นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ชาติหน้าตัวผู้

นิธิ เอียวศรีวงศ์

คําว่า nation ในภาษาฝรั่งเศสเป็นเพศหญิง แม้แต่ชื่อประเทศฝรั่งเศสเองก็เป็นเพศหญิง แต่นั่นเป็นลักษณะทางไวยากรณ์เท่านั้น ส่วนลักษณะทางวัฒนธรรม (ซึ่งย่อมมีผลต่อการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้) ของทุก “ชาติ” ล้วนเป็นเพศผู้ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะผู้ชายเท่านั้นที่เป็นผู้สร้าง “ชาติ” ขึ้นมา แต่ชาติถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นเพศผู้ต่างหาก

ในประวัติศาสตร์ไทยสำนวนทางการ ผู้หญิงที่ได้รับการยกย่อง เช่น สมเด็จพระศรีสุริโยทัย, ท้าวสุรนารี, ท้าวเทพกษัตรี-ท้าวศรีสุนทร ฯลฯ ล้วนได้ประกอบวีรกรรมแบบผู้ชายทั้งนั้น คือทำศึกสงคราม ส่วนท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศ (ไม่ว่าจะมีจริงหรือไม่) ซึ่งมีพฤติกรรมอันถือเป็นแบบอย่างของ “ลูกผู้หญิง” กลับไม่ได้รับการยกย่องเท่าไรนัก เป็นได้แค่ต้นแบบของการประกวดนางงามเท่านั้น

ความเป็นชาติมีคุณสมบัติที่สมัยหนึ่งใช้กับเพศชายทั้งนั้น เช่น เข้มแข็ง, ชาญฉลาด, อดทน, บึกบึน, นักรบ, กล้าหาญ ฯลฯ สมัยหนึ่งเจ้าอาณานิคมอังกฤษถึงกับแบ่งชาติต่างๆ ของเอเชียตั้งแต่ตะวันออกใกล้มาจนถึงจีนและญี่ปุ่นว่า ชาติใดเป็นชาติเพศผู้ ชาติใดเป็นชาติเพศเมีย (คือชาติที่อังกฤษปราบได้ง่ายๆ) ในอินเดีย ชาวราชปุตรในราชาสถานเป็นชาติเพศผู้ ชาวเบงกาลีในเบงกอลเป็นชาติเพศเมีย

กลไกรัฐของชาติประกอบด้วยผู้ชายเกือบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นราชการพลเรือน, กองทัพ, ศาลยุติธรรม, ตำรวจ, คนเก็บภาษี, นายอำเภอ ฯลฯ ไม่ได้หมายความว่ากลไกรัฐของรัฐก่อนจะมีรัฐชาติมีผู้หญิงอยู่มากนะครับ แต่ข้าราชการของรัฐก่อนรัฐชาติคือ “กลุ่มการเมือง” ของผู้มีอำนาจ เช่น เป็นข้าคนใกล้ชิดของพระราชา, หรืออัครมหาเสนาบดี, หรือเจ้าเมือง ฯลฯ ซึ่งต่างต้องรักษาอำนาจของตนเองด้วยการถ่วงดุลกันและกัน ข้าคนเหล่านี้จึงเป็น “กำลัง” ประจำตัว และเพราะถือเป็นกำลังจึงมักเป็นผู้ชาย

แต่กลไกรัฐของรัฐชาติไม่ใช่พรรคพวกของใคร หากเลือกมาจากพลเมืองอย่างเสมอภาคและยุติธรรม (อย่างน้อยก็ตามหลักการ) และผู้หญิงก็เป็นส่วนหนึ่งของพลเมือง จึงไม่มีเหตุผลที่ไม่เอาผู้หญิงเข้าไปเป็นพนักงานในกลไกรัฐ

คนรุ่นปัจจุบันอาจไม่ทราบ แต่คนรุ่นผมยังจำได้ดีว่า หากไม่นับครูและพยาบาลแล้ว ก็แทบไม่เคยเห็นผู้หญิงในราชการไทยเลย แม้แต่เสมียนอำเภอยังเป็นผู้ชายเกือบทั้งหมด ผู้พิพากษานั้นไม่มีและไม่มีใครเคยได้ยินว่าเป็นผู้หญิง อย่างเดียวกับทหารหญิง, ตำรวจหญิง และนายอำเภอหญิง, ผู้ใหญ่บ้านหญิง, กำนันหญิง ล้วนไม่มีในสารบบโดยสิ้นเชิง

