มนัส สัตยารักษ์ : ที่มาของเงินสวัสดิการ

เขียนถึงความผิดพลาดของตำรวจมาหลายครั้ง ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนกระทั่งเรื่องเลวร้ายใหญ่โต ครั้งล่าสุดก็สะกิด “ทัก” สมาคมตำรวจ กรณีจัด “ฟุตบอลการกุศลนัดพิเศษ”

ชักเอะใจว่าคนอ่านอาจจะเข้าใจผิดว่าผู้เขียนเป็น “ตำรวจดี” ที่ไม่เคยทำผิดคิดชั่วเลยหรืออย่างไร ถึงได้ปากกล้าขาแข็งถึงปานนั้น นินทาว่าร้ายกระทั่งคนที่มียศสูงสุดและตำแหน่งระดับท็อป รวมไปถึงคนที่เคยเป็นครูบาอาจารย์สอนหนังสือมา

ขอรับสารภาพกันตรงนี้อีกทีว่า “ผมเคยทำผิดคิดชั่วมากเสียยิ่งกว่ามาก”

เรื่องแรกที่นึกออกทันทีก็คือเรื่องที่ผมเปิดบ่อนการพนันในบ้านพัก!

 

เป็นเรื่องเมื่อครั้งย้ายไปอยู่ภูธรห่างไกล แม้จะเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่ไม่ทุรกันดาร แต่ไม่มีถนนและโรงหนังโรงละคร ยอมรับว่าสิ่งบันเทิงและพักผ่อนหย่อนใจของคนหนุ่มวัยยังไม่ถึงเบญจเพสอย่างผมก็คือโต๊ะบิลเลียดกับวงไพ่ ทั้งเล่นเอาสนุก ทั้งพนันเอาทรัพย์สินกัน

การพนันเอาทรัพย์สินกันนั้นเป็นความผิดกฎหมายและผิดศีลพื้นฐาน (อทินนาทานา เวรมณีฯ-เอาทรัพย์ที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้) และเป็นอบายมุขอันดับหนึ่ง เป็นนโยบายของรัฐที่จะไม่ให้เมืองไทยเป็นเมืองการพนัน

อยู่กันไปไม่ถึงปี ทั้งนายตำรวจใหม่กับนักพนันก็กลายเป็นพรรคพวกเดียวกัน พอผู้กองและนายอำเภอเผลอ “ผู้หมวด” ก็กลายเป็นเจ้าของกฎหมาย… ผมให้ตำรวจลูกน้องเปิดบ่อนในบ้านเช่าของผม แล้วตัวเองก็หายหน้าหายตาไปไม่กล้าเข้าบ้าน

แม้จะเป็นแค่วงไฮโลเล็กๆ ไม่ถึงกับเป็นบ่อนรูเล็ตหรืออย่างอื่นที่นิยมกัน แต่ก็หนีคำว่า “บ่อน” ไปไม่พ้น เพราะเจ้าของบ้านจะเป็นผู้รับผลประโยชน์จากค่าต๋ง

บังเอิญว่าผมเป็นคนมีบุญ (หรือทำบาปไม่ขึ้น) เจ้ามือเป็นฝ่ายแพ้และเสียจึงไม่มีค่าต๋ง (ตามธรรมเนียมของบ่อนชาวใต้) ผมยอมเสี่ยงเพียง 2 ครั้งก็เลิก เหตุหนึ่งมาจากรู้สึกผิดต่อผู้กองและนายอำเภอซึ่งเมตตาเรียกผมว่า “ลูก” ผมไม่ควรทำให้ท่านเสียหาย

นอกจากเปิดบ่อนแล้ว ผมยังเคยเปิดโอกาสให้นายสิบทหารจากค่ายเสนาณรงค์ (คอหงส์) ฉายหนังโป๊บนสโมสรข้าราชการในคืนวันหยุดที่นายอำเภอกับผู้กองไม่อยู่อีกด้วย เป็นเรื่อง “แก้จน” ของลูกน้องเก่าโดยผมไม่ขอรับผลประโยชน์แต่อย่างใด

ไม่เพียงแต่ในต่างจังหวัดอันห่างไกลเท่านั้นที่ผมหาญทำผิด แม้เมื่อย้ายมารับราชการในเมืองหลวง ผมก็ยังประพฤติผิดทำนองคลองธรรมอีกหลายหน เปรียบเทียบกับกรณี “ขายบัตรการกุศล” แล้ว ดูเหมือนผมทำผิดและเลวมากกว่าเป็นร้อยเท่าพันทวี

แต่ก็นึกชมตัวเองว่าเรื่องที่ทำเลวทั้งหลายแหล่นั้น ไม่มีเรื่องใดเลยที่ทำให้บุคคลที่สาม (หรือชาวบ้าน) ผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ต้องเดือดร้อนและสาปแช่ง

 

บัตรของสมาคมตำรวจ ชื่อบัตร “ฟุตบอลการกุศลนัดพิเศษ” ในบัตรบอกวัตถุประสงค์ว่า “เพื่อเป็นกองทุนบริหารและเป็นกองทุนใช้ในการสงเคราะห์ช่วยเหลือตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บและช่วยเหลือครอบครัวตำรวจที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่จากทั่วประเทศ”

