ท่วงทำนอง มวยหลัก การย้อนไปสู่ พระไตรปิฎก ของ พุทธทาสภิกขุ

ระหว่าง “พระภิกษุ” กับ “ฆราวาส” มีความแตกต่างกันอย่างแน่นอน เหมือนกับคำว่า “โลกิยะ” กับคำว่า “โลกุตระ”

เป็นความแตกต่างแต่มิได้หมายความว่าไม่ได้ “สัมพันธ์”

มีความพยายามแยกระหว่าง “พระภิกษุ” ออกจาก “ฆราวาส” และพยายามแยกระหว่าง “โลกิยะ” กับ “โลกุตระ”

เหมือน “น้ำ” กับ “น้ำมัน”

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง 2 คำ 2 ส่วนนี้ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถแยกขาดออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิง

พุทธทาสภิกขุ เข้ามาดำรงอยู่ภายใน “ข้อต่อ” นี้

แสดงบทบาทในลักษณะอันเป็นสะพานเชื่อม ขณะเดียวกัน ก็อาศัยหลักการอันดำรงอยู่ภายในตัวของพุทธธรรมมาอธิบาย

เป้าหมายเพื่อให้แยกขาดจากกันในลักษณะ “สุดโต่ง”

การโต้แย้งอันเกิดขึ้นจากการตั้งประเด็นไม่ว่าจะโดย อนันต์ เสนาขันธ์ ไม่ว่าจะโดย กิตติวุฑโฒ ต่อท่านพุทธทาสภิกขุ เริ่มต้นจากจุดนี้

คล้ายกับความพยายามของท่านพุทธทาสภิกขุจะดำเนินไปอย่าง “สามานย์”

กระนั้น หากเราศึกษาอย่างถ่องแท้ รอบด้าน ก็จะประจักษ์ว่า ท่านพุทธทาสภิกขุแสดงบทบาทเป็น “กองหน้า” ก็จริง แต่ก็ดำรงสภาวะแห่งความเป็น “สะพานเชื่อม” อย่างแนบแน่น ไม่เคยท้อถอยและโรยแรง

ขอให้ศึกษาจาก ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน ต่อไป

 

เมื่อท่านพุทธทาสกล่าวถึงสูตรเดียวกันนี้ท่านอ้างว่า การที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะแนวปฏิบัติที่ง่ายกว่าหลัก “สุญญตา” ให้แก่ฆราวาสนั้นไม่ได้หมายความว่าพระองค์ทรงเห็น “นิพพาน” ในแง่ของเป้าหมายที่สูงเกินไปสำหรับฆราวาส

ในทางตรงกันข้าม ท่านพุทธทาสชี้ว่า

โสดาปัตติยังคะ 4 ที่พระพุทธองค์ตรัสบอกธรรมทินะนั้นไม่ใช่โลกิยธรรมอย่างที่เชื่อกันมาแต่เดิม แต่เป็นธรรมะที่นำผู้ปฏิบัติไปตามเส้นทางสู่ “นิพพาน” อย่างเต็มรูปแบบ

ท่านได้อธิบายเหตุผลของเรื่องนี้ว่า โสดาปัตติซึ่งแปลว่า “เข้าสู่กระแส” นั้นบ่งบอกถึงจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติตามองค์ 8 ของอริยมรรคซึ่งไม่ได้มีเป้าหมายอยู่ที่ความสำเร็จทางโลก แต่อยู่ที่ “นิพพาน”

ว่ากันตามจริงแล้ว ในธรรมทินสูตรนั้นพระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสว่า โสดาปัตติยังคะเป็นเส้นทางแบบโลกิยะอย่างแท้จริง

และพระองค์ก็มิได้ตรัสถึงคำว่า โลกิยะ ในบริบทของสูตรนี้เลย

ดังนั้น เราจึงพอจะเห็นได้ว่า คำตีความแบบดั้งเดิมของธรรมทินสูตรตามที่ชาวพุทธส่วนใหญ่เชื่อกันมา และพระกิตติวุฑโฒยกมาอ้างเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ท่านพุทธทาสนั้นไม่ได้มีข้อความในพระไตรปิฎกเป็นฐานหลักที่รองรับสนับสนุนโดยตรง

 

ท่านพุทธทาสยืนยันว่า นอกจากคำแปลงความธรรมทินสูตรตามแบบดั้งเดิมจะผิดพลาดแล้ว

“ความเข้าใจผิดของคนบางคนที่พยายามแยกเรื่องโลกิยะออกจากเรื่องโลกุตระยังจะทำลายแก่นสัจธรรมในพระพุทธศาสนาอีกด้วย”

แม้ท่านจะยอมรับความแตกต่างเกี่ยวกับบทบาททางสังคมของพระภิกษุกับฆราวาส ท่านพุทธทาสก็ยังชี้ว่าพระพุทธองค์ไม่เคยตรัสว่า โลกิยธรรมแตกต่างและสวนทางกับโลกุตรธรรมแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ท่านแสดงถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า

โดยกล่าวว่า

“โลกิยธรรมเป็นหน้าที่หรือกิจการของฆราวาสซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติธรรมให้สอดคล้องกับลักษณะสามัญของพวกเขา แต่พร้อมกันนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงให้ความรู้เกี่ยวกับโลกุตรธรรมสำหรับควบคุมหน้าที่ตามโลกิยธรรมเหล่านั้น เพื่อว่าผู้ปฏิบัติจะได้ไม่ต้องเป็นทุกข์”

ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับว่า ตามความเป็นจริงแล้วพระพุทธเจ้าทรงกำหนดวิธีปฏิบัติเช่นไรให้แก่ฆราวาสเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และมีทัศนะที่ขัดแย้งกันอยู่ในข้อความที่ปรากฏในที่ต่างกันของพระไตรปิฎก

 

นี่คือ “ประเด็น” ที่ ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน ทิ้งเอาไว้ เป็นการทิ้งในลักษณะที่ต้องการอธิบายและขยายความคิดของท่านพุทธทาสภิกขุ

เพื่อให้เห็นอย่างเด่นชัดใน “ทิศทาง”

ไม่ว่าท่านพุทธทาสภิกขุ ไม่ว่า ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน เมื่ออยู่เบื้องหน้า “ความขัดแย้ง” จะปรากฏท่วงทำนองเดียวกัน

นั่นก็คือ ย้อนกลับไป “ตั้งหลัก”

ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน กลับไปตั้งหลักจากงานของท่านพุทธทาสภิกขุโดยตรง ขณะเดียวกันก็ไม่เหินห่างไปจาก “พระไตรปิฎก”

นี่คือจุดเย้ายวนชวนให้ติดตามอย่างยิ่ง