เพราะชาติเป็นเพศผู้อย่างชัดเจน ผู้หญิงจึงเป็นสิ่งแปลกปลอมของรัฐชาติ และเหมือนสิ่งแปลกปลอมทั้งหลาย ย่อมน่ากลัวเพราะไม่รู้จะจัดการกับมันอย่างไร ชาติใช้วิธีแปลกๆ หลายอย่างเพื่อจัดการกับผู้หญิง เช่น ชาติย่อมสนับสนุนให้เกิดการศึกษามวลชน ด้วยการดึงการศึกษาจากครอบครัวและสำนักครู ออกมาสู่โรงเรียนที่เปิดรับเยาวชนทั้งหมด แต่ในระยะแรก ชาติไม่ปล่อยให้ผู้หญิงเรียนหนังสือในหลักสูตรเดียวกับผู้ชาย ต้องสร้างหลักสูตรเฉพาะของผู้หญิง และเน้นการอบรมให้เซื่องเสียยิ่งกว่าการศึกษาในหลักสูตรผู้ชายเป็นอันมาก

ผมขอชวนคุยละเอียดหน่อยเพียงเรื่องเดียว คือการจัดการเรือนร่างของผู้หญิง

สํานึกถึงชาติมาพร้อมกับการแยกความแตกต่างระหว่างหญิง-ชายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในกัมพูชาผู้หญิงผู้ชายล้วนแต่งกายด้วยผ้านุ่งหรือ sampot เหมือนกัน แถมยังไว้ผมสั้น (ดอกกระทุ่ม) ใกล้เคียงกับผู้ชายด้วย ฝรั่งเศสและปัญญาชนเขมรจึงพยายามสร้างแฟชั่นการแต่งกายของผู้หญิงให้ต่างจากผู้ชาย นับตั้งแต่นุ่งซิ่น (ซึ่งฝรั่งเศสและเขมรอธิบายว่าคือ sampot ที่ลอยชาย คือไม่โจงกระเบน แต่ที่จริงไม่ใช่เพราะตัดเย็บกันคนละเรื่องไปเลย) สวมเสื้อที่ทำให้เห็นทรวดทรงองค์เอว และไว้ผมยาว

แม้ไทยไม่ได้เป็นอาณานิคมโดยตรง แต่พัฒนาการเครื่องแต่งกายของผู้หญิงก็เป็นไปในทางเดียวกัน ซ้ำมาก่อนด้วย

อันที่จริงเรื่องการสร้างแฟชั่นผู้หญิงให้แสดงความเป็นหญิงเพื่อตอบสนองต่อชาติซึ่งเป็นเพศผู้นั้น ผมเข้าใจว่าเกิดในโลกตะวันตกเช่นเดียวกัน แม้ว่าเขาแต่งกายต่างกันมาก่อนก็ตาม แต่ส่วนอื่นของการแต่งกายซึ่งอาจเคยใช้ร่วมกัน ก็เริ่มแยกเพศออกจากกันเสีย เช่น ถุงน่อง, รองเท้า, สุ่มเพื่อยกกระโปรง, การตัดเย็บเพื่อเน้นทรวดทรงองค์เอวของหญิง, หมวก ฯลฯ ต่างพัฒนากันขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่กำลังเกิดและได้เกิดแล้วซึ่งสำนึกความเป็นชาตินี้เอง

แม้แต่ที่เรียกว่า “ชุดประจำชาติ” ก็มักเน้นไปที่เครื่องแต่งกายของหญิง ถ้าหญิงเวียดนามแต่งชุด “อาวได๋” อะไรคือชุดแต่งกายประจำชาติของชายเวียดนาม เช่นเดียวกับกิโมโน ซึ่งก็มีของชายด้วย แต่กิโมโนหญิงถูกตกแต่งให้วิจิตรบรรจงยิ่งขึ้น ในขณะที่ชุดกิโมโนชายก็ยังดูลำลองเหมือนเดิม

ในประเทศไทย เรามีชุดประจำชาติหญิง หรือชุดพระราชทานแบบต่างๆ มาเป็นนาน กว่าจะรู้สึกตัวว่าไม่มีชุดประจำชาติชาย จนต้องขอพระราชทานและได้ “ชุดพระราชทาน” มาให้นายกฯ เปรมแต่ง แต่ปัจจุบันก็ไม่ได้ใช้กันแพร่หลายนอกทำเนียบนายกฯ และ ครม. ก็เพราะชาติเป็นเพศผู้อยู่แล้ว จะต้องแต่งเครื่องแบบของเพศผู้ไปทำไม

ในชาติซึ่งเป็นเพศผู้ ผู้หญิงเป็นดอกไม้, เป็นเครื่องประดับที่น่าภาคภูมิใจ, เป็นเมีย, เป็นแม่, เป็นครูและพยาบาล (บทบาทของแม่) แต่ผู้หญิงถูกกีดกันออกไปจากชีวิตสาธารณะเป็นส่วนใหญ่

