นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ประชาชนในรัฐนาฏกรรม (2)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ตอน 1

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ท้องเรื่องหนึ่งที่นิยมเขียนในภาพจิตรกรรมฝาผนังคือพระราชพิธีและการละเล่นของหลวง แต่ก็มีราษฎรร่วมอยู่ในภาพเหล่านั้นเสมอ คนปัจจุบันมองภาพเป็นสองส่วน คือการแสดงตรงกลาง และอากัปกิริยาของราษฎรผู้ชมที่อยู่รายรอบ แต่ศิลปินตั้งใจเขียนทั้งสองส่วนนี้ไว้ในภาพเดียวกัน หมดทั้งภาพนั้นแหละครับคือนาฏกรรมของรัฐนาฏกรรม ซึ่งต้องมีบทบาทของราษฎรอยู่ด้วยเสมอ

รัฐมักปรากฏกายแก่ชาวบ้านในลักษณะนาฏกรรมเสมอ ในการวัดที่นาซึ่งราษฎรใช้ประโยชน์อยู่ เพื่อเรียกเก็บหางข้าวตามผลผลิต ขุนนางไม่ได้ลากเชือกไปรังวัดตามปากคำของราษฎรเท่านั้น ยังมีพิธีกรรมที่ต้องสังเวยบัดพลีแก่ต้นเชือกปลายเชือกหลายอย่าง และต้องเสียค่าธรรมเนียมการรังวัดเป็นค่าบัดพลีนั้นด้วย บางคนอาจบอกว่านี่คือการจ่ายค่าบริการแก่ข้าราชการที่ไม่มีเงินเดือน ซึ่งก็ใช่ แต่ไม่ใช่การจ่ายเหมือนที่เราทำที่ที่ดินอำเภออย่างปัจจุบัน หากทำผ่านการแสดง ซึ่งเจ้านามีส่วนร่วมแสดงมากกว่าเพียงการจ่ายเงิน

การปฏิรูปการปกครองในสมัย ร.5 อาจเปลี่ยนประเทศให้มีลักษณะเป็นรัฐสมัยใหม่มากขึ้น แต่ความเป็นรัฐนาฏกรรมก็ยังดำรงอยู่ต่อมา

พระราชพิธีโบราณที่พระมหากษัตริย์ไทยต้องทำในรอบปี ก็ยังทำต่อไป อาจมีการดัดแปลงรายละเอียดบางอย่างในส่วนที่เป็นพระราชพิธี แต่ในส่วนที่ประชาชนต้องเข้าฉากก็ยังเหมือนเดิมทุกอย่าง แม้แต่ที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่ในสมัย สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา ก็เช่นเดียวกัน เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนา ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเพื่อพระราชทานผ้าพระกฐิน ความก้าวหน้าของการสื่อสารมวลชน ทำให้ “เวที” ยิ่งกว้างออกไปทั่วพระราชอาณาจักรมากขึ้น บ้านเรือนประดับด้วยธงทิวมากขึ้น การท่องเที่ยวทำให้การตามประทีปโคมไฟวันเฉลิม กลายเป็นฉากละครที่น่าประทับใจแก่ผู้พบเห็น

รัฐสมัยใหม่บังคับให้ประชาชนต้องติดต่อสัมพันธ์กับรัฐมากขึ้น นับตั้งแต่แจ้งเกิดไปจนถึงแจ้งตาย สิ่งที่น่าสนใจในรัฐไทยก็คือจุดที่ประชาชนมาสัมพันธ์กับรัฐ จะเป็นจุดที่มีการแสดงมากกว่าปรกติ ในสมัยหนึ่ง ทุกที่ว่าการอำเภอจะติดป้ายเตือนผู้มาติดต่อให้แต่งกายสุภาพ ถึงไม่มีระเบียบประกาศไว้ชัดเจน แต่ก็เข้าใจกันว่าต้องสวมเสื้อ, สวมรองเท้า และนุ่งกางเกงขายาว ระหว่างสงคราม อำเภอในภาคใต้ตอนล่างไม่อนุญาตให้ประชาชนนุ่งโสร่งมาติดต่ออำเภอ

