คนมองหนัง | เปิดมุมคิด “อภิชาติพงศ์” อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของ “คนไทยผู้คว้าปาล์มทองคำ”

คนมองหนัง

ในวาระครบรอบ 10 ปี ที่ภาพยนตร์เรื่อง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” คว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังนานาชาติเมืองคานส์

สัณห์ชัย โชติรสเศรณี” รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้สัมภาษณ์ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ผู้กำกับฯ ผู้คว้ารางวัลประวัติศาสตร์ดังกล่าว ผ่านระบบวิดีโอคอล เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563

จากคลิปวิดีโอ “Uncle Boonmee : 10 Year Later – คุยกับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ในช่องยูทูบ “Film Archive Thailand (หอภาพยนตร์)” https://youtu.be/Lt_B1KTuy-I

บทสนทนาระหว่างทั้งคู่ มีเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้

อภิชาติพงศ์เล่าถึงกิจวัตรในช่วงที่ตนเองต้องกักตัวอยู่บ้านระหว่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ว่า เขามักใช้เวลาไปกับการประชุมงานผ่านอินเตอร์เน็ต พร้อมๆ กับการมีโอกาสได้สำรวจตัวเองและสำรวจพื้นที่รอบๆ บ้าน

อย่างไรก็ดี คนทำหนังชื่อชั้นระดับอินเตอร์ ตั้งข้อสังเกตว่า “สปีด” การทำงานของตนเองได้ลดลงไปมากพอสมควรในช่วงโควิด-19 แม้ก่อนหน้านี้ เขาพยายามจะต้านฝืน “สปีดที่เชื่องช้า” ดังกล่าว แต่ก็พบว่าหนทางที่ดีที่สุด อาจเป็นการปรับตัวเข้ากับ “จังหวะเวลา” แบบนี้ให้ได้ และจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำให้ชัดเจนขึ้น

รอง ผอ.หอภาพยนตร์ สอบถามว่า รางวัลปาล์มทองคำที่ได้รับเมื่อทศวรรษก่อนส่งผลอย่างไรต่อเขาบ้าง?

อภิชาติพงศ์ให้คำตอบว่า นอกจากจะได้รับเกียรติบนเวทีภาพยนตร์สำคัญระดับโลกแล้ว การได้รับรางวัลสูงสุดที่คานส์ ยังส่งผลให้ “คนได้ยินเสียงเรา”

เมื่อแน่ใจว่ามี “คนฟัง” หรือ “คนที่ให้ความสนใจ” ดำรงอยู่ อภิชาติพงศ์จึงสามารถทำงานของตนเองต่อไปได้ด้วยความเชื่อมั่น โดยไม่ต้องไปทุ่มเทพลังให้กับการกู่ตะโกนเรียกร้องความสนใจจากใครๆ

บทสนทนาดำเนินต่อเนื่องไปถึงประเด็นว่าด้วย “Memoria” ผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวชิ้นใหม่ของคนทำหนังดีกรีปาล์มทองคำชาวไทย ซึ่งเดินทางไปถ่ายทำกันถึงประเทศโคลอมเบีย

อภิชาติพงศ์เปิดใจว่ามีเหตุผลสำคัญสองข้อที่ผลักดันให้เขาตัดสินใจไปถ่ายหนังที่ทวีปอเมริกาใต้

ข้อแรก คือ เขาเบื่อการทำหนังในประเทศไทย ดังคำอธิบายที่ว่า

“เราไม่สามารถทำหนังอย่างที่อยากพูดได้ โดยที่ไม่ต้องหลีกหนีไปใช้ภาษาภาพยนตร์ในเชิงสัญลักษณ์หรือว่าอุปมาอุปไมย คืออยากทำอะไรที่มันตรงๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มันไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างนี้ (ตลอด) หลายปีที่ผ่านมา ก็เลยเป็นเหตุผลให้เราอยากออกจากที่นี่ไปบ้าง”

เหตุผลข้อสอง ได้แก่ ความต้องการจะท้าทายตัวเอง

ย้อนกลับไปตอนถ่ายทำหนังยาวเรื่องที่แล้ว คือ “รักที่ขอนแก่น” เมื่อ 5 ปีก่อน อภิชาติพงศ์ต้องกำกับการแสดงของตัวละครอเมริกันที่พูดภาษาอังกฤษ

เขารู้สึกและยอมรับว่ายังกำกับการแสดงของตัวละครรายนั้นได้ไม่ลงตัว และเคอะๆ เขินๆ ด้วยเหตุนี้ การไปออกกองที่โคลอมเบียกับนักแสดง-ทีมงานต่างชาติ จึงเป็นการพยายามพิสูจน์สมมุติฐานที่ว่า การทำหนังภาษาต่างประเทศเป็นเรื่องยากจริงหรือไม่?