ในโลกตะวันตก ชีวิตสาธารณะใหญ่สุดคือการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง กว่าผู้หญิงจะได้สิทธิเลือกตั้งเท่าเทียมกับชาย ก็ต้องเดินขบวนและรณรงค์กันอยู่นานหลายสิบปี (ถึงบาดเจ็บล้มตายกันไปก็ไม่น้อย) แต่ที่น่าประหลาดกว่าก็คือ ในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้หญิงมีบทบาทในชีวิตสาธารณะมานานแล้ว ทั้งผู้หญิงจากครอบครัวของชนชั้นนำและชาวบ้าน (เช่น คุณหญิงจัน คุณหญิงมุกที่ภูเก็ต หรือคุณหญิงโมที่โคราช) เพราะสิทธิจะมีบทบาทในชีวิตสาธารณะของสังคมแถบนี้ ขึ้นอยู่กับช่วงชั้นทางสังคมของเขามากกว่าเพศของเขา

ในปัตตานีและอาเจะห์ ผู้หญิงถูกเลือกให้ดำรงตำแหน่งสุลต่านเลยทีเดียว (ผมคิดว่ามันมากกว่า “การเมืองเรื่องผ้าซิ่น” ซึ่งมีในทุกสังคม เพราะเป็นบทบาทที่ผู้หญิงออกมาแสดงในที่สาธารณะโดยตรง ไม่ต้องผ่านฮาเร็มของผู้ชาย)

แต่พอมีสำนึกเรื่องชาติเข้า ผู้หญิงของภูมิภาคนี้กลับถูกกีดกันออกไปจากกิจกรรมสาธารณะ ซึ่งโดยตัวของมันเองก็มีลักษณะใหม่ที่แตกต่างจากกิจกรรมสาธารณะในสมัยโบราณ ในเมืองไทย กว่าผู้หญิงจะได้สิทธิในการเข้าเรียนเนติบัณฑิตก็ต้องต่อสู้กันอยู่นาน ซ้ำเมื่อได้ “เน” แล้ว ก็ยังถูกกีดกันมิให้เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาเสียอีก

เมื่อผมเป็นเด็ก จำได้ว่าเห็นผู้หญิงขับรถที่ไหน ผู้คนต่างหยุดมอง และชี้ชวนให้ดูกัน การจราจรบนถนนหนทางแบบใหม่นั้น เป็นกิจการสาธารณะที่ไม่อาจไว้วางใจให้ผู้หญิงเข้ามาบังคับยวดยานพาหนะได้

จัดการร่างกายของผู้หญิงยังต้องรวมถึงการขจัดเรื่องกามารมณ์ให้ออกไปจากพื้นที่สาธารณะด้วย เพราะในกามารมณ์ผู้หญิงอาจใช้ร่างกายของตนอย่างเป็นอิสระ โดยชาติไม่อาจควบคุมได้

คงจำได้นะครับว่า ฝาผนังโบสถ์วิหารในเมืองไทยนั้นเปิดให้เขียนภาพเกี่ยวกับกามารมณ์ได้กว้างขวาง ถ้าคิดว่าฝาผนังโบสถ์วิหารเป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดให้แก่ทุกคนทุกเพศ ก็แปลว่ากามารมณ์เป็นสิ่งที่เปิดเผยได้กว้างในกิจการสาธารณะ

จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต นางพิมพิลาไลย(นางวันทอง) กับนางสายทอง (ภาพจากวัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย)

สังคมโบราณหลายแห่งเปิดให้ “หญิงงามเมือง” (นครโสภิณี) เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตสาธารณะ และถูกเอ่ยถึงเป็นปรกติในวรรณกรรม, ละคร และศิลปะแขนงอื่น เช่น อินเดีย, กรีก, โรมัน, ญี่ปุ่น, จีน ฯลฯ แต่เมื่อเกิดชาติขึ้น หญิงงามเมืองกลายเป็นสิ่งน่ารังเกียจ สสส.ในยุคนั้นบอกว่าเป็นแหล่งสัญจรโรค นักศีลธรรมในแต่ละสังคม (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ สสส.สมัยนั้นเหมือนกัน) บอกว่าทำให้ศีลธรรมเสื่อมเสีย

สันนิบาตชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่รวบรวมชาติเกิดใหม่ (ในยุโรป) ไว้เป็นอันมาก รณรงค์ต่อต้านโสเภณีระดับโลก มีกฎเกณฑ์ที่ชาติสมาชิกต้องปฏิบัติตาม แต่ก็ไม่ได้ผลอะไรนอกจากทำให้รัฐชาติไม่ทำอะไรที่แสดงความเกี่ยวข้องกับโสเภณี ทั้งๆ ที่ผู้หญิงในอาชีพเหล่านี้ถูกเอารัดเอาเปรียบ, รังแกจากเจ้าหน้าที่รัฐ และเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บเสียยิ่งกว่าลูกค้าเป็นอันมาก รัฐชาติกลับสบายตัวขึ้นที่ไม่ต้องไปปกป้องคุ้มครองพลเมืองเหล่านี้ ซึ่งเสียภาษีทางอ้อมให้แก่รัฐไม่น้อยไปกว่าคนอื่น