ที่เห็นจากภาพในบัตรไม่ได้บอกราคาไว้ แต่อ่านจากบทความเรื่อง “ทำบุญกับตำรวจ” ใน “ไทย ทริบูน ออนไลน์” ทำให้เดาได้ว่าราคา 1,000 บาท และถ้าบริจาค 2,000 บาทจะได้รับการตอบแทนพิเศษเป็นป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์รอบสนามแข่งขัน

สมาคมตำรวจแสดงความโปร่งใสด้วยการบอกหมายเลขโทรศัพท์ให้ติดต่อสอบถามได้ 3 หมายเลข และพิมพ์ภาพถ่าย “เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ฝ่ายจัดหารายได้” ผมนับได้ถึง 47 คน เท่าที่เห็นจากภาพต่างเป็นหนุ่มสาวในวัยฉกรรจ์ทั้งสิ้น แสดงว่าสมาคมทุ่มเทให้ความสำคัญกับเรื่องประชาสัมพันธ์และเรื่อง “จัดหารายได้” อย่างยิ่ง

เรื่องราวเกี่ยวกับการ “ขายบัตร” ของตำรวจมีมากมาย เพียงแต่ผมไม่มีประสบการณ์ด้วยตัวเอง (คงจะบุคลิกและคุณสมบัติส่วนตัวของผมไม่เหมาะกับงานนี้ก็ได้) ได้แต่ฟังพี่ น้อง เพื่อนและชาวบ้านผู้เป็นเหยื่อเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องตลกร้ายเสียส่วนใหญ่ ถ้าได้รับอนุญาตจากเจ้าของเรื่องผมจะรวบรวมมาเล่าให้ฟังวันหลัง

ที่มาของบัตรส่วนใหญ่มาจากนอกหน่วย ผู้ที่ให้ตำรวจช่วยขายบัตรต่างเข้าใจว่าตำรวจถนัดงานนี้ ชาวบ้านทั่วไปเกรงกลัวอำนาจตำรวจ คนร่ำรวยก็ชอบที่จะจ่ายเอาใจตำรวจ (ทำนองค่าที่ปรึกษา) เหตุผลสำคัญก็คือตำรวจ “ทนได้” ต่อการถูกประณามและถูกดูหมิ่น

แม้ตำรวจส่วนใหญ่ 99.99 เปอร์เซ็นต์จะรังเกียจภารกิจขายบัตร แต่ 0.01 เปอร์เซ็นต์ชอบที่จะได้ขายบัตร เขาอาจจะได้ดิบได้ดีในการรับราชการ หรืออาจจะได้กำไรจากการ “บวก” เพิ่มเข้าไปจากราคาจริง

 

พูดเรื่อง “บัตรฟุตบอลการกุศล” เสียยาว เพราะกระเทือนใจจากโพสต์ของผู้ใช้นามว่า “อัศวินแห่งเทือกเขาบูโด” ที่เข้ามาในเฟซบุ๊กแทบจะพร้อมกัน…

ร.ต.อ.ชัยณรงค์ หาญธงชัย (ผาง) นรต.59 (หลังผม 47 ปี) นักบิน ตร. ถูกเฮลิคอปเตอร์กดทับเป็นเวลานาน ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง กระดูกต้นคอ และกระดูกขาขวา

เวลาผ่านมา 7 เดือน แพทย์โรงพยาบาลตำรวจมีความเห็นให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้าน โดยอาการ ณ ปัจจุบัน ช่วงล่างตั้งแต่ราวนมลงไปไม่มีความรู้สึก ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายท่อนล่างได้

การพักรักษาตัวที่บ้านจำเป็นต้องมีการต่อเติมปรับเปลี่ยนสภาพที่พักให้เหมาะสมกับผู้ป่วย นอกจากนั้น ยังต้องซื้อเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เตียงผู้ป่วยและอุปกรณ์ช่วยเหลือ ตลอดจนกายภาพบำบัดต่างๆ ซึ่งต้องใช้จ่ายค่อนข้างมาก

“อัศวินแห่งเทือกเขาบูโด” ขอความอนุเคราะห์จากเพื่อน พี่ น้องข้าราชการตำรวจและผู้มีจิตศรัทธาช่วยเหลือ “น้องผาง” ผู้ประสบอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติหน้าที่

นายตำรวจรุ่นพี่ของน้องผางท่านหนึ่งนำเงินไปมอบให้มารดาของน้องโดยกำชับว่า “ไม่ต้องบอกให้น้องผางรู้”

ผมเองรู้จักกับน้องผางทางสื่อโซเชียล รู้จักกันก่อนเกิดอุบัติเหตุนานแล้ว อ่านออกว่าเขาเป็นคนมีเกียรติเพียงไร จึงขอความกรุณาผู้ใหญ่ใน สตช. รวมทั้งสมาคมตำรวจว่า ถ้าจะช่วยน้องผางก็ขอให้ใช้เงินงบประมาณหรือเงินสวัสดิการอะไรก็ได้ ที่ไม่ใช่เงินจาก “ค่าปรับ” กับเงินกองทุนจากการ “ขายบัตร” ก็แล้วกัน