การถ่ายหนังที่อเมริกาใต้ไม่ได้น่าหวาดวิตกอย่างที่คิด เพราะผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยได้ตัวช่วยที่รู้ใจร่วมเดินทางไปด้วย อาทิ “สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์” ผู้ช่วยผู้กำกับฯ ที่ทำงานกับอภิชาติพงศ์มาอย่างยาวนาน และ “สยมภู มุกดีพร้อม” ตากล้องระดับโลก ผู้ที่อภิชาติพงศ์ยกย่องให้เป็น “ปรมาจารย์ด้านการถ่ายหนัง” ทั้งยังเริ่มต้นทำงานในวงการมาพร้อมกันกับเขา

โดยต้องไม่ลืมทีมงานท้องถิ่นหลายชีวิต ที่ผู้กำกับฯ ชาวไทยชื่นชมว่าพวกเขา “ประเสริฐมาก” และรักใคร่กลมเกลียวจนเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน

นักทำหนังที่เติบโตในขอนแก่นและพักอาศัยที่เชียงใหม่ในปัจจุบัน เล่าว่า แม้เขาจะสามารถพาทีมงานคนไทยบางส่วนไปโคลอมเบียได้ แต่อย่างไรเสีย การต้องพึ่งพาคนท้องถิ่นก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ไม่สามารถหลบเลี่ยงได้

เพราะใครๆ ต่างก็รู้ว่า “หนังอภิชาติพงศ์” มักมุ่งเน้นไปที่ “ความธรรมดา” ของทั้งผู้คนและบริบทรายล้อม แต่คำถามที่ผู้กำกับฯ ชาวไทยไม่สามารถหาคำตอบได้ด้วยตนเองก็คือ “ความธรรมดาแบบโคลอมเบีย” นั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร?

ทีมงานเบื้องหลังชาวโคลอมเบียเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่างตรงจุดนี้ ยิ่งเมื่อพวกเขาหลายคนเคยดู “หนังอภิชาติพงศ์” มาตั้งแต่สมัยยังเป็นหนังศึกษา การทำงานจึงดำเนินไปอย่างราบรื่นพอสมควร

บรรยากาศระหว่างการถ่ายทำ “Memoria” จึงช่วยให้อภิชาติพงศ์ได้ตระหนักว่า การทำหนัง (รวมถึงการดูหนัง) นั้นสามารถสื่อสารกันได้ด้วย “ภาษาสากล” ซึ่งวางพื้นฐานอยู่บนเรื่องของ “อารมณ์” และ “ทีมเวิร์ก” เป็นหลัก

แต่ปัญหาท้าทายกลับเกิดจากธรรมชาติ นั่นคือสภาพอากาศของประเทศโคลอมเบียที่เข้าขั้น “ปราบเซียน”

เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำยกตัวอย่าง “โบโกตา” นครหลวงของโคลอมเบีย ซึ่งเป็นเมืองในหุบเขา ที่จะมีทั้งแสงแดด อากาศหนาว ลมแรง และฝนตก ภายในวันเดียว

ความแปรผันของอากาศย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดเตรียมเครื่องแต่งกายของนักแสดงและการควบคุมความต่อเนื่องของหนัง นี่เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้อภิชาติพงศ์กับเพื่อนๆ ต้องทำงานอย่างยืดหยุ่นและตื่นตัวตลอดเวลา

ณ เวลานี้ “Memoria” ยังอยู่ในกระบวนการโพสต์โปรดักชั่น และยังไม่มีกำหนดออกฉายชัดเจน (เช่นเดียวกับเทศกาลภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ระดับแกรนด์สแลมที่ต้องระงับ-เลื่อนการจัดงานออกไปเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19)

อย่างไรก็ดี อภิชาติพงศ์เชื่อว่า เมื่อฟุตเทจภาพเคลื่อนไหวที่ถ่ายจากโคลอมเบีย เดินทางมาถึงมือ “ลี ชาตะเมธีกุล” และ “อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร” มือลำดับภาพและมือออกแบบเสียงคู่ใจของเขา

ทุกๆ องค์ประกอบในหนังเรื่องนี้จะค่อยๆ ลงตัวมากขึ้น

เมื่อถูกถามถึงโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ในอนาคต อภิชาติพงศ์เล่าว่า ระหว่างกักตัวช่วงโควิด เขาได้มีเวลาอ่านบทความวิทยาศาสตร์จำนวนมาก กระทั่งเกิดความสนใจในชีวิตของเหล่าสัตว์ทะเลใต้น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “(ปลา) หมึก”

