพื้นที่ว่าผู้ปฏิบัติงานไม่มีความจริงใจที่จะเข้าใจ ไม่มีความจริงใจที่จะเข้าถึง ไม่มีความจริงใจที่จะพัฒนา มันถึงได้เป็นอย่างนี้ เพราะว่าต้นเหตุสำคัญของการแก้ปัญหามันเกิดจากความรู้สึก ความไม่เป็นธรรม

ที่ไหนไม่เป็นธรรม สันติสุขก็ไม่เกิด

: เชื่อในแนวทางเจรจา

โดยหลักการของผมเองแล้วก็พรรคประชาชาติเอง ถ้าดูในนโยบายของพรรค เราได้ร่วมกันคิดก่อนแล้วว่าเส้นทางการเมืองถ้าประชาชาติเกิดขึ้นมาก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสามจังหวัดเราจะมีแนวนโยบายในการแก้ปัญหาจุดยืนของเราอย่างไร

ซึ่งมีความเห็นตรงกันในฐานะคนพื้นที่ว่าสุดท้ายแล้วโดย 16 ปีที่ผ่านมา กับเราเปรียบเทียบสถานการณ์อื่นๆ ของประเทศอื่นที่มีความขัดแย้งมันจบด้วยการพูดคุย กระบวนการสันติภาพเรามองว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่สุดท้ายสันติภาพมันก็กลับมาที่ความจริงใจอีกเหมือนกัน เพราะว่าที่ผ่านมากระบวนการสันติภาพมันไม่ใช่เพิ่งมีในรัฐบาลนี้ มันมีก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ว่าเปลี่ยนรูปแบบ

การเจรจาโดยลับก็มีมานานแล้ว เพียงแต่ว่าการเจรจาโดยเปิดบนโต๊ะเริ่มมีตั้งแต่ปี 2555-2556 สมัยฮัสซัน ตอยิบ รัฐบาลสมัยนั้นเริ่มมีการเจรจา แล้วก็มีมาเรื่อยๆ แต่ยังไม่ไปถึงไหนเพราะว่าเหตุการณ์การเมืองมันเปลี่ยนตลอด

: การเจรจาจะนำไปสู่ผลลัพธ์อย่างไร

โครงสร้างของการเจรจา องค์ประกอบของการเจรจามันต้องมีส่วนร่วมของหลายๆ ส่วน ทั้งของฝ่ายรัฐไทยด้วย ตอนนี้เรายังไม่เห็นการดึงภาคประชาสังคม หรือพูดง่ายๆ คือองค์กรอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ ตอนนี้เรายังเห็นว่าทหารยังนำในเรื่องของการเจรจา

: ในมุมของรัฐบาลและทหารดูเหมือนจะมีความไม่ไว้ใจการทำงานของพรรคประชาชาติ

จริงๆ พรรคประชาชาติเป็นพรรคที่ ส.ส.ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่สามจังหวัด ผมว่าสิ่งที่เราสะท้อนในสภามันเป็นอะไรที่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง แล้วก็เป็นเสียงสะท้อนมาจากชาวบ้านจริงๆ ที่อยากสะท้อนให้ฝ่ายบริหารฟัง

ผมเองก่อนหน้านี้ในฐานะที่ก่อนที่จะเข้ามาสู่เวทีการเมืองครั้งแรก ผมทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดมาเป็นสิบปี ไปเป็นทนายความว่าความกับคนที่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.กฎอัยการศึกมาเป็นร้อยคดี เราก็ไปสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่มาบังคับใช้กับพี่น้องสามจังหวัดในเรื่องของกฎหมายพิเศษให้ศาลได้รับฟัง

แต่สุดท้ายมันก็จบแค่ห้องพิจารณาคดีกับกระดาษเอสี่ ตรงนี้คือที่มาที่ผมขยับเข้ามาอีกเวทีหนึ่ง เพื่อต้องการนำเสนอปัญหา โดยเฉพาะเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายให้ระดับนโยบายได้มีโอกาสได้ฟัง นอกจากที่ผมได้เคยสะท้อนให้ฟังในห้องพิจารณาคดี เพื่อที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง

: หลักใหญ่ใจความของความขัดแย้งคือ “ความไม่ยุติธรรม” และ “ความไม่จริงใจ”

ผมเคยอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา ผมบอกว่าเด็กสามจังหวัดอายุ 1-5 ขวบคุณไม่ต้องไปล้างสมองเขาเพราะว่าเขายังไม่มีความรู้สึกนึกคิด ขอเพียงแต่ว่าเมื่อเขาลืมตาเริ่มมีความรู้สึกนึกคิด ขอให้เขาเห็นภาพความเป็นธรรมอยู่ตรงหน้า แค่นี้ก็พอแล้ว