ผมคิดว่า นวนิยายเรื่อง “ชู้รักเลดี้แชตเตอร์ลีย์” ต้องฟ้องร้องกันอยู่ในศาลเป็นเวลานาน รวมทั้งกว่าจะได้พิมพ์ฉบับที่ “ไม่ถูกชำระ” ก็ผ่านไปอีกหลายปี ทั้งนี้ก็เพราะความขัดเคืองหลักของเรื่องไม่ใช่แต่เพียงนำเอากิจกรรมทางกามารมณ์มาบรรยายอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น ที่ร้ายกว่าก็คือกามารมณ์ที่ผิดขนบประเพณีนี้ เป็นการเลือกและตัดสินใจของผู้หญิงล้วนๆ ฝ่ายชายเสียอีกที่อาจตกเป็น “เหยื่อ”โดยไม่เจตนา นี่ต่างหากที่ยังความตระหนกแก่ชาติเสียยิ่งกว่าฉากกิจกรรม

อีกส่วนหนึ่ง ความพยายามควบคุมร่างกายของผู้หญิงก็คือ การลดทอนคุณค่าของผู้หญิงให้เหลือเพียงพรหมจรรย์ โดยเฉพาะชาติในภูมิภาคอุษาคเนย์ ทั้งนี้เพราะชะตากรรมของหญิงม่ายในรัฐแถบนี้ก่อนจะกลายเป็นรัฐชาติ มิได้เลวร้ายแต่อย่างไร หากยังอยู่ในวัยที่อาจหาคู่ได้ใหม่ ก็มักมีสามีใหม่ ทั้งไพร่และเจ้าไม่ต่างจากกัน ประเพณีในราชสำนักพม่านั้น กษัตริย์องค์ใหม่มักรับนางสนมกำนัลของกษัตริย์องค์เก่าเข้าไว้ในฮาเร็มของพระองค์ อย่าว่าแต่สนมกำนัลเลย แม้แต่อัครมเหสีทั้งสี่ ก็อาจยกมาพร้อมกันด้วย หากกษัตริย์องค์ใหม่เป็นผู้ชิงราชสมบัติได้

การจองจำผู้หญิงด้วยพรหมจรรย์ในภูมิภาคอื่นอาจมีมาก่อนรัฐชาติ เช่นในยุโรป เกิดขึ้นในสมัยกลางเมื่อพยายามจะสถาปนาสิทธิสืบมรดกให้ตกแก่ลูกชาย (ในสมรส) คนโตเท่านั้น (primogeniture) เป็นต้น

ผมเคยเข้าใจตลอดมาว่า สิทธิสตรีในประเทศไทยพัฒนาได้รวดเร็วกว่าอีกหลายสังคมของเอเชีย จนกระทั่งแทบไม่ค่อยมีความต่างระหว่างเพศมากนักในชาติไทย แต่มารู้สึกได้ว่าคงไม่ใช่เอาในสมัยที่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกฯ หญิงคนแรก ผมไม่เคยเห็นการโจมตีนายกฯ ในเมืองไทยหยาบคาย, ต่ำช้า และมุ่งจะล้างผลาญกันอย่างขาดความละอายเท่ากับที่นายกฯ หญิงคนแรกต้องประสบจากศัตรูทางการเมืองของเธอ แม้แต่การกล่าวหาว่าเธอคบชู้สู่ชายในโรงแรม ก็ยังมองกันว่าเป็น “การวิจารณ์โดยบริสุทธิ์ใจ” ทางการเมือง

บัดนี้ ผมจึงกลับสงสัยว่า สิทธิสตรีในเมืองไทยก็เหมือนสัญลักษณ์ฉาบหน้าอื่นๆ อีกหลายอย่าง ที่ต้องเคลือบชาติเราเอาไว้ให้เป็นชาติ “ทันสมัย” เท่านั้น แท้จริงแล้ว ที่แก่นกลาง เราก็ยังไม่หลุดจากพันธนาการของความเป็นชาติในระยะแรก เหมือนกับที่เกิดในประเทศอื่นๆ เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว เช่นเดียวกับ “ประชาธิปไตย (แบบไทย)”, “การแข่งขันโดยเสรี”, “เราไม่ทิ้งกัน” ฯลฯ ก็ล้วนเป็นสัญลักษณ์ฉาบหน้าเพื่อให้ดู “ทันสมัย” เท่านั้น ไม่เคยซึมลึกลงไปถึงแก่นกลางของความเป็นชาติเลย


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่