ด้วยเหตุนี้ ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องใหม่ถัดจาก “Memoria” จึงน่าจะมีความเกี่ยวพันกับชีวิตใต้ท้องทะเล ซึ่งคงผลักดันให้อภิชาติพงศ์ได้เผชิญความท้าทายใหม่ๆ นั่นคือ การต้องใช้เทคโนโลยีพิเศษทางด้านภาพอย่างมหาศาล

ขณะเดียวกัน ผู้กำกับภาพยนตร์รายนี้ยังจะมีโครงการละครเวที ซึ่งพูดถึงเรื่องราวว่าด้วยการนอนหลับ การเดินทาง และเสียงสะท้อนภายในหัวของมนุษย์ อันเป็นประเด็นสืบเนื่องมาจากหนังยาวที่ถ่ายทำในโคลอมเบีย

ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่ยังไม่ยุติ อภิชาติพงศ์มองว่าประโยชน์ของ “งานศิลปะ” คือการทำให้คนเราได้หยุดพิจารณา และได้หยุดเวลาของตัวเองเอาไว้

AMSTERDAM, 15 december 2016 – On 15 December 2016, HRH Prince Constantijn of the Netherlands presented the 2016 Principal Prince Claus Award to Thai filmmaker and artist Apichatpong Weerasethakul on 15 December. Five additional Prince Claus Awards were presented to: Kamal Mouzawak (Lebanon), PeaceNiche | The Second Floor (T2F) (Pakistan), Bahia Shehab (Egypt/Lebanon), La Silla Vacía (Colombia) and Vo Trong Nghia (Vietnam). The Prince Claus Awards Ceremony was held in the presence of members of the Dutch Royal Family at the Royal Palace Amsterdam. The programme included performances by Kinan Azmeh and Kevork Mourad. PHOTO: Frank van Beek

ณ เสี้ยววินาที/นาที/ชั่วโมงแห่งการหยุดนิ่งดังกล่าว มนุษย์จะไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต และไม่มีตัวตน แต่จะมีสติ

สติที่ช่วยให้เราสามารถหยุดความบ้าคลั่งและความหวาดกลัวของตัวเองได้

ผู้คว้ารางวัลปาล์มทองคำเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ยังให้คำแนะนำแก่คน (อยาก) ทำหนังรุ่นใหม่ๆ ไว้ 2-3 ประการ

ประการแรก คือ เขาอยากให้ทุกคนพุ่งตัวเข้าไปเริ่มต้นทำงานอย่างปราศจากความละล้าละลัง และไร้ความวิตกกังวลว่างานที่ออกมาจะไม่เป็น “มาสเตอร์พีซ”

ทว่าการพุ่งเข้าสู่กระบวนการแห่งความคิดสร้างสรรค์ดังกล่าว ควรจะดำเนินไปในลักษณะของ “การเดิน” มากกว่า “การวิ่ง”

นี่คือคำสอนที่อภิชาติพงศ์ได้รับถ่ายทอดมาจาก “เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน” หรือ “อาจารย์เบน” นักวิชาการระดับโลกผู้ล่วงลับ

ข้อแนะนำประการถัดมา คือ คนทำหนังต้องนำพาตนเองเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่จะใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวจะมี “เวลาเฉพาะ” ของมันเอง เช่นเดียวกับที่ตัวเราก็จะมี “เวลาเฉพาะ” ในวิถีจังหวะของเรา

ทั้งนี้ หนังที่ดีมักจะเป็นผลลัพธ์ของการเชื่อมเวลาทั้งสองแบบเข้าด้วยกันอย่างประสบความสำเร็จ

ข้อแนะนำสุดท้ายที่อภิชาติพงศ์ฝากทิ้งไว้ คือ ไม่ว่าคุณจะทำหนังผี หนังตลก หรือหนังแนวใดก็ตาม คนทำหนังควรมีความรู้เรื่อง “การเมืองในพื้นที่” ของสถานที่ที่เราจะใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ เพราะอย่างน้อยที่สุด นั่นก็เป็นการแสดงความเคารพต่อพื้นที่เหล่านั้น

สิ่งเหล่านี้เป็นภารกิจที่ท้าทายทั้งต่อตัว “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” เอง และต่อคนทำหนังไทยร่วมสมัยรายอื่นๆ

เรียบเรียงเนื้อหาจากคลิปวิดีโอ “Uncle Boonmee : 10 Year Later – คุยกับอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ในช่องยูทูบ “Film Archive Thailand (หอภาพยนตร์)” https://youtu.be/Lt_B1KTuy-I


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่