แน่นอนว่าต้องพูดภาษาไทยกลาง ในอีสาน, ภาคเหนือ, ภาคใต้ และแถบที่ใช้ภาษามลายู, เขมร, กะเหรี่ยงด้วย จนกระทั่งบางครั้ง ผู้ต้องการติดต่อกับหน่วยราชการต้องนำผู้ “บอกบท” ไปด้วย

รัฐมีภาษาของตนเองซึ่งไม่เหมือนภาษาไทยที่ประชาชนใช้ทีเดียวนัก เรียกว่าภาษาราชการ เมื่อผมเป็นเด็กสืบมาจนเป็นหนุ่ม ราชการไทยไม่ค่อยมีแบบฟอร์มให้กรอก อยากรับบริการอะไรก็ต้องทำคำร้อง ซึ่งก็คือจดหมายแจ้งความประสงค์ คนไทยส่วนใหญ่เขียนภาษาราชการไม่เป็น จึงต้องจ้างเสมียนอำเภอเขียนให้

จุดที่ประชาชนต้องเชื่อมต่อกับรัฐ เป็นจุดที่นาฏกรรมมีความสำคัญ ถ้อยคำอันไพเราะในหนังสือคำร้อง, การแต่งกายที่แสดงความเคารพต่อสถานที่และตำแหน่ง, อากัปกิริยาที่แสดงการยอมรับลำดับสูงต่ำระหว่างคนของรัฐกับประชาชน ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายรู้ว่าเป็นการแสดง คือไม่จริงทั้งสองฝ่าย

 

แม้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 แล้ว ประเทศไทยก็ยังเป็นรัฐนาฏกรรมเหมือนเดิม ความพยายามของคณะราษฎรในการเผยแพร่ระบบรัฐธรรมนูญสู่ประชาชน มักทำในลักษณะของนาฏกรรม ดังเช่นที่ผมได้ใช้งานของอาจารย์ ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ แสดงให้เห็นมาแล้ว ในบทความเมื่อเดือนมกราคม

แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ การแสดงเหล่านั้นไม่ใช่ฝ่ายรัฐเป็นผู้แสดงเพียงฝ่ายเดียว รัฐดึงเอาประชาชนเข้ามาร่วมแสดงอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการแห่แหนรัฐธรรมนูญจำลองไปตามท้องถนน การสร้าง “อนุสาวรีย์” ให้แก่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ

ยิ่งสิทธิประชาธิปไตยเป็นที่รับรู้กันกว้างขวางขึ้น บทบาทของประชาชนบน “เวที” ก็ยิ่งมีความสำคัญ บางครั้งรัฐก็ยอมให้มีบทบาทเหนือรัฐเสียด้วยซ้ำ

ท่ามกลางความเศร้าโศกของประชาชนหลังพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเสด็จสวรรคต ชายผู้หนึ่งในจังหวัดภาคใต้จังหวัดหนึ่งโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดียของตนทำนองเตือนใจผู้คน ให้ยอมรับความไม่เที่ยงของชีวิตตามคำสอนพระบรมศาสดา

เพื่อนบ้านและผู้คนทั้งจังหวัดรับคำเตือนนี้ไม่ได้ พากันไปล้อมบ้านก่นด่าประณาม และแจ้งความให้ตำรวจจับ แต่ตำรวจสถานีนั้นก็ไม่รู้จะตั้งข้อหาอะไร เพราะไม่ได้ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์แต่อย่างไร

ผมฟังข่าวเรื่องนี้แล้วอดคิดถึงตัวตลกในนาฏกรรมตามประเพณีของภูมิภาคอุษาคเนย์ไม่ได้ แน่นอนตัวตลกย่อมมีหน้าที่ทำตลกให้ผู้ชมสนุกสนาน แต่นั่นไม่ใช่หน้าที่เดียวของตัวตลก หน้าที่สำคัญกว่าคือไม่ปล่อยให้การแสดงจมดิ่งลงไปในอารมณ์เดียว แต่จะดึงผู้ชมให้กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง สลับไปมาระหว่างโลกที่เป็นจริง และโลกสมมติของการแสดง และหนึ่งในความเป็นจริงรอบตัวที่ตัวตลกใช้ในสลับโลกสองชนิดแก่ผู้ชมก็คือปรมัตถธรรม (ของพุทธหรือของฮินดูก็ตาม)