คุณไม่ต้องเอาเงินไปล้างสมองเขา ดังนั้น ตรงนี้มันสะท้อนความรู้สึกของคนในพื้นที่ วันนั้นผมอภิปราย ผมบอกว่าถ้าผมมีภรรยา ภรรยาผมตั้งครรภ์กำลังจะคลอด แล้วผมบอกภรรยานี่ลูกของเราออกมาจะมีงบฯ ล้างสมองลูกเรานะ ล้างความคิดลูกเรานะ แล้วรู้สึกยังไง ความรู้สึกตรงนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหน้าที่ทหารไปยิงแล้วเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรม แต่การนำนโยบายและงบประมาณไปใช้โดยก่อให้เกิดความรู้สึกที่แย่ก็เป็นส่วนหนึ่งของความไม่เป็นธรรมเหมือนกัน

: การฆ่าตัวตายของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ คือภาพสะท้อนของความไม่เป็นธรรม

ผมว่าท่านพยายามสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เป็นอยู่ในกระบวนการยุติธรรมในสามจังหวัด มันขึ้นอยู่กับสำนึกของคนที่จะคิดเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นบทเรียนหรือไม่ แต่ในทัศนะมุมมองของผม ผมว่านี่คือบทเรียนที่ล้ำค่าที่สุด

นี่คือบทเรียนของคนที่อยู่ฝ่ายตุลาการแสดงออกด้วยตัวเขาเอง ไม่ใช่มาจากเสียงของภาคการเมือง

แล้วถามว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์ ประเด็นที่ท่านผู้พิพากษาสะท้อนให้เห็นถึงกฎหมายที่มีอยู่ กระบวนการยุติธรรมในการตัดสินคดีมีปัญหา กฎหมายที่บังคับใช้มีปัญหา ถามว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นไหม

ในเรื่องของ พ.ร.ก. กับกฎอัยการศึกที่ผู้พิพากษาพยายามสะท้อนในคำแถลงการณ์ปิดคดี ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมมองว่านี่คือความจริงใจ มันก็ย้อนกลับมาที่ความจริงใจ

: การทำงานที่เรามีมุมมองต่างจากรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคง รู้สึกกลัวบ้างไหม

มันเลยจุดจุดนั้นแล้ว เลยจุดความกลัวแล้ว สมัย 2 มีนาคม 2547 พี่สมชาย นีละไพจิตร ถูกอุ้ม ผมอยู่กรุงเทพฯ อยู่ในชมรมนักกฎหมายมุสลิม พี่สมชายถือเป็นอาจารย์ผมในการสอนผมว่าความ แล้วพอพี่สมชายถูกอุ้มหาย ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมา มันจังหวะพอดีกับที่สามจังหวัดใช้กฎหมายพิเศษ ตอนพี่สมชายถูกอุ้มหายใช้เฉพาะกฎอัยการศึก หลังจากวันที่ 4 มกราคม 2547 เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง วันที่ 5 มกราคม 2547 กองทัพภาคที่ 4 ประกาศกฎอัยการศึก พี่สมชายถูกอุ้มหายเดือนมีนาคม 2547 พ.ร.ก.ยังไม่เกิด พ.ร.ก.ในสามจังหวัดเกิดขึ้นหลังจากพี่สมชายเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก แล้วก็หายไป

หลังจากพี่สมชายหายตัวไปประมาณหนึ่งปี 16 กรกฎาคม 2548 รัฐบาลสมัยนั้นใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติใช้กฎหมาย พ.ร.ก.พิเศษ ตอนนั้นเหตุการณ์ในสามจังหวัดมันรุนแรงมาก ทั้งรุนแรงทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อมีกฎหมายพิเศษก็ไปเชิญตัว ใช้อำนาจ เพราะมันไม่เคยมีบรรทัดฐานในการใช้กฎหมายพิเศษมาก่อน

คำว่าไม่มีบรรทัดฐานก็คือว่าการควบคุมตัวก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการวิธีพิจารณาความอาญา กฎอัยการศึก 7 วัน 30 วันของ พ.ร.ก. 37 วันคุณมีสิทธิเอาตัวไปไหนก็ได้ แล้วมันไม่มีบรรทัดฐานในการปฏิบัติ ระเบียบประกอบ พ.ร.ก.มันเกิดแล้วเจ้าหน้าที่ยังปฏิบัติผิดๆ ถูกๆ มันก็เลยทำให้ผมกับทีมงานตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อจะสานต่ออุดมการณ์

เรามีความรู้สึกว่าพี่สมชายไม่อยู่แล้ว แต่ว่าอุดมการณ์ของพี่สมชายที่ทำไว้เราต้องรักษาไว้ มันเป็นที่มาของการไปต่อสู้ตรงนั้น ตอนนั้นผมเริ่มกลับไปอยู่พื้นที่แล้ว จังหวะเหตุการณ์ช่วงนั้นผมว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไรหลายๆ อย่างที่มันเลวร้าย แล้วก็ก้าวข้ามมาได้แล้ว

ถ้าถามว่ากลัวไหม ผมคิดว่าช่วงนั้นน่ากลัวกว่า


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่