เบื้องหลังเรื่องราวและบทบาทซึ่งสมมติขึ้นคือความจริงสูงสุดที่ทะมึนอยู่เบื้องหลัง และเบื้องหน้าความจริงสูงสุดที่ทุกคนควรตระหนัก ก็มีโลกสมมติที่ปฏิเสธไม่ได้อยู่เสมอ

ด้วยเหตุดังนั้นจึงเชื่อกันว่า ตัวตลกตัวหนึ่งในวาหยังปุรวาหรือหนังชะวา เป็นอวตารของพระศิวะ (ซึ่งร่ายรำผลัดเปลี่ยนโลกให้ผันแปรไปสู่ความพินาศย่อยยับและการเกิดใหม่อันทรงพลังอยู่ชั่วกัปกัลป์) เพราะเขาจะเตือนให้ย้อนคิดถึงโลกที่เป็นจริง เช่น ตดดังป้าดในฉากที่พระเอกนางเอกกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม หรือมหายุทธการกำลังจะเกิดขึ้น

นักดูหนังตะลุงของไทยบอกผมว่า ตัวตลกตัวหนึ่งของหนังตะลุง หากผมจำไม่ผิดคืออ้ายเท่ง ก็ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน คือมุขตลกของเขาแสดงความโง่ (หรือปฏิภาณ) ของตนเองที่แยกไม่ออก (หรือไม่ยอมแยก) ระหว่างบริบทสมมติในการแสดง และบริบทที่เป็นจริงในชีวิตของมนุษย์

ผู้คนที่แสดงความไม่พอใจชายผู้นั้น อาจไม่ใช่นักชมนาฏกรรมตามประเพณีอีกแล้ว จึงรู้สึกว่าชายผู้นั้นสอดแทรกเข้ามาเปลี่ยนบทในนาฏกรรมอย่างอุกอาจ อาการเช่นนี้เกิดขึ้นในอีกหลายจังหวัด เมื่อประชาชนไม่พอใจสีเสื้อของคนอื่นที่ไม่จัดเป็นการ “ไว้ทุกข์” เกิดเป็นเรื่องเป็นราวกันไปในหลายจังหวัด กระทบคนจำนวนไม่น้อย ไม่เว้นแม้แต่ข้าราชการ

ประชาชนเป็นฝ่ายเข้ามากำหนดความเป็นไปในแต่ละฉากของรัฐนาฏกรรม ไม่เฉพาะเข้าร่วมในนาฏกรรมเท่านั้น

หากมองว่านี้คือ “อำนาจประชาชน” สิ่งที่ควรถามก็คือ ประชาชนใช้อำนาจนี้เพื่อกำกับควบคุมการบริหารงานของรัฐบาลได้หรือไม่เพียงไร

ดูเผินๆ ก็เหมือนจะได้นะครับ ประชาชนไทยในยุคปัจจุบันไม่ได้คิดว่าผู้ปกครองคือคนมีบารมีมากล้น จนกระทั่งต้องเป็นผู้มีอำนาจเหนือคนอื่นทั้งหมดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังเช่นที่คนไทยโบราณคิด แต่คนไทยยอมรับอำนาจทั้งดิบและสุก (ดิบคือไม่มีกฎหมายและความชอบธรรมรองรับ สุกคือมี) ของใครที่สามารถขึ้นไปบริหารประเทศ หากทว่าอำนาจนั้นจะดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อผู้ปกครองต้อง “แสดง” ซื่อสัตย์, “แสดง” ว่าบำรุงพระพุทธศาสนา, “แสดง” ว่าบริหารเศรษฐกิจให้เฟื่องฟู, ฯลฯ

แต่ประชาชนไม่สนใจจะพัฒนากลไกการตรวจสอบคุณสมบัตินั้นอย่างจริงจัง รวมทั้งกลไกที่จะปลดคนมีอำนาจออกไปจากตำแหน่งบริหาร

ดังนั้น ผู้ปกครองจึงไม่ต้องแสดงฝีมือเท่ากับแสดงบทบาท จีดีพีต้องโตขึ้น หากโตไม่ขึ้น ก็ต้องแสดงให้ประชาชนยอมรับว่า อุปสรรคมาจากภาวะเศรษฐกิจโลก รัฐบาลทำนุบำรุงวัดวาอารามด้วยวัตถุปัจจัยต่างๆ ให้เป็นที่ประจักษ์ แสดงความกระตือรือร้นในการปราบปรามการทุจริต

ได้ผลหรือไม่อย่างไรไม่สู้สำคัญนัก แต่ต้องแสดงให้เห็นว่ายอมรับความสำคัญของสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง และแสดงความเพียรที่จะทำสิ่งเหล่านั้นให้สำเร็จ

ทั้งหมดคือการแสดง และยิ่งเป็นความสำเร็จในการแสดงมากขึ้น หากสามารถดึงประชาชนเข้ามามีบทบาทร่วมแสดงด้วย

ผู้แสดงรู้ว่า ทั้งหมดเป็นแค่การแสดง ไม่ใช่เรื่องจริง ผู้ชมก็รู้ว่าเขากำลังแสดงอยู่ ไม่ใช่เรื่องจริงเหมือนกัน แต่นาฏกรรมเป็นสิ่งที่ต้องจัดขึ้น เพราะเนื้อหาของรัฐคือนาฏกรรม

 

เราจึงอาจปฏิรูปการศึกษาด้วยการจัดมหกรรมปฏิรูปการศึกษาอย่างใหญ่โตโอฬาร มีหน่วยงานการศึกษามาจัดนิทรรศการนวัตกรรมทางการศึกษาหลากหลายชนิด มีประชาชนเข้าชมงานเป็นล้าน แม้ทั้งหมดนี้ไม่ได้ซึมลงไปสู่โรงเรียนและห้องเรียนเลยก็ไม่เป็นไร

โดยทุกฝ่ายก็รู้ว่า นาฏกรรมเหล่านี้ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตจริงสักอย่าง แต่นาฏกรรมได้จัดแสดงไปแล้ว ชีวิตกลับไปสู่ความปรกติได้อีกครั้งหนึ่ง

นาฏกรรมอาจมีผลต่อชีวิตมากกว่าที่เราคิด ละครเป็นสื่อที่มีพลังสูงมาก สารที่ละครดีๆ ส่งให้แก่ผู้ชมอาจมีผลเปลี่ยนมุมมองต่อชีวิตของผู้ชมเอง เข้าโรงละครเป็นคนหนึ่ง ออกจากโรงละครเป็นอีกคนหนึ่ง

แต่ไม่ว่าจะเป็นละครดีขนาดไหนก็ตาม ตราบเท่าที่ละครยังส่งสารอันเดิม ละครนั้นย่อมไม่มีผลเปลี่ยนมุมมองต่อชีวิตของผู้ชม ซึ่งรับสารนั้นมาอย่างซึมซับไปแนบแน่นแล้ว

ในรัฐไทยสมัยใหม่ นาฏกรรมของรัฐนาฏกรรมไทยยังส่งสารเดิม คือระเบียบทางสังคมที่จะอำนวยความผาสุกแก่บ้านเมืองได้ เป็นระเบียบความสัมพันธ์ที่เคารพความสูงต่ำของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม นาฏกรรมของรัฐที่ประชาชนเข้ามามีบทบาทร่วมด้วย คือเรื่องราวของบุญญาบารมี, ของอำนาจ, สิทธิ และทรัพย์ที่ไม่เท่าเทียมกัน หากระเบียบนี้ถูกทำลายลง ก็จะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย และกลียุคในสังคม นาฏกรรมตอกย้ำสารดังกล่าว สร้างโลกภายนอกที่ซึมเข้าไปสู่โลกภายในของคนไทย

แม้ว่าโลกที่เป็นจริงได้เปลี่ยนไปแล้วสักเพียงไรก็ตาม

อย่างน้อยในกรณีไทย รัฐนาฏกรรมไม่ใช่ลักษณะของรัฐในยุคจารีตเท่านั้น ยังเป็นลักษณะของรัฐไทยสืบมาจนถึงทุกวันนี้ด้วย และตราบเท่าที่อุดมคติแห่งรัฐยังคงเดิม รัฐนาฏกรรมไทยก็ยังคงจะดำรงอยู่ตราบนั้น